"นี่คงเป็นการตายแบบสมบูรณ์" เปิดใจเหยื่อพิการจากคนเมาแล้วขับ วินาทีรถลากไปกับถนน ภาพฝังใจยากลืมลง ไร้ผู้รับผิดชอบ ครอบครัวระหกระเหิน ฟันฝ่าคำดูถูก-ความทุกข์ยาก จนก้าวเป็นโค้ชฟุตบอลเยาวชน
ด้วยเหตุที่ทีมข่าวฯ มุ่งสร้างความตระหนักรู้แก่สังคมในเรื่อง "เมาแล้วอย่าขับ" และหวังเป็นส่วนเล็กๆ ที่ช่วยขับเคลื่อนให้สังคมไทยดีขึ้น 'เพราะเมาแล้วขับ EP.5' เราจึงเลือกเดินทางลงพื้นที่ ณ ชุมชนพัฒนาบ่อนไก่ ย่านถนนพระราม 4 เพื่อไปพูดคุยกับ เหยื่อเมาแล้วขับ อีก 1 ชีวิต ที่ต้องระหกระเหิน และผ่านความยากลำบากจากฤทธิ์น้ำเมาผู้อื่น
เราเดินลัดเลาะตามซอยเล็กๆ เลี้ยวขวาบ้างซ้ายบ้าง ก่อนจะเจอเข้ากับที่พักอาศัยซึ่งมีรถเข็นจอดอยู่ด้านหน้า ในบ้านลักษณะคูหามีพื้นที่ไม่มากนัก 'นายเจษฎา แย้มสบาย' ประธานเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ กทม. กำลังนั่งตรวจสอบข้อมูลงานในคอมพิวเตอร์อย่างขะมักเขม้น เรากล่าวทักทายพร้อมขออนุญาตเข้ายังที่พักอาศัยนั้น
หากมองภายนอกโดยไม่เคยพูดคุยกันมาก่อน 'พี่เจษ' ดูคล้ายกับคนทั่วไป ที่มีร่างกายครบถ้วนสมบูรณ์ปกติ แต่ในความเป็นจริงนั้น ช่วงล่างที่เราเห็นอยู่ไม่สามารถใช้งานได้เลย เมื่อเอ่ยปากถามว่า "เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อไรครับ" บทสนทนาแห่งชีวิตจึงได้เริ่มขึ้นนับจากนั้น
...
"นี่คงเป็นการตายแบบสมบูรณ์" :
เหตุการณ์ความสูญเสียของพี่เจษ เกิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 02.00 น. ของวันอังคาร ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2544 หรือ 22 ปีที่แล้ว หลังจากเขาและภรรยา กำลังมุ่งหน้าสู่ที่พักด้วยรถจักรยานยนต์ โดยหวังกลับไปล้มตัวลงนอน เอนกายคลายความเหนื่อยล้า จากงานที่ทำมาตลอดทั้งวัน
เพียงประมาณ 200 เมตร ก่อนถึงจุดหมาย พวกเขาจอดรถรอสัญญาณไฟจราจร อยู่ที่เลนซ้ายสุดจากถนนที่มีทั้งหมดสี่เลน "ผมจอดซ้ายสุดเพราะคิดว่ามันปลอดภัย ที่จริงตอนนั้นประมาณตีสอง ถ้าเป็นช่วงวัยรุ่นผมคงฝ่าไฟแดงไปแล้ว แต่ขณะนั้นด้วยวัยวุฒิ มีครอบครัว และลูก 2 คน จึงคำนึงถึงความปลอดภัย เลือกไม่ประมาท เลยจอดรอให้ไฟเขียวดีกว่า"
ขณะที่รอสัญญาณไฟเปลี่ยนจากแดงเป็นเขียว แสงไฟสีขาวจากรถยนต์คันหนึ่ง สะท้อนเข้ากระจกยานพาหนะของทั้งคู่ เข้าตาพวกเขาจนทำให้ทัศนวิสัยไม่ชัดเจน เพียงเสี้ยววินาทีของแสง 'แวบ' ราวกับฉากในละครนั้น กลายเป็นจุดเปลี่ยนอันยิ่งใหญ่ของ 'ครอบครัวแย้มสบาย' ไปตลอดกาล!
