หญิงป่วยมะเร็งลำไส้ระยะที่ 2 แต่ใจไม่ยอมแพ้ ฮึดสู้รักษาโรคให้หาย หันมาดูแลตัวเองและออกกำลังกาย เพราะมีลูกเป็นเป้าหมายในการมีชีวิตอยู่

เรื่องไม่คาดคิดมักเกิดขึ้นกับชีวิตของคนเราได้เสมอ 'ธนิดา สันติธรรม' หรือ 'ปิ๊ก' อายุ 54 ปี คือหนึ่งในบุคคลที่ต้องผ่านเรื่องราวสุดช็อก! นั่นก็คือการพบว่าตัวเองป่วยด้วยโรคมะเร็งลำไส้ระยะที่ 2 แต่อย่างไรก็ตาม เธอกลับไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แต่พุ่งชนปัญหาจนเอาชนะมันได้ในที่สุด

กันยายน 2556 "คุณเป็นมะเร็งครับ" :

เดิมแล้ว ปิ๊ก ธนิดา ถือเป็นคนที่ดูแลสุขภาพตัวเองในระดับหนึ่ง ไม่มีโรคประจำตัว และไม่เคยต้องกินยา จนกระทั่งประมาณวันที่ 23 กันยายน 2556 เธอรู้สึกปวดท้อง แต่คิดว่าตัวเองท้องเสีย จึงไม่ได้ใส่ใจอะไรนัก ยังคงใช้ชีวิตตามปกติเหมือนทุกวัน อย่างไรก็ตาม อาการไม่ได้ทุเลาลง เธอจึงตัดสินใจเดินทางไปที่โรงพยาบาลเขลางค์นคร-ราม เพื่อปรึกษาแพทย์ถึงสิ่งที่เป็นอยู่

เหตุที่เธอเป็นผู้หญิง แพทย์จึงเริ่มด้วยการตรวจภายใน แต่กลับไม่พบความผิดปกติ จึงส่งตัวปิ๊กไปอัลตราซาวด์ช่องท้อง จุดนี้เองที่ทำให้แพทย์เริ่มพบความผิดปกติที่ซ่อนอยู่ในตัวเธอ แพทย์อายุรกรรมจึงแนะนำให้เธอส่องกล้องที่ลำไส้ และให้นอนโรงพยาบาล

...

จึงส่งเคสต่อให้ นายแพทย์ถาวรัฐ เรือนโรจน์รุ่ง แพทย์จากโรงพยาบาลมะเร็งลำปาง ซึ่งเชี่ยวชาญด้านการรักษาโรคมะเร็ง แต่ขณะนั้นมาทำพาร์ตไทม์อยู่ที่ รพ.เขลางค์นคร-ราม นพ.ถาวรัฐ จึงส่องกล้องให้ ได้เจอก้อนเนื้อหน้าตาบ่งบอกว่าเป็นเนื้อร้าย และเอ่ยวาจาที่ทำให้หญิงคนนี้ช็อกที่สุดในชีวิตว่า "คุณเป็นมะเร็งครับ"

ลูกชาย ปิ๊ก ธนิดา เมื่อครั้งยังเล็ก
ลูกชาย ปิ๊ก ธนิดา เมื่อครั้งยังเล็ก

ธนิดา เปิดใจกับเราว่า ณ วันที่ทราบว่าเป็นมะเร็ง เราร้องไห้พร้อมกับความคิดที่แวบเข้ามาในหัว 2 อย่าง อย่างแรกคือหน้าลูกชายทั้ง 2 คน ที่เพิ่งอยู่ ป.2 และ ป.3 อายุประมาณ 8-10 ขวบ อีกแวบหนึ่งคิดถึงโลงศพ

"ที่คิดถึงโลงศพ เพราะมีภาพจำว่ามะเร็งเป็นโรคร้าย ใครเจอแบบนี้ก็คิดว่าต้องตาย ทำให้ความคิดจินตนาการไปถึงโลงศพ ด้านหน้าวัดติดป้ายชื่อตัวเอง 'ธนิดา สันติธรรม อายุ 43 ปี' ทุกคนคงจะเข้ามาแสดงความเสียใจกับลูก ที่ต้องกำพร้าแม่ตั้งแต่ยังเล็ก… นี่ฉันต้องตายแล้วเหรอ" ความคิดด้านลบต่างๆ ประดังประเดเข้ามาในหัวของธนิดา

