"ฝันกับที่นี่ไว้เยอะมาก" เปิดใจอีกหนึ่งเหยื่อไฟไหม้ชุมชนตรอกโพธิ์ เยาวราช ทำงานเก็บเงินที่ออสเตรเลีย กลับมาลงทุน 800,000 บาท เปิดร้านบิงซู สุดท้าย… ทุกอย่างวอดหายไปพร้อมแสงเพลิง
วันจันทร์ที่ 15 กรกฎาคม 2567 ทีมข่าวฯ เดินทางลงพื้นที่ชุมชนตรอกโพธิ์ ย่านเยาวราชอีกครั้ง หลังผ่านไปกว่าหนึ่งสัปดาห์ ที่เพลิงได้ลุกโชนวอดบ้านเรือน อาชีพ ความหวัง และความฝัน ของผู้คนในชุมชนที่มีอายุไม่น้อยกว่าศตวรรษ หลายชีวิตต้องสูญเสียจนเหลือศูนย์ เข้าขั้นสิ้นเนื้อประดาตัว
บริเวณหน้าชุมชนตรอกโพธิ์ เจ้าหน้าที่กำลังนำแผ่นไม้อัดปิดทางเข้าออก เป็นสัญลักษณ์ห้ามทุกคนเข้าพื้นที่เกิดเหตุ เพื่อรอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าปรับปรุงพื้นที่ หลังจากเปิดให้ชาวบ้านเข้าค้นหาทรัพย์สินส่วนตัว เมื่อวันศุกร์ วันเสาร์ และวันอาทิตย์ที่ผ่านมา
...
มีป้ายประกาศติดบนไม้อัดว่า "ขอเชิญผู้ได้รับหนังสือรับรองผู้ประสบภัย เหตุไฟไหม้ชุมชนตรอกโพธิ์ รับเงินช่วยเหลือจาก สปภ. ในวันที่ 15 ก.ค. 2567 ณ วัดสัมพันธวงศารามวรวิหาร (วัดเกาะ)" เราจึงเดินเท้าต่อสู่สถานที่ดังกล่าว โดยหมายไปพูดคุยกับผู้สูญเสียอีกครั้ง
มีที่พักแล้ว แต่ยังไม่ได้ทำงาน :
บริเวณเต็นท์มอบเงินเยียวยา หญิงใส่เสื้อสีเขียว สะพายกระเป๋าสีขาวด้านข้าง กอดถุงข้าวสารที่เพิ่งได้รับแจกมา พร้อมถือเอกสารในมือนับ 10 ฉบับ เธอคือ 'เตียว' สาวชาวลาวอายุ 18 ปี ที่เคยให้สัมภาษณ์กับเราทั้งน้ำตา เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา วันนี้สาวน้อยจากประเทศเพื่อนบ้าน พูดคุยกับเราอีกครั้งด้วยใบหน้าที่เริ่มมีรอยยิ้ม แต่ถึงอย่างนั้น… แววตาของเธอก็ยังเต็มไปด้วยความเศร้าเช่นเคย
เตียว เปิดใจกับเราว่า ตอนนี้ตนรู้สึกดีขึ้นมาเล็กน้อยแล้ว เนื่องจากมีหน่วยงานเข้ามามอบเงินช่วยเหลือ และบริจาคของ ทำให้พอจะมีเงินมาใช้จ่ายเบื้องต้น และมีของไว้กินประทังตัวเองไปก่อน สิ่งที่กังวลตอนนี้มีเพียงเรื่องทำบัตรแรงงาน เพราะไม่รู้ว่าจะดำเนินการยากหรือไม่ ประมาณวันที่ 20 กรกฎาคมนี้ ตนและแฟนจะลองไปติดต่อที่สถานฑูตลาว
"เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมามูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง เขามาให้เงิน 4,500 บาท หนูเลยเอาเงินไปเช่าห้องอยู่ในซอยแถววงเวียน 22 กรกฎาคม ราคาห้องเดือนละ 2,200 บาท ยังไม่รวมค่าน้ำกับค่าไฟ ถือว่ายังดีที่มีเงินตรงนี้ เพราะหนูได้ใช้มันตั้งหลักก่อน" เตียว กล่าวพรางกอดถุงข้าวสารไปด้วย
สำหรับเรื่องการทำงานนั้น เธอเผยกับเราว่า ตอนนี้ยังไม่ได้ทำงาน เพิ่งช่วยเจ๊ทยอยขนของออกมา เพราะร้านเก่าที่ขายอาหารตามสั่งอยู่ในชุมชนถูกไฟไหม้หมดแล้ว แต่เดี๋ยวเจ๊มาขายของข้างนอกก่อน เป็นอีกร้านหนึ่งเล็กๆ ที่เจ๊มีอยู่
"สิ้นเดือนนี้อาจจะกลับมาเปิดได้ค่ะ แต่หนูก็ยังไม่แน่ใจว่าจะชัวร์ไหม เพราะตอนนี้ยังเคลียร์ของไม่เสร็จเลย แต่ยังไงเจ๊เขาก็ยังให้หนูทำงานค่ะ ตั้งแต่ไฟไหม้มา เจ๊ยังไม่ทิ้งพวกเราเลย" สาวชาวลาวเล่าความประทับใจ พร้อมกับถุงสีดำที่ใส่เสื้อผ้าบริจาควางอยู่ข้างๆ เธอ
...
