คุยกับ “นักวิชาการ TDRI” ปมแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ก่อพายุกระตุ้น ศก. ได้จริงหรือไม่ พร้อมตั้งคำถามที่รอคำตอบที่ชัดเจน.. 

“พิชัย ชุณหวชิร” รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ออกมายืนยันหนักแน่น ถึงโครงการ เงินดิจิทัล 10,000 บาท ว่า หากมีการแจกไปแล้ว จะส่งผลดีทำให้เกิดพายุหมุนทางเศรษฐกิจ 4 ลูก 

พายุหมุนลูกที่ 1 : การใช้จ่ายของประชาชนกับร้านค้าขนาดเล็ก 

พายุหมุนลูกที่ 2 : การใช้จ่ายร้านค้าขนาดเล็ก กับ ร้านขนาดใหญ่

พายุหมุนลูกที่ 3 :  การใช้จ่ายร้านค้าขนาดใหญ่ กับ ร้านขนาดใหญ่

พายุหมุนลูกที่ 4 : เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ เป็นทวีคูณ ช่วยฟื้นฟูการผลิตของประเทศ สร้างความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวม 

ในขณะที่ “จุลพันธุ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ก็เชื่อว่า จะจ่ายเงินดิจิทัล ในไตรมาส 4 แม้เป็นระยะเวลาสั้นๆ ของปี จะไม่มีผลกับ GDP ปี 67 แต่จะมีผลต่อจีดีพีในปี68  ราว 1.2-1.8% กับเม็ดเงิน 4.5 แสนล้าน 

นี่คือความมั่นใจในส่วนของฟากรัฐบาล แต่หากมองในความเป็นจริง “เรา” ได้มีโอกาสคุยกับ ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI  กับ คำถามที่ว่า มีอะไร ที่รัฐบาล ยังไม่ให้คำตอบบ้างเกี่ยวกับเรื่องเงิน “ดิจิทัลวอลเล็ต” ซึ่งเวลานี้ แอปฯ “ทางรัฐ” มีผู้โหลดไปแล้วกว่า 10 ล้านคน 

ดร.นณริฏ เกริ่นว่า ก่อนอื่นต้องขอบอกก่อนว่า สิ่งที่จะพูดนี้ อาจจะเป็นสิ่งที่ทางภาครัฐได้ใหัคำตอบแล้ว เพียงแต่บางเรื่องนั้น ยังไม่แน่ชัด... 

...

เทคโนโลยี และความปลอดภัย ของแอปพลิเคชัน :

ดร.นณริฏ  ชี้ว่า เทคโนโลยีในที่นี้ หมายถึงเรื่องการลงทะเบียน ซึ่งภาครัฐได้อธิบายไว้แล้วว่า สามารถลงทะเบียนผ่านธนาคาร หรือร้านสะดวกซื้อได้ 

คำถามคือ เมื่อลงทะเบียนไปแล้ว ข้อมูลจะไปยัง แอปฯ ของทางรัฐ อย่างไร ซึ่งส่วนนี้จะพ่วงไปถึงเรื่อง “ความปลอดภัยทางการเงิน”

ธนาคารแห่งประเทศ จะดูแลเรื่อง “เสถียรภาพ” ของ “เงินตรา” เมื่อทางภาครัฐจะออกเงินดิจิทัล และเกิดการหมุนเวียนของเงิน ก็ต้องมีความ “แน่ใจ” ว่าแอปฯดังกล่าวนั้น ต้องมีความปลอดภัย คือไม่ใช่ว่าเจอคน “เสกเงิน” ขึ้นมาได้ หรือ “เงินหาย” หากระบบนี้เกิดปัญหา ก็จะส่งผลต่อผู้ใช้งาน 

นี่คือ สิ่งที่นักวิจัยอาวุโส จาก TDRI มอง และให้ความสำคัญในประเด็นเรื่องความปลอดภัย พร้อมอธิบายว่า การทำแอปฯ เกี่ยวกับเรื่องการเงินนั้น จำเป็นต้องเข้ากลไก SandBox ที่เป็นของ แบงก์ชาติ โดยส่วนใหญ่จะต้องใช้เวลาในการพัฒนา  6 เดือน ถึง 1 ปี เป็นอย่างน้อย...