"ผมมองไม่เห็นว่ามีพุ่งมาจากด้านหลัง แสงแวบเข้ากระจกรถ พร้อมกับเสียงชนดังตูมตามมาติดๆ ร่างภรรยากระเด็นออกด้านข้างถนนไป ส่วนร่างของผมติดอยู่ใต้ท้องรถ ถูกลากยาวไปไกลประมาณ 25 เมตร โชคดีที่มีคนขับรถแท็กซี่ และพี่วินจักรยานยนต์ขวางไว้พอดี ทำให้รถคู่กรณีหยุด ไม่งั้นผมน่าจะโดนลากไปยาวกว่านั้น"
เราถามว่า หลังจากโดนรถลากไปแล้ว ภาพความทรงจำตัดหรือไม่ "ไม่ตัดครับ ถ้าตัดก็ดี ไม่อยากจำให้มันหลอน" เหยื่อเมาแล้วขับกล่าวตอบ พร้อมน้ำตาที่รื้นออกมาปนกับรอยยิ้มเล็กๆ บนในหน้า ซึ่งดูแล้วอาจจะขัดแย้งกันเล็กน้อย แต่นั่นคงแสดงถึงความทรงจำอันเจ็บปวดในใจชายคนหนึ่ง ที่เขาต้องแบกและยอมรับให้ได้แม้จะอยากลืมก็ตาม
"ผมนอนอยู่ใต้ท้องรถซึ่งทับผมอยู่ มองเห็นขาคนเต็มไปหมด มีเสียงเจี๊ยวจ๊าวโวยวายกระจายโดยรอบ กระจกหมวกกันน็อกแตก สักพักมีคนมายกรถให้ตะแคงข้าง ก่อนที่พี่ผู้ชายคนหนึ่งจะดึงตัวผมออกจากจุดนั้น พร้อมปลดหมวกกันน็อกที่รัดแน่นออกให้"
ร่างกายของพี่เจษตอนนั้นเข้าขั้นที่เรียกว่า "แย่" ร่างที่เคยสะอาดถูกชะโลมด้วยเลือด บาดแผลน้อยใหญ่มีให้เห็นทั่วร่างกายอย่างชัดเจน โดยเฉพาะบริเวณแขนข้างซ้าย ที่ผิวหนังและเนื้อหลุดออกจนเห็นกระดูกชัดเจน ส่วนบริเวณท้องมีไส้ไหลออกมา… แค่คิดภาพตามเราก็รู้สึกเจ็บปวดไปหมด
"แผลผมเต็มตัวไปหมด แต่แค่รู้สึกชาไม่รู้สึกเจ็บ ตอนนั้นง่วงเหมือนจะหลับ แต่ได้ยินเสียงผู้ชายคนดึงตะโกนพร้อมบีบหน้าว่า "พี่อย่าหลับนะ" ซึ่งตอนนั้นผมห่วงแฟนมากว่า จะพูดถามว่าแฟนอยู่ไหน ปากมันก็เปล่งเสียงออกมาไม่ได้เลย"
...
ผ่านไปสักครู่ ผู้เป็นภรรยารีบวิ่งมาดูอาการสามี ภาพที่พี่เจษจำได้ ภรรยาตรงหน้ามีเลือดและรอยแผลเต็มตัว พร้อมกับเสื้อผ้าที่สภาพขาดรุ่งริ่ง "เราคิดว่ายังไงตัวเองก็ไม่รอด อยากจะพูดบอกแฟนว่า ดูแลลูกด้วยนะ เพราะเราห่วงลูกมาก แต่ก็พูดไม่ออก" เหยื่อเมาแล้วขับเล่าพร้อมเสียงสะอื้น
พี่เจษบอกกับเราว่า "ตอนนั้นง่วงเหมือนจะหลับ ในใจได้แต่คิดว่า นี่คงเป็นการตายแบบสมบูรณ์ แต่ที่ไหนได้ นี่มันนรกชัดๆ!"
ส่วนคู่กรณีนั้น ผู้อยู่ในเหตุการณ์เล่าให้ครอบครัวแย้มสบายฟังว่า หลังจากที่วินจักรยานยนต์เปิดประตูรถออก เขาก็วิ่งหนีเตลิดออกไปคล้ายคนขาดสติ ก่อนจะจับตัวได้ภายหลัง และนำตัวไปยังสถานีตำรวจ แต่ด้วยอาการเมาพูดไม่รู้ความ ครั้นจะซักถามไถ่ก็ไม่รู้เรื่อง ตำรวจจึงตัดสินใจให้เข้าไปอยู่ในห้องขัง กว่าเจ้าตัวจะได้สติสัมปชัญญะกลับมา เวลาก็ปาไป 10.00 น.แล้ว
"ร้องไห้เหมือนเด็กน้อย ทรมานจากบาดแผล" :
เหยื่อเมาแล้วขับสลบหมดสติไปหลายวัน จนกระทั่ง 18 สิงหาคม พ.ศ. 2544 เขาตื่นมาพร้อมภาพที่เห็นตัวเองขณะนั้น นอนกางแขนออกทั้งสองข้าง แขนซ้ายแช่อยู่ในน้ำยาฟอร์มาลีนผสมน้ำเกลือ เพื่อรักษาไม่ให้เนื้อเยื่อตาย ส่วนจมูกมีสายออกซิเจน ปากมีสายให้อาหาร บริเวณศีรษะมีเหล็กเจาะไว้ เพื่อดามให้เคลื่อนไหวน้อยที่สุด เนื่องจากกระดูกต้นคอหัก บริเวณท้องเห็นลำไส้อยู่ในถุง ยังไม่ได้มีการเย็บสมานแผล
...
