“เชื่อ คิด และทำอย่างวิทยาศาสตร์” กับการติดตามภารกิจยานสำรวจอวกาศ voyager 1 และ voyager 2 กับหนังไซไฟ Star Trek กับยาน voyager 6
วันที่ 20 สิงหาคม ค.ศ. 1977 (สี่วันก่อนเมื่อ 37 ปีที่แล้ว) ยานวอยเอจเจอร์ 2 เดินทางขึ้นสู่อวกาศ เพื่อออกนอกระบบสุริยะ พร้อมกับข่าวสารจากโลกสู่จักรวาล เป็นภาพและเสียง...
วันที่ 5 กันยายน ค.ศ. 1977 (อีก 12 วันเมื่อ 37 ปีที่แล้ว) ยานวอยเอจเจอร์ 1 เดินทางขึ้นสู่อวกาศเพื่อออกนอกระบบสุริยะ พร้อมกับข้อมูลข่าวสารจากโลกสู่จักรวาล เป็นภาพและเสียงชุดเดียวกันกับวอยเอจเจอร์ 2
ยานวอยเอจเจอร์ 1 และ 2 เป็นยานสำรวจอวกาศของนาซาที่มี “ตัวตน” จริง!
แล้วยานวอยเอจเจอร์ 6 ล่ะ?
ยานวอยเอจเจอร์ 6 ก็มีตัวตนจริง แต่เป็นตัวตนอยู่ในโลกจินตนาการของภาพยนตร์จอเงินเรื่องหนึ่งของชุด Star Trek!
“เชื่อ คิด และทำอย่างวิทยาศาสตร์” วันนี้ ขอนำท่านผู้อ่านไปติดตามภารกิจความเคลื่อนไหวล่าสุดของยาน วอยเอจเจอร์ 1 และวอยเอจเจอร์ 2 และไปดูเรื่องราวของ วอยเอจเจอร์ 6 ในภาพยนตร์ Star Trek
...
ยาววอยเอจเจอร์ 1 และ 2 กับข่าวสารจากโลกสู่จักรวาล
ยานวอยเอจเจอร์ 1 และ 2 เป็นยานอวกาศสองลำแรก ที่นำข่าวสารจากโลกสู่จักรวาล ในรูปของภาพและเสียงไปกับแผ่นวีดีโอ...
แต่ยานวอยเอจเจอร์ 1 และ 2 มิใช่ยานอวกาศ (สอง) ลำแรก ที่นำข่าวสารจากโลกสู่จักรวาล เพราะก่อนหน้า วอยเอจเจอร์ 1 และ 2 ก็มียานไพโอเนียร์ 10 และ 11 ที่นำข่าวสารจากโลกสู่จักรวาล ในรูปของบัตรทักทาย เป็นภาพแกะสลักบนแผ่นโลหะ เกี่ยวกับมนุษย์โลก ระบบสุริยะและการเดินทางของยานไพโอเนียร์ 10 และ 11 ซึ่งเดินทางออกจากโลกปี ค.ศ. 1972 และ ค.ศ. 1973 ตามลำดับ
นอกเหนือไปจากข่าวสารสู่จักรวาลที่ส่งไปกับยานวอยเอจเจอร์ 1, วอยเอจเจอร์ 2, ไพโอเนียร์ 10 และ ไพโอเนียร์ 11 แล้ว มนุษย์ก็ได้ส่งข่าวสารจากโลกสู่จักรวาล “อย่างตั้งใจ” เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน ค.ศ. 1974 เป็นเวลาสามนาทีในรูปของสัญญาณวิทยุ จากหอดูดาวอารีซีโบ (Arecibo observatory) ที่ปวยโตริโก
การส่งสัญญาณข่าวสารต้องใช้พลังงานสูงมากจนกระทั่งในช่วงเวลาสามนาทีนั้นโลกเราเปลี่ยนสภาพไปเป็นดาวสุกสว่างที่สุดในกาแล็กซีของเรา
วิทยุและโทรทัศน์ ข่าวสารจากโลกสู่จักรวาลอย่างไม่ตั้งใจ!
