เด็กไร้สัญชาติ มีอัตราการหลุดจากระบบการศึกษาไทยจำนวนมาก ทำให้เกิดกระบวนการขึ้นทะเบียน G code student หรือที่เรียกว่า “เด็ก G” เพื่อให้เด็กได้รับการศึกษาในขั้นพื้นฐาน แต่ที่ผ่านมายังประสบปัญหาในการขอที่ล่าช้า และส่วนหนึ่งมาจากเอกสารของเด็กไม่ครบ และไม่ตรงกับข้อมูลเดิม เนื่องจากพ่อแม่บางส่วนหย่าร้างกัน ขณะที่หน่วยงานราชการต้องใช้ความระมัดระวังในการตรวจสอบ

เด็กหญิงรายหนึ่ง อายุ 18 ปี เรียนอยู่ใน จ.เชียงใหม่ ซึ่งใกล้จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เล่าว่า การได้ G code student หรือระบบกำหนดรหัสประจำตัวผู้เรียน เพื่อเข้ารับบริการการศึกษา สำหรับผู้ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร ของกระทรวงศึกษาธิการ ทางโรงเรียนได้มีการลงทะเบียนให้ เพื่อให้ได้รับการช่วยเหลือด้านการศึกษาพื้นฐาน เนื่องจากทางครอบครัวไม่ได้มีบัตรประชาชน

การได้ G code student ทำให้ตนเองและเพื่อนสามารถเรียนต่อได้ เพราะมีการช่วยเหลือจากรัฐไทยในด้านการศึกษา และทำให้ไม่หลุดออกจากระบบการศึกษากลางคัน ที่ผ่านมา หลายครอบครัวมีฐานะยากจน เมื่อไม่ได้รับการช่วยเหลือด้านการศึกษา เลยทำให้ต้องออกไปหางานทำ หรือบางคนก็ไปมีครอบครัว

...

สำหรับตนใกล้จะจบ ม.6 เลยพยายามยื่นเรื่องเพื่อขอตรวจสอบสถานะ เพื่อให้ได้ บัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน เพื่อจะสามารถเดินทางออกไปเรียนในสถานศึกษานอกพื้นที่ได้ แต่ตอนนี้ก็ยังไม่มีการออกให้ เลยมีความกังวลว่าจะไม่ได้ไปเรียนต่อนอกพื้นที่ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย และอยากให้หน่วยงานของไทยช่วยเหลือ

จากการลงพื้นที่สอบถาม เด็กไร้สัญชาติ พบว่าการขอ G code student หรือระบบกำหนดรหัสประจำตัวผู้เรียน สามารถช่วยให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาได้ แต่ในกระบวนการขอบางครั้งมีความล่าช้า รวมถึงเอกสารเพื่อนำไปยืนยันสถานะไม่ตรงกัน

สำหรับโรงเรียนแล้ว การขึ้นทะเบียน G code student ถือเป็นประตูบานแรกที่สำคัญ ในการดึงเด็กไร้สัญชาติให้อยู่ในระบบการศึกษา “นายนิวัฒน์ วิยะ” ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสุขฤทัย อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ เล่าว่า เด็กในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความหลากหลาย ส่วนนึงเด็กยังไม่มีสัญชาติไทย เลยทำให้ครูต้องพยายามทำให้เด็กเหล่านั้นขึ้นทะเบียน G code student

แต่จากการทำงานเพื่อขึ้นทะเบียน G code student ก็พบว่า เด็กหลายคนทั้งพ่อทั้งแม่ไม่มีสัญชาติ เลยทำให้ขาดเอกสารที่เป็นข้อมูลสำคัญในการขึ้นทะเบียน จนเกิดความล่าช้า เพราะต้องยอมรับว่าการซักประวัติเด็กเพื่อขึ้นทะเบียน บางรายมีข้อมูลไม่ตรงกัน เนื่องจากหลายครอบครัวพ่อแม่เลิกกัน หรือเด็กบางคนก็อยู่กับผู้สูงอายุ โดยไม่มีพ่อแม่ดูแล แต่สิ่งสำคัญในการคัดกรองเด็กที่เข้ามาเรียน ครูที่ทำงานร่วมกับชุมชน จะทราบว่าเด็กคนดังกล่าวอยู่ในพื้นที่หรือนอกพื้นที่ โดยต้องมีบุคคลในพื้นที่รับรอง