"หน้าท้องและบริเวณอวัยวะเพศเละหมดเลย แต่หมอเพียงเอาผ้าก๊อซปิดไว้ ส่วนหน้าขาก็เละเหมือนกัน หมอเขายังไม่ได้รักษาผม เพียงแต่ประคองอาการไว้ เพราะเขารอดูว่าผมจะฟื้นไหม เนื่องจากอาการเป็นตายเท่ากัน ซึ่งผมก็ฟื้นมาด้วยอาการงงๆ"
แม้ว่าขณะเกิดอุบัติเหตุ ร่างกายของเหยื่อรายนี้จะไม่รู้สึกถึงความเจ็บปวด แต่เมื่อเขาลืมตาฟื้นขึ้นมา ร่างกายกลับตอบสนองต่อความเจ็บปวด ที่ทำให้เขารู้สึกทรมานเจียนตาย "ตอนนั้นร้องไห้เหมือนเด็กน้อย ด้วยความทรมานจากบาดแผล"
พี่เจษฎา เล่าว่า ก่อนจะรักษาผมไม่รู้เรื่องเรตราคา หมอบอกเพียงว่าค่าใช้จ่ายสูงนะ แต่ยังไงก็ต้องรักษา แรกๆ ผมเริ่มงอแง เพราะไม่อยากรักษา เนื่องจากมองว่าค่าใช้จ่ายแพงแน่นอน แต่แม่กับแฟนมาเกลี้ยกล่อมว่าให้รักษา แฟนบอกว่าเงินไม่ตายก็หาใหม่ได้ ส่วนแม่มองว่าเดี๋ยวคู่กรณีก็มาช่วย
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่โดนรถชน พี่เจษไม่เคยเห็นหน้าคู่กรณีเลยสักครั้ง "ผมไม่เคยได้รับคำเอ่ยว่าขอโทษจากเขาสักครั้ง แบรนด์สักขวด นมสักกล่องก็ไม่มี เราจะฟ้องร้องก็ไม่มีพยานหลักฐาน ไม่มีเงินจ้างทนาย ตอนที่ผมรักษาตัวอยู่ ก็มีการเอาเอกสารมาให้เซ็น ซึ่งเราไม่รู้กฎหมาย มาเข้าใจภายหลังว่า ที่เขาให้เซ็นคือ 'ประมาทร่วม' ทำให้เราเรียกร้องอะไรมากไม่ได้อีกต่อไป"
...
"ถ้ารู้ว่าต้องพิการ จะไม่รักษาตั้งแต่แรก" :
ประธานเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ กทม. ตัดสินใจเข้ารับการผ่าตัดและรักษาพยาบาล ด้วยความหวังว่าเขาจะได้ชีวิตเดิมคืนมา "บางวันผมโดนยาสลบ บางวันโดนมอร์ฟีน ทนรักษาเพราะคิดว่าจะหาย มันเจ็บปวดไปหมด เผลอด่าพ่อล่อแม่หมอทุกวัน หมอต้องมาตัดเนื้อที่ไหม้ที่เสียออก แล้วเอาเนื้อทางสะโพกมาแปะ รวมไปถึงต้องศัลยกรรมร่างกายด้วย ผมต้องเข้าห้องผ่าตัดวันเว้นวัน รวมเวลานานเกือบ 2 เดือน"
แม้ว่าจะผ่าตัดช่วงคอเรียบร้อยแล้ว แต่พี่เจษยังต้องใส่อุปกรณ์ดามคอไว้ ทำให้ไม่สามารถมองไปทิศทางอื่นได้ แต่ด้วยเหตุนี้ ทำให้เขาเริ่มรู้สึกถึงความผิดปกติ "เวลาทำแผลช่วงล่างจะไม่รู้สึกเจ็บ แต่พอหมอทำแผลตรงแขนเราเจ็บมาก ตอนแรกไม่ได้คิดอะไร ประมาณเดือนแรกเราถามหมอว่าทำไมไม่รู้สึก หมอบอกว่าเพราะบาดแผลจากอุบัติเหตุ หมอไม่ได้บอกว่าจะพิการ แต่เขาก็ไม่ผิดนะ เพราะเขายังประเมินไม่ได้ มันอาจจะมีปาฏิหาริย์"
หลังจากอดทนผ่าตัดนับ 2 เดือน พอเริ่มเข้าสู่เดือนที่ 3 พี่เจษได้ย้ายมาอยู่ห้องพิเศษ แผลเริ่มเข้าที่เข้าทางประมาณ 70% แต่ยังมีน้ำเหลืองไหลออกมาบ้าง จุดนี้มีเรื่องทำให้พี่เจษรู้สึกช็อก! เพราะมีบิลค่ารักษาพยาบาลแจ้งให้จ่ายค่ารักษาประมาณ 2 แสนบาท เขารบกวนให้กดเงินมาชำระ แต่ก็ต้องพบความจริงที่ว่า "เงินในบัญชีไม่มีแล้ว" เหยื่อเมาแล้วขับแทบจะเสียสูญ เพราะเงินในบัญชีที่เคยมีถึง 7 หลัก หายไปกับตาในเวลาไม่กี่เดือน
