ผู้เชี่ยวชาญฯ วิเคราะห์ศึกเลือกตั้งสหรัฐฯ "กมลา" คนนิยมเพิ่ม ลุคหญิงแกร่งโดนใจสังคมคาวบอย ส่วน "ทรัมป์" แม้ความนิยมลดแต่ยังไม่ทิ้งห่าง มองเหตุลอบยิงครั้งที่ 2 สังคมสนใจน้อยลง ส่วนคนอเมริกันเริ่มเบื่อ Dirty Politics การเมืองที่มีแต่สาดโคลนย้อนกลับไปเมื่อวันเสาร์ที่ 13 กรกฎาคม 2567 ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ ขณะที่ 'โดนัลด์ จอห์น ทรัมป์' (Donald John Trump) อดีตประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐฯ กำลังขึ้นเวทีปราศรัยหาเสียงที่เมืองบัตเลอร์ รัฐเพนซิลเวเนีย ก็เกิดเหตุการณ์ช็อกโลก! มีผู้ไม่ประสงค์ดีคลานหมอบอยู่บนอาคาร ซุ่มยิงทรัมป์ด้วยปืนไรเฟิลในระยะประมาณ 150 เมตร และลั่นไกยิงกระสุน 8 นัด โดยมีนัดหนึ่งเฉียดใบหูขวาของทรัมป์ อีกทั้งเป็นเหตุให้ผู้มาฟังปราศรัยเสียชีวิต 1 ศพ และบาดเจ็บสาหัส 2 รายเหตุการณ์ข้างต้นผ่านพ้นไปได้เพียง 2 เดือน การลอบสังหารทรัมป์ครั้งที่ 2 เกิดขึ้นอีกครั้งในวันอาทิตย์ที่ 15 กันยายน 2567 ตามเวลาท้องถิ่น เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของประธานาธิบดี (Secret Service) กำลังเดินตรวจสอบสนามกอล์ฟของทรัมป์ในรัฐฟลอริดาก่อนที่เขาจะลงเล่น แต่เจ้าหน้าที่กลับพบลำกล้องปืนไรเฟิลโผล่พ้นจากพุ่มไม้ จึงเปิดฉากยิงปืนใส่ผู้ต้องสงสัยหลายนัด จนเขาวิ่งออกมาจากพุ่มไม้และกระโดดขึ้นรถนิสสันสีดำ ครั้งนี้ทรัมป์ปลอดภัยและไม่ได้รับบาดเจ็บ ขณะที่ FBI ระบุว่า ช่วงเวลาเกิดเหตุทรัมป์อยู่ห่างออกไปประมาณ 275-455 เมตร ความเมินเฉย (?) ต่อการลอบยิงครั้งที่ 2 :จากกรณีที่ 2 อาจมีบางคนตั้งคำถามว่า "ทรัมป์สร้างกระแสโดนลอบยิงหรือเปล่า?" เรื่องนี้ 'ร้อยเอก ดร.จารุพล เรืองสุวรรณ' อาจารย์ประจำสถาบันการทูตและการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยรังสิต และผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ แสดงความคิดเห็นว่า เป็นเรื่องที่ตอบได้ยากมาก เพราะยังพิสูจน์อะไรไม่ได้ แต่ตอนนี้คนเลือกจะเชื่อในสิ่งที่ตัวเองเชื่อไปแล้วครั้งแรกที่ทรัมป์ถูกลอบยิงมีหลายกระแสออกมา บางกระแสบอกว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามทำ บางกระแสบอกว่าทรัมป์ทำเอง มีความพยายามหาเหตุผลต่าง ๆ นานา แต่การถูกลอบยิงครั้งที่ 2 สังคมอเมริกันเหมือนอยู่ในความชินชา