กว่า 1 เดือน ที่เดินแผนปฏิรูปรถเมล์ ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล 107 เส้นทาง ผู้โดยสารที่มีรายได้น้อยส่วนใหญ่เจอปัญหา ค่ารถเพิ่มสูงขึ้นเท่าตัว "มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค" พร้อมเครือข่าย ยื่นหนังสือต่อ "กรมขนส่ง" รวบรวมปัญหาจากผู้โดยสาร เสนอทางแก้ไขเร่งด่วน ขอให้เปลี่ยนเลขสายรถ กลับมาเหมือนเดิม หลังผู้โดยสารสับสนหนัก

แผนปฏิรูปรถเมล์ ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล ทยอยปรับตามแนวทาง “1 เส้นทาง 1 ผู้ประกอบการ" โดยวันที่ 25 ก.ค. ที่ผ่านมา เป็นวันแรกที่ ขสมก. เดินรถตามแผนปฏิรูป 107 เส้นทาง แต่มีเสียงสะท้อนจากผู้ใช้บริการ ถึงรถขาดระยะ รอนาน ค่าโดยสารแพงกว่ารถร้อนที่ ขสมก. เคยวิ่งเกือบเท่าตัว ทำให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และภาคีเครือข่าย ยื่นหนังสือต่อกรมการขนส่งทางบก วันนี้ (3 ก.ย. 67) เพื่อเรียกร้องให้มีการปรับปรุงแก้ไข

นฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ทางมูลนิธิ และเครือข่ายรวบรวมปัญหาจากผู้ใช้รถเมล์ทุกเส้นทางทั่วกรุงเทพ หลังจากดำเนินตามนโยบายมากว่า 1 เดือน พบว่าประชาชนผู้มีรายได้น้อยได้รับความเดือดร้อน เรื่องค่ารถเมล์ที่ต้องจ่ายแพงขึ้นเท่าตัว บางเส้นทางรถมีการขาดระยะ ซึ่งสามารถสรุปข้อเสนอแนะได้ดังนี้

...

มีความสับสนจากการเปลี่ยนเลขสาย และเปลี่ยนเส้นทาง เช่น รถเมล์สาย 129 เดิม วิ่งจากบางเขน ไป สำโรงขึ้นทางด่วน เปลี่ยนเป็น 1-14E ทำให้ผู้ใช้บริการเข้าใจว่า เป็นรถเมล์สาย 114 ที่วิ่งบางเขน ไปท่าน้ำนนทบุรี หรือ รถเมล์สาย 26 เส้นทางอนุสาวรีย์-มีนบุรี หลังปฏิรูปเปลี่ยนเส้นทางเป็น หมอชิต 2-มีนบุรี ใช้เลขสาย 1-36 ผู้ใช้บริการเข้าใจว่าเป็น รถเมล์สาย 136 ที่วิ่งจาก หมอชิต 2-คลองเตย

รถไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ เส้นทางที่ถูกตัดไม่มีรถวิ่ง เช่น การยกเลิกรถเมล์สาย 195 ที่วิ่งตั้งแต่ จุดกลับรถ บิ๊กซี สุขสวัสดิ์-พระประแดง ขณะนี้ไม่มีรถวิ่งบริการ ทำให้ผู้โดยสารเดือดร้อนจำนวนมาก

การวิ่งบริการชั่วคราว ที่ให้บริการระยะสั้น แต่ไม่มีข้อมูลว่ามีรถสายไหนมาให้บริการต่อ เช่น รถเมล์สาย 68 ที่วิ่งจาก บางลำพู-สมุทรสาคร ส่วนรถเมล์สาย 68 มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี บางขุนเทียน-BRT ราชพฤกษ์ ถ้าหมดระยะเวลาขยายบริการชั่วคราวยังไม่ทราบว่ามีรถสายใดให้บริการต่อ

ส่วนรถที่วิ่งเส้นทางใหม่ ไม่ผ่านเส้นทางเก่า ทำให้ประชาชนต้องเปลี่ยนสายรถและสับสน เช่น รถเมล์สาย 45, 63 และ 511 ที่วิ่งขึ้นทางด่วนทั้งหมด

รถให้บริการไม่เพียงพอต่อความต้องการ เพราะตามนโยบาย “1 เส้นทาง 1 ผู้ประกอบการ” เป็นการผูกขาดเส้นทาง และจำนวนรถที่นำมาวิ่งบริการไม่ครบตามจำนวนขั้นต่ำที่ขออนุญาตกับกรมการขนส่งทางบก ทำให้มีรถไม่เพียงพอรองรับประชาชนที่ใช้บริการ ประชาชนเกิดความเดือดร้อน ทำให้การเดินทางมีความยากลำบากเพิ่มมากขึ้น

รถที่วิ่งเส้นทางเดิมและเส้นทางใหม่ บางเส้นทางมีรถน้อย คอยนานทำให้ไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทาง ประชาชนต้องหันไปพึ่งระบบขนส่งทางอื่น เช่น รถแท็กซี่, รถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง มีอัตราค่าโดยสารที่สูงขึ้น