"ตอนนั้นเป็นช่วงที่หมอมาบอกว่า 'ผมมีโอกาสพิการสูง แต่ยังยืนยันไม่ได้ต้องผ่านไป 6 เดือนก่อน' ผมบอกหมอว่าคงรอถึงตอนนั้นไม่ได้ เพราะไม่มีเงินแล้ว ผมนอนห้องไห้ด้วยความเจ็บปวดทุกคืนและเริ่มคิดอยากฆ่าตัวตายเพราะไม่อยากเป็นภาระ ตอนแรกหมอไม่ได้บอกว่าผมจะพิการ ถ้าหมอพูดแบบนี้ตั้งแต่แรก ผมมั่นใจว่าผมจะไม่รักษาเลย"
แต่แล้วการพยายามอัตวินิบาตกรรม ของชายชื่อเจษฎาก็ไม่ได้เป็นเพียงความคิดอีกต่อไป คืนหนึ่งในขณะที่เตียงอื่นๆ เข้าสู่ห้วงนิทราแล้ว เขาได้บอกให้ลูกชายวัย 4 ขวบ ผู้ซึ่งไม่รู้อีโหน่อีเหน่ ไปหยิบน้ำยาล้างห้องน้ำมา โดยหวังว่าจะดื่มเพื่อลาโลกอย่างสงบ
"พอกินเข้าไป มันไม่ได้แป๊บเดียวแล้วตายเหมือนในหนัง แต่มันกลับทรมานแสบร้อนคอไปหมด ผมก็ดิ้นๆ ความทรมานตอนนั้นทำให้อยากรอดชีวิต แต่เราทำอะไรไม่ได้ เพราะแขนและมือถูกมัดไว้ เนื่องจากก่อนหน้าพยายามใช้มีดฆ่าตัวตาย โชคดีที่ลูกกดออดฉุกเฉิน เพราะแม่ (คุณย่า) สอนไว้ว่า ถ้าพ่อมีน้ำลายออกปากให้กดออด สรุปว่าช่วยได้ทัน และเสียค่าล้างท้องไปอีกเกือบ 2 หมื่นบาท"
"ไอ้พ่อพิการ" :
วันเวลาล่วงเข้าสู่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2544 วันพ่อแห่งชาติเดินทางมาถึง พร้อมกับการแสดงแสงสีและจุดพลุ ครอบครัวแย้มสบายใช้จังหวะที่ทุกคนกำลังสนใจกับช่วงเวลาดังกล่าว ออกจากโรงพยาบาล! "ผมฟอร์มว่าจะไปดูพลุที่ชั้นดาดฟ้า แต่ที่ไหนได้ลงลิฟต์มาชั้นใต้ดินเลย เรียกแท็กซี่แถวบ้านให้มารับ แฟนและลูกเก็บก็ช่วยกันเก็บของกลับออกมา"
พี่เจษ เล่าว่า ตอนนั้นตัดสินใจพาเมียกับลูกไปอยู่ที่ชุมชนแออัด ซึ่งตัวเราเคยอยู่มาก่อน แต่ตัดสินใจออกไปช่วงหนึ่ง เพราะในชุมชนมีทุกอย่างที่ไม่เหมาะสม ทั้งการพนัน ซ่องสุม และยาเสพติด แต่สุดท้ายเหมือนกลับมาตายรัง ต้องมาอยู่ห้องขนาด 4 คูณ 4 เมตร เดือนละ 2,800 บาท
"สุดท้ายมาอยู่ได้ไม่ถึง 4 วัน แผลติดเชื้อต้องเรียก 1669 ไปหาหมอที่โรงพยาบาล แต่รอบนี้ไปโรงพยาบาลอื่น เราบอกหมอว่าไม่มีเงินรักษา เพราะตอนนั้นตัวเองทำงานไม่ได้ แฟนก็ยังไม่มีงาน หมอจึงจัดให้อยู่ในกลุ่มคนไข้อนาถา โดยได้รับเงินประชาสงเคราะห์ช่วยเหลือ"
พี่เจษนอนรักษาตัวอยู่โรงพยาบาลนานเกือบ 2 เดือน สุดท้ายสู้ค่ารักษาต่อไม่ไหว ตัดสินใจกลับมาอยู่ชุมชนพร้อมกับการแบกรับแรงกดดันหลายอย่าง ลูกหัวแก้วหัวแหวนทั้ง 2 คน มักจะโดนล้อว่า "ไอ้พ่อพิการ" และ "ไอ้พ่อขี้ราด" เนื่องจากหลังพี่เจษไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายได้ เงินซื้อแพมเพิสก็ไม่มี ทำให้หลายต่อหลายครั้ง พี่เจษขับถ่ายออกมาแบบไม่รู้ตัว
"ทำอะไรเองไม่ได้เลย เวลากินข้าวก็ต้องให้ลูกช่วย เวลาจะอาบน้ำลูก 2 คนมาช่วยแบกตรงขา ส่วนภรรยาแบกช่วงจั๊กกะแร้ แล้วเวลาเอามาที่นอนมาตาก บางทีมันมีกลิ่น ชาวบ้านก็แสดงความรังเกียจ"
