สวนลุงไข่ พลิกวิกฤติราคากาแฟตกต่ำ ใช้ 5 ปี พัฒนา “กาแฟ” โรบัสต้าระดับพรีเมียม ราคาขาย 1,000-20,000 ต่อกิโลกรัม มีรางวัลการันตี กาแฟดีชุมพร...

ต้องยอมรับว่าปัจจุบันนี้เกษตรกรไทยให้ความสนใจในการปลูกพืชเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูง โดยเฉพาะ “ทุเรียน” ขนาดคนไทยเองยังต้องซื้อทุเรียนกิโลกรัมละเกือบ 200 บาท 

แน่นอนว่ามีพืชผลที่ได้รับความนิยม ย่อมมีพืชผลที่ถูกมองข้ามไป หรือ ได้รับความนิยมน้อยลง... สำหรับ “ชาวชุมพร” แล้วเวลานี้พืชที่ขึ้นชื่อ ที่เคยถูกเรียกว่าเป็นศูนย์กลาง ก็คือ “กาแฟ” โรบัสต้า ซึ่งเวลานี้เหลือพื้นที่ปลูกน้อยลงอย่างมาก แต่...ใช่ว่ามันมีมูลค่า เพราะหากทำดีๆ ก็สามารถสร้างรายได้เป็นล้านบาท 

เรื่องราวของ กาแฟโรบัสต้า ของขึ้นชื่อที่อยู่ในคำขวัญจังหวัด “ประตูภาคใต้ ไหว้เสด็จในกรม ชมไร่กาแฟ แลหาดทรายรี ดีกล้วยเล็บมือ ขึ้นชื่อรังนก” กับเจ้าของสวนกาแฟลุงไข่ ที่ยืดหยัดในการปลูกกาแฟจากรุ่นสู่รุ่น 

กาแฟชุมพร จากรุ่งโรจน์ สู่โรยรา 

...

นายธนาสิทธิ์ สอนสุภา เจ้าของสวนกาแฟลุงไข่ เล่าให้เราฟังว่า การปลูกกาแฟสายพันธุ์โรบัสต้าของสวน เราปลูกมากว่า 60 ปีมาแล้ว ตั้งแต่รุ่นคุณปู่ โดยช่วงแรกนั้นเป็นการส่งเสริมของรัฐบาล เรียกว่า เป็นโครงการ “กาแฟริมรั้ว” โดยให้ปลูกข้างบ้านคนละ 20 ต้น ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่คุณพ่อท่านเล่าให้ฟัง

จากนั้นคุณปู่ก็เริ่มปลูกมาเรื่อยๆ จนถึงรุ่นคุณพ่อ กระทั่งมาช่วงปี 2508-2509 ราคากาแฟดีดสูงมาก ไปกิโลกรัมละ 100 บาทสมัยนั้น ซึ่งตอนนั้นราคาทองคือ 700 บาท เรียกว่าสูงมากๆ ถ้าเทียบกับเวลานี้ประมาณ 7,000-8,000 บาท 

นี่เองเป็นที่มาของ จ.ชุมพร ที่กลายเป็นแหล่งปลูกกาแฟโรบัสต้าที่ใหญ่ที่สุด กระทั่งเข้าช่วงปี 2527-2528 กาแฟชุมพร ก็มาบูมอีกครั้ง.. ราคากิโลกรัมละ 100 บาทเหมือนกัน ก็ยังถือว่าราคาดีอยู่ 

จากนั้น “ชุมพร” ก็คือ “แหล่งปลูกกาแฟ” ในทุกพื้นที่ จนกลายเป็นคำที่เรียกใน “คำขวัญ” จังหวัด

อย่างไรก็ตาม ความรุ่งโรจน์ของการปลูกกาแฟก็เปลี่ยนผ่านมาถึงปี 2537 คือราคากาแฟก็เข้าสู่ยุคตกต่ำ เหลือราคากิโลกรัมละเพียง 50 บาท ซึ่งราคาก็อยู่ประมาณ 60-70 บาทจนมาถึงปัจจุบัน นี่เองทำให้เกษตรกรชาวชุมพรเลือกที่จะปลูกกาแฟน้อยลงไปมาก เหลือไม่ถึง 1% เพราะมันไม่คุ้มทุน ถูกอุตสาหกรรมกลืนกินไป... 