ข่าวสารจากโลกสู่จักรวาลโดยสัญญาณวิทยุจากหอดูดาวอารีซีโบ, ภาพแกะสลักไปกับยานไพโอเนียร์ 10 และ 11 และแผ่นวีดีโอไปกับยานวอยเอจเจอร์ 1 และ 2 เป็นข่าวสารส่งโดยมนุษย์อย่างตั้งใจ...
แต่ก่อนทั้งหมดนั้นมนุษย์ก็ได้ส่งข่าวสารจากโลกสู่จักรวาลอย่างไม่ตั้งใจโดยทางวิทยุกระจายเสียงและรายการโทรทัศน์ตั้งแต่ช่วงกลางของต้นศตวรรษที่ยี่สิบ
เทคโนโลยีการแพร่เสียงทางวิทยุเริ่มต้นตั้งแต่ปลายศตวรรษที่สิบเก้าหลายประเทศเริ่มทำการศึกษาเตรียมการเพื่อเผยแพร่สัญญาณวิทยุอย่างจริงจังในต้นศตวรรษที่ยี่สิบจนกระทั่งถึงปี ค.ศ. 1920 ก็มีอย่างน้อยสองประเทศ เริ่มต้นแพร่เสียงทางวิทยุอย่างเชิงธุรกิจ คือ สหรัฐอเมริกา และอังกฤษ
ส่วนรายการโทรทัศน์ก็ติดตามมาอย่างไม่ช้านานนักจนกระทั่งถึงปี ค.ศ. 1936 การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่เบอร์ลิน ก็สร้างประวัติศาสตร์ โดยถ่ายทอดสด เบอร์ลิน 1936 กีฬาโอลิมปิก...
แต่ก็ยังเป็นการถ่ายทอดสดรายการโทรทัศน์อย่างจำกัดพื้นที่การรับชมได้...
จนกระทั่งถึงยุคดาวเทียมสื่อสารในกลางศตวรรษที่ยี่สิบการถ่ายทอดรายการโทรทัศน์ก็ “บูม” เต็มที่...
และอย่างไม่รู้ตัวมนุษย์ก็จึงได้ “เผยแพร่” ข่าวสารทั้ง “เสียง” และ “ภาพ” ไปสู่จักรวาลด้วยอย่างไม่ตั้งใจ ก่อนการส่งข่าวสารจากโลกอย่างตั้งใจสู่จักรวาล โดยหอดูดาวอารีซีโบในปี ค.ศ. 1974 ...
แล้วก็มีประเด็นใหญ่ถกเถียงกันว่า มนุษย์ควรจะส่งข่าวสารจากโลกสู่จักรวาล...หรือไปถึงมนุษย์ต่างดาวหรือไม่ ซึ่งก็เป็นประเด็นใหญ่ มีการถกเถียงกันมากมาย ทั้งฝ่ายเห็นว่า “สมควร” และฝ่ายที่เตือนว่า “อย่าดีกว่า!”...
...
โดยมีนักดาราศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับชีวิตนอกโลกคาร์ลซาแกน (Carl Sagan) เป็นนักวิทยาศาสตร์ส่งเสียงดังชัดเจนว่า “สมควร”...
และก็มีสตีเฟน ฮอว์คิง (Stephen Hawking) ผู้ได้ชื่อเป็น “ทายาทของไอน์สไตน์” ส่งเสียงดังชัดเจนว่า “อย่าดีกว่า”...
สำหรับเหตุผลของคาร์ลซาแกนและของสตีเฟนฮอว์คิงรวมถึงความคิดเห็นของผู้เขียนเองด้วยท่านผู้อ่านที่สนใจก็เปิดกลับไปดูเรื่อง “มนุษย์ต่างดาว : มิตรหรือศัตรู ?” ได้ (“เชื่อ คิดและทำ อย่างวิทยาศาสตร์”, ไทยรัฐออนไลน์, 1 เมษายน พ.ศ. 2565) เพราะวันนี้ ผู้เขียนขอโฟกัสที่เรื่องของยานวอยเอจเจอร์ 1, ยานวอยเอจเจอร์ 2 และวอยเอจเจอร์ 6
วอยเอจเจอร์ 1 และวอยเอจเจอร์ 2 : ภารกิจ!