"อีนี่ผัวมันพิการ!" ไม่ใช่เพียงลูกที่โดนคำล้อ แต่ภรรยาเองก็หนีไม่พ้นเช่นกัน เพียงเพราะใบหน้าของคู่ชีวิตพี่เจษมีแผล ไปรับจ้างที่ไหนก็ไม่มีใครรับ สุดท้ายต้องรับทำความสะอาดบ้านในชุมชน แต่รับเฉพาะหลังที่มีท่าทีเป็นมิตรและไว้ใจได้ "ได้เงิน 40-50 ก็เอาไว้ก่อน ให้พอมีค่าข้าว"
"ไปขอทาน ได้เงินมาแค่ 12 บาท" :
จากชีวิตที่เคยสบาย เป็นเจ้าของธุรกิจเล็กๆ ย่านสีลม มีรายได้หลายหมื่นและบางเดือนเฉียดแสน มีเงินพอจะผ่อนคอนโดฯ บริเวณรางน้ำ และมีแผนต่อยอดธุรกิจให้ใหญ่ขึ้น ลูกเมียอยากกินอะไรก็ได้กิน กลับกลายเป็นครอบครัวที่ต้องอดมื้อกินมื้อ มองไม่เห็นอนาคต นอนร้องไห้คุยกับภรรยาทุกคืน ห่วงก็แต่เด็กน้อยทั้งสองคนว่าพวกเขาจะอยู่ในสังคมนี้ได้อย่างไร
"บางทีมีกินเพราะได้ข้าวจากอาหารกลางวันของเด็กที่โรงเรียน เพราะเขาให้ลูกเอากลับมากิน แต่ถ้าวันไหนไม่มีก็ไปขอข้าววัดกินบ้าง แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะได้ทุกครั้ง เพราะบางทีเขาก็เอาให้คนอื่นก่อน"
"ชีวิตตอนนั้นยังโชคดีที่มีแฟน คิดดูว่าผู้หญิงคนหนึ่ง ต้องมาอยู่กับผู้ชายที่หมดอนาคต และหมดสมรรถภาพทางเพศ ขณะนั้นผม 30 เขา 26 หน้าตาก็ยังสะสวย สามารถเดินออกไปจากชีวิตเราได้สบาย แต่เขากลับยอมทนอยู่กับเรา อยู่ให้ห้องซอมซ่อ คอยหาข้าวหายาให้กิน"
ชีวิตแสนอัตคัดช่วงนั้น ทำให้ 'นายเจษฎา' ราวกับว่า 'ไร้ญาติขาดมิตร' ครั้นจะไปขอยืมเงินจากคนอื่น 50-100 บาท ยังไม่มีใครยินดีจะหยิบยื่นให้ "เพราะเราพิการ เมียไม่มีงานเป็นหลักแหล่ง เขาคิดกันว่าจะเอาตจรงไหนมาคืน!" ยิ่งรู้สึกเจ็บใจเข้าไปใหญ่ เพราะเพื่อนที่เคยสนุกด้วยกันครั้งยังเดินได้ ก็ไม่ได้หันมาเหลียวแลแม้แต่น้อย "พอไม่มีก็เหมือนหมานะ มันเจ็บข้างใน"
พี่เจษใช้ชีวิตอยู่ในบ้านไม้ราคาเดือนละ 2,800 บาท อยู่เกือบปีโดยไม่ออกไปไหน เพราะกลัวลูกเมียจะอายไปมากกว่านี้ แต่ความทุกข์ที่เห็นคนที่รัก "ไม่มีจะกิน" ทำให้เขาตัดสินใจทำสิ่งที่มองว่าเป็นจุดดิ่งของชีวิต นั่นก็คือไปขอทาน
"มีครั้งหนึ่งตัดสินใจไปขอทาน ที่ป้ายรถเมล์แถวสวนลุมพินี เพราะเราไม่เหลืออะไรให้เสียแล้ว ผมบอกเมียว่าจะลองออกไปขอทาน ผมออกจากบ้านประมาณตีห้า และเพิ่งรู้ว่าชีวิตขอทานก็ยากนะ ตอนไปถึงเจอพวกเจ้าถิ่นไล่ ขยับไปอยู่อีกจุดก็โดนไล่อีก ทำให้เราต้องขยับไปอยู่ใต้สะพานลอย ไปอยู่ตั้งแต่ตีห้าจนเจ็ดโมงกว่า ได้มาแค่ 12 บาท"
พี่เจษเล่าพร้อมน้ำตาว่า ตอนไปขอทานแฟนก็อยู่ข้างๆ ด้วย เขาไม่อายที่จะอยู่กับเรา แต่เรากลับคิดว่า ชีวิตแย่มากขนาดเป็นขอทานยังไม่ได้เลย หรือสภาพเราไม่น่าสงสารก็ไม่รู้
แต่แล้วเหมือนพระมาโปรด มีผู้ชายคนหนึ่งชื่อ 'พี่น้อย' ไสรถเข็นเข้ามาหาพี่เจษ พร้อมกับทักทายชวนขันว่า "หน้าใหม่เหรอ" พี่น้อยชวนพี่เจษคุย เมื่อได้รู้ถึงปัญหาที่เจออยู่ พี่น้อยจึงแนะนำให้ไปที่มูลนิธิเมาไม่ขับ เพราะเขามีงานให้คนพิการทำ "ตอนนั้นมูลนิธิเมาไม่ขับอยู่สุมขุมวิท 39 มันไม่ไกลจากที่พักมาก ผมเลยให้แฟนช่วยเข็นรถพาไป"
