อาเรวัช วิเคราะห์เป็นข้อๆ ปมข้อผิดพลาดในการคุ้มครองความปลอดภัย "ทรัมป์" พร้อมเล่าเบื้องหลัง ตอนคุ้มกัน "บิล คลินตัน" ครั้งมาเมืองไทย ...
เป็นเหตุการณ์ “ช็อกโลก” สำหรับการลอบสังหารอดีตประธานาธิบดี สหรัฐฯ อย่าง โดนัล ทรัมป์ ระหว่างหาเสียงเลือกตั้งที่เมืองบัตเลอร์ มลรัฐเพนซิลเวเนีย เพื่อการถูกเสนอชื่อเข้าชิงตำแหน่งผู้นำสูงสุดอีกครั้ง
คมกระสุนของคนร้าย เฉี่ยวใบหูขวา (บริเวณด้านบนใบหู) เลือดกระเซ็นเข้ามาที่หน้า หลังจากนั้นก็มีเสียงการยิงปืนอีก หลายวินาที ขณะที่ ทีมอารักขา ของอดีตผู้นำสหรัฐฯ ก็เข้ากระโจนกดทรัมป์ลง เพื่อหลบวิถีกระสุน
ขณะเดียวกัน หน่วย Secret Service หรือหน่วยงานรักษาความปลอดภัยประธานาธิบดี ก็จัดการคนร้ายจนสิ้นชีพ และทราบชื่อต่อมา คือ นายโธมัส แมทธิว ครุกส์ จากการเปิดเผย ของสำนักงานสอบสวนและสืบสวนกลางของกรมตำรวจสหรัฐฯ หรือ FBI
ภาพประวัติศาสตร์ถูกฉายไปทั่วโลก นายโดนัล ทรัมป์ ชูกำปั้นพร้อมใบหน้าเปื้อนเลือด โดยหลังควันปืนจางหาย พบผู้เสียชีวิต 1 ศพ และบาดเจ็บสาหัสอีก 2 คน
...
อาเรวัช หรือ พล.ต.ท.เรวัช กลิ่นเกษร อดีตผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด ซึ่งครั้งหนึ่ง เขาเป็น 1 ใน 2 ที่อยู่ในทีมอารักขา นายบิล คลินตัน ครั้งที่มาเยือนเมืองไทย วิเคราะห์เหตุการณ์ช็อกโลกครั้งนี้...
อาเรวัช วิเคราะห์ว่า คนร้ายที่ก่อเหตุ ไม่ใช่ “มืออาชีพ” ไม่ใช่มือสังหาร หรือ มือสไนเปอร์ ดังนั้น ทำให้หน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯ “คาดไม่ถึง” เพราะ “คู่แข่ง” ของโดนัล ทรัมป์ ไม่ได้มีแนวโน้มหรือปฏิบัติการมาก่อเหตุ
ดังนั้น การรักษาความปลอดภัยของเขา จึงทำตาม “รูปแบบ” แต่ไม่เข้มงวด...
หากสังเกตจากตำแหน่งรักษาความปลอดภัยนั้น เป็นเพียงการวางตำแหน่งให้ครบจุด เช่น จุดที่ประชิดตัวบุคคล Anti-Sniper ในตำแหน่งยอดตึก จากข้อมูลภาพข่าว คลิปข่าวที่เห็น คือ เราเห็น 2 คน แต่ไม่เห็น “ผู้ตรวจการณ์”
หมายความว่า ปกติ ในตำแหน่ง Anti-Sniper จะต้องมี “ผู้ตรวจการณ์” คือ ใช้กล้อง 2 ตาช่วยสอดส่อง แต่อันนี้คือ “ไม่เห็น..”
