ปัดฝุ่น เขื่อนแก่งเสือเต้น หวังลดน้ำท่วมซ้ำซาก “ลุ่มน้ำยม” นักวิชาการด้านน้ำ วิเคราะห์ ต่อให้สร้างเขื่อน แต่หลายพื้นที่ใต้เขื่อนยังถูกน้ำท่วม เพราะมีแม่น้ำสายย่อยจำนวนมาก ควรนำเงินส่วนนี้มาทำฟลัดเวย์ สร้างฝาย หรือพื้นที่รับน้ำรูปแบบอื่น ที่สำคัญควรบริหารจัดการพื้นที่รับน้ำใหม่ทั้งระบบ
เขื่อนแก่งเสือเต้น กลายเป็นประเด็นอีกครั้ง เมื่อ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี ลงสำรวจพื้นที่น้ำท่วม 3 จังหวัด มีการกล่าวถึง การปัดฝุ่น โครงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ซึ่งปิดกั้นแม่น้ำยมที่ อ.สอง จ.แพร่ เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ด้านการเกษตร ในเขตลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนบน
นายภูมิธรรม กล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่ต้องมาพูดคุยกันถึงเขื่อนแก่งเสือเต้น ที่ผ่านมาสร้างอะไรไม่ได้ เนื่องจากมีความคิดเห็นแตกต่าง 2 ฝ่าย ระหว่างพี่น้องประชาชน เรื่องนี้ขอให้เป็นประเด็นสาธารณะที่พิจารณา และคณะรัฐมนตรีจะพิจารณาอย่างถ่องแท้ ได้ประสานงานกับเวิลด์แบงก์ขอเข้ามาดำเนินการ เราให้ไปศึกษาผลกระทบต่าง ๆ ต้องดูประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และประชาชนที่ไม่อยากให้สร้างเขื่อนว่ามีเหตุผลอะไร มีจำนวนเท่าไหร่
...
เพื่อให้เป็นที่ยุติโดยเร็วที่สุด อยากให้เกิดขึ้นภายในปีนี้ ถ้าสามารถจัดการจบได้ใน คณะรัฐมนตรีก็สามารถดำเนินการได้เลย เพราะต้องใช้เวลาอีกหลายปี และเงินที่นำมาแก้ปัญหาอยู่ในระบบที่สามารถจัดการปัญหาได้อย่างเต็มที่
เขื่อนแก่งเสือเต้น มีกลุ่มต่อต้านและสนับสนุน โดยเหตุผลหนึ่งของกลุ่มต่อต้าน คือ หากมีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น จะทำลายทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะผืนป่าสัก ประเด็นนี้ทำให้หลายรัฐบาลที่ผ่านมาต้องชะลอโครงการ
รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานแผนงานการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ มองว่า แม้มีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น แต่พื้นที่ตอนล่างเขื่อนยังมีน้ำในปริมาณมากไหลเข้าสู่แม่น้ำยม เป็นกรณีที่ต้องศึกษาอย่างละเอียดอีกครั้งว่า ถ้าสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นแล้ว น้ำจะไม่ท่วม จ.สุโขทัย จริงหรือไม่
ตามจริงแล้วพื้นที่สุโขทัย มีคอคอดน้ำไปยังพื้นที่อื่น ก่อนเข้าตัวเมือง ทำให้มีน้ำที่ไหลเข้าไปในเมืองสุโขทัย ประมาณ 800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ที่ผ่านมามีความพยายามผันน้ำไปสู่แม่น้ำยมสายเก่า โดยเฉลี่ยรองรับน้ำได้ 250 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ดังนั้น ถ้ามีปริมาณน้ำเกินกว่า 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะทำให้เกิดน้ำท่วม
การไปสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ทำให้มีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมตามมา แต่จากการประเมิน คิดว่า การสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ไม่สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในพื้นที่ตอนล่างได้
แต่ควรมีการคิดทั้งระบบ ในการจัดการน้ำไม่ให้ท่วมในพื้นที่ เช่น วางระบบการผันน้ำ แต่ละช่วงให้เหมาะสม หรือทำฟลัดเวย์ ต้องมีการจัดการน้ำในหลายรูปแบบถึงสามารถแก้ปัญหาได้ ไม่ใช่การสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เพียงอย่างเดียว
หรือมีการสร้างอ่างเก็บน้ำ ขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ตรงช่วงรอยต่อของลำน้ำยม ก่อนเข้าเมืองสุโขทัย ซึ่งเป็นการช่วยชะลอน้ำ เก็บน้ำไว้ใช้ฤดูแล้งได้
“ที่ผ่านมามีการผันน้ำเข้าทุ่ง ในพื้นที่สุโขทัย ถ้ามีการสื่อสารและจ่ายเงินชดเชยให้กับเกษตรกรจะไม่มีปัญหา ตอนนี้หลายพื้นที่ มีการผันน้ำเข้าในทุ่งตัวเอง แต่ไม่มีการสื่อสารกันก่อน ทำให้ไม่มีการเตรียมพร้อมตั้งแต่เนิ่น ๆ ถ้ามีการจัดระบบแบบบางระกำ ซึ่งเป็นที่รู้กันว่า ต้องเปิดทางให้น้ำผ่าน และมีการชดเชยอย่างเป็นระบบ”
รัฐบาลไม่ควรมองว่า การสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เพียงอย่างเดียว แล้วแก้น้ำท่วมได้ แต่ควรมีการชั่งน้ำหนักถึงผลดีและเสีย ควรเปิดเวทีให้คนทั้งสองกลุ่มแสดงความคิดเห็น และทำการศึกษาอย่างละเอียดอีกครั้ง
...
แม่น้ำยม ควรมีพื้นที่เก็บน้ำ ที่ผ่านมาเคยมีการเสนอว่า แม่น้ำสายย่อยที่ไหลเข้ามา ควรมีการสร้างอ่างเก็บน้ำ ชะลอน้ำไว้สัก 10 ตัว ส่วนฝายในแม่น้ำยม แต่ละตัวควรมีขนาดต่างกันคือ เล็ก กลาง และใหญ่
“หากเทียบปริมาณน้ำของแม่น้ำสายหลักคือ ปิง วัง ยม น่าน ที่รวมกันเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาในพื้นที่ตอนกลาง แม่น้ำยม มีปริมาณน้ำไหลเฉลี่ยในฤดูฝนประมาณ 20% ส่วนช่วงหน้าแล้ง น้ำที่ไหลลงมาส่วนใหญ่มาจาก แม่น้ำปิงและน่าน ประมาณ 40% แต่ถ้ามองในแง่บวก ถ้ามีระบบการกักเก็บน้ำในแม่น้ำยม เพิ่มขึ้น จะทำให้มีน้ำไหลลงมาตอนล่างประมาณ 10 %”
...
การตัดสินใจเพื่อทำเขื่อนแก่งเสือเต้น ปัจจุบันอาจไม่คุ้มกับผลกระทบที่เกิดขึ้น แต่ควรสร้างระบบการจัดเก็บน้ำที่เป็นเทคโนโลยีทันสมัยมากขึ้น โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมในระยะยาว