"กระจายรายได้ แก้หนี้ หนุน SME" เสียงสะท้อนปัญหาเศรษฐกิจ จากประธานสมาพันธ์ SME ไทย ถึง ครม.แพทองธาร ชินวัตร
คุณผู้อ่านรู้สึกอย่างไร ต่อเศรษฐกิจไทยช่วงนี้บ้าง?
อย่างที่เราเคยได้บอกไป "ปัญหาเศรษฐกิจ" ถือเป็นความท้าทายของรัฐบาล และ ครม.แพทองธาร เพื่อหวังสะท้อนปัญหาดังกล่าว ทีมข่าวฯ จึงได้ต่อสายตรงหา 'แสงชัย ธีรกุลวาณิช' ประธานสมาพันธ์ SME ไทย เพื่อสอบถามถึงสถานการณ์ของผู้ประกอบการ และเรื่องที่ต้องการฝากถึงรัฐบาลไทย
ทีมข่าวฯ ยิงคำถามแรกว่า ช่วงนี้สถานการณ์ SME ไทย เป็นอย่างไรบ้าง คุณแสงชัย บอกว่า แม้ว่า GDP ปี 2567 ในไตรมาส 2 จะขยายตัวอยู่ที่ 2.3% ซึ่งดีกว่าไตรมาส 1 แต่ยังกังวลในบางเรื่อง ยังมี Pain Point เรื่องการลงทุนทั้งรัฐและเอกชนที่มีสถานการณ์ติดลบอยู่
"รวมถึงเรามองว่าในภาคการก่อสร้างก็ยังมีปัญหา ส่วนด้านเกษตร แม้ว่าภาพรวมสินค้าเกษตรจะดูเหมือนราคาดี ปรับตัวสูงขึ้น แต่ต้นทุนก็สูงขึ้นไปด้วย ตอนนี้ธุรกิจยืนอยู่บนความเสี่ยงหลายด้าน SME ไทย เผชิญปัจจัยความเสี่ยงทั้งเรื่องปัญหาต้นทุนวัตถุดิบ ปัจจัยการผลิตต่างๆ ถ้าจะให้สะท้อนในส่วนนี้จะมีอยู่ทั้งหมด 6 เรื่อง"
ชมคลิปสัมภาษณ์ : กระจายรายได้ แก้หนี้ หนุน SME เสียงจากคนตัวเล็กถึง ครม.แพทองธาร
...
6 ปัญหาที่อาจส่งผลเสียต่อ SME :
ประธานสมาพันธ์ SME ไทย เริ่มกล่าวถึงอุปสรรค คือ "ปัญหาสงครามภูมิรัฐศาสตร์ที่ขยายวง" จะเห็นว่าสงครามที่เกิดขึ้นแต่ละพื้นที่ ไม่มีทีท่าจะหยุดลง ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลต่อวัตถุดิบ ปัจจัยการผลิต รวมถึงเรื่องสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศ
เรื่องต่อไปเป็น "ปัญหา Climate Change" ภาคเอกชน และ Supply Chain ที่เป็นภาค SME เกี่ยวข้องกับภาคการส่งออกและภาคธุรกิจ ต้องปรับตัวเพื่อส่งเสริมธุรกิจคาร์บอนต่ำ ให้เข้ามาในระบบเศรฐกิจของประเทศ
ข้อต่อไป คือ "ปัญหาการกีดกันทางการค้า" ที่ไม่ใช่มาตรการทางภาษีของประเทศต่างๆ อาจเห็นว่าหลายประเทศทำ FTA (เขตการค้าเสรี) แต่ปรากฏว่ายังมีมาตรการอื่น ที่ยังกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่เรื่องภาษีอีกมาก
"เรามองว่ากลไกของภาครัฐ ทูตพาณิชย์ หรือเอกอัครราชทูตที่อยู่ในแต่ละประเทศ จะต้องมีการประเมินสถานการณ์ เพื่อเสนอแนะและเจรจา ส่งเสริมสนับสนุนการค้าการลงทุนของไทยให้กับกิจการทุกขนาด"
ปัญหาที่สี่เกี่ยวข้องกับ "ปัญหาประเทศขนาดใหญ่" ที่ขยายบทบาทสู่ประเทศผู้ผลิต เพื่อการส่งออกที่หวังครองเศรษฐกิจของโลก ลองสังเกตว่าประเทศจีนทำเรื่อง Made in China เน้นของจากผู้ผลิตจีนสู่ผู้บริโภคไทย เป็นการขายแบบ one way commerce มีแต่สินค้าเขาส่งมาขายเรา