เธอหันหน้าไปหาแพทย์อีกครั้ง พร้อมกล่าวถามทั้งน้ำตาว่า "หมอคะ ปิ๊กมีโอกาสรักษาให้หายได้ไหม"

"โชคดีที่คุณตรวจเจอเร็ว มีโอกาสหาย" สิ้นเสียงคำตอบจาก นพ.ถาวรัฐ ภาพโลงศพที่อยู่ในหัวหายออกไปทันที กลับแทนที่ด้วยความหวังครั้งใหม่ในชีวิต แม้จะยังไม่ชัดเจนว่าจะหายแน่นอน แต่นี่ก็เป็นความหวังเล็กๆ ที่โผล่ขึ้นมาท่ามกลางความมืด

"พอแพทย์บอกแบบนั้น ภาพลูกก็แวบเข้ามาในหัวอีก เราคิดทันทีว่า จะทำอย่างไร จะอยู่อย่างไร เพื่อให้อยู่กับคนที่รักให้นานที่สุด" ธนิดา กล่าวกับเรา

ตัดสินใจรับคีโม :

8 ตุลาคม 2556 แพทย์นัดหมายฟังผลวิเคราะห์ชิ้นเนื้อ และหลังจากได้รับการยืนยันแน่ชัดว่าเป็นมะเร็ง ปิ๊กได้ปรึกษาญาติพี่น้อง ก่อนจะได้รับคำแนะนำให้เข้าผ่าตัดที่ศูนย์ศรีพัฒน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยได้รับการดูแลการผ่าตัด จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ นั่นก็คือ นายแพทย์ไพศิษฎ์ ศิริวิทยากร

"เราใช้เวลาผ่าตัดต่อลำไส้ ประมาณประมาณ 4 ชั่วโมง ตัดลำไส้ออกไปประมาณเกือบ 1 ฟุต แล้วเอาชิ้นเนื้อร้ายไปตรวจ ยังโชคดีว่าสายพันธุ์ที่เจอ เป็นสายพันธุ์ที่ตอบสนองต่อการรักษา เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะที่ 2 หลังจากนั้นคุณหมอไพศิษฎ์แนะนำว่า ให้รักษาต่อโดยการให้คีโม แต่การให้คีโมคุณหมอพูดว่าจะให้หรือไม่ก็ได้ และแนะนำให้เราลองปรึกษาแพทย์ท่านอื่นอีกด้วย"

...

ทุกสิ่งทุกอย่างต้องเอาคำตอบภายในหนึ่งเดือนนั้น ด้วยความที่คุณปิ๊กไม่กล้าตัดสินใจ เพราะทางคุณหมอยังไม่ได้ฟันธงว่าต้องให้ไหม เธอจึงกลับไปที่เชียงใหม่อีกครั้ง พร้อมปรึกษาคุณหมอไพศิษฎ์ว่า

"เราถามว่า 'คุณหมอคะ ถ้าปิ๊กเป็นลูกสาวคุณหมอ คุณหมอจะให้ (คีโม) ไหม' คุณหมอถามกลับว่ากระทบเรื่องการเงินไหม เราเลยตอบว่า 'ไม่เป็นไรค่ะ ปิ๊กจ่ายได้' เพราะเราเบิกได้ โดยใช้สิทธิ์จากรัฐวิสาหกิจ" อีกทั้งตัวเธอเองทำประกันโรคร้ายแรงไว้ บริษัทจึงจ่ายเงินสินไหม ได้เงินก้อนมาจำนวนหนึ่ง ทำให้ปิ๊กไม่รู้สึกกังวลกับค่ารักษาพยาบาล ช่วยคลายความเครียดลงได้บ้าง