ความแตกต่างเรื่องราคาค่าโดยสาร ที่ให้บริการแต่ละเส้นทาง เพราะค่าโดยสารระหว่างรถ ขสมก. กับ เอกชน ที่เอกชนมีอัตราค่าโดยสารสูงกว่า 2-3 เท่า ทำให้ประชาชนต้องรับภาระค่าเดินทางที่เพิ่มขึ้นในแต่ละวัน เช่น รถเมล์สาย 18 รถ เดิม ขสมก. ราคา 8 บาทตลอดสาย เมื่อเปลี่ยนให้เอกชนวิ่ง ประชาชนต้องรับภาระค่าโดยสาร 15, 20 และ 25 บาท เป็นต้น ทำให้ประชาชนไม่มีทางเลือก

รถวิ่งระยะสั้นทำให้ประชาชนต้องต่อรถหลายสาย และไม่ใช่ผู้ประกอบการรายเดียวกัน ต้องแบกภาระรถโดยสารที่มีอัตราค่ารถสูงขึ้น เพราะแต่ละเส้นทางอาจมีผู้ประกอบการที่ให้บริการไม่ใช่ผู้ประกอบการรายเดียวกัน เพราะไม่มีระบบตั๋วร่วม ขณะเดียวกัน บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ไม่สามารถใช้กับรถของเอกชนได้ ซึ่งรถเอกชนบางสาย ไม่ยอมให้ใช้สิทธิผู้สูงอายุ

...

ขาดการประชาสัมพันธ์ ทำให้ประชาชนไม่ทราบข้อมูลล่วงหน้าในการเดินทาง ขาดช่องทางประชาสัมพันธ์ที่ให้ประชาชนสามารถเข้าไปตรวจสอบเส้นทางการเดินรถสะดวก เช่น สายด่วนรถเมล์ที่สามารถตอบข้อซักถามของประชาชนได้ทั้งหมด เป็นต้น

ส่วนเส้นทางใหม่ยังไม่มีป้ายรถเมล์ เช่น รถเมล์สาย 2-33 ช่วง ถนนนครอินทร์ และรถเมล์สาย 4-34 ช่วงเลียบทางด่วน กาญจนาภิเษก ถึง สุขสวัสดิ์

ด้านคุณภาพบริการและมาตรฐานความปลอดภัย เช่น คุณภาพของรถที่นำมาให้บริการ รถเก่า เช่น แอร์ไม่เย็น, รถสกปรก, เบาะขาด, ราวจับไม่แข็งแรง

ส่วนรถที่ใช้ระบบไฟฟ้ามีปัญหาเรื่อง แบตเตอรี่บรรจุไฟน้อย ไฟสำรองไม่เพียงพอ ทำให้ไม่เหมาะที่จะใช้ในเส้นทางระยะไกลและรถติด

ข้อเสนอทางออกให้กับกรมการขนส่งทางบก

สำหรับทางออก "นฤมล" มองว่า ควรมีการยกเลิกเลขสายรถเมล์ใหม่ เช่น สาย 1-14E ให้ใช้เลขสายเดิมคือ สาย 129 และใช้สัญลักษณ์ติดป้ายสีเหลือง “ทางด่วน” เพื่อไม่ให้ประชาชนสับสนในการใช้บริการ

ควรมีการทบทวนข้อกำหนด 1 เส้นทาง 1 ผู้ประกอบการ เช่น เส้นทางที่มีประชาชนใช้บริการเป็นจำนวนมาก เสนอให้มีผู้ประกอบการมากกว่า 1 ราย เพื่อให้เกิดการแข่งขันไม่ผูกขาดเส้นทาง ให้ประชาชนมีทางเลือก

...

ขณะเดียวกัน ควรมีมาตรการกำกับดูแลให้ผู้ประกอบการจัดหารถเมล์โดยสารให้เพียงพอทุกเส้นทางตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนดไว้ เช่น ผู้ประกอบการต้องมีรถเมล์ให้บริการไม่ต่ำกว่า 10 คันต่อเส้นทาง

รวมถึงเชื่อมต่อรถเมล์ โดยสารระหว่างรัฐวิสาหกิจ และเอกชน เช่น การคิดราคาค่าโดยสารรวมแล้วไม่เกิน 30 บาท/วัน โดยการใช้ระบบตั๋วร่วม เพื่อลดภาระค่าโดยสารของประชาชน

จัดทำช่องทางประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนสามารถตรวจสอบ เลขหมาย และเส้นทางการเดินรถ เช่น มีการจัดทำ แอปพลิเคชัน สายด่วนรถเมล์ส่วนกลางที่สามารถตอบคำถามเส้นทางได้ทุกเส้นทางทั้งหมด

นอกจากนี้ อยากให้มีตัวแทนผู้บริโภคที่ใช้บริการ และองค์กรผู้บริโภคเข้าไปมีส่วนร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ในการออกกฎหมาย มาตรการกำกับ และหลักเกณฑ์การกำกับดูแลการให้บริการรถโดยสารสาธารณะ เพื่อให้ผู้บริโภคที่ใช้บริการได้รับการคุ้มครองสิทธิอย่างเป็นธรรมมากที่สุด.