ยานวอยเอจเจอร์ 1 และวอยเอจเจอร์ 2 เป็นยานสำรวจอวกาศที่ถูกออกแบบเพื่อปฏิบัติภารกิจเหมือนกันทั้งสองลำ!
...
นาซา...ในทศวรรษที่ 70...มักจะสร้างยานอวกาศในภารกิจสำรวจระบบสุริยะคล้ายกันสองลำ...เป็นคู่...เผื่อสถานการณ์เกิดการล้มเหลวกับยานลำแรก เช่น ยานไพโอเนียร์ 10 คู่กับไพโอเนียร์ 11 และยานวอยเอจเจอร์ 1 คู่กับ วอยเอจเจอร์ 2 โดยระหว่างยานชุดไพโอเนียร์ และชุดวอยเอจเจอร์ ก็มียานไวกิง 1 (Viking 1) และยานไวกิง 2 (Viking 2) ซึ่งก็เป็นยานสองลำแรกลงสู่ดาวอังคารได้สำเร็จ
ภารกิจแรกสุดของยานวอยเอจเจอร์ 1 และวอยเอจเจอร์ 2 ที่มักจะ “ทราบกัน” ก็คือ เป็นยานอวกาศ (สอง) ลำแรก ที่จะเดินทางออกนอกระบบสุริยะ...
ส่วนภารกิจอื่นๆ ซึ่งจริงๆ แล้วมีความสำคัญต่อมนุษย์และวงการวิทยาศาสตร์อย่างเป็นรูปธรรมมากกว่าก็คือ การสำรวจระบบสุริยะโดยเฉพาะอย่างยิ่งดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์...
แต่หลังการสำรวจดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์ยานวอยเอจเจอร์ 1 ก็จะเดินทางไกลมุ่งไปสู่แถบคอยเปอร์ (Kuiper Belt) และเมฆออร์ต (Oort Cloud) ก่อนจะเดินทางถึงขอบระบบสุริยะ เพื่อเข้าสู่อวกาศระหว่างดวงดาวจริงๆ
ส่วนวอยเอจเจอร์ 2 หลังการสำรวจดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์ ก็เดินทางสำรวจดาวยูเรนัสและดาวเนปจูนต่อ ก่อนจะมุ่งหน้าสู่แถบคอยเปอร์ และเมฆออร์ต มุ่งหน้าออกนอกระบบสุริยะ
...
ยานวอยเอจเจอร์ 1 และ 2 ออกนอกระบบสุริยะหรือยัง? ขณะนี้อยู่ที่ไหน?
ยานวอยเอจเจอร์ 1 และ ยานวอยเอจเจอร์ 2 เดินทางออกนอกระบบสุริยะหรือยัง?
คำตอบตรงๆ คือ ยัง!
