ย้อนดูคะแนนนิยม “อิ๊งค์ แพทองธาร ชินวัตร” ก่อนก้าวสู่ตำแหน่งนายกฯ ผอ.นิด้า ชี้จุดอ่อน จุดแข็ง ภาวะผู้นำ การใช้อำนาจจะมีผลต่อความนิยม... 

ได้รับการโหวตจากสภา และเป็นที่ชัดเจนแล้ว ว่า อิ๊งค์ แพทองธาร ชินวัตร คือ ว่าที่นายกรัฐมนตรีหญิง คนที่ 2 ของไทย และจะเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 3 จากตระกูล “ชินวัตร” ที่คนไทยและคอกาแฟการเมือง รู้จักเป็นอย่างดีมากกว่า 20 ปี  

แม้การก้าวสู่ตำแหน่งครั้งนี้จะมาจากอุบัติเหตุทางการเมือง ของ นายเศรษฐา ทวีสิน หลังถูกศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยในเรื่องจริยธรรมและคุณสมบัติ จากการแต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน ก็ตาม 

หาก “เรา” จะย้อนดู คะแนนนิยม ของเพื่อไทย และ “แพทองธาร” ผู้ที่เคยเก็บข้อมูล และจะบอกเล่า “ความคิดเห็น” ของประชาชนได้ ก็คือ คนที่เคยทำโพล ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" (NIDA Poll) นักเก็บสถิติและติดตามการเมืองไทย กล่าวว่า ถือว่าเกมการเลือกนายกฯ เดินอย่างรวดเร็วมาก แม้กระทั่งจะทำโพล ว่า แคนดิเดต นายกฯ คนใด เป็นที่ต้องการของประชาชน เรายังทำไม่ทัน 

...

“เชื่อว่าที่เกมเร็วขนาดนี้ เพราะยิ่งทอดเวลาออกไป การ “ต่อรอง” จะยิ่งสูง โดยก่อนหน้านี้ ก็มีข่าวเรื่องการฝาก “งูเห่า” ไว้ที่สีส้มเท่าไร ดังนั้น จากข่าวลือต่างๆ เรื่องการระดมเสียง หากเป็นแบบนั้นจริง จะเกิดอะไรขึ้นก็ไม่ทราบ”

ผศ.ดร.สุวิชา กล่าวว่า เรื่องที่คนการเมืองทุกคนแปลกใจ คือ การผลักดัน คุณอิ๊งค์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ในห้วงเวลานี้ เพราะไม่ใช่เวลาที่ดี เรื่องนี้ขอเรียกสั้นๆ ว่า “พ่อใจร้าย” เพราะรู้อยู่แล้วว่า โอกาสที่ลูกสาวจะเป็นนายกฯ มีอยู่แล้วใน “อนาคต” ควรจะเป็นนายกฯ ในช่วงเวลาที่คะแนนนิยมกำลังขึ้น ไม่ใช่ลดลง...  

นอกจากว่า คุณอิ๊งค์ จะแสดงความสามารถในการ “พลิกเกม” จากคะแนนนิยมที่ลดลง เปลี่ยนเป็นพุ่งขึ้นได้ แต่รับรองว่า ยังไงการขึ้นตอนนี้ต้องเจอการโจมตี จากโจทย์เก่า 

จุดแข็ง จุดอ่อน ว่าที่ นายกฯ หญิงชื่อ “แพทองธาร” 

ผศ.ดร.สุวิชา ชี้ว่า ในจุดแข็งมีจุดอ่อน จุดแข็งคือ ภาพของคนรุ่นใหม่ เป็นนายกฯ อายุน้อยที่สุด มองโลกแบบสมัยใหม่ สามารถดึงคะแนนนิยมกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้ ทำให้ชาวบ้านรู้สึกมีความคาดหวัง ขณะที่ จุดอ่อน คือ ความเป็นคนที่อายุยังน้อย ขาดประสบการณ์ ที่สำคัญยังไม่สามารถสลัดเงาของคุณทักษิณ ติดตัวตลอดเวลาได้ ดังนั้น สิ่งที่คุณอิ๊งค์ สลัดเงาของพ่อออก อย่าให้คนรู้สึกว่า ทุกย่างก้าวที่เดิน เป็นการกำกับของพ่อ 

“การพูดคุยปรึกษาหารือ เป็นเรื่องปกติที่ทุกคนทำได้ โดยเฉพาะคนในครอบครัว แต่ต้องไม่ให้เห็นภาพว่าเป็น “หุ่นกระบอก” หรือ การแสดงอาการบางอย่างออกมา ที่บ่งบอกถึงการ “ครอบงำ” มันจะนำพาไปสู่ความซวย นี่คือเรื่องที่ต้องระมัดระวังมากๆ” 