ปัญหาต่อไปเป็น "ปัญหาเสถียรภาพทางการเมือง และความต่อเนื่องของนโยบาย" การเมืองที่ยังผันผวน ถือเป็นอุปสรรคต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ และนักลงทุน
และปัญหาสุดท้าย คือ "ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจ และการกระจายรายได้" จะเห็นว่าความเหลื่อมล้ำของโครงสร้าง และการกระจายรายได้ค่อนข้างสูง GDP ของประเทศมีสัดส่วน SME อยู่แค่ 35% เราหวังให้มีการขยายสัดส่วน GDP ของ SME
คุณแสงชัย กล่าวเสริมในปัญหาที่ 6 ว่า แผนสภาพัฒน์หมุดหมายที่ 7 ก็มีการพูดถึง SME ที่เข้มแข็ง มีศักยภาพ เราจึงอยากเห็นตัวเชื่อมถึงตัวชี้วัดต่างๆ รัฐต้องเร่งสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน และตอนนี้ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ รัฐต้องมียุทธศาสตร์ที่จะเป็นรูปธรรม เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง รวมถึงกลไกเพิ่มค่าแรงอย่างมีประสิทธิภาพ
...
6 มาตรการ แนวทางฟื้นฟูเศรษฐกิจ :
หลังจากที่ประธานสมาพันธ์ SME ไทย ได้กล่าวถึงปัญหา 6 ข้อข้างต้น ก็ได้เสนอแนวทางเพิ่มเติม ซึ่งคุณแสงชัย ระบุว่า "นี่เป็นสิ่งที่เรามองว่าจะช่วยฟื้นฟูประเทศ และขับเคลื่อนสู่การสร้างเศรษฐกิจใหม่"
เริ่มต้นข้อที่หนึ่ง "มาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจและกระจายรายได้" นี่เป็นประเด็นสำคัญที่อยากฝากถึงรัฐบาล วันนี้สภาพัฒน์ออกมาสะท้อนมุมมอง และวิเคราะห์เศรษฐกิจได้ตรงกับสิ่งที่ SME ต้องการ คือ การกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก
"ปัจจุบันกลุ่มเปราะบาง กลุ่มเศรษฐกิจฐานราก เป็นกลุ่มที่มีบทบาทและความสำคัญอย่างยิ่งต่อการทำให้เกิดความเข้มแข็งของเศรษฐกิจ รัฐควรหาแนวทางลดความเหลื่อมล้ำ และเกิดการกระจายรายได้ เพื่อทำให้คุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ถ้าฐานรากเข้มแข็ง ประเทศจะเข้มแข็ง"
สำหรับข้อต่อไปเป็นเรื่องของ "มาตราการลดต้นทุน" ลดภาระค่าครองชีพให้ประชาชน ไม่ใช่เฉพาะเรื่องพลังงานไฟฟ้าหรือน้ำมันเท่านั้น แต่รวมถึงปัจจัยการผลิตหรือวัตถุดิบต่างๆ รัฐควรจะส่งเสริมและรณรงค์ในการทำ Local Economy แทนที่จะอาศัยการนำเข้าจากต่างประเทศ สนับสนุนให้เกิดการผลิตเพื่อพึ่งพาตนเอง
มาตรการข้อที่สาม คือ "การเข้าถึงแหล่งต้นทุนต่ำ และการแก้ไขหนี้ทั้งระบบ" จากการสอบถามของ สสว. SME ร้อยละ 91 ตอบว่าต้องการเพิ่มสภาพคล่อง ต้องการเงินทุนหมุนเวียน ซึ่งรัฐจะทำอย่างไรให้เกิดกลไกของการเข้าถึงแหล่งทุนเพิ่มมากขึ้น
...