"47,235 บาท" :
เมื่อไปถึงมูลนิธิเมาไม่ขับ พี่เจษได้พบกับเจ้าหน้าที่และ 'นายแพทย์แท้จริง ศิริพานิช' ความหวังของชายพิการที่ให้ภรรยาเข็นรถเข็นมา กลับสลายลงทันที เพราะที่นี่ไม่มีงานให้เขาทำ อย่างที่คาดหวัง "ผมมาหาคุณหมอเพราะผมต้องการทำงาน พอบอกไม่มีงานให้ทำ ผมดิ่งกว่าเดิม ไม่อยากฟังอะไรแล้ว ออกมานั่งหน้ามูลนิธิ ปล่อยให้คุณหมอซักประวัติผมจากภรรยา"
"ผมคิดว่าถ้าไม่มีงานทำเดี๋ยวไปลองขอทานอีก เพราะช่วงที่ผ่านมาตามทาง เห็นว่ามีป้ายรถเมล์ที่ไม่มีเจ้าถิ่นอยู่ เพราะผมทำอาชีพอะไรไม่ได้แล้ว ตอนนั้นมีแต่คำว่าขอทานอยู่ในหัวสมอง ขอแค่อย่าให้ลูกเมียอด"
แต่หลังจากคุณหมอได้พูดคุยกับภรรยาพี่เจษเรียบร้อย คุณหมอก็เอ่ยกับพี่เจษว่า "ชีวิตที่ลำบากมา อาจช่วยเหลือคนได้เป็นร้อยเป็นพันคน" พี่เจษตอบคุณหมอกลับว่า "ลำพังตัวเองยังเอาไม่รอด จะไปช่วยเหลือใครได้"
อย่างไรก็ดี พี่เจษก็ตัดสินใจเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของมูลนิธิ ทำให้เขาเริ่มมีอาหารกินและมีรายได้เป็นครั้งคราว ประธานเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ กทม. เล่าว่า เวลามีการจัดงานเขาก็จะมีข้าวให้เรากิน หรือบางครั้งออกไปรณรงค์ บางหน่วยงานจะมีเงินช่วยเหลือมอบให้ 200-300 บาท ซึ่งผมดีใจมาก เพราะลูกเราจะได้ไม่อด
เวลาผ่านไป 3 ปี พี่เจษได้มีโอกาสไปพูดถึงชีวิตของตัวเอง ที่ได้รับผลกระทบจากเมาแล้วขับ ในรายการถ่ายทอดสดรายการหนึ่ง ส่งผลให้รุ่งเช้าวันต่อมา ความช่วยเหลือและกำลังดีๆ จากทั่วสารทิศเดินทางมาถึงหน้าบ้านพี่เจษ
"มีคนมาบ้าน เอาข้าว เอาเสื้อผ้า เอาเงินมาให้ เพราะเขาดูรายการแล้วสงสาร ตอนนั้นผมได้รับเงินมารวมๆ 47,235 บาท ซึ่งทุกคนให้มาเป็นทุนชีวิต ผมดีใจมาก เพราะ 4 หมื่นนี้ผมสามารถใช้ได้เป็นปีเลยด้วยซ้ำ ผมนำเงินส่วนหนึ่งที่ได้รับ ไปต่อยอดเรียนซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า และโทรศัพท์มือถือ เพื่อมาเปิดร้านเล็กๆ หน้าบ้าน ทำอยู่ประมาณ 6 เดือน ไม่ได้มีรายได้มากมายแต่มีอาชีพติดตัว"
แต่ความประทับใจของการช่วยเหลือวันนั้น ที่ทำให้พี่เจษเกิดปณิธานในใจจนถึงทุกวันนี้ คือ มีสามีภรรยาคู่นึงเดินทางมาให้กำลังใจ สามีเอ่ยปากสาบานว่าจะไม่กินเหล้า เพราะไม่อยากให้ชีวิตตัวเองหรือคนอื่นพังหากพลั้งพลาด "ทำให้ผมเข้าใจสิ่งที่คุณหมอบอกว่า ชีวิตผมจะช่วยเหลือชีวิตคนอื่นได้ยังไง"
หลังจากคิดได้เช่นนั้น นายเจษฎา แย้มสบาย จึงตั้งใจอย่างตั้งมั่นว่า จะเป็นจิตอาสา และทำงานเป็นวิทยากรบรรยายอย่างตั้งใจ เพื่อตอบแทนสิ่งที่สั่งคมมอบให้มา และจะไม่ขอกลับไปสู่จุดตกต่ำในชีวิตแบบที่เคยผ่านมาอีก!