ส่วนขอบนอกจริงๆ ของระบบสุริยะคือส่วนผิวหรือบริเวณด้านนอกของแถบบริเวณเรียกเมฆออร์ต ซึ่งอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ออกไป จาก 50,000 เอยู (0.79 ปีแสง) ถึง 100,000 หรือ 200,000 เอยู (1.58 ถึง 3.16 ปีแสง) โดยขอบชั้นในของเมฆออร์ต อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ระหว่าง 2,000 เอยู (0.03 ปีแสง) ถึง 5,000 เอยู (0.08 ปีแสง)
เมฆออร์ตเป็นแถบถิ่นที่อยู่ของวัตถุขนาดค่อนข้างเล็กรวมทั้งบรรดาดาวหางที่มีคาบวิถีโคจรยาวมากประเภทที่ผ่านเข้ามาเยือนดวงอาทิตย์เพียงครั้งเดียวแล้วก็กลับไปอยู่ที่เมฆออร์ต
ขอบนอกของเมฆออร์ตเป็นตำแหน่งที่อิทธิพลแรงดึงดูดของดวงอาทิตย์ต่อสรรพสิ่งในเมฆออร์ตจะสมดุลกับอิทธิพลจากแรงดึงดูดของบรรดาดวงดาวที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ดังเช่น พร็อกซิมาเซนเทารี (Proxima Centauri) ซึ่งเป็นดาวฤกษ์อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด ที่ระยะห่างจากดวงอาทิตย์ 4.2 ปีแสง
สำหรับตำแหน่งผิวของชั้นทรงกลมเมฆออร์ตทั้งด้านนอก (ไกลจากดวงอาทิตย์ที่สุด) และผิวชั้นในที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด ซึ่งมีความแตกต่างกันมาก นั่นคือ เมฆออร์ตมีลักษณะเป็นชั้นทรงกลมที่ผิวนอกและผิวในไม่ราบเรียบอย่างมาก ก็เป็นเพราะอิทธิพลของแรงดึงดูดโน้มถ่วงจากดาวฤกษ์ต่างๆ ที่มีระยะห่างจากดวงอาทิตย์แตกต่างกันมาก
แล้วยานวอยเอจเจอร์ 1 และวอยเอจเจอร์ 2 ขณะนี้ อยู่ที่ไหน?
นาซารายงานว่าในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2024 ยานวอยเอจเจอร์ 1 อยู่ห่างจากโลก 164.0 เอยู ส่วนวอยเอจเจอร์ 2 ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2024 อยู่ห่างจากโลก 136.1 เอยู ซึ่งยังอยู่ห่างไกลจากแถบบริเวณเมฆออร์ตอย่างมาก
แต่ทั้งวอยเอจเจอร์ 1 และวอยเอจเจอร์ 2 ก็เดินทางผ่าน เฮลิโอสเพียร์ (Heliosphere) มาแล้ว โดยที่วอยเอจเจอร์ 1 เดินทางออกพ้นเฮลิโอสเพียร์ เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม ค.ศ. 2012 ส่วนวอยเอจเจอร์ 2 ก็ตามหลังวอยเอจเจอร์ 1 โดย วอยเอจเจอร์ 2 เดินทางออกพ้นเฮลิโอสเพียร์ เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน ค.ศ. 2013
เฮลิโอสเพียร์ เป็นทรงกลม (หยาบๆ) รอบดวงอาทิตย์ ที่ลมสุริยะพัดไปถึง อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ประมาณ 120 เอยู หรือประมาณ 0.00157 ปีแสง
ที่ขอบเฮลิโอสเพียร์เรียก เฮลิโอพอส (Heliopause) ลมสุริยะจากดวงอาทิตย์จะสมดุลกับอนุภาคและพลังงานจากนอบระบบสุริยะ เมื่อพ้นจากเฮลิโอพอสหรือเฮลิโอสเพียร์ออกไป ก็จะมีแต่อนุภาคและพลังงานหรือรังสีคอสมิกจากดวงดาวต่างๆ รอบระบบสุริยะ และจึงอาจเข้าใจผิดกันว่า ระบบสุริยะสิ้นสุดที่เฮลิโอพอส
ยานวอยเอจเจอร์ 1 และวอยเอจเจอร์ 2 ขณะนี้ ยังอยู่ในระบบสุริยะ ระหว่างเฮลิโอสเพียร์กับเมฆออร์ต
วอยเอจเจอร์ 1 และวอยเอจเจอร์ 2 : จุดหมายปลายทางอยู่ที่ไหน?
