20 ปีที่รอคอย พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม จาก "ชาย-หญิง" สู่ "บุคคลทั้ง 2 ฝ่าย" ผลักดันบังคับใช้ปี 2568 เสียงความคิดเห็น-ชื่นชมต่อความก้าวหน้าของกฎหมายไทย กับข้อกังวลในทางปฏิบัติยังน่าเป็นห่วง และกฎหมายเกี่ยวเนื่องหลายฉบับที่ยังต้องผลักดันต่อ
เมื่อ 24 กันยายน 2567 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567 หรือกฎหมาย 'สมรสเท่าเทียม' โดยสาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ มีขึ้นเพื่อรองรับการสมรสระหว่างบุคคล โดยไม่จำกัดเฉพาะ ชาย-หญิง อีกต่อไป แต่ไม่ว่าคุณจะเป็นเพศใดก็สามารถหมั้นและสมรสกันได้
จากกฎหมายสมรสปัจจุบันที่การหมั้นใช้คำว่า 'ฝ่ายชาย ฝ่ายหญิง' แก้ไขเป็น 'บุคคลทั้ง 2 ฝ่าย' และสถานะหลังจดทะเบียนสมรส จากคำว่า 'สามีภริยา/คู่สมรส' แก้ไขเป็น 'คู่สมรส/คู่สมรส' นอกจากนั้นยังมีการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติอื่น ซึ่งจะทำให้บุคคลนั้นมีสิทธิ หน้าที่ สถานะทางครอบครัว เท่าเทียมกับคู่สมรสชายหญิง
...
อย่างไรก็ตาม กฎหมายนี้จะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้น 120 วัน นับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา หมายความว่า หากผู้ใดประสงค์จะจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายใหม่ จะยังไม่สามารถทำได้ทันที ต้องรอให้พ้น 120 วันหลังจากประกาศใช้ นั่นก็คือตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม 2568 เป็นต้นไปนั่นเอง
ขณะนี้เองทางรัฐบาลได้เริ่มมอบหมายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ทำความเข้าใจและประชาสัมพันธ์รายละเอียดกฎหมายที่ผูกพัน ทั้งทางแพ่งและทางอาญา เพื่อสร้างความเข้าใจถึงสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่ประชาชนควรรู้และต้องรู้
อ่านประกาศฯ ฉบับเต็ม : พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567
ตัวอย่างความเปลี่ยนแปลง :
จากเดิมในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กำหนดให้การหมั้นและการสมรสทำได้ระหว่าง ชาย-หญิง ที่มีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ โดยผู้เยาว์ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ (ไม่ถึง 20 ปีบริบูรณ์) และยังไม่เคยจดทะเบียนสมรสมาก่อน หากประสงค์จะหมั้นหรือสมรส จะต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดาหรือผู้รับบุตรบุญธรรมก่อน
แต่ในกฎหมายสมรสเท่าเทียมนี้ นอกจากเปลี่ยนจากการหมั้นหรือการสมรสที่ทำได้เฉพาะ 'ชาย-หญิง' ให้เป็น 'บุคคลสองฝ่าย' ยังมีการปรับอายุขั้นต่ำจาก 17 ปี เป็น 18 ปีบริบูรณ์ ทั้งนี้ หากมีเหตุอันสมควร ศาลสามารถอนุญาตให้บุคคลสมรสก่อนอายุ 18 ปีได้
อีกหนึ่งตัวอย่างความเปลี่ยนแปลงคือ ก่อนจะมีการแก้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศที่มีคู่รักเป็นชาวต่างชาติ หลายกรณีไม่สามารถจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายไทยได้ เพราะยังมีเงื่อนไขว่า การสมรสจะต้องทำระหว่าง 'ชาย-หญิง' เท่านั้น ทำให้ต้องไปจดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย ณ ประเทศที่รับรองสมรสเท่าเทียม
แต่เมื่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บังคับใช้ใหม่ บุคคลที่ประสงค์จะจดทะเบียนสมรสกับชาวต่างชาติ สามารถจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายไทยได้ โดยจดทะเบียนสมรสที่ที่ว่าการอำเภอหรือสำนักงานเขตในกรุงเทพมหานคร หรือทำในต่างประเทศ ณ สถานทูตไทยหรือสถานกงสุลใหญ่ไทยในต่างประเทศ
มุมมองต่อ พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม :
'นัยนา สุภาพึ่ง' ที่ปรึกษามูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ และอดีตกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมของสภาผู้แทนราษฎร กล่าวกับทีมข่าวฯ ไทยรัฐออนไลน์ ถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ว่า โดยหลัก ๆ แล้วทุกเพศจะได้รับสิทธิเท่าเทียมกันทุกประการในแง่ของกฎหมายสมรสเท่าเทียม
...
