จากนักวิชาการสู่เกษตรกร คุยกับเจ้าของสวนลุงเบิร์ด กับเคล็ดลับปลูกพืชแบบอิสราเอล ได้ฝรั่งงาม พุทราไต้หวันรสเด็ด กับหลักคิด 4 ข้อ ที่วัดด้วยความคุ้มค่า...
“เคล็ดวิชานั้นเป็น “ของตาย” แต่ “คน” ต่างหากที่เป็นของเป็น” อาจารย์ฟงชิงหยาง ได้สอนศิษย์หลานอย่าง “เล่งฮู้ชง” พระเอก “กระบี่เย้ยยุทธจักร” ว่าอย่ายึดติดในคำสอนในตำรามากเกินไป แต่ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นต้องหัดนำมาประยุกต์ใช้ได้ตามความเหมาะสม
นี่ไม่ใช่คอลัมน์หนังจีน ซีรีส์จีนกำลังภายในแต่ประการใด แต่นี่คือรายงานพิเศษเบื้องหลังความสำเร็จของเกษตรกรหนุ่มคนหนึ่งคือ เบิร์ด-ยุทธนา คามบุตร เจ้าของ “สวนลุงเบิร์ด” ต.สะพานหิน อ.หนองมะโมง จ.ชัยนาท ที่เดิมเป็นนักศึกษา-ทำงานวิจัยพืชที่ ประเทศอิสราเอล ซึ่งเป็นดินแดนทะเลทราย การทำงานที่กรมวิชาการเกษตร สู่เจ้าของสวนผลไม้ ฝรั่งกิมจู และฝรั่งหงเปาสือ พุทราไต้หวัน และส้มโอขาวแตงกวา ส้มโอ GI แห่งชัยนาท ที่มั่นใจในรสชาติ
...
นักเรียนแลกเปลี่ยน สู่งานวิจัยเกษตรที่อิสราเอล
คุณเบิร์ด เล่าว่า ตอนเรียนที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศรีสะเกษ สาขาพืชศาสตร์ นั้นในช่วง ปวส. ได้มีโครงการ “ทวิภาคี” ที่จะส่งนักเรียนไทยไปฝึกงานที่ประเทศอิสราเอล เราจึงยื่นใบสมัคร โดยเบื้องต้นจะมีการเก็บตัวในไทย 6 เดือน และไปฝึกงานที่อิสราเอล 11 เดือน
“ตอนก้าวไปถึงอิสราเอล รู้สึกตื่นเต้น เพราะก่อนไป เห็นแต่รูปถ่ายของรุ่นพี่ เห็นเป็นประเทศทะเลทราย แต่ยังไม่เข้าใจความรู้สึกว่าทะเลทรายมันเป็นยังไง พอได้สัมผัสจริง ก็รู้สึกทึ่ง เพราะเป็นสถานที่ที่ไม่มีต้นไม้ แต่เขากลับทำการเกษตรได้ แบบในโรงเรือน หรือนอกโรงเรือน”
นายยุทธนา เล่าต่อว่า สิ่งที่ได้เห็นคือ หากเป็นโรงเรือน เขาจะมีการบริหารจัดการน้ำอย่างคุ้มค่ามาก ทำระบบน้ำหยด เรียกว่าต่างจากบ้านเราอย่างมาก ปีที่ผมไปอยู่ เกือบทั้งปี ฝนตกแค่ 2 วัน ดังนั้นสิ่งที่เขาทำคือ “การวางแผน” บริหารจัดการน้ำอย่างดีมาก
การเดินทางไปในฐานะนักศึกษา กับแรงงาน ต่างกันไหม? พี่เบิร์ด บอกว่า ต่างกัน คนที่ทำงานก็จะทำแบบเต็มเวลา ส่วนนักศึกษาจะมี 1 วันในสัปดาห์ที่ต้องไปเรียนหนังสือ ซึ่งก็เป็นโรงเรียน โดยมีนักศึกษาต่างชาติ เช่น เวียดนาม กัมพูชา ลาว มาเรียนด้วยกัน ส่วนครูผู้สอนก็จะเป็นเกษตรกรตัวจริง ที่มีความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์ เครื่องยนต์ เทคโนโลยีการเกษตร และบางคนก็สอนเรื่องประวัติศาสตร์ด้วย โดยมีโอกาสไปดูงานที่กรุงเยรูซาเลม