ฉะนั้น หากคุณต้องการพัฒนาให้มีความรวดเร็ว มันจะนำไปสู่ 

“คำถามถึงความปลอดภัย” 

แปลว่า โอกาสที่ แอปฯ จะสามารถพัฒนาให้ผ่านระบบความปลอดภัยในระดับแบงก์ชาติ เป็นไปได้ยาก ที่จะเสร็จทันในไตรมาส 4 ดร.นณริฏ ตอบว่า ไม่สามารถฟันธงอะไรได้ เพราะไม่ได้ร่วมทำ หรือ ผู้ผลิตแอปฯ และไม่ใช่คนของแบงก์ชาติ 

“ถ้าทำแบบหามรุ่งหามค่ำ อาจจะทำได้ ก็ได้ แต่ให้พูดตามเนื้อผ้า เรื่องนี้ “เวลา” จะค่อนข้างจำกัด” 

ผลกระทบร้านค้า และการจ่ายภาษี : 

สำหรับประเด็นที่ 2 ดร.นณริฏ มองไปถึงเรื่องผลกระทบของการลงทะเบียนของทางร้านค้า เรื่องนี้ หากเทียบกับ โครงการ “คนละครึ่ง” ที่เคยมีปัญหาคือ เรื่องร้านค้าที่ลงทะเบียนนั้น บางรายสรรพากร เรียกเก็บภาษีย้อนหลัง 

เรื่องนี้จะบ่งบอกฐานรายได้ ในการขายของ ของคุณ ซึ่งก็มีการชี้แจงว่า ที่ขายดี เฉพาะช่วงนี้เท่านั้น หรือ ผู้ค้าบางรายอาจจะไม่อยากเสียภาษี นี่คือปัจจัยหนึ่งที่ทางร้านค้าอาจจะไม่อยากเข้าร่วม 

“ในรอบก่อนๆ เวลาแจกเงิน เขามีการออกประกาศ ว่า รายได้ตรงนี้ไม่ต้องเอามายื่นรวม ซึ่งประเด็นเงินดิจิทัล 10,000 บาท นี้ไม่แน่ใจว่าจะมีหรือไม่? ซึ่งสิ่งเหล่านี้ เรายังไม่เห็น แต่คาดว่า น่าอาจจะมีการเตรียมคำตอบไว้...” 

การคืนเงิน และระยะเวลาแลกคืน : 

นักวิจัยอาวุโส จาก TDRI ชี้ว่า สิ่งที่ยังไม่เห็นอีกเรื่องคือ การแลกเงินคืน จะได้เร็วแค่ไหน ได้เงินคืนเมื่อไหร่ 

“หากได้เงินช้า นักธุรกิจ เขาอาจจะไม่อยากได้ เวลาขายของ บางครั้งเราจำเป็นต้องใช้กระแสเงินสด ฉะนั้น หากต้องรอขึ้นเงินเป็นเดือน หรือ เป็นปี กลุ่มธุรกิจ เขาอาจจะไม่อยากรับ เพราะหากรับเงินสด จะได้เงินทันที” 

ดร.นณริฏ ยกตัวอย่างว่า เวลาธุรกิจขายของ เขาจะเริ่มที่ “รายใหญ่” มารายย่อย ดังนั้น “อำนาจ” การได้เงิน จะขึ้นกับ “รายใหญ่” มักต่อรอง รายย่อย ในเรื่องเวลาจ่ายเงิน เช่น รออีก 3 เดือน ค่อยมาเอาเงิน 

แต่กลับกัน สำหรับการแจกเงินดิจิทัล “รายย่อย” จะได้เงินไปก่อน แล้ว “รายใหญ่” จะต้องรอเงินจากรัฐบาล ดังนั้น ผู้ประกอบการรายใหญ่ จะต้องมีคำนวณว่า มันคุ้มค่าหรือไม่ 

...

หากกลไก ตอบโจทย์กับแนวปฏิบัติได้รวดเร็ว จะช่วยสร้างความมั่นใจรายใหญ่ รายย่อย รวมถึงทาง “แบงก์ชาติ” เพราะหากมีปัญหา เช่น เงินหาย แบบนี้ใครจะรับผิดชอบ 

เรื่องนี้ทางแบงก์ชาติก็ไม่เคยสนับสนุน? ดร.นณริฏ ชี้ว่า เขาก็ชัดเจนมานานแล้ว นักวิชาการทั่วไปเขาก็ไม่สนับสนุน เพียงแต่ทาง “แบงก์ชาติ” เขามีหน้าที่ดูแลเรื่องการเงิน ทั้งการทำธุรกรรมต่างๆ ไม่ให้เกิดปัญหา อย่างน้อย หาก “แบงก์ชาติ” การันตี ก็จะสร้างความมั่นใจให้กับคนใช้งานได้  

เทคนิคยักย้ายถ่ายเทเงิน : 

