“สืบสันดาน” ซีรีส์ที่ตอนนี้ขึ้นแท่นมีผู้รับชมอันดับต้นๆ ของโลกบน Netflix มุมนึงสะท้อนความสัมพันธ์ “นายจ้าง” กับ “ลูกจ้าง” ซึ่งในโลกความจริง บางคนกำลังเผชิญกับการถูกกักขังหรือใช้งานเกินเลยกว่าความเป็นมนุษย์ โดยทนายผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงาน ได้ถอดบทเรียนจากซีรีส์ เพื่อให้ลูกจ้างรู้ถึงสิทธิของตัวเอง ในโลกของความเป็นจริง

“สืบสันดาน” เล่าถึง ชีวิตเจ้าสัวรุ่งโรจน์ เจ้าพ่อหมื่นล้าน เจ้าของธุรกิจเพชรรายใหญ่แห่งเอเชีย ตายอย่างเป็นปริศนาในคฤหาสน์เทวสถิตย์ไพศาล โดยมี ไข่มุก สาวใช้หน้าตาดี ที่เจ้าสัวเพิ่งประกาศจดทะเบียนสมรสด้วย เข้าไปพัวพันกับศึกแย่งชิงมรดก ซึ่งภาพของสาวใช้ในบ้านนี้ สะท้อนถึงการใช้แรงงานที่หนักหน่วง และสะท้อนถึงชีวิตในโลกแห่งความเป็นจริงของการทำงานในบางมุมอับของสังคมไทย

“ทนายนราธิป ฤทธินรารัตน์” สำนักกฎหมายเนตินรา ที่เชี่ยวชาญเรื่องแรงงาน ให้ข้อมูลว่า “สืบสันดาน” เป็นซีรีส์ที่สะท้อนการใช้แรงงาน ซึ่งหากปัจจุบันนายจ้างกระทำความผิดต่อแรงงาน ลูกจ้างจะมีกฎหมายคุ้มครองลูกจ้างและเอาผิดต่อนายจ้าง โดยอิงกับเรื่องราวในซีรีส์ “สืบสันดาน” ดังต่อไปนี้

...

ความผิดฐานทำร้ายร่างกาย

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ผู้ใดทำร้ายร่างกายผู้อื่น จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้นั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ตัวอย่างการกระทำ เช่น กระชากหัวอย่างรุนแรงจนผมหลุดบาดเจ็บ กระชากมืออย่างรุนแรงจนล้มลงบาดเจ็บ เตะด้วยรองเท้าชนช้ำบวมหลายแห่ง ตบจนริมฝีปากแตกเลือดไหล

ความผิดฐานข่มขืนใจ

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทําการใด ไม่กระทําการใด หรือจํายอมต่อสิ่งใดโดยทําให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเองหรือของผู้อื่น หรือโดยใช้กําลังประทุษร้ายจนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทําการนั้น ไม่กระทําการนั้นหรือจํายอมต่อสิ่งนั้นต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

ตัวอย่างการกระทำ คือ การทำให้กลัว โดยอาจใช้กริยา ท่าทาง คำพูด ก็ได้ เช่น ใช้ปืนยิงเพื่อข่มขู่ให้กลัว ขู่ว่าจะทำร้าย หรือขู่ว่าจะฆ่าให้ตาย หากไม่เซ็นเอกสารสำคัญให้

ความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขัง

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 ผู้ใดหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น หรือกระทําด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

ตัวอย่างการกระทำ เช่น การกักขัง ตัดเสรีภาพ ตอกตะปูปิดประตูขังไว้ในห้องใต้ดิน ล่ามโซ่ไว้ในบ้าน ไม่ให้ออกไปไหน ปิดประตูขังไว้โดยให้คนเฝ้า บังคับให้อยู่แต่ในห้อง

ความผิดฐานเอาคนลงเป็นทาส

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 312 ผู้ใดเพื่อจะเอาคนลงเป็นทาส หรือให้มีฐานะคล้ายทาส นำเข้าในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร พามาจากที่ใด ซื้อ ขาย จำหน่าย รับหรือหน่วงเหนี่ยวซึ่งบุคคลหนึ่งบุคคลใด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 140,000 บาท

ตัวอย่างการกระทำ เช่น การใช้ให้ทำงานเกินกว่าความสามารถและสภาพร่างกาย ไม่จัดอาหารให้ทาน ไม่จ่ายค่าตอบแทนอย่างเหมาะสม รวมทั้งการจำกัดสิทธิ เสรีภาพ ความเป็นอยู่ มีการลงโทษอย่างทารุณโหดร้าย

หากเป็นการเอาเท้าเหยียบหัวคนอื่น และใช้คำพูดที่เหยียดหยามต่อหน้าผู้อื่น

ถือเป็นความผิดฐานดูหมิ่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

การแก้ผ้าบุคคลอื่นต่อหน้าคนอื่น

การกระทำเช่นนี้เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและทำให้ผู้ถูกกระทำได้รับความอับอาย เป็นการกระทำที่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 278 ผู้ใดทำให้ผู้อื่นต้องอับอาย หรือทำให้เสียหายต่อชื่อเสียงโดยการทำลายความเป็นส่วนตัวของเขา เช่น การเปิดเผยรูปร่างของเขาในที่สาธารณะ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

...

นอกจากนั้นแล้ว ประเทศไทยยังมีพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ โดยมีการบัญญัติเรื่องสำคัญ ดังนี้

ความผิดฐานค้ามนุษย์ มาตรา 6

“ทั้งนี้ ผู้ใดกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ ต้องระวางโทษ จำคุกตั้งแต่ 4 ปี ถึง 12 ปี และปรับตั้งแต่ 400,000 บาท ถึง 1,200,000 บาท”

“ทั้งนี้ ผู้ใดกระทำความผิดฐานบังคับใช้แรงงานหรือบริการ ต้องระวางโทษ จำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 4 ปี และปรับตั้งแต่ 50,000 บาท ถึง 400,000 บาทต่อผู้เสียหายหนึ่งคน หรือทั้งจำทั้งปรับ”

กรณีแรงงาน ลูกจ้าง เห็นว่า พฤติกรรมการกระทำของนายจ้าง เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย หรือสุ่มเสี่ยงว่าจะผิดกฎหมาย มีช่องทางการร้องเรียน และดำเนินคดี ได้แก่

1. การแจ้งความต่อตำรวจ เพื่อให้ดำเนินคดีต่อนายจ้าง

2. การร้องเรียนต่อกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เพื่อส่งเจ้าหน้าที่ลงตรวจสถานและช่วยเหลือ

3. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

4. ศูนย์ประสานงานเฉพาะทาง

หากแรงงาน ลูกจ้าง ได้รับการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย อย่านิ่งนอนใจและปล่อยเฉย เพราะคนย่อมมีลำดับฐานะความเป็นคนเหมือนกัน ไม่มีใครควรได้ชื่อว่า เป็นทาส ในโลกปัจจุบันทั้งสิ้น.

...

ภาพจาก Netflix ประเทศไทย