"คุณหมอเลยบอกว่า งั้นให้คีโมและจะรับที่ไหนก็ได้ เราจึงตัดสินใจรับที่ลำปาง เคสของเราจึงถูกย้ายมาอยู่กับ นายแพทย์ถาวรัฐตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา และรับคีโมที่โรงพยาบาลมะเร็งลำปาง ตั้งแต่ปลายปี 2556"

คุณปิ๊ก ได้รับคีโมโดยการรับประทานยา ซึ่งแพทย์จะจ่ายยาให้เธอทั้งหมด 8 รอบ กินยารอบละ 14 วัน วันละ 7 เม็ด รวมแล้วรอบละ 98 เม็ด หากรวมทั้งหมด 8 รอบ จะเท่ากับว่าเธอต้องกินยา 784 เม็ด อย่างไรก็ตาม เธอเปิดใจกับเราว่า แต่ละรอบค่ายาอยู่ที่ประมาณหมื่นกว่าบาท ถือว่ายังโชคดีที่เป็นมะเร็งที่ ค่ายาไม่แพงมาก

ปัจจุบัน - (ซ้าย) ลูกชาย อายุ 21 ปี / (ขวา) ลูกชาย อายุ 19 ปี และ (กลาง) ปิ๊ก ธนิดา อายุ 54 ปี
ปัจจุบัน - (ซ้าย) ลูกชาย อายุ 21 ปี / (ขวา) ลูกชาย อายุ 19 ปี และ (กลาง) ปิ๊ก ธนิดา อายุ 54 ปี

...

ผลกระทบจากคีโม และการติดตามผล : 

ธนิดา อธิบายว่า "คีโมนี้ไม่มีผลกระทบต่อเม็ดเลือดขาว แต่อาจจะมีต่อผิว อย่างมือของเราจากมีเลือดฝาดๆ จะค่อยๆ คล้ำลง แล้วจะมีปัญหาเล็บมือ เล็บเท้าเปราะ คุณหมอแนะนำให้กินโปรตีน เราเลยเลือกกินไข่ต้มทุกวัน วันละ 6-8 ฟอง" ปลายสายกล่าวอย่างติดตลกว่า "หลังเลิกให้คีโม เราเบื่อไข่ไปเลย (หัวเราะ)"

ปิ๊ก เล่าต่อว่า หลังจากให้คีโมเสร็จ 8 รอบ มีการส่องกล้องอีกครั้งหนึ่งเมื่อปลายปี 2557 เพื่อดูว่ามีเซลล์มะเร็งเกิดขึ้นใหม่อีกหรือไม่ ด้านคุณหมอพบติ่งเนื้อยื่นออกมาประมาณหนึ่งมิลลิเมตร แต่หลังจากตัดชิ้นเนื้อนั้นส่งตรวจ ก็พบว่าไม่ใช่เนื้อร้าย และได้นัดเธอส่องกล้องอีกครั้งเมื่อปลายปี 2558 ผลออกมาปกติ

ระยะแรกแพทย์ยังนัดติดตามผลทุก 3 เดือน ก่อนจะเปลี่ยนเป็นทุก 4 เดือน และ ทุก 6 เดือน ล่าสุด เดือนมิถุนายน 2567 แพทย์แนะนำติดตามผลปีละ 1 ครั้ง เพราะมะเร็งอาจกลับมาได้เสมอ ซึ่งปัจจุบันนี้นับเป็นปีที่ 11 ที่ชีวิตของธนิดาได้สัมผัสกับ "มะเร็งลำไส้ใหญ่"

"เราอาจจะไม่ได้คำตอบข้อมูลทางการแพทย์ไม่ได้ 100% แต่ทราบมาว่าแม้จะไม่มีเซลล์มะเร็งแล้ว แต่ยังต้องติดตามผลทุกปี ต้องตรวจตลอดว่ามีสิ่งผิดปกติไหม ถ้ายังอยู่ในเกณฑ์ปกติ เราก็ดูแลตัวเองไปเรื่อยๆ"

...