เจ้าของสวนกาแฟลุงไข่ เล่าต่อว่า สาเหตุที่ไม่คุ้มทุนที่จะทำกัน เพราะ แค่ค่าจ้างเก็บเมล็ดกาแฟกิโลกรัมละ 4-5 บาทแล้ว ซึ่ง 5 กิโลสด จะได้สารกาแฟ 1 กิโลกรัม ดังนั้นต้นทุนกับ 1 สารกาแฟ 1 กิโลกรัม เท่ากับ 30 บาทแล้ว เราขายได้กิโลกรัมละ 60 บาท แค่ค่าจ้างเก็บต้นทุน 30 บาทแล้ว เหลือ 30 บาท นอกจากนี้ก็หมดไปค่าดูแล การจัดการสวน เพียงเท่านี้เกษตรกรก็เจอกับภาวะขาดทุน 

ทั้งนี้แม้จะขาดทุน หากทำกันดีๆ ก็ยังพอหาเงินเป็น “เงินเก็บ” ลักษณะรายปีได้ อย่างน้อยได้เงินปีละเป็นแสนบาท เพราะกาแฟมันออกปีละครั้ง... 

นี่คือเรื่องเล่าที่มาของ “สวนกาแฟลุงไข่” ที่จากยุครุ่งเรืองเข้าสู่ยุคโรยรา แต่... นายธนาสิทธิ์ เจ้าของสวนรุ่น 3 ไม่ได้ปล่อยให้เป็นไปอย่างนั้น... เพราะสิ่งที่เขาทำคือการพลิกวิกฤติเพื่อหาโอกาส 

“ผมเริ่มเข้ามาดูแลเต็มตัวเมื่อประมาณ 8 ปีก่อน คุณพ่อเสนอว่าอยากทำกาแฟระบบออแกนิก ต้องการยกระดับกาแฟให้ “ดีขึ้น” เนื่องจากกาแฟสายพันธุ์โรบัสต้าคือกาแฟในระดับโรงงานอุตสาหกรรม ดังนั้น เมื่อเราจะพัฒนาสายพันธุ์ให้ดีขึ้น เราจึงต้องเริ่มจาก “ขั้นตอน” ต่างๆ เพื่อทำให้เมล็ดสุกขึ้น สะอาดขึ้น จากนั้นเข้าสู่กระบวนการสุดท้ายด้วยการคั่วด้วยตัวเอง”

ด้วยที่เป็น “คอกาแฟ” อยู่แล้ว จึงได้ลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง โดยเราใช้เวลาถึง 5 ปี เพื่อหากระบวนการที่ “เหมาะสม” ที่สุดสำหรับโรบัสต้า 

ข้อเสียของ “กาแฟโรบัสต้า” จะติดขมที่เกิดจาก “กาเฟอีน” มีความ “ฝาด” ที่ติดมาเหมือนกับ “ผลไม้” ใหม่ๆ ที่สำคัญคือกลิ่นมีน้อยมาก หากไม่คั่วเข้ม กลิ่นจะคล้ายกับถั่ว 

...

ส่วนข้อดี เนื่องจากมี “กาเฟอีน” จำนวน 2 เท่า มากกว่า “อาราบิก้า” และในความจริงของกาแฟอาราบิก้านั้นจะมีส่วนผสมของโรบัสต้าอยู่แล้ว โดยเขาจะเอากาแฟ 2 สายพันธุ์มาเบลนด์กันอยู่แล้ว 

ดังนั้น โจทย์ของ “กาแฟ” เราคือ การหาคำตอบว่าจะทำให้ “โรบัสต้า” สามารถกินเดี่ยวๆ ได้ดี ไม่ต้องซื้อ “อาราบิก้า” มาเบลนด์ 

ดังนั้นสิ่งที่เราทำคือ เราต้องพัฒนาการดูแล เก็บเกี่ยว หมักบ่ม กระทั่ง ปี 2564 เรามีการจัดการประกวดสุดยอดกาแฟไทย ซึ่งเราพัฒนาและเอาไปประกวดจนชนะเลิศเป็น “สุดยอดกาแฟไทย” ในปี 2564 

สาเหตุคว้าชัยชนะ "สุดยอดกาแฟ" 