นอกจากนี้ นักศึกษาเองจะต้องทำงานวิจัยเกี่ยวกับแปลงที่ตัวเองไปทำงานแล้ว หัวข้อก็แตกต่างกัน และวันที่เรียนจบ เราจะต้องเอางานวิจัย ที่ทำร่วมกับเกษตรกรในแปลงนั้นๆ มาพรีเซนต์ คณะกรรมการอาชีวศึกษาที่อิสราเอล โดยผลงานวิจัยจะเอามาเปรียบเทียบกับรุ่นพี่ ซึ่งบางเรื่องเป็นหัวข้อเดียวกัน แต่ผลลัพธ์นั้นเหมือนเดิม หรือแตกต่างจากเดิม
คุณเบิร์ด ยุทธนา เผยว่า เขาทำงานวิจัยเกี่ยวกับปลูกพริกหวาน โดยเปรียบเทียบจาก 2 ลักษณะการปลูก ได้แก่ ปลูกแบบร่องเดี่ยว กับ ร่องคู่ เพื่อดูว่าแบบไหนให้ผลผลิตดีกว่ากัน
ผลงานวิจัยที่เราทำพบว่า การปลูกแบบร่องเดี่ยวนั้นให้ผลผลิตที่ดีกว่า แม้ผลลัพธ์ที่ออกมาเหมือนกับรุ่นพี่ที่เคยทำ อย่างไรก็ดี ผลวิจัยดังกล่าว ทางเกษตรกรอิสราเอลเขาก็นำวิธีดังกล่าวมาปรับใช้ได้จริง
“เดิมทีเขาปลูกแบบร่องคู่ วางแถวพริก 2 แถว ระยะแถว และต้น 40 ซม. แต่เมื่อเปลี่ยนมาใช้แบบร่องเดี่ยว ก็จะปลูกแถวเดียว ระยะต้นห่างกัน 20 ซม. คือระยะห่างระหว่างต้นจะถี่ แต่อีกด้านหนึ่งจะห่างกันมากกว่า โดยส่วนที่ต่างกันคือการใส่ปุ๋ย หากเป็นร่องคู่ เขาจะใส่ปุ๋ยแบบปั่นลงไปในดิน ขณะที่ร่องเดี่ยว เขาจะหยอดลงไปในร่อง...”
...
การที่เขาทำแบบนั้น เราวิจัยได้ว่าปุ๋ยหมักปุ๋ยคอกที่หยอดลงไปมันช่วยเสริมกับปุ๋ยเคมีที่ทางนั้นเขาใช้โดยไม่กระจายไปอื่น ขณะที่การทำร่องคู่ เป็นการตีแล้วมันจะกระจายที่อื่น เป็นที่มาของการได้ผลผลิตลูกใหญ่ และได้เยอะกว่าด้วย คุ้มค่ากับการลงทุน
แปลว่าการฝึกงานของเรา เราจะช่วยวิจัยและพัฒนาการเกษตรให้กับเขาด้วย เกษตรกรหนุ่มตอบว่า ใช่...ได้กันวิน-วิน เราได้ความรู้และเทคโนโลยีการเกษตร ส่วนเขาได้งานวิจัยและพัฒนาต่อยอด และนี่เอง เป็นเหตุผลที่เขารับ นศ.จากไทยไปฝึกงาน
เมื่อถามว่า ได้เงินไหม ทำงานที่อิสราเอล นายยุทธนา เผยว่า ได้ เทียบเท่ากับคนงาน คิดเป็นรายวัน หากมีโอทีก็คิดเป็นรายชั่วโมง ส่วนวันที่เรียนก็ไม่ได้ เรียกว่าทำงานก็เหมือนหาเงินเรียนที่นั่น เพราะการเรียนเราก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายด้วย...
ความรู้ตกผลึกจากอิสราเอล
หลังจากเรียนจบ เบิร์ด ได้กลับมาทำงานในกรมวิชาการเกษตร จ.เพชรบูรณ์ เวลาเราไปให้ความรู้กับเกษตรกร เราก็จะเล่าถึงการไปทำงานที่อิสราเอล รวมถึงเรียนรู้เพิ่มเติมจากการเป็นนักวิชาการ..