เหตุการณ์นี้ไม่ได้เป็นเรื่อง Significant (สำคัญ) ในการเมืองสหรัฐฯ ไม่ค่อยมีใครพยายามหาคำตอบเหมือนครั้งแรก ซึ่งเป็นเรื่องที่ดูแปลกแต่ก็น่าสนใจ"ส่วนตัวผมมองว่า สิ่งที่น่าสนใจคือความคิดความอ่านของคนอเมริกันที่มีต่อโดนัลด์ ทรัมป์ เปลี่ยนไป ซึ่งคงเกี่ยวกับกระแสความนิยม เพราะช่วงที่ยังมีข่าวว่า 'โจ ไบเดน' (Joseph Robinette Biden) จะลงเลือกตั้งอีกสมัย กระแสของทรัมป์ยังนำอยู่ เนื่องจากคนมองว่าไบเดนสู้ไม่ได้ แต่พอเปลี่ยนตัวเป็น 'กมลา แฮร์ริส' (Kamala Harris) คะแนนทั้งคู่กลับสูสีกัน" สาเหตุคะแนนความนิยมทรัมป์ลด :ดร.จารุพล เริ่มวิเคราะห์ว่า ครั้งยังเป็นไบเดนและการถูกลอบยิงครั้งแรก ทำให้มีโมเมนตัมเข้าหาทรัมป์ค่อนข้างมาก แต่พอเปลี่ยนตัวเป็นกมลา รู้สึกว่ามันมีโมเมนตัมที่พอสู้กันได้เรียกว่ามวยถูกคู่ตอนนี้กลายเป็นว่าฝั่งกมลาตีตื้นขึ้นมา แถมโพลบางสำนักยังบอกว่ากมลานำอยู่ด้วยซ้ำ แต่ส่วนตัวผมมองว่าสูสีจนตอบได้ยาก เพียงแต่ว่าตอนนี้กมลาได้เปรียบเรื่องภาพลักษณ์ การพูดจา การตอบคำถาม ส่วนทรัมป์ชัดเจนว่าชอบทำให้ฝั่งตรงข้ามเป็นผู้ร้ายในสายตาของคน"แต่การที่ทรัมป์ใช้กลยุทธ์เช่นนี้บ่อยครั้ง ทำให้คนมองว่าเป็นเรื่องปกติที่ไม่หวือหวา หนำซ้ำหลังจบดีเบตมีการทำ Fact-checking เกิดขึ้น หลายเรื่องที่ทรัมป์พูดออกอาการโป๊ะแตก สิ่งที่เคยว่าคนอื่นกลับไม่ใช่เรื่องจริง"อย่างไรก็ตาม พื้นฐานของทรัมป์เป็นคนที่ชอบพูด 'Big Word' ลักษณะทำลายคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเราต้องเข้าใจว่าเขามีฐานเสียงไม่น้อยที่นิยมชมชอบการพูดแบบนี้ ดังนั้น การที่เขาพูดลักษณะนั้น เขารู้ตัวดีว่าอาจทำให้เสียฐานเสียงจากกลุ่มอื่น แต่เขาก็มองว่าคนกลุ่มนั้นอาจจะไม่เลือกเขาอยู่แล้ว ทรัมป์จึงเลือกใช้คำพูดสุดขั้ว เพื่อเอาใจกลุ่มคนที่ชอบคาแรกเตอร์เขา 'กมลา' กับสังคมคาวบอย:ผู้เชี่ยวชาญฯ ระบุว่า เนื้อแท้ของสังคมอเมริกันคือ 'สังคมคาวบอย' ทำให้พวกเขาชอบผู้นำที่แข็งแกร่ง นั่นจึงเป็นเหมือนหนึ่งในสาเหตุที่ผู้ชายได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี แต่ครั้งนี้กมลามีสิ่งที่น่าสนใจ ซึ่งแสดงออกมาให้เห็นว่าเธอไม่ได้ด้อยกว่าทรัมป์"กมลาไม่ใช่ผู้หญิงที่เหมือนผ้าพับไว้ แต่จากการดีเบตและพูดเรื่องต่าง ๆ มันแสดงให้เห็นว่าเธอมีสไตล์เป็นหญิงแกร่งพร้อมชน ลองสังเกตว่าเธอพร้อมโต้ตอบทรัมป์ตลอดเวลา ส่วนตัวผมมองว่าจุดนี้เป็นข้อดีอย่างหนึ่งที่จะลบข้อด้อยของเธอได้ และมันอาจทำให้คนอเมริกันมองว่า กมลาก็อาจจะเป็นประธานาธิบดีได้" ความเบื่อหน่ายต่อ Dirty Politics และพลวัตที่ชวนจับตา :ร้อยเอก ดร.