อุโมงค์ถล่มคร่า 3 ชีวิต เกือบสัปดาห์ หลังทีมค้นหาใช้ความพยายามอย่างหนักในการช่วยเหลือ "นายกสภาวิศวกร" ได้เข้าไปภายในอุโมงค์ ประเมิน 6 จุดเสี่ยง ด้านความปลอดภัย ที่ต้องค้นหาต้นตอการถล่มหลังจากนี้

สิ้นสุดภารกิจการค้นหาผู้สูญหายทั้ง 3 ชีวิต กรณีอุโมงค์รถไฟความเร็วสูงถล่ม เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 67 โดยอุโมงค์รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงคลองขนานจิต ต.จันทึก อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา แม้ก่อนหน้านี้ มีการค้นหาด้วยเครื่องตรวจ และพบสัญญาณชีพทั้งหมด แต่อุปสรรคของดินถล่มลงมา ทำให้ไม่สามารถใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่ในการค้นหาได้ ดังนั้นจึงทำให้ภารกิจช่วยชีวิตกินเวลาร่วมสัปดาห์ แต่ไม่สามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ วีระศิริ นายกสภาวิศวกร ที่เข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย ให้ข้อมูลว่า การเสียชีวิตของผู้ประสบภัยทั้ง 3 ราย อาจมาจากการต้องอยู่ในพื้นที่อับเป็นเวลานาน ทำให้ไม่มีอากาศหายใจ เนื่องจากมีดินที่หล่นลงมาทับถมจำนวนมาก ซึ่งหลังจากนี้ จะมีการชันสูตรร่างผู้เสียชีวิต และระบุสาเหตุอีกครั้ง

เมื่อประเมินผลสำรวจเบื้องต้นด้านวิศวกรรม พบประเด็นดังต่อไปนี้

...

เบื้องต้น ยังไม่สามารถระบุปัญหาที่ทำให้อุโมงค์ถล่มได้ชัดเจน เพราะทางทีมงานได้แต่ช่วยเหลือชีวิตผู้ประสบภัย ซึ่งหลังจากนี้ หลังนำร่างผู้เสียชีวิตออกมาหมดแล้ว จะมีการศึกษาถึงสาเหตุของการถล่มของอุโมงค์ เนื่องจากปัจจัยต้องมาดูว่า มาจากสภาพหินบริเวณนั้น หรือปริมาณฝนที่ตกลงมา โดยเป็นหน้าที่ของการรถไฟ ในการดำเนินการต่อ

จากการเดินทางเข้าไปภายในอุโมงค์ เพื่อไปยังจุดที่มีผู้ประสบอุบัติเหตุ พบว่าโครงสร้างด้านวิศวกรรมของอุโมงค์ ยังสามารถใช้ต่อได้ แต่ต้องมีการแก้ไขตามหลักวิศวกรรมให้ตรงตามมาตรฐานก่อน โดยขั้นตอนต่อไปในการสร้างอุโมงค์รถไฟส่วนนี้ต้องเสริมความแข็งแรง

“จากการเข้าไปตรวจสอบภายในอุโมงค์ ระยะทาง 1.6-1.8 กิโลเมตร จากปากทางถึงจุดเกิดเหตุ นั่นแสดงว่าด้านนอกที่ทำอุโมงค์ มีความแข็งแรงปลอดภัย แต่เฉพาะจุดที่พัง ต้องมาวิเคราะห์ว่า สาเหตุของการพังทลายมาจากอะไร เมื่อพบสาเหตุแล้ว จะมีการแก้ไข และเสริมกำลังให้มีความแข็งแรงตามหลักวิศวกรรม”

หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมการช่วยเหลือถึงล่าช้า สาเหตุมาจาก เราไม่สามารถใช้เครื่องมือขนาดใหญ่ในการขุดดินที่ทับถมร่างผู้ประสบภัยได้ เพราะจะเกิดแรงสะเทือน จึงต้องใช้เวลาในการขุดมากกว่าปกติ

อีกอุปสรรคสำคัญคือ ตลอดเส้นทางที่ขุดเข้าไปช่วยเหลือ มีก้อนหินขนาดใหญ่ฝังค่อนข้างมาก เท่าที่ประเมินพบว่า ก้อนหินที่ขวางมีขนาดใหญ่กว่าลูกบาสเกตบอล จึงต้องค่อยๆ สกัดออก เพื่อไม่ให้เกิดแรงสั่นสะเทือน จนหินถล่มลงมาอีก

กรณีมีคนตั้งข้อสังเกตว่า อุโมงค์ดังกล่าวทำไมถึงใช้วิศวกรจีน ในการดำเนินงาน "ดร.ธเนศ" กล่าวว่า การใช้วิศวกรจีน สามารถทำได้ภายใต้ข้อตกลงที่มีอยู่ หรือการทำงานภายใต้บริษัทของคนไทยสามารถทำได้ แต่ต้องมีใบอนุญาต