ทุนร้าน 800,000 บาท วอดหาย ฝันสลายยังไร้ทางไปต่อ :
หลังจากวิ่งวุ่นวายกับการถ่ายเอกสาร เพื่อรับเงินเยียวยาจำนวน 6,000 บาท 'ปู-จรัญญา ตาตุ่น' ได้ส่งสำเนาทุกอย่างให้ 'เพ็ง ตาตุ่น' ผู้เป็นพ่อดำเนินการต่อ เราจึงอาศัยจังหวะนี้ขออนุญาตพูดคุยกับเธอ
ปู บอกว่า ตอนนี้ได้เงินบริจาคจากป่อเต็กตึ๊ง 4,500 บาท จากเอกชน 1,500 บาท และวันนี้ที่จะได้อีกน่าจะ 6,000 บาท เราได้เงินเยียวยาประมาณนี้เท่าที่เขามาช่วย ยังไม่ได้อะไรเพิ่มเติม ส่วนที่มีออกข่าวไปว่าจะแจกเจ้าของ 49,000 บาท ตอนนี้ยังไม่เห็นมี เห็นว่าเงินจำนวนนี้เขาจะมอบให้เจ้าของที่ดิน
อันที่จริงแล้ว ต้องเรียนคุณผู้อ่านว่า เราเห็นจรัญญาตั้งแต่มาลงพื้นที่ครั้งแรก แต่ครั้งนั้นเธอวิ่งวุ่นจนไม่มีโอกาสได้สนทนากัน มาวันนี้เธอได้เปิดเผยเบื้องหลังความสูญเสีย ที่ทำให้เราเห็นใจและเข้าใจว่า ความฝันที่พังทลายนั้นเป็นเช่นไร
...
จรัญญา ตาตุ่น เปิดใจว่า กำลังจะเปิดร้านบิงซู ลงทุนเซ้งห้องและรีโนเวตร้าน แล้วเสร็จไม่ต่ำกว่า 800,000 บาท เงินที่นำมาใช้ตรงนี้ เก็บมาจากที่ไปเรียนและงานทำงานอยู่ออสเตรเลีย 6 ปี งานที่ทำเช่น เชฟ เสิร์ฟอาหาร ทำความสะอาด พาน้องหมาเดินเล่น พอกลับมาที่ไทยเราลงทุนไปเยอะมาก แค่เตาดูดควันก็ 40,000 บาทแล้ว สุดท้ายเอาออกมาได้แค่กระเป๋าหนึ่งใบ และแมวหนึ่งตัว ไฟไหม้บ้านทั้งหลัง เพราะต้นเพลิงอยู่ไม่ห่างกับเรานัก
"ถ้าถามว่ามีแผนยังไงต่อ ต้องบอกว่าไม่รู้เลย เพราะเงินหมดแล้ว ตอนนี้ที่อยู่ก็ยังไม่มี 800,000 บาทที่สูญไป ยังไม่รวมของใช้ส่วนตัวที่สะสมมา ทั้งเสื้อผ้าและรองเท้านับ 10 คู่ บางอย่างที่เราซื้อให้เป็นรางวัลตัวเอง มีขายแค่ที่เมลเบิร์น แต่สุดท้ายเอาอะไรออกมาไม่ได้สักอย่าง"
...