จารุพล แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า ความน่าสนใจของการเลือกตั้งครั้งนี้คือ ผมรู้สึกว่าการดีเบตหรือทำสิ่งอื่นๆ มันมี Dirty Politics (การเมืองสกปรก) ทั้งสองฝั่ง เพราะต่างสาดโคลนกันไปมา และเมื่อ Fact-checking ก็เห็นได้ว่าโป๊ะแตกทั้งคู่ เพียงแต่ว่าของทรัมป์จะเยอะกว่าบางสำนักข่าวหรือผู้วิเคราะห์ต่างประเทศบางคนบอกว่า คนอเมริกันเริ่มเบื่อหน่ายการเมืองมากขึ้นเพราะมันไม่สะอาด พวกเขามีความรู้สึกว่าการเมืองประชาธิปไตยแบบ High Level ของคนอเมริกันเริ่มหายไป มีแต่การสาดโคลนอันน่าเบื่อหน่ายแต่ไม่ว่าผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 47 ณ วันที่ 5 พฤศจิกายน 2567 จะออกมาเป็นอย่างไร ไม่ว่า 'กมลา แฮร์ริส' หรือ 'โดนัลด์ ทรัมป์' จะชิงเก้าอี้ไปครองได้ ร้อยเอก ดร.จารุพล มองว่า สิ่งหนึ่งที่พวกเขามีคล้ายกันและยึดถือเป็นลำดับแรก ๆ คือ 'ความเป็นอเมริกัน' ถ้าเปิดดูนโยบายของทั้งคู่จะเห็นว่า หลัก ๆ ที่แทบจะเหมือนกันเป็นเรื่องเกี่ยวกับ National interest (ผลประโยชน์ของชาติ) นี่ถือเป็นจุดแข็งของคนอเมริกัน เพราะเขาถือว่าชาติมาเป็นลำดับแรก ส่วนการทำงานและรายละเอียดปลีกย่อย ย่อมมีความต่างกันอยู่แล้ว ยกตัวอย่างการช่วยเหลือผู้คน ฝั่งของกมลาจะโมเดิร์นขึ้นมาหน่อย ในเรื่องของสิทธิมนุษยชนและเพศแต่อย่างไรก็ตามสนามศึกนี้ยังไม่จบ! ร้อยเอก ดร.จารุพล เรืองสุวรรณ กล่าวว่า ตอนนี้มันสูสีและตีตื้นกันไปมาจะฟันธงก็คงยาก การเมืองเป็นพลวัตที่พลิกได้ตลอด อยากให้ลองจับตาดูเรื่อย ๆ เพราะการคาดเดาเป็นสิ่งที่ยาก เป็นศาสตร์ทางสังคมศาสตร์ที่บางครั้งเราไม่มีทางรู้ มันมีปัจจัยเยอะมากที่ทำให้ผลการเลือกตั้งพลิกได้ตลอด และเป็นปัจจัยที่ไม่ว่าทรัมป์หรือกมลาก็ควบคุมไม่ได้"ผมยกตัวอย่างให้ฟังว่า ผมเคยคุยกับเพื่อนที่เป็นคนอเมริกัน เขาบอกว่าตอนทรัมป์เป็นประธานาธิบดีรู้สึกว่าบ้านเมืองถอยหลัง พอได้ไบเดนเข้ามาเลยรู้สึกมีหวัง แต่ผ่านไปสักระยะกลับดูแย่กว่าเดิม เนื่องจากไบเดนทำอะไรไม่ค่อยได้ นี่เป็นตัวอย่างของพลวัตที่เปลี่ยนได้ตลอด" .........