...
นายยุทธนา เผยว่า สิ่งที่ตกผลึกจากอิสราเอล และนำมาปรับใช้ในประเทศไทย คือ การใช้ระบบน้ำหยด เป็นประเทศแรกที่คิดค้นระบบนี้ แต่สิ่งที่นอกเหนือจากเรื่องนี้คือ วิธีการคิด และวางแผน เขามีการวางแผนในการจัดการฟาร์ม โดยจัดการฟาร์มให้ดูแลง่ายขึ้น
“เกษตรกรจำเป็นต้องมีความรู้ด้านวิชาการด้วย ซึ่งของเขาเป็นแบบนั้นหมด ขณะที่ของเราเป็นการส่งต่อความรู้จากรุ่นสู่รุ่น โดยอาศัยประสบการณ์ สิ่งสำคัญในการเกษตรของเขาคือ “ความคุ้มค่า” ในการลงทุน ไม่ใช่ขาดทุนซ้ำซากก็ยังทำกันอยู่”
จากนักวิชาการเกษตร สู่สวนลุงเบิร์ด และบันได 4 ขั้น
นายยุทธนา ได้เป็นนักวิชาการเกษตรราว 3 ปี ที่ตัดสินใจเลิกเพราะ ไกลบ้าน จากเพชรบูรณ์มาชัยนาท และที่สำคัญคือ ครอบครัวคิดจะเลิกทำเกษตร สุดท้ายจึงเลือกที่จะกลับมาสานต่องาน โดยค่อยๆ เปลี่ยนแปลงจากเกษตรในวิถีเดิมๆ เป็นเกษตรแบบใช้เทคโนโลยี และการวางระบบน้ำแบบใหม่
“ตอนอยู่เป็นนักวิชาการเกษตรเพชรบูรณ์ เราได้เห็นความหลากหลายทางพืช และประสบการณ์จากคำบอกเล่าจากชาวสวนที่เราไปลงพื้นที่ตรวจ GAP แปลงอินทรีย์ โดยอาศัยจากประสบการณ์ของชาวบ้าน ผนวกกับวิชาการที่เรามี เอามาเริ่มทดลองที่สวนของตัวเอง”
...
ช่วงแรกที่เบิร์ดทำนั้นคือ การสานต่องานเดิม ทำไร่อ้อย ข้าวโพด และปลูกมัน ทำอยู่ 2 ปี โดยไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร เพื่อดูว่าเราเจอปัญหาอะไรที่เราจะต้องเปลี่ยนแปลง เหมาะกับพืชไร่ต่อหรือไม่...
หรือเพราะจะเปลี่ยนทันที พ่อแม่ไม่เห็นด้วย? นายยุทธนา หัวเราะก่อนตอบว่า “นี่คือประเด็นหลักเลย...เราต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าเราทำได้ แม้ใจอยากเปลี่ยนตั้งแต่ปีแรกก็ตาม”
หลังจากเป็น “เกษตรกรเต็มตัว” นายยุทธนา ได้เข้าไปรวมกลุ่ม Young Smart Farmer ของชัยนาท จากนั้นค่อยๆ เปลี่ยนฟาร์มของตนเอง โดยเริ่มต้นคิดว่าการจะปลูกพืชสักชนิด สิ่งแรกคือ ต้องเหมาะสมกับพื้นที่ ให้ผลผลิต แปรรูป และขยายกิ่งพันธุ์ ขายกิ่งพันธุ์ได้
จาก 4 ข้อดังกล่าว จึงเลือกปลูกฝรั่งกิมจูกับฝรั่งหงเปาสือ ปีแรกปลูก 2 ไร่ 400 กว่าต้น กิมจู ฝรั่งตลาด ขายง่าย... หงเปาสือ มีราคา รสชาติอร่อย เราลองปลูกฝรั่งหงเปาสือแค่ 35 ต้น เพื่อทดลองเป็นแม่พันธุ์
“ตอนเราเป็นคนตรวจ GAP เราไปตรวจเขา แต่เมื่อเรามาปลูกเองก็ต้องทำให้ได้ด้วย ไม่งั้นเสียชื่อ(หัวเราะ)”