นาซากล่าวว่ายานวอยเอจเจอร์ 1, วอยเอจเจอร์ 2 และแผ่นวีดีโอข่าวสารจากโลกสู่จักรวาล ถูกออกแบบให้สามารถเดินทางไปในอวกาศได้เป็นพันๆ ล้านปี...หรือตลอดไป...ตราบเท่าที่ไม่มีใคร (มนุษย์ต่างดาว) ขึ้นไปจับในอวกาศหรือชนเข้ากับวัตถุใดๆ ในอวกาศ...
แต่สำหรับการสื่อสารกับโลกซึ่งอาศัยพลังงานจากแบตเตอรี่กัมมันตรังสีนาซาคาดว่าวอยเอจเจอร์ 1 และ 2 จะสื่อสารกับโลกได้ถึงประมาณปี ค.ศ. 2036
ถึงแม้นาซาจะไม่สามารถติดตาม วอยเอจเจอร์ 1 และวอยเอจเจอร์ 2 ได้ตลอดไป แต่สำหรับคำถามว่า วอยเอจเจอร์ 1 และวอยเอจเจอร์ 2 เมื่อเดินทางออกจากระบบสุริยะจริงๆ แล้ว ไปแล้ว จะเดินทางต่อไปที่ไหน นาซาก็มีคำตอบว่า...
สำหรับ วอยเอจเจอร์ 1 เมื่อออกจากระบบสุริยะไปแล้ว ก็เดินทางต่อไปทางกลุ่มดาวคนแบกงู (Ophiuchus) โดยที่ในปี ค.ศ. 40,272 (อีกประมาณ 38,200 ปี) วอยเอจเจอร์ 1 ก็จะเดินทางเข้าใกล้ดาวฤกษ์ดวงหนึ่งของกลุ่มดาวหมีเล็ก (Ursa Minor) เป็นระยะทาง 1.7 ปีแสง
ส่วนวอยเอจเจอร์ 2 ในอีกประมาณ 40,000 ปี ก็จะเดินทางเข้าใกล้ดาวฤกษ์ รอส 248 (Ross 248) ภายในระยะทาง 1.65 ปีแสง
รอส 248 หรือ กลีส 105 (Gliese 105) เป็นดาวฤกษ์ขนาดเล็กอยู่ห่างจากโลกประมาณ 10.3 ปีแสง และอยู่ในกลุ่มดาวแอนโดมีดา (Andromeda)
วอยเอจเจอร์ 6 กับ Star Trek : The Motion Picture
ในบรรดาภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ที่ไม่เคยขาดหายไปจากโลกภาพยนตร์ 2001 : A Space Odyssey ออกฉายปี ค.ศ. 1968 ได้ชื่อเป็นภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ “ดีที่สุด” ตลอดกาล...
แต่ไม่ใช่ภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ “สนุกที่สุด” ซึ่งคอภาพยนตร์ส่วนใหญ่ทั่วโลก ก็จะนึกถึง Star Wars ออกฉายปี ค.ศ. 1977
Star Trek : The Motion Picture ออกฉายปี ค.ศ. 1979 ผู้สร้างตั้งใจจะให้เป็นภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ประเภทฮาร์ดไซ-ไฟ แบบเดียวกับ 2001 : A Space Odyssey แต่ “สนุกกว่า” 2001 : A Space Odyssey
ผลออกมา Star Trek : The Motion Picture ก็ได้ทั้ง “เงิน” และ “กล่อง” พอสมควร คือ รายได้ดี คำวิจารณ์ในเชิงบวกบ้าง แต่ก็ถูกวิจารญ์หนักว่า “ไม่สนุกพอ” ซึ่งก็มีผลทำให้ภาพยนตร์ Star Trek ภาค 2 คือ Star Trek II : The Wrath of Khan สนุก ตื่นเต้น มีฉากแอ็กชันมากกว่า Star Trek : The Motion Picture และก็มีผลต่อเนื่อง ทำให้ภาพยนตร์ Star Trek ภาคต่อๆ มา ซึ่งรวมแล้วถึงล่าสุด ก็มีถึง 13 ภาค “สนุก” กว่า Star Trek : The Motion Picture...
