พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช วิพากษ์ เลือก สว. “พวกตั้ง” แปลงร่างจากผู้แข่งขัน กลายเป็น Voter เด่น ดัง มาเดี่ยว ก็สอบตก ชี้ ไม่มีเวลาฮันนีมูน เพราะงานรออยู่เพียบ...
ได้มาแล้ว 200 รายชื่อ สำหรับ “ว่าที่” วุฒิสภาคนใหม่ หลังจากผ่านศึก เลือกแล้ว เลือกอีก ในระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศ ฝ่าด่านอรหันต์ จากผู้สมัคร 48,117 คน
ส่วนรายชื่อจะมีใครบ้างนั้น แอบเข้ามาส่องกันได้ “เปิดรายชื่อ 200 ว่าที่ สว.ชุดใหม่ ใครเป็นใคร ที่จะได้เข้าไปทำหน้าที่ในสภาฯ”
คำถามของเราในวันนี้ คือ เมื่อได้ สว. ชุดใหม่กันแล้ว ภาพการเมืองไทย จะเปลี่ยนไปหรือไม่ การทำหน้าที่ที่อยากส่งต่อจากชุดเก่าเป็นเรื่องอะไร วันนี้ “เรา” ได้พูดคุยกับ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สมาชิกวุฒิสภา ชุดที่ 12 และกำลังทำหน้าที่ครบวาระ กล่าวว่า ความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ อยากได้คนจากหลากหลายอาชีพ และไม่กำหนดวุฒิการศึกษา และเท่าที่ดูจากรายชื่อ เบื้องต้นก็พบว่า บางคนไม่มีวุฒิการศึกษา และอาจจะไม่มีประสบการณ์ในทางการเมือง เรียกว่าเป็น สว. ป้ายแดง เกือบทุกคน... มีเพียงอดีต สว. ที่เคยเป็นมาแล้ว 2-3 คนเท่านั้น นอกนั้นก็เป็นหน้าใหม่ เดินเข้ามาในกลุ่มอาชีพของตนเอง
...
“แม้หลายคนจะมีคำวิพากษ์วิจารณ์ ว่าไม่ตรงสเปก แต่...เรื่องแบบนี้ก็ยากที่จะกล่าว ว่า “ใคร...อยู่อาชีพไหน...อย่างไร”
พล.อ.เลิศรัตน์ ให้ความเห็นต่อว่า การเดินมาซึ่ง สว. ครั้งนี้ โดยรวมก็คือเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ เพียงแต่เรื่องที่ถูกกล่าวขวัญ หรือวิพากษ์วิจารณ์ จะเป็นวิธีการเลือกมาเสียมากกว่า...
สว. ชุดใหม่ จะสร้างความเปลี่ยนแปลงโฉมการเมืองไทย ได้มากน้อยแค่ไหน พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่าคงไปไม่ถึงขนาดนั้น เพราะมาเป็น สว. แล้วจะรู้ว่า เป็นตำแหน่งที่ไม่มีอำนาจมากมายอะไร
ในด้านกฎหมาย ก็ทำหน้าที่กลั่นกรอง ตรวจสอบ หากไม่เห็นด้วย แต่เมื่อสภาผู้แทนยืนยันด้วยเสียงสนับสนุนเกินกึ่งหนึ่ง ก็สามารนำขึ้นทูลเกล้าฯ ได้เลย ดังนั้น สว. ก็เหมือนทำหน้าที่คล้ายกับการ “ติติง” หรือ “กลั่นกรอง” เท่านั้น แม้บางคนจะบอกว่า มีหน้าที่ในการตั้งองค์กรอิสระ ซึ่งเรื่องนี้ก็ไม่ได้ถึง 100% เพราะต้องผ่านการกลั่นกรองมาก่อน จากคณะกรรมการสรรหา 9 คน หากไม่ผ่านตรงนี้ เรื่องก็ขึ้นมาไม่ถึงวุฒิสภา
“ใน 5 ปี ก็ใช่ว่าจะอยู่กันครบเทอมกันตรงนี้ เพราะทุกองค์กรอิสระ มีอายุ 7 ปี หน้าที่ของ สว. คือให้ความเห็นชอบ ไม่ใช่คนแต่งตั้ง”
เท่าที่สังเกตรายชื่อ เห็นกลุ่มอำนาจทางการเมืองหรือไม่ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอำนาจเก่า หรือไม่ พล.อ.เลิศรัตน์ (หัวเราะ) ก่อนตอบว่า “ผมก็ไม่รู้ว่าใครเป็นอำนาจเก่า อำนาจใหม่ แต่แน่นอนว่า ทุกภาคส่วนอยากให้คนของตนเองเข้ามาเป็น สว.”
แปลว่า ไม่พ้นภาคการเมืองใช่หรือไม่ พล.อ.เลิศรัตน์ ตอบทันทีว่า “แน่นอน”
การที่เราไม่ให้เลือกตั้งโดยตรงแบบในอดีต เพราะความเป็นห่วงว่าจะได้ฐานเสียงเดียวกันจากกลุ่มการเมือง...แต่พอมาครั้งนี้ ก็ดูแล้วไม่ต่างจากการเลือกตั้งโดยตรง โดยพี่น้องประชาชนในอดีต เพราะผู้สมัครที่เดินเข้ามา ก็มี “ฐาน” กันทั้งนั้น และ “ฐาน” ใครดีกว่ากัน... หรือหาพรรค หาพวก ได้ดีกว่ากัน
“คนที่เดินมาคนเดียว ไม่มีใครได้เป็น สว. 100% เรื่องนี้คือจุดที่ผมไม่เห็นด้วยกับ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาตั้งแต่ต้นแล้ว ซึ่ง พ.ร.ป. ฉบับนี้มีจุดอ่อน และเราเห็นตั้งแต่การสมัครเลือกตั้งเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ถึงแม้จะผ่านการดัดแปลงมาบ้าง แต่ก็มีจุดอ่อนที่คล้ายกัน”
...