"สิ่งดีๆ ที่ทำให้ผมมีชีวิตแบบทุกวันนี้" :
ทีมข่าวฯ ถามพี่เจษว่า ตอนนี้มีรายได้จากไหนบ้าง? "ผมไม่อยากมองว่าเป็นรายได้นะ แต่อยากมองว่าเป็นสิ่งดีๆ ที่ทำให้ผมมีชีวิตแบบทุกวันนี้" เขาตอบ พร้อมกล่าวถึงงานปัจจุบันที่ทำอยู่ทั้ง 3 งาน
"งานที่หนึ่ง เป็นอาสาสมัครพละศึกษา ของกรุงเทพมหานคร สอนฟุตบอล และฟุตซอลให้เด็กๆ งานที่สอง เป็นวิทยากรอิสระของมูลนิธิเมาไม่ขับ ไปตามหน่วยงานราชการ ห้างร้านเอกชน โรงเรียนและมหาวิทยาลัยต่างๆ และงานที่สาม เป็นนักต่อต้านผู้ดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับ เพราะไม่อยากให้เกิดปัญหาอื่นๆ อีก หากมีอุบัติเหตุจะมีแต่ความสูญเสีย ไม่มีอะไรดีต่อชีวิตเลย"
เราได้ขออนุญาตตามพี่เจษไปดูการทำงานและสอนฟุตบอล ณ ศูนย์นันทนาการลุมพินี สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว ซึ่งการเดินทางมายังที่ทำงานนี้ในทุกวัน ผู้เป็นภรรยาจะไปรับสามีที่บ้านประมาณ 12.00 น. เพื่อมาส่งที่สวนลุมพินี และงานของพี่เจษจะเริ่มต้นตั้งแต่ 13.00 น. เป็นต้นไป
ประธานเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ กทม. เล่าว่า ประมาณบ่ายหนึ่งจะมาเข้างานที่ฟิตเนสก่อน จะสอนเรื่องการกระชับกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ รวมถึงบอกวิธีออกกำลังกายที่จะลดน้ำหนัก แล้วแต่ว่าใครอยากได้แบบไหน ส่วนผู้สูงวัยที่กล้ามเนื้อไม่แข็งแรง เราก็จะช่วยดูและแนะนำท่าออกกำลังกายให้กลับไปทำที่บ้าน
"สมาชิกเขาไว้ใจให้เราสอน เพราะเขาเคยบอกว่า ที่ไว้ใจเราเพราะคิดว่าเราต้องมีอะไรดีๆ อยู่แล้ว ถึงมานั่งประจำดูแลที่นี่ได้ ผลลัพธ์ที่ออกมาโอเค ผู้ใช้บริการบอกกันปากต่อปาก มันเลยก้าวข้ามคำว่าดีใจไปแล้ว ตอนนี้มีความสุข แม้ตอนแรกก็กลัวว่าจะทำไม่ได้ แต่พอเรามีวิธี มีองค์ความรู้ในหัว เราเลยมั่นใจว่าทำได้"
องค์ความรู้เรื่องฟิตเนสที่พี่เจษมีอยู่นั้น มาจากในอดีตครั้งยังเดินเหินได้ปกติ พี่เจษชอบเล่นกีฬาฟุตบอล และเข้าฟิตเนสอยู่บ่อยครั้ง และความรู้นั้นเพิ่มพูนยิ่งขึ้นไป เมื่อได้มาทำงานที่นี่ไม่ต่ำกว่า 10 ปี ความรู้จากการถามไถ่บรรดาเทรนเนอร์มืออาชีพที่มาใช้บริการ และทักษะการสังเกตที่เรียกว่า 'ครูพักลักจำ' ทำให้พี่เจษมีคลังข้อมูลเพียงพอจะแนะนำผู้ใช้บริการได้
"ถ้าอันไหนที่เราไม่รู้ เราจะบอกผู้มาใช้บริการว่าเราไม่มีองค์ความรู้ ผมทำงานมา 10 กว่าปี ไม่เคยมีปัญหาดับสมาชิก เพราะเราไม่ได้อวดรู้ เพียงแนะนำและต่อยอด" เขากล่าวอย่างภาคภูมิ
"เห็นเด็กเติบโตไปในทางที่ดี ก็รู้สึกภูมิใจ" :
นอกจากเป็นเทรนเนอร์เฉพาะกิจในฟิตเนสแล้ว ประมาณ 17.00 น. ขอทุกวัน พี่เจษจะรับหน้าที่เป็นโค้ชจำเป็น สอนกีฬาฟุตบอลและฟุตซอล ให้แก่บรรดานักแข้งตัวน้อยอีกด้วย