“เรา” ถามว่า นี่ยังไม่รวมการใช้เทคนิคต่างๆ ทางการเงิน เช่น แลกของ คืนเงิน หรือ ขอเป็นเงินสด กับทางร้านค้าต่างๆ ในการใช้เงินดิจิทัล  ดร.นณริฏ บอกว่า สิ่งนี้เป็นเรื่องยากในการป้องกัน และเป็นธรรมชาติ เมื่อภาครัฐจะทำโครงการในลักษณะการแจกเงิน ก็มักจะมีการผุด “เทคนิคในการเอาลรัดเอาเปรียบ” อยู่แล้ว คนที่รวยกว่า ก็จะได้เปรียบ 

ยกตัวอย่างง่ายๆ หากเรามี “สายป่าน” ที่ยาวกว่าคนอื่น เขาอาจจะเสนอว่าจะให้เงินสด 5,000 บาท เพื่อแลกกับ “เงินดิจิทัล 10,000 บาท” ก็ได้ โดยที่ไม่รู้ว่ารัฐจะจ่ายคืนเมื่อไหร่  

...

เรื่องแบบนี้มันเกิดขึ้นมาโดยตลอด ซึ่งเรื่องแบบนี้เป็นความ “สมัครใจ” ของผู้ที่ได้รับ... ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นอะไรที่ป้องกันได้ยาก หากเขาเลือกสมัครใจแลกเงินดิจิทัล กับ เงินจริงๆ ที่ได้น้อยกว่า ซึ่งเรื่องแบบนี้ไม่ใช่ความผิดของรัฐ 

แหล่งเงินชัดเจน แต่ห่วงวิธีปฏิบัติ : 

แหล่งเงินเวลานี้มีความชัดเจนแล้ว ว่าจะใช้เงินในงบประมาณ แต่จะใช้งบประมาณ หลายปี แต่ที่มีปัญหาให้ต้องมาดูคือ โครงการเงินดิจิทัล นี้ จะใช้เงิน 5 แสนล้าน แต่ได้มีการเตรียมเงินไว้ 4.5 แสนล้าน 

“นี่คือ สิ่งที่คุณศิริกัญญา ตันสกุล ออกมาตั้งคำถามว่า ทำแบบนี้ได้หรือ... ถ้าหากแจกไปแล้ว มาขอคืน เกิน 4.5 แสนแล้ว แล้วเงินส่วนเกินจะทำอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ อาจจะเป็นประเด็นเล็กน้อย ที่อาจจะแก้ไขได้ 

ที่มาของเงิน เวลานี้ ถือว่าค่อนข้างเคลียร์แล้ว แต่สิ่งที่ต้องคิดในเวลานี้คือ “วิธีปฏิบัติ”  

พายุหมุนทางเศรษฐกิจ 4 รอบ? : 

นักวิชาการอาวุโส TDRI กล่าวถึง “พายุหมุนทางเศรษฐกิจ” ว่า ในทางวิชาการมีวิธีการประเมินว่าเศรษฐกิจจะเติบโตเท่าไร จากการกระตุ้นเศรษฐกิจในโครงการของทางภาครัฐ จากการคำนวณ โครงการเงินดิจิทัล พบว่า จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ 0.4-0.9 เท่า 

...

“พายุหมุนทางเศรษฐกิจที่บอกนั้น หากคำนวณเป็นตัวเงิน จะได้น้อยกว่าเงินที่ลงไป เช่น หากลงไป 4.5 แสนล้าน จะได้คืนมาประมาณ 40-90% ของเงินที่ลงทุนไป เต็มที่เลย จะได้คืนมา 405,000 ล้าน และที่สำคัญคือ มันจะไม่ส่งผลทันที สมมติว่า ลงเงินตุลาคม-กันยายนนี้ เงินที่ลงไป จะได้ 50-60% ของทั้งหมด ซึ่งก็เป็นเงินประมาณ 2 -2.4 แสนล้านในปีแรก และที่เหลือก็จะเกิดในปีต่อมา เพราะการจับจ่ายของคนนั้นก็ต้องใช้เวลา” 

ดร.นณริฏ  บอกว่า นี่คือ การประเมินที่ดีที่สุด หากแย่สุด... จะได้แค่ 40% แปลว่า หากลง 4.5 แสนล้าน จะได้กลับมาแค่ 1.8 แสนล้าน ซึ่งถือว่า “ไม่คุ้ม” เป็นอย่างมาก 

อย่างไรก็ตาม พายุเศรษฐกิจ เท่าที่ประเมิน คือ ไม่ถึงรอบ.. สาเหตุ เพราะถือว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบวงกว้าง ทุกอย่างมันเลยอาจจะ “หย่อน” 