เมื่อถามว่า มีหลายคน “สอบตก” ในการเลือก สว. ครั้งนี้ โดยเฉพาะคนดังหลายคน โดยเฉพาะ “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” ที่เป็นถึงอดีตนายกฯ ก็ตาม มันเป็นเพราะมีกระบวนการสกัดกั้นคนเด่นดัง เรื่องนี้เป็นอย่างนั้นหรือไม่ พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า คนเด่น คนดัง คนมีความสามารถ หากเดินมาสมัครคนเดียว ก็ไม่มีทางที่จะได้เป็น สว. น้อยมาก...ที่จะหลุดรอดเข้ามา
“ท่านสมชาย คงมาสมัครแบบไม่มีพรรคพวกมากมาย แต่คงคิดว่าด้วยแบ็กกราวนด์ คุณสมบัติ และบุคลิก จะมีคนเลือก แต่สุดท้ายเราต้องยอมรับว่า ระบบการเลือกแบบนี้ จะมีคนกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่า “Voter” ซึ่งเป็นคำที่ใช้กันในหมู่ผู้สมัคร และเราก็ได้ยินกันเต็มสองหูว่า เขาเข้ามาสมัครเพื่อมาโหวตให้กับคนที่เขาต้องการ จะด้วยอะไรก็ตาม และ ท่านสมชาย คงไม่ได้มี Voter ท่านจึงได้แค่ 10 คะแนน” (หัวเราะ) เพราะทุกคนมี commitment กันและกัน ว่าจะลงคะแนนให้ใคร...”
...
พล.อ.เลิศรัตน์ ย้ำว่า ระบบนี้จะใช้ได้ก็ต่อเมื่อ ทุกคนมอง “โลกสวย” ว่าทุกคนจะมาโหวตให้คนดี คนมีความสามารถ
แต่ความเป็นจริง การลงคะแนนในแต่ละรอบ แต่ละระดับ บางคน หรือหลายคน ก็เลือกให้กับคนที่สัญญากันมา คนที่ร่วมกันมา หรือเพื่อนชวนมา ซึ่งเรื่องแบบนี้เราไม่สามารถกล่าวหาใครได้ว่ามีเงินมาเกี่ยวข้องหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ คือ “การรวมตัว” กันเพื่อลงคะแนนให้กับคนบางคน นี่คือจุดอ่อน...
เมื่อถามว่า มีใครที่มีโอกาสเป็น “ประธานวุฒิสภา” บ้าง พล.อ.เลิศรัตน์ ให้ความเห็นว่า “ผมเป็นทหาร ส่วนตัวก็อาจจะเชียร์ทหาร แต่เมื่อดูคะแนนกลุ่มที่ 1 และได้คะแนนสูงสุดอย่าง พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ ได้ 74 คะแนน ดูแล้วมีความเหมาะสมในหลายๆ ประเด็น เช่น เป็นทหาร เป็นแม่ทัพภาค 4 ส่วนงานการเมือง ก็เป็นที่ปรึกษาของ รมว.มหาดไทย ในชุดปัจจุบัน ท่านน่าจะเป็นแคนดิเดตประธานวุฒิสภา ซึ่งการทำหน้าที่นี้จำเป็นต้องอาศัยประสบการณ์ในการทำงาน ส่วนสายอื่นๆ ที่น่าจับตา คือ สายข้าราชการ เพราะดูจะมีภาษีกว่าสายอื่น
เมื่อถามว่า มีข้อกังวลใจในการทำหน้าที่ของ สว. ชุดใหม่หรือไม่ เรื่องใด พล.อ.เลิศรัตน์ ตอบว่า “ไม่มี...เพราะสุดท้ายจะมีการรวมตัวกัน จัดตั้งเป็นกรรมาธิการต่างๆ อาจจะใช้เวลาสักหน่อย เพื่อให้คุ้นเคยในการทำหน้าที่ “นิติบัญญัติ”
...
ทุกคนเป็น สว. ป้ายแดงทั้งนั้น อาจต้องใช้เวลาสักระยะจะคุ้นเคย สิ่งที่อยากส่งต่อ คือ ยังมีงานเร่งด่วนรออีกหลายเรื่อง อาทิ การแต่งตั้งในส่วนสำนักอัยการสูงสุด, ประธานศาลปกครอง, การพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณ ฉะนั้น 3 เดือนแรก จะไม่มีเวลาฮันนีมูน เนื่องจากมีงานรออยู่อีกมาก
“นอกจากนี้ อยากให้มีการแก้ระเบียบการเลือกตั้ง สว. เพราะที่ผ่านมา ก็เป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่ามีปัญหา โดยเฉพาะประเด็นการคัดเลือกเข้ามา พบการ “จัดตั้ง” ได้ ดังนั้น เรื่องนี้ควรให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินดีกว่า..."
อ่านบทความที่น่าสนใจ