การขับเคลื่อนองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ของประเทศ ท่ามกลางความท้าทายทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศในยุคนี้ สิ่งสำคัญคือการประเมินสถานการณ์อย่างแม่นยำ วางแผน และปรับตัวในด้านต่างๆ เพื่อรับมือกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ขณะเดียวกันถ้าไม่ปรับตัว ก็จะลำบาก เหมือนอย่างที่องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ของประเทศไทย “ปูนซิเมนต์ไทย” ยึดปฏิบัติมาโดยตลอด ทำให้นอกจากสามารถฝ่าฟันวิกฤติต่างๆ ที่ผ่านมาได้ ยังสามารถรักษาโมเมนตัมของการเติบโตทางธุรกิจ ด้วยรายได้กว่า 5 แสนล้านบาทต่อปี ในช่วงตั้งแต่ปี 2564-2566 และช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 ก็สามารถทำรายได้ไปแล้วกว่า 2.5 แสนล้านบาท 

แต่ครึ่งหลังของปี 2567 ยังคงมีโจทย์ที่ท้าทายรอให้ภาคธุรกิจไทยต้องเผชิญหน้าอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งแม่ทัพของเอสซีจี “ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม” กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทซิเมนต์ไทยโฮลดิ้ง จำกัด พร้อมคณะผู้บริหารของกลุ่มเอสซีจี ได้แชร์มุมมองทั้งปัจจัยบวก ความเสี่ยง และโอกาสของเศรษฐกิจไทย รวมถึงการปรับตัวในสไตล์ของเอสซีจี กับผู้บริหารและทีมงานของไทยรัฐกรุ๊ปอย่างน่าสนใจ

ทีมผู้บริหารเครือเอสซีจี และ ผู้บริหารไทยรัฐ กรุ๊ป ร่วมพบปะกันเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2567 ที่สำนักงานใหญ่ เอสซีจี โดยมี คุณนำพล มลิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเเละกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.เอสซีจี เดคคอร์, คุณวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SCGP, คุณธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี , คุณวัชร วัชรพล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม ไทยรัฐทีวี และไทยรัฐออนไลน์, คุณธนวลัย วัชรพล เจ้าหน้าที่บริหารสายงานคอนเทนต์ออนไลน์, คุณสุรชัย นิ่มละออ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี ซีเมนต์ แอนด์ กรีนโซลูชัน, คุณจิตสุภา วัชรพล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม ไทยรัฐทีวี และไทยรัฐออนไลน์
ทีมผู้บริหารเครือเอสซีจี และ ผู้บริหารไทยรัฐ กรุ๊ป ร่วมพบปะกันเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2567 ที่สำนักงานใหญ่ เอสซีจี โดยมี คุณนำพล มลิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเเละกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.เอสซีจี เดคคอร์, คุณวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SCGP, คุณธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี , คุณวัชร วัชรพล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม ไทยรัฐทีวี และไทยรัฐออนไลน์, คุณธนวลัย วัชรพล เจ้าหน้าที่บริหารสายงานคอนเทนต์ออนไลน์, คุณสุรชัย นิ่มละออ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี ซีเมนต์ แอนด์ กรีนโซลูชัน, คุณจิตสุภา วัชรพล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม ไทยรัฐทีวี และไทยรัฐออนไลน์

...

สัญญาณบวก และความเสี่ยง ต่อเศรษฐกิจไทย

ปัจจัยที่เป็นบวกต่อภาวะเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง นั้น “ธรรมศักดิ์” ให้ความเห็นว่ามีด้านต่างๆ ที่สำคัญ คือ

1.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ของภาครัฐได้ออกมาใช้จ่ายแล้ว 

2.การท่องเที่ยวที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

3.การลงทุนจากจีน ในส่วนของเม็ดเงินการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment  หรือ FDI)  

4.ภาพรวมของโลก ที่แนวโน้มการลดอัตราดอกบี้ยของสหรัฐฯ ที่ช่วยผ่อนคลายการลงทุนในตลาดหุ้น

นี่คือส่วนของหนึ่งของปัจจัยบวก แต่ในความเป็นจริงแล้วยังมีความเสี่ยงที่อยู่ในภายใน และที่รายล้อมประเทศไทยอยู่ โดยหลักๆ มีดังนี้  