"การแก้หนี้ต้องแก้ทั้งระบบ เพราะถ้าแก้เป็นช่วงๆ มันจะกลับมาหาเราอีกในไม่ช้า ที่สำคัญการแก้หนี้ต้องเกิดความยั่งยืน ต้องมีกลไก มีหน่วยงานรับผิดชอบ มีกระบวนการ และต่อยอดสู่การพัฒนาสร้างอาชีพ ยกระดับรายได้"
เรื่องต่อไปคุณแสงชัยมองว่ารัฐต้องมี "มาตรการยกระดับขีดความสามารถกำลังคนในประเทศ" ไม่ว่าจะเป็น SME เกษตรกร หรือภาคแรงงาน ตรงนี้รัฐจะทำอย่างไรในการเพิ่มขีดความสามารถ และให้พวกเขามีรายได้จากสินค้า หรือบริการที่สร้างสรรค์
"สิ่งเหล่านั้นควรมีนวัตกรรม มีผลิตภาพ มีความกรีน เพราะจะช่วยให้เขาอยู่รอดได้ในยุคที่ความยั่งยืนเป็นเทรนด์โลก และจะทำอย่างไรที่จะโยงกับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ของในหลวงรัชกาลที่ 9"
ข้อที่ห้าคือ "การแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อ SME" ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อย การส่งเสริมนวัตกรรมและบริการ รวมไปถึงการส่งเสริมอาชีพ และการแก้ความยุ่งยากของระบบที่ล้าสมัย
สำหรับเรื่องสุดท้าย เป็นสิ่งที่คุณแสงชัยมองว่าสำคัญอย่างยิ่ง นั่นก็คือ "มาตรการปกป้องเศรษฐกิจไทยจากทุนข้ามชาติ" ประธานสมาพันธ์ฯ มองว่า ทุนข้ามชาติเป็นสิ่งที่ทำให้เราได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะภาค SME และจะเห็นว่าเรื่องนี้ส่งผลกระทบถึงธุรกิจทุกขนาด
...
แนวทางปกป้องเศรษฐกิจไทยจากทุนข้ามชาติ :
ต่อยอดจากมาตรการข้อที่ 6 คุณแสงชัยได้ระบุถึงปัญหาย่อยอีกทั้งหมด 7 ปัญหา ปัญหาแรกคือ เศรษฐกิจนอกระบบ การลักลอบนำเข้า และการขนของหนีภาษีเข้าประเทศ สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการที่ทำถูกต้องตามกฎหมายของประเทศ มันทำให้เกิดช่องว่างของการทุจริตคอร์รัปชัน
เรื่องที่สอง คุณแสงชัย กล่าวว่า เราจะสังเกตเห็นว่ามีล้งเกิดขึ้นเต็มไปหมด ไม่ใช่แค่รับซื้อผลผลิต แต่มีการเข้าทำสัญญาเหมาสวน จับจองพื้นที่โดยใช้นอมินี กลไกเหล่านี้ทำให้เขาครองอาณาจักรพืชเศรษฐกิจของไทย หลังจากนั้นเขาจะเป็นผู้กำหนดราคาในตลาด โดยเฉพาะตลาดทุเรียน
ทัวร์ศูนย์เหรียญ เป็นปัญหาที่สามที่ประธานสมาพันธ์ฯ แสดงความกังวล "วันนี้ภาพลักษณ์การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ เราไม่ได้อะไรจากทัวร์ศูนย์เหรียญ ไม่ว่าจะโรงแรม ร้านอาหาร มัคคุเทศก์ รถทัวร์ เขาใช้วงจรหมุนเวียนอยู่ในนักธุรกิจของประเทศเขา หน่วยงานดีใจกับตัวเลขนักท่องเที่ยว แต่เงินจากภาคการท่องเที่ยว จะถึงผู้ประกอบการคนไทยถึงกระเป๋าสักเท่าไร รัฐต้องปราบปรามและเข้มงวด"