สถิติ และคะแนนนิยม แพทองธาร ชินวัตร 

ผอ.นิด้าโพล ย้อนข้อมูลก่อนการเลือกตั้งว่า ก่อนที่ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ของก้าวไกล จะพูดว่า “มีเรา ไม่มีลุง” คะแนนนิยมคุณอิ๊งค์เพิ่มสูงมาก ความนิยมของคุณอิ๊ง ได้มาจากทุกกลุ่ม รวมถึงยังได้คะแนนส่วนหนึ่งจากคนรุ่นใหม่ที่ชื่นชอบพรรคก้าวไกลด้วย ก่อนที่คุณพิธา จะปล่อยวลีเด็ดเรื่อง “มีเรา ไม่มีลุง” 

แต่ เมื่อคุณพิธา พูดเรื่องนั้นไปแล้ว ทาง “เพื่อไทย” หรือ คุณอิ๊งค์เองตอบอ้อมแอ้ม... 

หากเรามาดูคะแนนนิยม ของพรรคเพื่อไทย คุณเศรษฐา และคุณอิ๊งค์ 

ก่อนการเลือกตั้ง คุณอิ๊งค์ มีคะแนนนิยมเหนือคุณเศรษฐา แต่เมื่อเลือกตั้งเสร็จแล้ว คุณเศรษฐา เป็นนายกฯ คะแนนนิยมของเพื่อไทย และคุณอิ๊งค์ ถูกถ่ายโอนมาที่คุณเศรษฐา แต่เมื่อดูฐานคะแนน ก็คือ คะแนนเดิม ไม่มีความเปลี่ยนแปลงใด 

“เมื่อไม่มีคุณเศรษฐาแล้ว คะแนนนิยม 12% กว่าๆ จะถูกถ่ายโอนมาให้คุณอิ๊งค์ ที่มี 4% กว่าๆ หรือไม่ เพราะฐานคะแนนของเพื่อไทยมีอยู่ราว 17-18% นี่คือตัวเลขล่าสุดที่เก็บ เมื่อเดือนมิถุนายน” 

...

สิ่งที่ต้องจับตาคือ หลังก้าวสู่ตำแหน่งนายกฯ คะแนนนิยมจะเป็นอย่างไร จะเพิ่มขึ้นหรือลดลงหรือไม่ และจะส่งผลอย่างไรต่อคะแนนนิยมของพรรคเพื่อไทย ที่เริ่มลดลงเรื่อยๆ เวลานี้... 

ถือว่าเป็นเรื่องปกติหรือไม่ เมื่อพรรคการเมืองที่เป็นพรรครัฐบาล จะได้คะแนนนิยมลดลง ตามความคาดหวังของประชาชน นักเก็บสถิติการเมือง ตอบทันทีว่า “ไม่เสมอไป” โดยยกตัวอย่าง รัฐบาลลุงตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตอนเป็นนายกฯ สมัยที่ 2 คะแนนลดลงต่อเนื่อง กระทั่งเกิดโควิด และบ้านเรา ประกาศโควิดเป็น 0 และ “ลุงตู่” ทำได้ ก่อนเกิดเหตุการณ์ระบาดในผับ คะแนนนิยม ลุงตู่ และพลังประชารัฐ ก็เพิ่มขึ้น 

ดร.สุวิชา กล่าวว่า โอกาสและคะแนนนิยมนั้น สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ขึ้นอยู่กับรัฐบาลจะทำผลงานอย่างไร แต่สิ่งที่อยากจะแนะนำ นายกฯ หญิงคนใหม่นี้ คือ.. 

1.การพูดให้น้อยลง เพราะพูดเยอะโอกาสหลุดเยอะ 

2.ทีมกฎหมายต้องแม่น โดยเฉพาะ การจะมีมติประชุม ครม. ใดๆ ที่ตัวเองเป็นหัวหน้าการประชุม ต้องมั่นใจไม่เสี่ยงในการทำผิดกฎหมาย เพราะมีหลายเรื่องรออยู่ 

...

จับตา ครม. อิ๊งค์ หวังมีคนรุ่นใหม่? 

สำหรับสิ่งที่ ดร.สุวิชา อยากเห็น คือ หน้าตาของ ครม. ชุดใหม่จะมีความเปลี่ยนแปลงเป็นคนรุ่นใหม่มากขึ้น เพราะเมื่ออำนาจรัฐอยู่ในมือแล้ว จะใช้อำนาจเหล่านั้นอย่างไร ถ้าใช้เป็น คะแนนเสียงจะกลับมา แต่ถ้าใช้ไม่เป็น แล้วคะแนนเสียงหล่นร่วง พรรคเพื่อไทยก็จะมีปัญหา เพราะถือว่า ไม่เหลือตัวเลือกแล้ว...

อ่านบทความที่น่าสนใจ