หันมาดูแลตัวเองมากขึ้น :

ช่วงที่ปิ๊กรู้ว่าตนนั้นเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะที่ 2 ต้องผ่าตัด และเข้ารับคีโม ทำให้เธอต้องหันมาดูแลสุขภาพมากขึ้น เพราะหากไม่ใส่ใจตัวเองแล้ว อาจจะทำให้ระยะที่จะหายจากโรคร้ายกินเวลานานขึ้น ซึ่งอย่างแรกที่เธอพอจะทำได้ ก็คือการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ตามคำแนะนำของแพทย์

"แพทย์บอกว่าให้กินอาหารให้มีประโยชน์เลี่ยง อาหารประเภท ของทอด ของมัน ปิ้งย่าง หมักดอง เน้นกินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ไม่ค้างคืน ไม่กินอาหารแปรรูป นอกจากนั้น ตัวเราเองยังหันมาตรวจสุขภาพทุกปี เผื่อเกิดโรคอื่นขึ้นมาจะได้รักษาได้ทัน"

ธนิดา เสริมว่า หลังคีโมเสร็จเรายังดูแลตัวเองมาเรื่อยๆ เน้นกินอาหารที่มีประโยชน์ และครบ 5 หมู่ อะไรที่คิดว่าดีเรากินไว้ก่อน แต่ถึงอย่างนั้นเราเอาแต่กินกับกิน จนวันหนึ่งพยาบาลถึงกับเอ่ยปากว่า "พี่ลดน้ำหนักนิดนึงนะคะ"

"ซึ่งมันก็จริงอย่างที่เขาแนะนำ เพราะน้ำหนักเราจากประมาณ 47 กิโลกรัม ขึ้นมาอยู่ที่เกือบ 60 กิโลกรัม ตอนนั้นเราคิดว่าจะลดยังไงดี เพราะตอนอายุประมาณ 48 แล้ว อยู่ในวัยที่ระบบเผาพลาญเริ่มไม่ค่อยดี กินอะไรก็อ้วน เราปรึกษาเพื่อนเภสัช ซึ่งเขาให้ยามากิน แต่กำชับว่าถ้าน้ำหนักลงที่พอใจแล้วให้หยุด สุดท้ายเรากินยาลดมาเหลือ 57 กิโลกรัม จึงหยุดเพราะเริ่มรู้สึกว่าไม่ค่อยโอเค และเริ่มมีความคิดว่าน่าจะต้องหันมาออกกำลังกาย"

เข้าสู่วงการการวิ่ง :

ด้วยความที่ว่าไม่รู้จะเริ่มออกกำลังกายด้วยกีฬาอะไรดี ปิ๊กจึงเลือกที่จะไปเดิน ณ สวนสาธารณะเขลางค์นคร แต่ด้วยเหตุที่ยังไม่มีองค์ความรู้เรื่องนี้เท่าไรนัก พอเดินเสร็จกลับบ้านมาเธอก็กินต่อ สุดท้ายน้ำหนักก็ไม่ลดลง กลายเป็นหมูแข็งแรง

ปิ๊กเริ่มคิดอีกครั้งว่าจะทำอย่างไรดี จนกระทั่งวันหนึ่ง เห็นคนใส่เสื้อที่มีตัวหนังสือตัวเลข ซึ่งเป็นระยะทางระยะต่างๆ ไว้ เช่น 10K หรือ 21K หลังจากเข้าไปสอบถามว่าตัวเลขนั้นคืออะไร ทำให้เธอรู้ว่านี่คือระยะวิ่ง หรือบางครั้งอาจจะเป็นการวิ่งมาราธอน 42.195K

"เริ่มรู้สึกสนใจ เพราะมองว่านี่คือการชาเลนจ์ตัวเอง จึงเริ่มฝึกวิ่งอยู่หนึ่งปี จนกระทั่งประมาณปี 2559 จึงลงงานวิ่งครั้งแรกที่ งานแม่เมาะมินิฮาล์ฟมาราธอน เริ่มต้นที่ระยะ 10 กิโลเมตร จากนั้นทำให้เริ่มรู้สึกชอบการวิ่ง ก็เลยวิ่งมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน ทุกวันนี้เลยมีการชาเลนจ์ตัวเองมากขึ้น"