หากอยากให้ได้ประสิทธิภาพจริงๆ เราต้องกระตุ้นไปกับกลุ่มที่เดือดร้อน หรือ ยากจนจริงๆ ประเทศเรา มี 4-5 ล้าน แต่นี่คือ กลุ่มเป้าหมาย 45 ล้านคน เหลืออีก 40 ล้าน คนไม่ได้เดือดร้อนขนาดนั้น ได้เงินมา ก็อาจจะนำไปออมเก็บไว้ และบางคนที่มีฐานะ อยู่ในกลุ่มบน อาจจะไม่ได้ใช้เลย 

สมมติว่า ปกติแล้ว ต้องใช้จ่ายเงินเดือนละ 10,000 บาท เมื่อได้เงินมา เขาก็เอาเงินดิจิทัล มาใช้ ส่วนเงิน 10,000 บาท เขาก็เก็บออมไว้ แปลว่า “เงินที่ใช้” นั้น ไม่ได้เกิดเงินใหม่ ก็แค่เอาเงินดิจิทัล มาใช้ มันไม่เกิดพลังหมุน 

ทำไมไม่แจกเงินสด : 

ดร.นณริฏ  กล่าวว่า เรื่องนี้รัฐบาลได้มีการชี้แจงแล้วว่า มันเป็น “ปรัชญาความเชื่อ” ของเขา ว่า มันมีผลดีหลายด้าน หรือ ด้านเทคโนโลยี ทำให้คนหัดใช้แอปฯ และเรียนรู้ นี่คือ “มอตโต้” ของเขา 

หรือในทางการเมือง คือ สิ่งที่เขาให้สัญญาไว้ในตอนเลือกตั้ง แต่จะให้เป็นเงินสด ก็อาจจะดูเสียเครดิต

“เรื่องนี้มีเหตุผลของมันอยู่ ทั้งที่ใจจริง เขาอาจจะอยากแจกเงินสดให้มันจบๆ เลยก็ได้...” 

สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ คือ ปัญหาของการเมืองไทย เวลาเราออกแบบนโยบาย มีการคิดก่อนเป็นรัฐบาล แต่เมื่อมาเป็นรัฐบาล มันมาเจอกับความเป็นจริง  “หน้างาน” ที่เป็นของจริง ทำดิจิทัล ก็ต้องไปคุยกับ “แบงก์ชาติ” ก็เรียกว่า เจอตอมาตลอด หากไม่ทำตามที่พูด ก็จะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือในการเลือกตั้งครั้งถัดไป 

เรื่องที่น่าห่วง : 

จากที่กล่าวมาทั้งหมด ห่วงเรื่องไหนมากที่สุด นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า “ห่วงทั้งหมด เหมือนกลับตัวก็ไม่ได้ เดินต่อไป อาจไปไม่ถึง (หัวเราะ) หากพิจารณาในด้านเทคนิค เขาพยายามเข็นอย่างมาก เขาเป็นรัฐบาลมาเกือบ 1 ปีแล้ว 

“เขาสลายขั้วตั้งรัฐบาลกันวันไหน...นับตั้งแต่วันแรก จนถึงวันนี้ เขาเพิ่งจะเคลียร์เงื่อนไขแรกได้คือ “ที่มาของเงิน” ใช้เวลาไป 1 ปี ต่อไปจะเป็นเรื่อง “เทคนิค” จะใช้เวลาเท่าไร และ ช่วง “ระหว่างทาง” ที่ต้องเจอปัญหาต่างๆ เช่น แอปฯล่ม ก็ต้องมาแก้ไข กันอีก นี่คือ “พายุ” ที่เขาต้อง “ฝ่ามรสุม” กันอีก” 

กระตุ้น GDP ได้กี่เปอร์เซ็นต์ : 

ดร.นณริฏ กล่าวว่า โครงการนี้ภาครัฐ เตรียมเงินไว้ 4.5 แสนล้าน จ่ายให้กับประชาชน ซึ่งในทางวิชาการ “พายุเศรษฐกิจ” ที่จะเกิดขึ้น จะเกิดขึ้น ประมาณ 0.4-0.9 เท่า ของพายุเงินนี้ ไม่ได้หมุน 4 เท่า 

ดังนั้น หากตีค่า “กลางๆ” เท่ากับ 60% (0.6 เท่า) แปลว่า พายุจริงๆ จะเกิดแค่ 2.7 แสนล้าน และจะเกิดในปีแรก 60% หรือ แค่ 1.6 แสนล้าน 

ถ้าเราเอาตัวนี้ไปหารกับ GDP ประเทศ (18 ล้านล้าน) ก็จะเท่ากับ มีโอกาสที่จะกระตุ้น GDP ได้ 0.8 - 0.9%  เท่านั้น ในช่วงปี 2568

อ่านบทความที่น่าสนใจ