คุยกับ “ดร.กฤษดา” ผู้บุกเบิกปลูก “ภูพานเฮ” หรือ พีชปาล์ม ต้นกำเนิดพันธุ์จากป่าแอมะซอน เผย ศึกษาวิจัยมาแล้ว คุณค่าทางอาหารเพียบ ผลผลิตสูง รายได้ต่อไร่สูง...

กำลังเป็นที่พูดถึงในหมู่เกษตรกร สำหรับ “ภูพานเฮ” หรือ “พีชปาล์ม” โดยในช่วงแรกของการขายนั้นมีราคาต่อกิโลกรัมหลักพันบาท แต่ว่า เวลานี้เริ่มปลูกกันแพร่หลายแล้ว แต่ก็ถือว่าราคาสูงอยู่

เพื่อทำความรู้จัก เราก็ต้องคุยกับผู้บุกเบิกนั่นก็คือ ดร.กฤษดา จักรเสน ประธานบริษัทภูพานเฮ 2021 (ไทยแลนด์) จำกัด โดยนำเมล็ดพันธุ์มาจากเบลีซ

จากครอบครัวเกษตรกรยากจน อยากหนีห่างอาชีพเกษตร

ดร.กฤษ เล่าว่า เดิมทีเป็นลูกชาวนา เกิดในถิ่นอีสาน คือ จ.สกลนคร ซึ่งเราก็ทำนาทำไร่มาตั้งแต่เด็ก ทำให้รู้สึกว่าการทำการเกษตรเป็นเรื่องลำบากและเหนื่อยกับชีวิต ทุกเช้าตื่นมาก็ต้องทำงาน บางวันไม่อยากทำ ก็ถูกตี ร้องห่มร้องไห้ บางวันไปเรียนสาย

“พ่อแม่ทำเกษตรอย่างหนัก กัดฟันสู้ หาเงินเพื่อเอามาจ่ายค่าเล่าเรียน ใจหนึ่งก็รู้สึกว่าไม่อยากจะทำงานการเกษตรแล้ว อยากจะอัปเกรดชีวิตเพื่อหนีจากงานตรงนี้...เพราะไม่อยากทำเหมือนกับพ่อแม่”

ด้วยความตั้งใจแบบนั้นจึงขวนขวายเรียนจนจบวิทยาศาสตร์ “ฟิสิกส์” ที่ราชภัฏสกลนคร และสอบบรรจุเป็นครูได้ที่ จ.หนองคาย...

ครูกฤษ เล่าว่า ที่เลือกตรงนี้ส่วนหนึ่งเพราะไม่อยากอยู่ไกลบ้านเกินไป หากมีเวลาก็อยากกลับมาเยี่ยมเยียนพ่อแม่

...

“พ่อปลูกข้าว แม่ขายผักในตลาด เราโตมาแบบวิถีลูกชาวนา ทำงาน ช่วยแม่เข็นผัก ดำนา เกี่ยวข้าว สู้ชีวิตตั้งแต่เด็ก เพราะบ้านเราไม่ใช่คนรวย แร้นแค้นก็ว่าได้ จำได้ว่าตอนเด็กๆ มีไข่แค่ฟองเดียว แบ่งกันสามคน แล้วเอาข้าวเหนียวจิ้มกับส้มตำ กินแมงคั่วต่างๆ ที่เขาขายที่โรงเรียน” ดร.กฤษดา กล่าวและว่า

เมื่อมาเป็นครู มาอาศัยในหอพักครู ใช้ชีวิตอยู่คนเดียวมันรู้สึกเหงา จึงรู้สึกว่าอยากจะปลูกต้นไม้ ปลูกพืชต่างๆ ปรากฏว่าเมื่อปลูกไปแล้วก็ได้ผลผลิตมากมาย อาทิ มะละกอ ผลไม้ต่างๆ ก็เอาไปแจกจ่ายครูบาอาจารย์

เหงา..ปลูกต้นไม้ ผลไม้ กลายเป็นกูรูเกษตร

ครูกฤษดา เผยว่า หลังจากรับราชการครู ก็เริ่มได้เมล็ดพันธุ์มาจากต่างประเทศ มีคนส่งมาให้ เราก็ลองปลูก ที่เหลือก็ส่งไปให้พ่อแม่บ้าง ซึ่งพอที่นาเหลือเป็นมรดกจากปู่ ขณะที่ตัวเราก็ศึกษาหาความรู้ด้านพืช เพราะหวังจะทำเงินกับมัน

“เราศึกษา ทดลอง ล้มลุกคลุกคลานกับพืชเศรษฐกิจ จนกระทั่งไปศึกษาเกี่ยวกับ “อินทผลัม” จนกลายเป็น 1 ใน 8 กูรูด้านอินทผลัม โดยได้ปลูก และเป็นพืชหลักตั้งตัวในยุคแรก กระทั่งมีการเรียนต่อ ป.โท และ จบ ป.เอก ด้วยการเรียนเรื่องการทำอินทผลัมอย่างยั่งยืนในประเทศไทย”

ระหว่างที่ได้ศึกษาเรื่อง “อินทผลัม” ได้ไปเจอพืชตัวหนึ่งที่ชื่อ “ภูพุ้นเย” (เสียงเหน่อ) Pupunha ระหว่างนั้นได้ไปเจอกับคุณพ่อชื่อ “โทมัส”  อาศัยอยู่ที่ประเทศเบลีซ เราบอกเขาว่าเราชอบมันมาก เพราะเห็นว่า เป็นพืชที่มีประโยชน์โปรตีนสูง ทางคุณพ่อโทมัสจึงส่งเมล็ดพันธุ์มาให้ (เบลีซ ไม่ได้เซ็นอนุสัญญาไซเตส ที่คุ้มครองสัตว์ป่า และพืชป่าใกล้สูญพันธุ์)