“ตอนนี้เด็กในโรงเรียนมีทั้งหมด 581 คน มีเด็กไร้สัญชาติอยู่ 72 คน ดังนั้นการขึ้นทะเบียน G code student ให้กับเด็กถือเป็นหน้าที่ของครู ที่ต้องหาหลักฐานที่ครอบครัวมีเพื่อยื่นไปให้ทางอำเภอ ซึ่งกระบวนการในการกรอกประวัติถือเป็นเรื่องที่ต้องมีความมั่นใจในข้อมูล”

“อรวรรณ แสนนก” ครูโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 30 อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ในปีนี้ทางโรงเรียนดำเนินการทางเอกสาร เพื่อให้เด็กไร้สัญชาติได้ G code student แล้วประมาณ 60 คน โดยเด็กส่วนใหญ่อยู่ใน อ.ฝาง อ.แม่อาย อ.ไชยปราการ อ.เชียงดาว

...

จากการทำงานกับเด็กพบว่า เด็กไม่ได้มีการจดแจ้งสัญชาติส่วนนึงเกิดจากการตกสำรวจ เพราะส่วนใหญ่พ่อแม่ทำงานในไร่ในสวน เมื่อลูกเกิดก็ไม่มีความรู้ในการจะไปแจ้งเกิดที่อำเภอในพื้นที่ เลยไม่มีเอกสารการเกิด รวมถึงการได้สัญชาติไทย

“เด็กไร้สัญชาติที่ได้ G code student เมื่อจบการศึกษาที่โรงเรียน จะทำเรื่องขอบัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน เพื่อให้สามารถไปเรียนต่อในสถานศึกษาระดับสูงที่อยู่นอกพื้นที่ได้ ส่วนเด็กอีกกลุ่มก็จะไปทำงาน โดยเด็กที่ได้ G code student สามารถทำงานได้ในพื้นที่ ไม่สามารถไปทำงานพื้นที่อื่นได้ ยกเว้นจะสามารถขอบัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนได้แล้ว”

ห้องทะเบียนเคลื่อนที่ เพิ่มโอกาสให้ได้ G code student ทั่วถึง


“สันติพงษ์ มูลฟอง” มูลนิธิเครือข่ายสถานะบุคคล ที่มีส่วนร่วมในโครงการห้องทะเบียนเคลื่อนที่ เพื่อขึ้นทะเบียน G code student ให้กับเด็กไร้สัญชาติทั่วประเทศเล่าว่า เด็กไร้สัญชาติ เมื่อเข้าสู่ระบบการศึกษา ต้องมีการขอ G code student โดยตอนนี้มีเด็กที่ขึ้นทะเบียนราวแสนคนในทุกปี กรุงเทพฯ มีการขึ้นทะเบียนมากที่สุดประมาณ 2.2 หมื่นคน ส่วนเชียงใหม่มี 2.8 หมื่นคน

กระบวนการขอ G code student เด็กต้องส่งข้อมูลเพื่อขอทั้งหมด 15 รายการ หลังจากโรงเรียนในท้องถิ่นส่งให้หน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการแล้ว จะส่งข้อมูลของเด็กต่อให้กรมการปกครอง เพื่อตรวจสอบ

...

ในกระบวนการตรวจสอบอาจพบว่า 1. เด็กอาจโชคดีที่มีการบันทึกข้อมูลส่วนตัวไว้ในระบบ ว่าเป็นคนที่มีสัญชาติไทย แต่กลุ่มนี้มีการพบน้อยมาก ไม่ถึง 5% ทั่วประเทศ 2. เด็กที่ไม่พบข้อมูลรายการ จะถูกส่งข้อมูลย้อนกลับมาจากกรมการปกครองมาที่อำเภอ และส่งต่อไปยังโรงเรียนให้มีการตรวจสอบว่าเด็กยังเรียนอยู่หรือไม่ ถ้าเรียนอยู่จะส่งกลับไปให้นายทะเบียนอำเภอ และให้เด็กยื่นคำร้องจัดทำทะเบียนประวัติ

แต่ปัญหาในการขอ G code student ให้กับเด็กไร้สัญชาติ เด็กบางรายต้องใช้เวลาขอนาน เนื่องจากเด็กบางรายกรอกข้อมูลไม่ครบทั้ง 15 ข้อ หรือบันทึกข้อมูลบิดามารดาไม่ตรงกัน อย่าง อ.แม่อาย มีเด็กอยู่ในขั้นตอนนี้ประมาณพันกว่าคน