แต่กฎหมายอื่น ๆ ในประเทศอีกนับร้อยฉบับที่มีการกล่าวถึงคำว่าสามีภรรยาเอาไว้ เช่น กฎหมายประกันสังคม กฎหมายประมวลรัษฎากร หรือกฎหมายที่เกี่ยวกับการเงินการคลังต่าง ๆ ที่พูดถึงการได้มาซึ่งประโยชน์ของสามีภรรยา จะต้องมีการตามไปแก้ไขด้วย ซึ่งต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง
นัยนา กล่าวต่อไปว่า กว่าจะปรับเปลี่ยนกฎหมายให้คุ้มครองสิทธิพลเมืองทุกเพศทุกวัย เราใช้เวลาผลักดันกว่า 20 ปี ตลอดเวลาที่ผ่านมาสถานะสมรสหรือการก่อตั้งครอบครัว กฎหมายยอมรับแค่ชายหญิงต่างเพศ จึงทำให้ครอบครัวอื่น ๆ ที่ไม่ใช่รักต่างเพศแต่มีอยู่จริง ถูกละเมิดสิทธิมาช้านาน อย่างไรก็ตาม ครั้งนี้เป็นการแก้ไขบรรทัดฐานที่อยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เท่านั้น แต่ความเป็นจริงมันก็อีกเรื่องหนึ่ง
"ตัวหนังสือในกฎหมายแก้ไขแล้ว แต่ในทางปฏิบัติเรายังรู้สึกเป็นห่วง ถึงการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่หน้างาน เพราะหลายอย่างเขาเคยชินกับความเป็นหญิงชาย พาคู่สมรสเดียวกันไปด้วยกัน อาจเจอลักษณะคำถามที่ทำให้อึดอัดใจ เช่น คนไหนเป็นสามี คนไหนเป็นภรรยา เป็นต้น LGBT อาจต้องเผชิญกับอะไรลักษณะนี้ ซึ่งมันเหมือนความรุนแรงที่ตัดสินและตีตรา ที่ไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตัวตน และอัตลักษณ์ของเขา"
...
นัยนาเสริมว่า เกี่ยวกับเรื่องนี้เรายังรู้สึกดีใจอยู่อย่างหนึ่งนะ ช่วงก่อนคุณเศรษฐาจะพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ปัญหาในทางปฏิบัติเหล่านี้ ภาคประชาชนได้ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ในที่ประชุมกรรมาธิการ แล้วบันทึกเป็นเอกสารไว้หลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแก้คำว่าบุพการี เพราะควรต้องมีคำเป็นกลางทางเพศ ไม่ควรใช้คำว่าพ่อแม่ในประมวลกฎหมายแพ่งอีกต่อไปแล้ว ควรต้องมีการพูดถึงสถานะครอบครัวให้ชัดเจน เพื่อให้เจ้าหน้าที่หน้างานปฏิบัติได้
"หลังจากกฎหมายนี้ผ่านการพิจารณาของ สว. จนกระทั่งกราบบังคมทูลให้ลงพระปรมาภิไธย คุณเศรษฐาเอาเรื่องข้อสังเกตที่ถูกบันทึกไว้นี้เข้า ครม. ด้วย เพื่อให้ ครม. พิจารณาว่าเห็นชอบด้วยไหม กับข้อสังเกตจากที่กรรมาธิการภาคประชาชนเสนอมา"
นัยนา สุภาพึ่ง บอกกับทีมข่าวฯ ว่า แม้ยังมีหลายเรื่องที่ต้องแก้ไข แต่ ณ วันนี้ที่คำว่าสามีภรรยาถูกขีดทิ้งออกจากตัวกฎหมายแพ่งแก้เป็นคู่สมรส ชายหญิงแก้เป็นบุคคล และต่อจากนี้ถ้อยคำที่ตามมาข้างหลังต้องแก้หมดเลย อะไรที่ยังปะดักปะเดิดก็จะถูกแก้หมด มันแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงที่เป็นก้าวใหญ่และสำคัญ
เมื่อถามว่ามีอะไรอยากฝากทิ้งท้ายหรือไม่ นัยนา ตอบว่า สื่อก็น่าเห็นใจ เพราะเวลารายงานข่าวจะติดอยู่กับคำว่าหญิงสาวและชายหนุ่ม สิ่งเหล่านี้คงต้องปรับเปลี่ยน ต้องไม่อยู่กับกรอบเดิม เพราะสื่อเป็นอาชีพที่จะผลิตข้อมูลให้คนเสพต่อไปอีกเยอะมาก ดังนั้น อาจจะต้องตระหนักถึงการผลิตซ้ำสิ่งที่จะไปตีตรา เพราะสื่ออาจจะละเมิดคนอื่นโดยไม่รู้ตัว
...