“เมื่อได้เมล็ดพันธุ์ จึงได้ทำวิจัย ทดลองปลูกแบบไม่รู้อะไรเลย... อาศัยดูวิดีโอ ความรู้จากต่างประเทศ กระทั่งมีการเพาะพันธุ์สำเร็จ โดยเพาะเริ่มต้น 1,000 ต้น จากนั้นก็ไปหาซื้อที่ดินเพิ่มเติม”

ดร.กฤษดา อธิบายว่า จากที่ชาวบ้านเรียก “ภูพุ้นเย” ต่อมาจึงกลายมาเป็น ภูพานเฮ เปลี่ยนจาก PuPunha เป็น PuPanha ซึ่งถือว่าคล้ายกับสินค้าทั่วโลก ขณะเดียวกันฝรั่งจะเรียกลูกนี้ว่า “พีชปาล์ม” ตามสายพันธุ์ของมัน  

วิธีการปลูก และคุณค่าทางอาหาร

ดร.กฤษดา อธิบายถึงการปลูก “ภูพานเฮ” ว่า เป็นพืชที่ปลูกถามว่าที่ไหนเหมาะที่สุด คือ ทางภาคใต้ ฝน 8 แดด 4 เขาชอบอากาศร้อนชื้น ส่วนรากของเขาจะอยู่ไม่ลึก เขาจะชอนไชไม่ถึง 30 ซม. ผิวดินจะต้องไม่แห้ง การปลูกอาจใช้ระบบสปริงเกอร์เข้ามาช่วยก็ได้ เนื่องจากเขาเป็นพืชที่มีต้นกำเนิดจากป่าแอมะซอน

...

หากปลูกทางใต้ “ภูพานเฮ” จะโตเร็วที่สุด คือเพียง 8 เดือนจะตัดยอดได้ หากปลูกพื้นที่อื่น เช่น อีสาน จะต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ปีถึงจะตัดยอดได้

“สิ่งที่ ภูพานเฮ กลัวคือ ดินเหนียว เพราะรากของเขาจะเดินลำบาก วิธีแก้คือ ต้องใช้วิธีการปรับปรุงดิน ใช้อินทรียวัตถุ และสารระเบิดดินดาน ที่สำคัญคือ หากพื้นที่ไหนไม่มีน้ำ หรือน้ำน้อยจริงๆ ไม่แนะนำให้ปลูก หรือพื้นที่ที่มีความเย็นมากๆ เจอน้ำค้างแข็ง 3 ชั่วโมง แบบนี้ก็ไม่แนะนำ”

ส่วนคุณค่าทางอาหาร “ภูพานเฮ” มีเยอะ โดยเฉพาะ “โปรตีน” จากใบนั้นมี 17.4 ขณะที่ยอดของมันสูงถึง 22.47 ต่อ 100 กรัม ในน้ำหนักแบบแห้ง โดยสามารถนำมารับประทานได้ทั้งผลและยอด โดยเฉพาะ ยอดสามารถกินสดได้ ส่วนตัวผลนั้นแนะนำว่าควรผ่านความร้อน มันจะทำให้เกิดกลิ่นที่หอมมากขึ้น... เมื่อมาทำอาหารจะทำให้ได้รสชาติอาหารดีกว่ายอดมะพร้าว หรือหน่อไม้ โดยไม่มีกรดยูริกและกลูเตน จะเรียกว่าเป็นพืชตระกูล “ปาล์ม”

การสร้างรายได้ต่อไร่มูลค่าสูง  

...

ประธานบริษัทภูพานเฮ บอกว่า หากปลูกเอาผลและยอดนั้น ปลูก 100 ต้น จะได้ 1 ต้น จะประมาณ 5 จั่น ประมาณ 25 กิโลกรัม รวมๆ แล้ว 1 ไร่ เท่ากับ 2,500 กิโลกรัม จะได้เงินประมาณ 125,000 ต่อไร่ต่อปี (ปลูก 1 ปี) ซึ่งหากเฉลี่ยก็ประมาณ 1 ไร่ 1 แสนบาท นี่คือค่าเฉลี่ยขั้นต่ำ โดยเราเซ็น MOU กับเกษตรกร ให้ 1 กิโลกรัม 50 บาท แต่ถ้าจะขายเองนั้น ตอนนี้กิโลกรัมละ 200-300 บาท ทั้งนี้หากปลูกไปแล้วจะสามารถเก็บเกี่ยวยอด 20 ปี ถ้าผลอาจจะยาวกว่านั้น

“ตอนนี้เรารู้สึกเข้าใจเกษตรกรที่กำลังไม่แน่ใจว่าจะปลูกดีหรือไม่ หลายคนกังวลว่าเป็นพืชตัวใหม่ รู้สึกกลัว ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการส่งเสริมเกษตรหลายๆ ชนิด ดังนั้นหากใครอยากรู้ก็ต้องศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนตัดสินใจ ส่วนตัวเชื่อว่ามันจะเป็นพืชเศรษฐกิจแหงอนาคต เพราะมันให้คุณค่าทางสารอาหารครบถ้วน โดยเฉพาะโปรตีน” ดร.กฤษ ทิ้งท้าย.

อ่านบทความ 

...