ขณะที่ “คนร้าย” ซึ่งเป็นเด็กหนุ่ม หัวรุนแรง ทัศนคติไม่เอาทรัมป์ แล้วเอาปืนที่ถูกกฎหมาย มีลำกล้องขยาย (Red Dot) โดยใช้วิธีการง่ายๆ คือ ปีนขึ้นราคาโรงงาน โดยห่างจากทรัมป์ ประมาณ 150 เมตร
“ตามหลักแล้ว Anti-Sniper ต้องเห็นก่อนแล้ว ไม่ควรจะต้องเกิดเหตุยิงเลย เพราะคนร้ายไม่ได้สุ่ม หรือใช้ชุดพรางแต่ประการใด เรียกว่าดูด้วยตาธรรมดาก็เห็นแล้วว่ามีปืนขึ้นไปด้วย เรียกว่า ควรกดให้ตายทันที ก่อนที่จะยิงแล้ว แต่เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจึงถือได้ว่า “หละหลวม” เป็น “ข้อบกพร่อง” ร้ายแรงของชุดอารักขา”
ทีม Anti-Sniper คนแรก ถือว่าทำงานได้แย่ แทนที่ตาจะอยู่ในกล้อง แต่ปรากฏว่า เห็นว่าตาหลุดจากกล้อง การหลุดตาออกจากกล้อง เพราะอาจจะใช้ตาเปล่าในการตรวจการ แต่...ข้อเสียของ “ตาหลุดจากกล้อง” นั้น จะทำให้เกิดการยิงที่ไม่แม่น
...ปกติสไนเปอร์ ตามันต้องอยู่กับกล้องตลอดเวลา เพราะต้องอาศัยความนิ่งในการยิง ขณะที่ “ผู้ตรวจการณ์” จะคอยบอกชี้เป้าว่าอยู่ตรงไหน เพราะถ้าใช้กล้อง 2 ตา ตรวจจะมองได้กว้างกว่า
“มันเป็นงานที่ไม่น่าพลาด เพียงแต่ ตัวสไนเปอร์ อีกคนหนึ่ง มันนิ่งกว่า... และคาดว่า กระสุนที่ Anti-Sniper ใช้ อย่างน้อยน่าจะเป็น .50 ยิงได้ไกลเป็นกิโลเมตร ขณะที่ คนร้ายอยู่ห่างแค่ 100 กว่าเมตร สำหรับสไนเปอร์ถือว่าใกล้มาก เพียงแต่คนร้ายเป็นเด็กที่ไม่ชำนาญ แล้วมันใช้ปืน AR 15 กระสุน 5.56 หรือ .223 มันยิงออโต้ ได้ มันจึงยิงออกมาเป็นชุด”
อาเรวัช เชื่อว่า ทีมอารักขา อาจจะตกใจ และไม่กล้ายิง จึงเกิดการชะงัก แต่...เมื่อคนร้ายกดเปรี้ยง! มา 1 นัด ทีมอารักขาต้องสวนทันที ไม่ใช่ปล่อยให้ยิงต่ออีกหลายนัด เขาจึงเรียกว่าเป็น Anti-Sniper ไม่ใช่ปล่อยให้เขายิง และไอ้เด็กนั้นมันเป็นออโต้ ด้วย มันก็เลยใช้เวลาไม่นานในการยิงเป็นชุด กดตึงๆๆ
...
หากจะสรุปความผิดพลาดจากเหตุการณ์ครั้งนี้ อาเรวัช สรุปไว้ 2 ข้อ 1.เป็นเหตุการณ์คาดไม่ถึง 2.ความผิดพลาดของหน่วยรักษาความปลอดภัย โดยเฉพาะ Anti-Sniper 3.การรักษาความปลอดภัยให้ “ทรัมป์” นั้น ยังไม่ถือว่าเข้มข้น เพราะยังไม่ได้อยู่ในตำแหน่งประธานาธิบดี จึงยังไม่ส่งยอดฝีมือไปดูแล
“สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ อยากบอกถึงประชาชนทุกคนว่า หากท่านจะเชียร์ใคร รักพรรคการเมืองใดก็ตาม เป็นไปได้ เข้าไปเชียร์แล้วอย่าห่วงออกกล้อง อยากโก้ หาก VIP อยู่ตรงไหน ขอให้ท่านอยู่ห่างๆ เพราะประชาชนที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ คือ อยู่ใกล้ทรัมป์ คนกลุ่มนี้มีสิทธิ์เสียชีวิต ถ้าไม่อยากเสี่ยงตาย ให้หนีห่างจากกลุ่มคนเป้าหมาย”
การที่ “ทรัมป์” ออกมาโผล่กำหมัด ชูมือ หลังโดนยิงนั้น เป็นไปได้หรือไม่ ที่ ทีม รปภ. จะทราบแล้วว่าคนร้ายเสียชีวิต อาเรวัช ตอบว่า เขาต้องรู้ เพราะทีม รปภ. เขามีการสื่อสารทางวิทยุกันตลอด เขาจะบอกเลย เป้าหมาย Death จากนั้นทีมใกล้ตัว “ทรัมป์” จะปล่อยหน่อย ให้ทรัมป์ เก็บรองเท้า ชูมือ ซึ่งโดยปกติ เขาไม่เกรงใจกันแล้ว ถ้าเป็นผม ผมจับทรัมป์กดหัวแล้ว ต้องมุดแล้ว เพราะไม่รู้ว่ามีมือ 2-3 มาก่อเหตุซ้ำหรือเปล่า
...