แต่ Star Trek : The Motion Picture ก็กลายเป็น “ภาพยนตร์คลาสสิก” ในใจของคนนิยมภาพยนตร์วิทยาศาสตร์จำนวนมากทั่วโลก ซึ่งก็มีผู้เขียนรวมอยู่ด้วย
Star Trek : The Motion Picture เป็นเรื่องของยานเอนเตอร์ไพรส์ ภายใต้การบังคับการของ กัปตันเคิร์ก (แสดงโดย วิลเลียม แชตเนอร์) พร้อมทีมลูกเรือที่รู้จักกันดี ดังเช่น มิสเตอร์ สป็อค เหตุการณ์เรื่องราวเกิดขึ้นในทศวรรษปี 2270 แห่งศตวรรษที่ 23 เมื่อยานเอนเตอร์ไพรส์ถูกส่งไปเผชิญหน้ากับ เมฆมรณะมีชีวิต ทรงพลังสามารถทำลายดาวเคราะห์ดังเช่นโลกได้
เมฆมรณะนั้นมีชื่อว่า “วี’เจอร์” (V’ger) จริงๆ แล้ว เป็นยานอวกาศขนาดใหญ่ของ “มนุษย์จักรกลมีชีวิต” แห่งดาวเคราะห์ดวงหนึ่ง ในกาแล็กซีทางช้างเผือก ที่จับ “วอยเอจเจอร์ 6” จากอวกาศ แล้วส่ง วี’เจอร์ กลับไปหาผู้สร้าง เพราะพบข่าวสารบนยานวอยเอจเจอร์ 6 ให้สำรวจและเก็บข้อมูลเกี่ยวกับจักรวาลลึก แล้วส่งกลับไปยัง “ผู้สร้าง” คือ โลกหรือมนุษย์
ระหว่างการเดินทางกลับไปหา “ผู้สร้าง” วี’เจอร์สั่งสมความรู้มาก จนกระทั่งกลายเป็นเครื่องจักรกลมีความรู้สึกนึกคิด ในขณะเดียวกัน ก็มีพลังอำนาจมหาศาล และทำลายทุกสิ่ง ถึงระดับเป็นดาวเคราะห์ ที่ “ด้อยกว่า” วี’เจอร์ จนกระทั่งเดินทางมาถึงโลก และส่ง “ยานสังหาร” ไปอยู่ในอวกาศรอบโลก เตรียมพร้อมจะทำลายโลก ถ้าไม่ได้ “คำตอบ” ที่ต้องการ
คำตอบอะไร?
คำตอบที่วี’เจอร์ต้องการ คือ ข้อมูลความคิดจาก “ผู้สร้าง” คือ “มนุษย์โลก” ถึงเป้าหมายสูงสุดของการส่ง วอยเอจเจอร์ 6 สู่จักรวาลลึก
แต่เมื่อวี’เจอร์ได้รับทราบข้อมูลและเป้าหมายของการส่งยานวอยเอจเจอร์ 6 ตามบันทึกเก่าแก่ของนาซาแล้ว วี’เจอร์ก็ยังไม่เข้าใจ และบอกว่า “วิธีเดียวที่จะรู้คำตอบที่แท้จริง คือ วี’เจอร์ต้องรวมกับผู้สร้าง คือ มนุษย์” โดยที่วี’เจอร์เป็นทั้งชื่อของเมฆมรณะและยานวอยเอจเจอร์ 6 รวมทั้ง “ผู้สังเกตการณ์” ในรูปร่างของวิศวกรนำร่องยานเอนเตอร์ไพรส์หญิงชาวเคลตา ชื่อ ไอเลีย (Ilia)…
จนกระทั่งในที่สุด วิลลาร์ด เด็กเคอร์ ผู้เป็น “คู่รัก” กับไอเลียตัวจริง ตัดสินใจยอมเป็นตัวแทนของ “ผู้สร้าง” รวมตัวกับวี’เจอร์ในร่างของไอเลีย แล้วทั้งคู่ก็ “สลายตัว” กำเนิดเป็น “ชีวิตแบบใหม่”...
