ปลาหมอคางดำ ปลาเอเลี่ยนสปีชีส์ ที่แพร่ขยายพันธุ์ทำลานปลาประจำถิ่นในหลายพื้นที่ สร้างผลกระทบต่อเกษตรกรที่เลี้ยงปลาและกุ้ง นักวิชาการสัตว์น้ำ มองทางออกเร่งด่วน ควรมีการเผยแพร่ความรู้การแปรรูปในหลายรูปแบบ สร้างรายได้ให้ชาวบ้าน อนาคตเชื่อว่าธรรมชาติจะจัดสรรการควบคุมประชากร เหมือนการแพร่ระบาดของหอยเชอรี่ในอดีต
ดร.สรณัฏฐ์ ศิริสวย อาจารย์ภาควิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ความเห็นว่า ปลาหมอคางดำ หรือสัตว์น้ำที่เป็นเอเลี่ยนสปีชีส์ ก่อนจะมีการแพร่กระจายพันธุ์ของปลาหมอคางดำ ที่ถิ่นกำเนิดมาจากแอฟริกา และเข้ามาแพร่กระจายอย่างรวดเร็วตามแหล่งน้ำธรรมชาติของไทย
“เอเลี่ยนสปีชีส์ มีทั้งแบบที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ หรือสัตว์น้ำที่นำเข้ามาปล่อยในแหล่งน้ำที่ไม่ใช่ถิ่นกำเนิดที่เคยอยู่ เช่น ปลาบึก มีถิ่นกำเนิดในแม่น้ำโขง แต่ไปปล่อยในเขื่อนแก่งกระจาน ก็กลายเป็นเอเลี่ยนสปีชีส์ของแหล่งน้ำนั้น แต่ไม่สร้างความเดือดร้อน ซึ่งบางกรณีนำปลาบึกไปปล่อยในพื้นที่ จ.พัทลุง ก็ไปมีปัญหากับโลมาน้ำจืด”
...
ปกติเอเลี่ยนสปีชีส์ที่รุกรานเข้ามาในไทย จะอยู่ตามปากแม่น้ำ เช่น ปลาหมอเทศ ปลากินยุง ปลามอลลี่ ซึ่งปลากลุ่มนี้มีขนาดเล็ก ทำให้มีผลกระทบในแหล่งน้ำน้อย แต่กรณีของปลาหมอคางดำ ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำประจำถิ่น เนื่องจากกินอาหารได้ดีกว่า ทำให้แหล่งอาหารในพื้นที่ลดลงรวดเร็ว และมีการขยายพันธุ์ได้จำนวนมาก
ลักษณะการแพร่ระบาดที่คล้ายกับปลาหมอคางดำ แต่ก่อนจะมีการแพร่กระจายหนักของหอยเชอรี่ เมื่อราว 50 ปีก่อน จนสุดท้ายก็มีนกปากห่างมากินหอยเชอรี่ ทำให้สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของหอยเชอรี่ได้ สมัยก่อนชาวนาต้องใช้ยาฆ่าหอยในแปลงข้าวจำนวนมาก ซึ่งตอนนี้ธรรมชาติก็จัดการของมันเอง แต่ต้องใช้เวลา
การแพร่กระจายของปลาหมอคางดำ อนาคตก็อาจมีสัตว์ที่มากำจัดเพื่อควบคุมประชากรปลาหมอคางดำ แต่ตอนนี้ต้องยอมรับว่าชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก โดยเฉพาะคนที่เลี้ยงกุ้ง และปลา ในลักษณะแบบธรรมชาติที่เปลี่ยนน้ำ โดยเปิดน้ำเข้าบ่อ หากมีปลาหมอคางดำปะปนมาด้วย ก็จะทำให้กินกุ้งและปลาจนได้รับความเสียหายอย่างหนัก
แนวทางในการกำจัดปลาหมอคางดำ เบื้องต้น ต้องเร่งกำจัดออก ด้วยการระดมชาวบ้านในการจับปลาหมอคางดำตามแหล่งน้ำในชุมชน ซึ่งเนื้อของปลาหมอคางดำ สามารถนำมารับประทานได้ โดยเฉพาะเมนู แดดเดียว มีรสชาติที่อร่อย ซึ่งบางคนก็มีทำวิจัย ในการนำปลาหมอคางดำไปหมักเป็นน้ำปลา ซึ่งกระบวนการเหล่านี้จะต้องถ่ายทอดความรู้ให้กับชาวบ้าน เพื่อให้นำไปแปรรูปได้หลากหลายวิธี และจะเป็นผลดีในการกำจัด
“พื้นที่ในการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำจำนวนมาก เช่น สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เนื่องจากพื้นที่นี้เกษตรกรจะเลี้ยงสัตว์น้ำตามแบบบ่อธรรมชาติ ทำให้มีโอกาสที่ปลาหมอคางดำจะหลุดเข้าไปในบ่อสร้างความเสียหาย ซึ่งทำให้ชาวประมงในพื้นที่จับสัตว์น้ำที่ไม่ค่อยได้ราคา เนื่องจากถูกปลาหมอคางดำรบกวน”
การกำจัดปลาหมอคางดำ ถ้าใช้กระบวนการแบบธรรมชาติ ต้องใช้ปลาที่มีขนาดใหญ่กว่า เช่น ปลาเก๋า แต่ปัญหาคือ มักจะอยู่ตามแหล่งน้ำที่สะอาด แต่พื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำส่วนใหญ่ จะไม่ค่อยสะอาด ทำให้ปลาเก๋าไม่สามารถอยู่ได้ ดังนั้น แนวทางในการจัดการแบบธรรมชาติ ตอนนี้หน่วยงานรัฐควรจะต้องวิจัย และหาทางออกให้กับชาวบ้านด้วย.
...