นับถอยหลัง ก่อนถึงวันที่ 14 ส.ค. นี้ ศาล รธน. นัดอ่านคำวินิจฉัย กรณี "เศรษฐา ทวีสิน" นายกฯ แต่งตั้ง "พิชิต ชื่นบาน เป็น รมต.ประจำสำนักนายกฯ ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ เดิมพันเก้าอี้นายกฯ ซึ่งมุมนักวิเคราะห์การเมืองมองว่า นายกฯ มีโอกาสรอดกว่า 90% ถือเป็นการเดิมพันเกมครั้งสำคัญ ของผู้อยู่เบื้องหลัง ที่ใกล้ได้รับอิสรภาพ มีโอกาสกระชับอำนาจการเมือง

อีกไม่กี่วันจะถึง 14 ส.ค. 2567 ที่ศาลรัฐธรรมนูญ นัดอ่านคำวินิจฉัย คุณสมบัตินายกฯ กรณีแต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน เป็น รมต.ประจำสำนักนายกฯ เวลาประมาณ 15.00 น. แม้นายกฯ "เศรษฐา ทวีสิน" แสดงถึงความมั่นใจ แต่ก็มีหลายกระแสว่า หากมีการตัดสินว่าเป็นโทษ ต้องเปลี่ยนตัวนายกฯ กลางคัน และนั่นจะสร้างเกมการต่อรองให้กับบรรดาพรรคร่วม โดยเฉพาะค่ายสีน้ำเงิน ซึ่งก่อนหน้านั้น อดีตนายกฯ "ทักษิณ ชินวัตร" เดินทางไปพบกับแกนนำพรรคมาแล้ว

หากประเมินถึงคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ "รศ.ดร.ธนภัทร ปัจฉิมม์" คณบดีโรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต วิเคราะห์ว่า ถ้ามองดูเจตนายังไม่เข้าในบริบทของเงื่อนไขทางกฎหมายทั้งหมด และถ้ามองในเรื่องของการกระทำ ในการแต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน เป็น รมต.ประจำสำนักนายกฯ ก็มีกระบวนการขั้นตอนในการตรวจสอบที่รัดกุม

...

โดยนายกฯ ก็พยายามต่อสู้ให้เห็นถึงเจตนาในการกระทำ จากการประเมินคาดว่า ศาลฯ จะวินิจฉัยให้นายกฯ ไม่มีความผิด โดยคาดว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะออกมาในแนวนี้กว่า 90%

"แนวทางในการตัดสินก็อาจมีแนวโน้มที่เฉียดฉิวในการลงคะแนน ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญจะมีมติไม่เป็นเอกฉันท์ เนื่องจากประเด็นปัญหาโต้แย้งในการนำบุคคลที่ไม่เหมาะสมขึ้นทูลเกล้าฯ แต่ในบทบัญญัติทางกฎหมาย ยังไม่เห็นบทบัญญัติที่ชัดแจ้ง"

อีกสิ่งที่น่าสนใจ ในการพิจารณาคำตัดสินของศาลรัฐธรรนูญจะบ่งชี้ให้เห็นถึงคุณค่าถึงความสุจริตของคนที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างไร ถือเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในการเมืองไทย ซึ่งถ้าในอีกมุมนึง หากมีคำตัดสินให้มีความผิด ก็จะเป็นประเด็นถึงการให้คุณค่าความเหมาะสมของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป

ต้องยอมรับว่า กรณีของนายกฯ เป็นการปฏิบัติหน้าที่ที่นายกฯ ไม่ได้หยิบยกขึ้นมาเอง แต่มีกระบวนการให้หน่วยงานเกี่ยวข้องตรวจสอบอย่างครบถ้วน กระบวนการเหล่านี้พิสูจน์ให้เห็นว่า คุณเศรษฐา ไม่ได้ทำโดยพลการ ในทางกฎหมายจะมองว่าเป็นข้อเท็จจริง ที่มีสภาพไม่ร้ายแรง

การเมืองไทย หลังวันตัดสินนายกฯ บทบาท "ทักษิณ” จะเด่นมากขึ้น

หากประเมินบริบททางการเมือง หลังศาลรัฐธรรมนูญตัดสินนายกฯ "รศ.ดร.ธนภัทร" มองว่า ไม่ว่านายกฯ จะรอดหรือไม่รอด ก็มีผลทางการเมืองหลังจากการตัดสินของศาล เพราะด้วยปัจจัยของคุณทักษิณ ที่จะพ้นโทษในเรื่องคดีความช่วงปลายเดือน ส.ค.นี้

ถ้าเกิดศาลฯ มีคำวินิจฉัยให้นายกฯ ผิด ก็จะเกิดการต่อรองของพรรคร่วมรัฐบาล เช่นเดียวกัน ถ้ารอดจากคำตัดสิน ก็ยังมีการต่อรองของพรรคร่วมอยู่ เพราะต้องยอมรับว่า สถานะนายกเวลานี้มีอำนาจต่อรองในเชิงการเมืองน้อย เช่น อำนาจการจัดสรรรัฐมนตรี หรืออำนาจในการจัดสรรคนในพรรคการเมือง แม้อำนาจในการบริหารประเทศจะเป็นในเชิงรูปแบบ

...

“นายกฯ ยังมีอำนาจการต่อรองทางการเมืองน้อย เป็นเหมือนหุ่นเชิด ซึ่งเป็นนายกฯ เพียงรูปแบบ แต่อำนาจในพรรค หรือในทีมเชิงการเมืองแทบจะไม่มี แต่ถ้ามองในอีกมุมนึง หากศาลตัดสินให้สิ้นสุดความเป็นนายกฯ คนที่จะได้นั่งตำแหน่งสูงสุดคนต่อไป ก็มีตัวเลือกแค่ คุณแพทองธาร ชินวัตร กับ คุณอนุทิน ชาญวีรกูล แต่ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการต่อรอง”

การพ้นโทษของคุณทักษิณ ถือเป็นการกระชับอำนาจทางการเมือง ด้วยความที่รัฐบาลมีพรรคร่วมหลายพรรค อาจไม่สามารถเข้ามาได้อย่างเต็มตัว เว้นแต่ว่าจะยังใช้กลยุทธ์เดิมในการดึง สส.ของพรรคอื่นมาร่วมกับพรรคของตน เพื่อให้มีอำนาจเพิ่มขึ้นในระบบรัฐสภา เพื่อสร้างความได้เปรียบกว่าพรรคภูมิใจไทย ที่ตอนนี้ดูเหมือนจะชิงความได้เปรียบมากกว่าพรรคเพื่อไทยด้วยซ้ำ.