ทางด้าน 'ปาหนัน-ชัญญา รัตนธาดา' ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม Young Pride Club และคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณากฎหมายสมรสเท่าเทียม แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ว่า เรื่องเนื้อหากฎหมายถือเป็นเรื่องก้าวหน้าของสังคมไทย ที่ให้มีการใช้คำศัพท์ที่เป็นกลางทางเพศ ซึ่งไม่ได้แค่รองรับตัวคู่รัก LGBTQIA+ แต่เป็นการมองเห็นแต่ละตัวอักษร
"เรื่องนี้อาจจะถูกที่ถูกเวลาด้วย เลยผ่านกฎหมายโดยที่แรงทัดทานไม่ได้มากเหมือนเมื่อ 10 ปีที่แล้ว หรือเมื่อตอนมี พ.ร.บ. คู่ชีวิตขึ้นมา ตอนนี้สภาเลยดูมีความก้าวหน้ามากขึ้น ถึงแม้จะมีคอมเมนต์เรื่องว่ากฎหมายนี้กัดเซาะบ่อนทำลายอยู่บ้าง แต่ก็เป็นนานาจิตตังไป อย่างไรก็ตาม เราต้องสู้กันต่อในเรื่องของกฎหมายคำนำหน้านาม รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวกับการยืนยันผ่านเอกสารทางราชการที่ต้องผลักดันกันต่อไป"
"เรื่องของคำนำหน้าฝั่งภาคประชาชนครบหมื่นชื่อแล้ว เข้าสภาแล้ว แต่มันมีหลายร่างและเขาอาจจะมองว่าเนื้อหายังไม่ครอบคลุม เพราะฉะนั้นถ้าผ่านวาระ สส. แล้วไปชั้นกรรมาธิการ ก็คงจะถกกันมันกว่าสมรสเท่าเทียม" ปาหนันกล่าวกับเรา
ชัญญา เสริมว่า ส่วนเรื่องข้อจำกัดก็มีเหมือนกัน ฝั่งของภาคประชาชน NGO ที่ได้มีโอกาสเข้าไปเป็นกรรมาธิการภาคประชาชน เราถูกผลักให้กลายเป็นกรรมาธิการเสียงข้างน้อย เพราะว่าเราเสนอคำว่า ‘บุพการีลำดับแรก’ ซึ่งที่เราเสนอคำนั้นเพราะว่าจะได้ครอบคลุมในเรื่องสิทธิการจัดตั้งครอบครัว
"ยกตัวอย่าง เราสามารถรับบุตรบุญธรรมได้อยู่แล้ว แต่เราจะมีสถานะแค่ผู้รับบุตรบุญธรรมและบุตรบุญธรรม เมื่อไม่มีคำว่าบุพการีลำดับแรกมารองรับคู่รัก LGBTQIA+ คนที่เป็นพ่อแม่ที่แท้จริง ที่กฎหมายยังคงทัดทานให้คงอยู่เอาไว้ เขาสามารถเรียกเอาเด็กคืนไปเมื่อไรก็ได้ และมันจะไปกระทบในเรื่องของ พ.ร.บ. คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 ด้วย"
ขอบคุณข้อมูลกฎหมายจากเว็บไซต์รัฐบาลไทย และ iLaw