ดังนั้นเราทำแปลงฝรั่งให้ผ่าน GAP ซึ่งเท่านั้นไม่พอ เราต้องตรวจให้ผ่านในระดับไร้สารพิษตกค้าง เมื่อส่งวิเคราะห์ กรมวิชาการเกษตรฯ โดยไม่พบสารพิษตกค้าง สิ่งนี้เองเป็นเครื่องยืนยันว่าจากประสบการณ์นักวิชาการเกษตรก็นำมาปรับใช้ได้
ถามว่า เป็นเกษตรอินทรีย์ 100% เลยไหม? เบิร์ด ตอบว่า ไม่ถึงขั้นนั้น แต่เราคือ “เกษตรปลอดภัย...ใช้สารเคมีได้ แต่อยู่ในระดับความปลอดภัย โดยลูกค้าของเราเป็นกลุ่มระดับอำเภอ และตัวเมืองชัยนาท”
จากฝรั่ง สู่ พุทราไต้หวัน ส้มโอขาวแตงกวา
เจ้าของสวนลุงเบิร์ด บอกว่า หลังจากฝรั่งติดตลาดแล้ว เราก็มองผลไม้อีกตัวคือ พุทราไต้หวัน โดยเราได้รับคำแนะนำจากพี่ที่ปลูกฝรั่ง และเขาก็แนะนำพุทรา เราจึงเริ่มต้นทดลองปลูก 3 ต้น และลองชิมผล
“แม่บอกดี อร่อย จึงลงเพิ่ม และขยายผลไปมากกว่า 60 ต้น ซึ่ง “ราคา” ของพุทราไต้หวันถือว่าดีเลย เวลานี้กิโลกรัมละ 150 บาท บวกกิมจู กิโลกรัมละ 40 บาท หงเปาสือ กิโลกรัมละ 100 บาท”
นอกจาก 3 ชนิดดังกล่าวแล้ว เรายังปลูกส้มโอขาวแตงกวาด้วย เนื่องจากเป็นพืช GI ของชัยนาท ที่สำคัญคนที่มาเยี่ยมเยียนเขาบอกว่าต้องได้กิน
ส่วนตัวคิดว่า อย่ามองแต่คำว่า GI อย่างเดียว เราต้องมองไปถึงคุณภาพด้วย กินแล้วอร่อยด้วย เราอย่าขายแต่คำว่า GI อย่างเดียว เพราะบางครั้งที่เราได้กินส้มโอขาวแตงกวา GI ชัยนาท แล้วมันติดขม เปรี้ยว เมื่อคนกินไปแล้วเขาจะรู้สึกว่า ส้มโอขาวแตงกวาชัยนาท ไม่อร่อย เหมือนเราเจอทุเรียนอ่อน หรือกินทุเรียน GI บางที่แล้วไม่อร่อย
“เรามีความรู้ด้านวิชาการอยู่แล้ว บวกกับความรู้เรื่องปุ๋ย ระบบน้ำที่ได้จากอิสราเอลมาทดลองปลูก ปรากฏว่ารสชาติที่ได้ไม่มีติดขม หรือเปรี้ยวเลย รสชาติออกหวานแบบฉบับส้มโอขาวแตงกวา”
ฉะนั้น อยากให้เกษตรกรอย่าหลงคำว่า GI แต่เราต้องเน้นทำให้เกิดคุณภาพด้วย ส่วนตัวตั้งเป้าไว้ว่าเราต้องเป็นส้มโอขาวแตงกวาชัยนาทที่ขึ้นชื่อให้ได้ หากเกษตรกรแข่งขันกันทำผลผลิตดีๆ มันจะนำไปสู่การพัฒนา
“และอย่าหลงคิดว่าฉันมี GI แล้วจะขายอย่างไรก็ได้...”
คำแนะนำสำหรับผู้เริ่มต้น นายยุทธนา แนะนำว่า หากสนใจพืช ผัก หรือ ผลไม้ชนิดไหน คือ อยากให้ไปหาเกษตรกรตัวจริง เรียนรู้และลงมือทำ จะได้ทราบปัญหาต่างๆ และที่สำคัญคือเราต้องหาความรู้ทั้งด้านวิชาการมาช่วยด้วยก็จะดี...