นายธนาสิทธิ์ อธิบายเบื้องหลังการได้รับชัยชนะว่า การตัดสินแพ้ชนะ นั้นมาจาก “ผู้ประเมินกาแฟ” ที่ได้รับการรับรองจากสมาคมกาแฟพิเศษ 

“เรารู้อยู่แล้วว่าข้อเสียคืออะไร เราจึงเก็บเมล็ดกาแฟ เม็ดแดง ล้างสะอาด จากนั้นเก็บเมล็ดกาแฟไว้ 2-3 วันก่อน (ขึ้นอยู่กับสภาวะอากาศ) ผ่านกระบวนการ “หมักบ่ม” การทำแบบนี้ทำให้ “เมล็ดกาแฟ” ของเรา “สุก” มาขึ้น ซึ่งกระบวนการนี้จะทำให้ “กลิ่น” ของกาแฟออกมามากขึ้น มันจะ “หอม” ขึ้นมาเลย นอกจากนี้รสชาติ “ฝาด” มันก็จะหายไป” 

...

นายธนาสิทธิ์ อธิบายต่อว่า เบื้องหลังของกระบวนการนี้เราเจอด้วยความ “บังเอิญ” สาเหตุเพราะชุมพรบ้านเราฝนตกบ่อย สมมติว่าเราเก็บกาแฟมาแล้วปรากฏว่าฝนตกต่อเนื่อง 3 วัน เราไม่สามารถนำเมล็ดกาแฟไปตากได้ ก็ทำให้ “กาแฟ” ทั้งลอตเน่า...หรือเกิดเชื้อรา กลายเป็นกาแฟไม่ได้คุณภาพ 

ด้วยเหตุนี้เราจึงแก้ด้วยการ “ล้างเปลือก” ให้สะอาดที่สุด จากนั้นก็ทดลองใส่ถุงพลาสติก ไม่ให้อากาศเข้า เกิดการหมักบ่มขึ้น ทำให้ใช้ระยะเวลาในการนำเมล็ดกาแฟมาตากแดดน้อยลงครึ่งหนึ่ง ซึ่งปกติ จะตาก 30 วัน แต่วิธีนี้จะลดระยะเวลาลงเหลือ 15 วัน วิธีการนี้ได้ผลเพราะมีจุลินทรีย์ไปย่อยเปลือก ซึ่งมีปริมาณน้ำตาลอยู่เยอะให้เหลือน้อย เมื่อมีน้อย เวลาไปตากก็จะแห้งเร็ว ไม่เกิดเชื้อรา 

“เปลือกกาแฟมีน้ำตาลอยู่ เมื่อเราเอาไปตากแดดทันที มันก็จะยังไม่แห้ง น้ำตาลกลายเป็นน้ำเหนียวๆ แต่ใช้วิธีการหมัก เราใช้ยีสต์ และ จุลินทรีย์พื้นถิ่นช่วยย่อยน้ำตาลออกไป ทำให้เปลือกโดนแดดและแห้งเร็ว” 

นี่คือ “ภูมิปัญญา” แบบชาวบ้าน ที่ผ่านการลองผิดลองถูก เรียนรู้จากธรรมชาติ เราไม่มีเงินที่จะสร้างโรงเรือน เราทดลองด้วยวิธีการใช้เงินน้อยที่สุด แต่ได้ผลลัพธ์เกินคาด! 

...

การปลูกกาแฟ กับปัญหา “อากาศ” 

ปัจจุบันต้องยอมรับความจริงว่าโลกเราเจอกับภาวะอุณหภูมิสูงขึ้น “กาแฟ” เขาไม่ชอบอากาศร้อนมาก อย่างโรบัสต้า หากอุณหภูมิเกิน 30 อาศาฯ ก็ไม่ไหวแล้ว เพราะเขาปรับตัวไม่ทัน ดังนั้นสิ่งที่เราทำคือการปลูกป่าร่วมกับกาแฟ ใช้ไม้ลดทอนแสงอีกชั้นหนึ่ง และมีการปลูกพืชที่หลากหลาย 

เรียกว่าไม่ได้ทำไร่กาแฟ กลายเป็นสวนผสมโดยมีกาแฟ ซึ่งการปลูกแบบนี้เราได้ผลผลิตน้อยลง แต่มีโอกาสรอดมากขึ้น ซึ่งการปลูกลักษณะนี้จะมีระยะ “การสุก” ที่นานกว่า ทำให้เมล็ดมีการสะสมธาตุอาหารนานกว่า มันส่งผลให้รสชาติกลายเป็นว่า “ขมน้อย” และ “รสชาติดีขึ้น” 

การปลูกกาแฟแทบจะไม่ต้องรดน้ำ แค่มีพืชคลุมหน้าดินอีกที มันก็อยู่ได้...  