และยานสังหารของวี’เจอร์ที่ล้อมโลกอยู่ในอวกาศ ก็ยุติการคุกคามโลก
ในโลกความเป็นจริง ยานอวกาศชุดวอยเอจเจอร์ของนาซาก็มีเพียงสองลำวอยเอจเจอร์ 6 จึงมีอยู่เฉพาะใน Star Trek : The Motion Picture
แต่นาซาก็ให้ความร่วมมือกับทีมผู้สร้าง Star Trek : The Motion Picture เต็มที่ โดยอนุญาตให้บริษัทผู้สร้างภาพยนตร์ ใช้ยานวอยเอจเจอร์ 1 และ 2 เป็นต้นแบบสำหรับวอยเอจเจอร์ 6
สำหรับส่วน “แข็ง” ของ Star Trek : The Motion Picture นอกเหนือไปจากเทคนิคพิเศษแล้ว นักวิจารณ์ภาพยนตร์ส่วนหนึ่งมองว่า ก็คือนักแสดงบางคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพอร์ซิส แคมเบตตา (Persis Khambatta) นักแสดงชาวอินเดีย ผู้รับบทไอเลีย
นักวิจารณ์ดังเช่นยีนซิสเคล (Gene Siskel) แห่งหนังสือพิมพ์ Chicago Tribune และแจ็กค์ ครอลล์ (Jack Kroll) แห่งนิตยสาร Newsweek ถึงกับกล่าวประมาณว่า ส่วนดีที่สุดของภาพยนตร์ก็คือ เฉพาะฉากที่มีไอเลียอยู่ด้วย
ก่อนการถ่ายทำยีนรอดเคนเบอร์รีผู้ให้กำเนิด “Star Trek” ตั้งแต่ต้นที่เป็นภาพยนตร์ชุดโทรทัศน์ ก็ได้ “เตือน” เธอว่า ในบทของไอเลีย เธอต้อง “โกนหัว” ตลอดทั้งเรื่อง...
แต่เธอก็ “ยินดี” และบทบาทของเธอใน Star Trek : The Motion Picture ก็เป็นบทบาทการแสดงที่ “เด่นที่สุด” ของเธอถึงทุกวันนี้
ขณะนี้มียานอวกาศ 5 ลำ ทั้งหมดเป็นของนาซา มุ่งหน้าออกนอกระบบสุริยะ คือ วอยเอจเจอร์ 1 และ 2 ไพโอเนียร์ 10 และ 11 โดยมี นิวฮอไรซันส์ (New Horizons) เป็นยานลำที่ 5 ซึ่งเดินทางออกจากโลกเมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. 2006
แล้วจะมียานอวกาศลำอื่นๆ อีกหรือไม่?
คำตอบคือ มี ของนาซาเอง และของประเทศจีนกับโครงการยาน IHP-1 (Interstellar Heliosphere Probe-1) และ IHP-2 (Interstellar Heliosphere Probe-2)
แล้วภาพนตร์ชุด Star Trek ล่ะ?
หลังภาพยนตร์ Star Trek จอเงินที่ออกฉายไปแล้ว 13 ภาค แฟนคลับภาพยนตร์ Star Trek ก็สบายใจได้เลยว่า จะมี Star Trek ภาคใหม่ออกมาให้ชมกันอย่างแน่นอน แต่ขณะนี้ ยังไม่มีชื่อภาคและกำหนดฉายแน่นอน
แล้วแฟนคลับจะรอกันหรือไม่?
ผู้เขียนเชื่อว่ารอกันแน่นอน!
อย่างน้อยก็มีหนึ่งคนที่กำลังรออยู่คือผู้เขียนเอง
แล้วท่านผู้อ่านล่ะครับเป็นแฟนคลับของ Star Trek หรือไม่? และจะรอชม Star Trek ภาคใหม่จอเงินหรือไม่ครับ?
ที่มาภาพ : นาซา และ ภาพยนตร์ Star Trek