ประกอบกับปริมาณงานในการตรวจเอกสารของหน่วยราชการต้องใช้เวลานาน เลยทำให้เกิดโครงการความร่วมมือ ห้องทะเบียนเคลื่อนที่ ในการนำบุคลากรจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องลงไปยังโรงเรียน เพื่อขึ้นทะเบียนให้เด็กได้รับโอกาสทางการศึกษามาขึ้น

อำเภอแม่อาย กระบวนการตรวจสอบสถานะบุคคลไร้สัญชาติ

ด้าน “สลีลญา คำภาแก้ว” นายอำเภอแม่อาย จ.เชียงใหม่ ให้ข้อมูลการขึ้นทะเบียน G code student ให้กับเด็กไร้สัญชาติในพื้นที่ว่า เด็กในพื้นที่ตอนนี้ตั้งแต่ปี 2562 ถึงปัจจุบัน ขึ้นทะเบียน G code student ทั้งหมด 41,977 คน

...

ที่ผ่านมาได้ร่วมกับองค์กรที่เกี่ยวในการตรวจสอบเอกสาร และคุณสมบัติ ซึ่งปีนี้ดำเนินการไปแล้ว 1,738 คน ขณะเดียวกันมีกลุ่มที่อยู่ในระหว่างดำเนินการ 2,460 คน ซึ่งตัวเลขนี้มีการเคลื่อนไหวในระบบตลอด ขึ้นอยู่กับว่าทางโรงเรียนจะบันทึกข้อมูลของเด็กได้ครบหรือไม่

ด้วยความที่เราเป็นอำเภอชายแดน ทำให้มีการขึ้นทะเบียนหลายอย่าง ทำให้บุคลากรที่มีจำนวนจำกัด พยายามเร่งมือการขึ้นทะเบียน G code student อย่างรอบคอบที่สุด ซึ่งข้อมูลที่ทางโรงเรียนส่งมา บุคลากรของโรงเรียนบางส่วนอาจจะยังไม่เชี่ยวชาญในการตรวจสอบ หรือไม่มีบุคลากรที่ทำหน้าที่นี้โดยตรง ทำให้การขึ้นทะเบียนช้า

การมีโครงการห้องทะเบียนเคลื่อนที่ ช่วยให้มีการตรวจสอบเอกสารของเด็กที่ขึ้นทะเบียนได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะบุคลากรที่ลงพื้นที่โรงเรียนไปช่วยคัดกรองมีความรู้ และจะทำให้ทางอำเภอขึ้นทะเบียนให้กับเด็กได้เร็วขึ้น

“ยูนิเซฟ” กับการช่วยเหลือเด็กไร้สัญชาติ

“ปริญญา บุญฤทธิ์ฤทัยกุล” เจ้าหน้าที่งานคุ้มครองเด็ก (เด็กอพยพโยกย้ายถิ่นฐาน) องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า การทำห้องทะเบียนเคลื่อนที่ครั้งนี้ เป็นการร่วมมือระหว่างกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน มูลนิธิเครือข่ายสถานะบุคลล และ องค์การยูนิเซฟประเทศไทย โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาสถานะให้แก่เด็กไร้รัฐไร้สัญชาติในเขต จ.เชียงใหม่ ซึ่งยูนิเซฟให้การสนับสนุนเครือข่ายภาคประชาสังคมในพื้นที่ เช่น มูลนิธิเครือข่ายสถานะบุคคล เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาสถานะบุคคลให้กับเด็กกลุ่มเปราะบางในหลายพื้นที่

ความร่วมมือในครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ รมต. ทวี สอดส่อง ได้เข้ามารับตำแหน่งและมีนโยบายคืนสิทธิให้กับคนตกหล่น เช่น กลุ่มชาติพันธุ์ ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล โดยให้ทุกกรมกองมาร่วมด้วยช่วยกันขับเคลื่อนเพื่ออำนวยความเป็นธรรมให้กับทุกคน

ความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐในครั้งนี้ ถือเป็นการทำงานเชิงรุกที่ทำให้การทำงานเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากได้กำลังเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานรัฐ เช่น ดีเอสไอ และ กรมคุ้มครองสิทธิเด็กและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ช่วยในการทำการคัดกรอง และยังเพิ่มความน่าเชื่อถือในการกรอกแบบเอกสารต่างๆ ตัวอย่างเช่น เมื่อวันที่ 12 ก.ค. ที่ผ่านมา สามารถจัดการช่วยเด็กไร้รัฐไร้สัญชาติ ขอเลข 13 หลักได้มากถึง 50 เคสในหนึ่งวัน.


ภาพจาก UNICEF Thailand/2024/Preechapanich