เรื่องที่สี่ คุณแสงชัย มองว่า รัฐต้องเข้มงวดในการตรวจสอบ สินค้าที่เข้ามาขายในประเทศ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อคนไทย ส่วนข้อที่ห้า ขณะนี้ผู้ประกอบการจากต่างประเทศ นำเข้าของที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมก่อสร้าง และ Supply Chain แทบจะทุกอย่าง หากเป็นเช่นนี้ผู้ประกอบการไทยจะอยู่ไม่ได้ รัฐต้องมีกลไกเข้ามาดูแล
ข้อกังวลจากทุนข้ามชาติเรื่องที่หก คือ ระบบโลจิสติกส์ ซึ่งผู้ประกอบการโลจิสติกส์ที่มาจากต่างประเทศ ใช้นอมินีในการเข้าถึงกฎหมาย รถขนส่งของไทยที่จะส่งสินค้าผ่านลาวทำไม่ได้ แต่จีนสามารถส่งสินค้าจากลาวผ่านมาไทยได้
ข้อกังวลสุดท้าย ได้แก่ แพลตฟอร์มออนไลน์ คุณแสงชัยกล่าวว่า ขณะนี้ผู้ผลิต SME ไทยมีจำนวนลดลง และการจ้างงานลดลง แพลตฟอร์มเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ได้รับผลกระทบ ถึงเวลาที่รัฐต้องส่งเสริมแพลตฟอร์มของคนไทย ลดการพึ่งพาต่างชาติ
การเมืองกระทบความเชื่อมั่นการลงทุน :
สถานการณ์การเมืองที่ผันผวน ยากเกินจะคาดเดา แสงชัย ธีรกุลวาณิช มองว่า ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ SME และนักลงทุน การกระตุ้นเศรษฐกิจยังไม่มีนโยบายออกมาอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงการขาดช่วงของรัฐบาล จะทำให้การฟื้นตัวชะลอตัว แต่สิ่งสำคัญคือรัฐบาลต้องมีมาตราการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการกระจายรายได้
"หากรัฐจะทำแบบ "แจก จ่าย จบ" มันจะไม่ยั่งยืน รัฐต้องมองว่าจะทำอย่างไรให้กลุ่มเปราะบางอยู่ได้อย่างยั่งยืน วิธี แจก จ่าย จบ อาจช่วยได้ระยะสั้น ดังนั้น ต้องหาทางเพิ่มขีดความสามารถของพวกเขา เชื่อมโยงงานใหม่ๆ หาตลาดใหม่ๆ สิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดการสร้างงาน"
"ตอนนี้ทุกคนคาดหวังการกระตุ้นเศรษฐกิจ และกระจายรายได้ ควบคู่กับการลดต้นทุน เพื่อสร้างรายได้เพิ่ม ไม่ใช่กระตุ้นแล้วไปกองรวมที่ธุรกิจขนาดใหญ่"
ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย มองว่า โครงสร้างรัฐบาลไม่ได้เปลี่ยนไปจากเดิมมาก อาจมีเปลี่ยนบทบาทบ้าง แต่ไม่ได้กระทบต่อภาคใหญ่ของรัฐบาล อีกทั้ง รัฐบาลชุดนี้มีความเป็นผู้ประกอบการและทันสมัย ดูมีพลังในการทำงาน น่าจะมีการฟอร์มทีมที่ตอบโจทย์
"ผมมองว่ามิติมุมมองและทัศนคติการเป็นผู้ประกอบการของนายกฯ จะเป็นประโยชน์ในการเข้าใจความคิดและความต้องการของประชาชน เราอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงจากการบริหารประเทศของรัฐบาลชุดนี้ สิ่งสำคัญคือให้โอกาส และพยายามสนับสนุนให้รัฐบาลทำงาน"
ชมคลิปสัมภาษณ์ : กระจายรายได้ แก้หนี้ หนุน SME เสียงจากคนตัวเล็กถึง ครม.แพทองธาร
.........
อ่านบทความที่น่าสนใจ :