1.ปัญหาการเมืองระหว่างประเทศจากสภาพของภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ที่เริ่มลุกลาม โดยเฉพาะในบริเวณตะวันออกกลางที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก และแน่นอนจะกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

2.สินค้าจากจีนจำนวนมากจะไหลเข้ามายังไทย จนกระทบต่อภาคการผลิตของไทย ซึ่งต้องจับตาดูว่า ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) จะปรับตัวอย่างไร 

3.กำลังซื้อของภาคประชาชน กลุ่มระดับกลางถึงล่างที่ยังอ่อนแอ เพราะมีภาระหนี้สิน ขณะที่การเติบโตเศรษฐกิจยังช้า ทำให้กำลังซื้อหด  


แล้วเอสซีจี มีแผนปรับตัวอย่างไร

“การรับมือโดยใช้วิธีการเพิ่มสภาพคล่องอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ แต่ต้องเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันด้วย” นั้นคือสิ่งที่ “ธรรมศักดิ์” กล่าวย้ำ

การเพิ่มศักยภาพของธุรกิจให้สามารถแข่งขันได้นั้น เอสซีจี ได้ดำเนินการตั้งแต่การลดต้นทุนของการใช้พลังงาน การโฟกัสการบริหารและการลงทุน รวมไปถึงการใช้นวัตกรรมต่างๆ เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ตัวอย่างการใช้พลังงานนั้น เอสซีจี ได้ปรับไปใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น เพื่อลดต้นทุนการผลิต เพราะถ้ามีต้นทุนการผลิตที่แข่งขันได้ ธุรกิจก็อยู่ได้ แม้จะมีสินค้าจากที่ไหนเข้ามาก็ต่อสู้ได้ ส่วนเรื่องการโฟกัสทางธุรกิจ ก็ตัองพิจารณาว่าธุรกิจใดมีอัตราการเติบโต หรือศักยภาพทางการแข่งขันต่ำ ก็อาจต้องหยุดหรือเลิก แล้วเอาคน เงิน รวมไปถึงเน้นการบริหารจัดการไปยังธุรกิจที่จะเติบโต รวมไปถึงการปรับซัพพลายเชน ช่องทางการกระจายสินค้า ที่ต้องทำได้เร็ว

โครงการลองเซิน ปิโตรเคมิคอลส์ เวียดนาม (ภาพ : SCG)
โครงการลองเซิน ปิโตรเคมิคอลส์ เวียดนาม (ภาพ : SCG)

...

นอกจากนี้เอสซีจียังวางแผนไปถึงลงทุนในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งครึ่งปีหลังจะเห็นการลงทุนโรงงานปิโตรเคมีคอลในเวียดนาม ขณะเดียวกันโดยภาพรวมประเทศในอาเซียน นอกจากเวียดนามยังมีอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา ที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่น่าสนใจ ซึ่งในอนาคตแนวโน้มรายได้ของเอสซีจีที่มาจากการลงทุนในต่างประเทศ คาดว่าจะมีสัดส่วนมากขึ้น

สิ่งสำคัญอีกกลยุทธ์หนึ่ง คือ การใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี และเอไอ มาพัฒนาสินค้า และบริการ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการทั้งในและต่างประเทศ ตัวอย่างเช่น ในครึ่งปีแรกสามารถส่งออกโลว์คาร์บอนซีเมนต์ไปยังอเมริกาได้ถึงล้านตัน ซึ่งนวัตกรรมของสินค้าจะช่วยสร้างความเข้มแข็งในระยะยาว โดยเฉพาะในเรื่องกรีนโปรดักต์ ถ้าไทยทำได้มากขึ้น ก็จะสร้างดุลการค้าที่เพิ่มขึ้นได้ นอกจากนี้ในไทยต้องมีสินค้าที่เจาะกลุ่มเป้าหมายเฉพาะมากขึ้น ด้วยการสร้างโปรดักต์ใหม่ รับความต้องการแต่ละเซกเมนต์ 

“การปรับตัวต้องให้เป็นเซกเมนต์มากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่แค่แมส และลดต้นทุนให้ลูกค้าได้ ถ้าเราปรับตัวได้ ก็เปลี่ยนผ่านไปสู่ธุรกิจที่มี Value added มากขึ้น แต่ถ้าทำทุกอย่างเหมือนเดิม ผมคิดว่าจะลำบาก”.