จากกาแฟราคาถูก สู่กาแฟพรีเมียม!!

เจ้าของสวนกาแฟลุงไข่ เผยว่า เมื่อก่อนเราปลูกกาแฟกว่า 30 ไร่ แต่ปัจจุบันเราลดเหลือ 10 กว่าไร่ สาเหตุเพราะราคากาแฟตกต่ำ และเราใช้ที่ดินปลูกอย่างอื่น 

อย่างไรก็ตาม หลังจากพบเคล็ดลับในการพัฒนากาแฟของเรา เราก็สามารถที่จะหาลูกค้าเองได้ เก็บสินค้าไว้ข้ามปีได้ ทำให้ความเสี่ยงในการทำกาแฟน้อยลง 

ตอนนี้กาแฟในท้องตลาดขายกิโลกรัมละ 140-150 บาท แต่ของเรา ขายกิโลกรัมละ 600 บาท นี่คือการขายเฉพาะ “สารกาแฟ” (เมล็ดดิบ) ที่ยังไม่ผ่านการคั่ว 


สิ่งที่เราขาย เราชูหลายๆ เรื่องรวมกัน ประกอบด้วย 

1.เราใช้วิธีการปลูกในลักษณะ “เกษตรอินทรีย์” 

2.เมล็ดกาแฟของเรามีรสชาติที่ดีกว่าของที่อื่น

3.เมล็ดกาแฟของเรารับประทานด้วยความปลอดภัย ไร้สารเจือปน 

“การที่เราจะขายของแพงได้ นำเสนอของให้กับลูกค้าได้ เราต้องมีองค์ประกอบรวมกันทั้งหมด ของคุณภาพดี ไม่อร่อย ไม่หอม ก็ไม่ได้ คุณภาพดี กินแล้วมีอันตรายก็ไม่ได้ ทุกอย่างต้องรวมกัน ซึ่งสิ่งที่เราทำมันหลอมรวมข้อดีเข้าหากันหมด รวมถึงยังเก็บรักษาได้นาน รสชาติเป็นที่ยอมรับของสมาคมกาแฟพิเศษโลกด้วย ทุกอย่างมีใบรับรองการันตี” 

ทั้งหมดนี้มันทำให้เราได้ในส่วนของ “ความคุ้มค่า” กับ “มูลค่า” 2 เรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญ เพราะ “คุ้มค่า” เป็นสิ่งที่ผู้ซื้อจะรู้สึก และเมื่อเกิดความคุ้มค่า “มูลค่า” จะไม่มีขีดจำกัด 

กาแฟเรามีน้อย มันจึงทำให้เพิ่มมูลค่า... 

รายได้ปีหนึ่ง หลักล้าน ขายกิโลกรัมละ 1,000-20,000 บาท!! 

นายธนาสิทธิ์ เผยว่า กาแฟของเราผลิตปีหนึ่งได้เพียง 1 ตัน เรียกว่า มีน้อยมาก หากเทียบกับตลาดกาแฟ ประมาณ 0.001 เปอร์เซ็นต์ 

แต่กาแฟของเรามีขายตั้งแต่กิโลละ 1,000 บาท จนถึง 10,000 บาท บางตัวถึง 20,000 บาท โดยเมื่อปี 2564 เขาประมูลไปกิโลกรัมละ 20,000 บาท ฉะนั้นเรามีกาแฟ 1 ตันขายต่อปี เงินที่ได้ ขั้นต่ำกิโลละ 1,000-10,000 บาท จะมีรายได้เท่าไร

“แน่นอนว่าเกินล้านบาท แต่นี่ก็คือรายได้ ยังไม่รวมหักต้นทุน สำหรับผม ถึงแม้ทุเรียนจะราคาดี หรือแพงขนาดไหน สำหรับผมได้เจอความคุ้มค่าและมั่นคงกับกาแฟแล้ว”.  

อ่านบทความที่น่าสนใจ