เรื่องเล่าอารักขา “บิลล์ คลินตัน” ครั้งมาเมืองไทย
ทีมข่าวถาม อาเรวัช ครั้งสมัย “บิล คลินตัน” เยือนเมืองไทย พล.ต.ท.เรวัช เล่าว่า ตอนนั้นเป็น 1 ใน 2 คนไทยในทีมอารักขา ปธน.สหรัฐฯ ในฐานะทีมไทย ก็ต้องเฝ้าระวังทุกจุด ขณะที่ ทีม สหรัฐฯ เอง ก็ดูแลเข้มข้นมาก ถือเป็นมือระดับโลก
“กองเกียรติยศที่จะรับ ปธน.สหรัฐฯ ยังไม่ให้ติดดาบปลายปืน, ส่วนปืน ที่กองเกียรติยศ มีการตรวจสอบปืนทุกกระบอก ต้องไม่มี “เข็มแทงชนวน” และ “แม็กกาซีน” เรื่องเหล่านี้ ชุด รปภ.ปธน.สหรัฐฯ และเราร่วมกันตรวจสอบ”
ที่สำคัญคือ ทีมรักษาความปลอดภัยนั้น ทุกคนต้อง “ใส่เสื้อเกราะ” การใส่เสื้อเกราะไม่ได้ป้องกันตัว รปภ. นะ แต่เขาต้องการป้องกัน VIP เพราะเวลาเกิดเหตุ เหล่า รปภ.จะต้องเอาตัวเข้าบัง VIP เสื้อเกราะที่ให้ใส่ คือ ใช้บัง VIP เพียงแต่หากเจอ ไรเฟิล นี่ก็ทะลุ เพราะหน้าที่ รปภ. คือ การยอมตายให้กับ VIP
“ตอนนั้น ผมจิ้มลูกน้องทุกคน ใครไม่ใส่เกราะ มึงโดนลงโทษ...ฉะนั้น คนที่จะมาเป็นทีม อารักขา นอกจากจะต้องปกป้อง VIP ได้แล้ว มันต้องเก่ง สไนเปอร์ด้วย เพราะต้องบังมุมยิง นี่คือเรื่องเบสิค”
...
รถทุกคันที่เอามาใช้ในการ อารักขา “บิล คลินตัน” เขาเอามาเองทั้งหมด เอาขึ้นเครื่องบินบรรทุกมา ฉะนั้น การที่ “VIP” จะลงจากรถ แล้ว เหลือมุมก่อเหตุนั้น มีเพียงไม่กี่ก้าว และหลังจากนั้นก็จะอยู่ในพื้นที่ปิด ใครไม่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าใหญ่แค่ไหน ชั้นยศอะไร เขาเชิญออกหมด รปภ.ผลักหงายหลังหมด
“ตอนนั้น มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งอยากเข้าไปแสดงความยินดีกับผู้นำเขา เจอ รปภ.ผลักหงาย”
อาเรวัช กล่าวว่า การรักษาความปลอดภัยของ ผู้นำระดับโลก นั้น เขามี การอารักขาหลายชั้น วง 1-4
วงที่ 1 : เขามีการตรวจเข้มข้นอยู่แล้ว ใครจะเข้ามีการตรวจค้นอาวุธ, วัตถุระเบิด โอกาสเอาอาวุธเข้าวงในได้นั้นแทบไม่มี
วงที่ 2 : สไนเปอร์ จุดเสี่ยง มุมสูง จะถูกวางสไนเปอร์ไว้หมด โดยไม่ได้มีแค่ Anti-Sniper แต่มีจุด Sniper ด้วย
วงที่ 3 : ดูเรื่องวิถีโค้ง เช่น บ้านเราจะโดนพวก M79 ระยะ 400 เมตร จากจุดเวที
วงที่ 4 : ลูกยาวๆ จุดที่สายตามองเห็น
การป้องกันเหตุลอบสังหาร “ยากที่สุด” คืออะไร อาเรวัช ตอบว่า พวกระเบิด ในพื้นที่ที่เรากำหนดไม่ได้ โดยเฉพาะการอารักขา นักการเมืองไทย เพราะนักการเมืองไทย คือ การเข้าถึงชาวบ้าน ใกล้ชิดกับประชาชน เรื่องแบบนี้ป้องกันยาก จะยืนประชิดมากก็ไม่ได้ บังกล้อง เจอนักข่าวด่าอีก
หากเป็นพื้นที่ “เป้าหมาย” ที่มีการ “บล็อกเส้นทาง” ทุกอย่างไว้แล้ว แบบนี้ไปได้ ง่ายสุด คือ เข้าหอประชุม คัดคนเข้าไปนั่งฟัง แต่หากไปตามถนน ร้านขายของข้างทางเยอะๆ จะไปค้นเขาก็ไม่ได้
อาเรวัช สรุปว่า คนที่จะเป็นทีมรักษาความปลอดภัยได้นั้น ต้องมือไว ตีนไว ปฏิภาณไหวพริบต้องไว แก้ไขเหตุการณ์ต้องไว ดูจากภาพข่าว คุณเห็นทีม รปภ.ใส่แว่นตาดำ ไหม ที่เขาใส่เพราะเวลาตรวจการณ์ สายตาจะมองไปรอบ 180 องศา เวลามันมองเป้าหมาย จับพิรุธคนไหน มันจะไม่ให้เขารู้ตัว แม้หน้ามันจะหันไปทาง 11 นาฬิกา แต่ตา มันอาจจะมองจ้องอยู่ที่คนต้องสงสัย ที่ 1 นาฬิกา หากไม่ใส่แว่น ก็จะรู้ว่า สายตามองไปทางไหน เหล่านี้คือเทคนิคที่ผ่านการฝึกทั้งสิ้น...
อ่านบทความที่น่าสนใจ