ธนิดา กล่าวต่อว่า เราเริ่มจากการวิ่ง 10 กิโลเมตร ขยับมาเป็น 21 กิโลเมตร จนสู่ 42 กิโลเมตร ซึ่งปีนี้มีการชาเลนจ์ตัวเองว่าจะวิ่งในสนาม 100 กิโลเมตร ให้ครบ 4 สนาม ตอนนี้วิ่งไปแล้ว 2 สนาม คือ ที่กำแพงแสน 100K และภูเก็ต 100K สนามต่อไปคือเชียงใหม่และเขาใหญ่

นอกจากนั้น ธนิดายังได้ดูแลเรื่องอาหารอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการทานโปรตีนหรือวิตามิน เธอพยายามเลือกสิ่งที่มีคุณภาพและปลอดภัย สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ เพราะเธอคิดว่า "เราอุตส่าห์หายจากมะเร็งแล้ว จะมาตายอาหารเสริมไม่ได้" ทำให้ปัจจุบัน ปิ๊ก ธนิดา สุขภาพแข็งแรงดี น้ำหนักก็กลับมาอยู่ที่ประมาณ 46-47 กิโลกรัม

(ซ้าย) ขณะป่วยเป็นมะเร็งลําไส้ใหญ่ น้ำหนักเกือบ 60 กิโลกรัม และ (ขวา) ปัจจุบันหลังจากลดน้ำหนัก
(ซ้าย) ขณะป่วยเป็นมะเร็งลําไส้ใหญ่ น้ำหนักเกือบ 60 กิโลกรัม และ (ขวา) ปัจจุบันหลังจากลดน้ำหนัก

มะเร็งเปลี่ยนชีวิต :

หากจะเรียกว่ามะเร็งทำให้การใช้ชีวิตไปได้หรือไม่? เราถามคุณปิ๊ก

เธอตอบว่า ก็ถือว่าใช่เลยค่ะ เพราะเมื่อเรามีโรคร้ายเข้ามาในชีวิต มันทำให้เราคิดได้ว่า ถ้าไม่ดูแลตัวเองระหว่างที่ต้องติดตามผล มันก็อาจจะมีโอกาสกลับมาเป็นได้อีก

"มะเร็งสอนให้เรารักตัวเองก่อนที่จะไปรักคนอื่น ปิ๊กจึงพยายามดูแลตัวเองให้แข็งแรง และให้ดีที่สุด เพื่อลูกทั้ง 2 คน เพราะลูกคือคนที่เรารัก เขาเป็นทั้งแรงบันดาลใจ และกำลังใจให้เราอยากมีชีวิตอยู่ต่อไป"

"อย่างช่วงที่ป่วยเป็นมะเร็ง ต้องกินยาทุกเช้าเย็น ลูกจะถามเราตลอดว่า 'แม่กินยาหรือยัง' หรือตอนไหนที่เท้าต้องแช่เท้า เขาก็จะไปเอาน้ำมาให้เราแช่ เราจึงคิดเตือนใจตัวเองมาตลอดว่า ต้องสู้และต้องอยู่กับลูกให้นานที่สุด"

ปิ๊ก-ธนิดา สันติธรรม ฝากทิ้งท้ายว่า อยากให้ทุกคนหมั่นตรวจเช็กสุขภาพตัวเอง เพราะเราไม่รู้หรอกว่าจะเป็นโรคร้ายเมื่อไร เมื่อเจ็บป่วยพยายามอย่าซื้อยากินเอง หากเป็นไปได้ให้เข้าไปพบแพทย์ดีกว่า เพราะเมื่อเจอโรคจะได้รักษาอย่างทันท่วงที แล้วก็คุณหมอเวชศาสตร์ชะลอวัย แนะนำว่า การจะดูแลสุขภาพให้ดี ต้องกินอาหารที่มีประโยชน์ นอนให้เพียงพอ และออกกำลังกาย 

ขอบคุณภาพจาก ธนิดา สันติธรรม

.........

อ่านบทความที่น่าสนใจ :