ปู จรัญญา เล่าต่อว่า วันที่เขาให้เข้าไปหาของ เราพยายามไปค้นหาทองในบ้าน สรุปว่าทองเรายังต้องไปแงะกับพื้น เพราะมันละลายไปหมดแล้ว ยอมรับว่า ไม่รู้จะไปต่อทางไหน เพราะคาดหวัง และฝันกับที่นี่ไว้เยอะมาก ทุ่มเทให้มันมากจริงๆ ถึงขั้นทาสีเองด้วยซ้ำ
"จะเปิดร้านวันเกิดพ่อ เพราะจะได้เป็นมงคล" :
หลังจากจรัญญาพูดคุยกับเราเสร็จ ถึงคราวที่เธอต้องไปดำเนินเอกสารต่อ ขณะนี้คนที่ยืนอยู่กับเราคือ 'เพ็ง ตาตุ่น' ผู้เป็นบิดา และ 'สีประไพร ยงกองมี' ผู้เป็นมารดา
แม่ของจรัญญา เปิดคลิปที่ถ่ายร้านของลูกสาวให้เราดู บรรยากาศภายในตกแต่งสวยงามออกแนวมินิมอล โทนสีขาวนวลชวนถ่ายรูป ดูท่าแล้วหากได้เปิดจริง น่าจะถูกใจวัยรุ่นไม่ใช่น้อย แต่อย่างที่ว่า เป็นเรื่องน่าเสียดาย ที่ฝันของเธอต้องหยุดชะงักลง
เมื่อถามสีประไพรว่า ตอนนี้รู้สึกอย่างไรบ้าง เธอตอบเราสั้นๆ ว่า "ห่อเหี่ยว"
เพ็ง ตาตุ่น รับบทสนทนาต่อว่า ร้านของลูกสาวไม่เหลือเลย บ้าน 2 หลังในซอยก็ไม่เหลือ ยังโชคดีที่ว่ามีร้านอาหารตามสั่งที่เปิดอยู่ข้างนอก แต่ยังไม่ได้กลับมาขายต่อ เพราะรอดำเนินการเรื่องอื่นๆ ให้เรียบร้อย ตอนนี้ยังหาบ้านเช่าไม่ได้ แต่นอนโรงแรมไปก่อน เพราะรูัจักกันเขาเลยให้ไปพัก ส่วนเราก็เสียเงินให้เขา
พ่อเพ็ง กล่าวด้วยใบหน้าไม่สู้ดีนักว่า ตอนนี้สงสารลูกมากครับ เขาเลือกมาลงทุนที่นี่ อุตส่าห์หาเงินเอง เก็บเอง สร้างเอง หวังเริ่มต้นใหม่ แต่ตอนนี้ไม่เหลืออะไรเลย ที่จริงแล้วเราบอกให้เขาเปิดร้านวันที่ 1 กรกฎาคม แต่เขาบอกว่า จะเปิดวันที่ 9 กรกฎาคม "เพราะอยากเปิดวันเกิดพ่อ กิจการจะได้ราบรื่นและเป็นมงคล" แต่ไฟก็มาไหม้วันที่ 6 ซะก่อน
การช่วยเหลือจากหน่วยงาน :
'วิไลรัตน์ แซ่เตี๋ย' เผยกับเราว่า ช่วงที่ผ่านมา กทม.เข้ามาช่วยเยอะพอสมควร ถือว่าทำงานกันเร็ว และเราคิดว่าเขาก็มาช่วยเต็มที่นะ ซึ่งตรงนี้เราต้องขอชื่นชมจริงๆ ส่วนเรื่องของบริจาคก็มีคนเอามาให้เยอะมาก ช่วงหลังของพระราชทานก็เยอะ ทั้งของอุปโภคและบริโภค เช่น ผ้าห่ม มุ้ง พัดลม หม้อหุงข้าว ข้าวสาร น้ำตาล น้ำปลา ฯลฯ
หน่วยงานอื่นๆ เช่น กองทัพบก กองทัพเรือ ก็เอาพวกผ้าห่มมาให้เหมือนกัน มีหน่วยงานเอาเงินเข้ามาแจกด้วยบางส่วน เราว่าดีนะ เพราะหลายคนเอาเงินตรงนี้ไปเริ่มต้นอีกครั้ง เช่น เช่าบ้านอยู่ เพราะตอนนี้ไม่ค่อยมีใครอยู่แถวนี้แล้ว กระจายกันไปอยู่ตามที่ต่างๆ ที่ไม่ไกลมากนัก
"ตอนนี้ใครอยากเอาของมาบริจาค ยังเอามาได้นะคะ และถ้าใครอยากจะบริจาค เราแนะนำให้ติดต่อชาวบ้านโดยตรง ถ้ามอบเงินให้ผู้ประสบภัยได้ยิ่งดี อย่างเราไม่เดือดร้อนมาก ไม่ได้ต้องการอะไร แต่แรงงานต่างชาติที่เขาเดือดร้อน บางคนเขายังต้องการเงินไปตั้งตัวกัน นี่ยังโชคดีนะที่ส่วนใหญ่ไม่ตกงาน เจอเถ้าแก่ใจดีให้หยุดมาเดินเอกสารได้"
.........
ขอบคุณภาพ จาก ปู-จรัญญา ตาตุ่น
อ่านบทความที่น่าสนใจ :