เราเฝ้าสังเกตการสอนของพี่เจษทำให้พบว่า เขาไม่ได้สอนแบบเล่นๆ แต่นี่คือวิธีสอนที่จริงจัง และหวังพัฒนาความสามารถของผู้เรียน พี่เจษเหมือนคนละคนกับที่พูดคุยกับเรา จากคนทีมีรอยยิ้มเฮฮา พออยู่ในบทบาทโค้ช กลายเป็นคนที่จริงจังและน่าเกรงขาม
กว่า 12 ปี บนเส้นทางโค้ชฟุตบอล ณ ศูนย์นันทนาการลุมพินี สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว นายเจษฎาผู้นี้ถ่ายทอดวิชาลูกหนังให้เด็กๆ มาแล้วมากกว่า 700 คน คนที่เขาเคยสอนบางคน ตอนนี้เติบโตจนอายุ 29 ปีแล้ว
"ปีๆ นึงจะรับเด็กไม่เกิน 50 คน มีเด็กหมุนเวียนเข้ามาเรื่อยๆ ผมอยากให้ที่นี่เป็นเหมือนบ้านของพวกเขา ผมจะสอนเด็กประมาณ 12-14 ต่ำสุดคือ 7 ขวบ ตอนแรกไม่ได้ตั้งความหวังว่าเด็กจะเก่งอะไร แต่หวังว่าเด็กร่างกายแข็งแรง ผมสอนหมดไม่แบ่งแยก เด็กออทิสติกก็สอน เพราะเราเน้นความแข็งแรงของร่างกาย แต่ผลพลอยได้มากกว่าที่เราคิด เด็กสามารถต่อยอดเข้าโรงเรียนดังๆ ติดทีมโรงเรียน ทีมมหาวิทยาลัยได้"
"ผมไม่ขอพูดว่า ผมปั้นนักเตะที่มีอนาคตหลายๆ คน เพราะผมเป็นแค่ต้นน้ำ แต่การที่เราอยู่ตรงนี้ ได้เห็นความสำเร็จของเด็กหลายคน เห็นเด็กเติบโตไปในทางที่ดีก็รู้สึกภูมิใจ เด็กบางคนจากที่เขาเคยคิดว่าเขาไม่มีค่าอะไร แต่วันนี้สามารถเข้าเล่นทีมสโมรสรได้ นี่คือความภูมิใจของผม"
"อย่าไปจมปลักและด้อยค่าตัวเอง" :
เรามีโอกาสพูดคุยกับพี่เจษตั้งแต่แสงตะวันยังจ้า จนตอนนี้ท้องฟ้าเริ่มกลายเป็นสีส้ม ซึ่งเป็นสัญญาณว่า บทสนทาแห่งชีวิตของเหยื่อเมาแล้วขับ เดินทางมาถึงช่วงสุดท้าย… ก่อนจากกันไป นายเจษฎา แย้มสบาย ประธานเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ กทม. ได้ฝากข้อความถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกรณีเมาแล้วขับ และผู้พิการทุกคนว่า
"ตอนนี้สังคมไทยยังเปิดกว้างไม่มากพอ ยังมีคนพิการอีกเป็นล้านเป็นแสน ที่นอนรอความหวังจะได้ทำงาน ผมอาจจะเป็นคนโชคดีที่เป็นไม่กี่เปอร์เซ็นต์ที่ได้ทำงาน จึงอยากฝากถึงรัฐบาลและบริษัทต่างๆ อยากให้มองเห็นและจ้างงานคนพิการมากกว่านี้ เพราะหลายคนยังมีความสามารถอยู่"
"ส่วนคนที่เมาแล้วขับ ผมอยากบอกว่า ไม่เห็นโลงศพ ไม่หลั่งน้ำตา ยังเป็นคำที่ใช้ได้เสมอ อยากให้ระวังการใช้ชีวิต อย่าไปทำให้ใครเดือดร้อน ส่วนที่เรายังเห็นว่ามีคนเมาแล้วขับ เพราะนี่เป็นความล้มเหลวของการบริหารงานจากรัฐบาลทุกชุด กฎหมายเรามีโทษจำคุก แต่ไม่เอามาใช้ มีแต่โทษปรับและรอลงอาญา กฎหมายไทยต้องเข้มแข็งกว่านี้ คุกไม่เหมือนบ้าน ไม่มีใครอยากอยู่หรอก"
"อยากฝากถึงคนพิการว่า การที่เราพิการมันก็ถูกด้อยค่าอยู่แล้ว ดังนั้น อย่าไปจมปลักและด้อยค่าตัวเองอีก หาสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกมีค่าให้ได้ ผมเชื่อว่าทุกคนมีค่าในตัวเอง หาทางที่ถนัดให้เจอ ไม่จำเป็นต้องเลิศหรู หรือยิ่งใหญ่ ถ้าสู้ชีวิตแล้วชีวิตสู้กลับ ต้องสู้กลับมันให้มากกว่า 2 เท่า"
ภาพ : วัชรชัย คล้ายพงษ์ #ThairathPhoto
อ่านสกู๊ปเพราะเมาแล้วขับ :