ไขความลับการปลูกองุ่นไร้เมล็ด จากเซียนมือระดับต้นของไทย ที่ไปปลูกองุ่นที่อิสราเอล 5 ปี การให้น้ำ ปุ๋ย แต่ละช่วงเวลามีความสำคัญ...
ถูกยกย่องว่าเขานี่แหละ คือ เซียนปลูกองุ่น คนหนึ่ง สำหรับ "อธิปัตย์ บุษบาล" เจ้าของสวนองุ่นเกศปรียา ที่อยู่ในพื้นที่ ต.เป้า อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี โดยเขาคนนี้ไปฝึกวิชา เรียนรู้วิธีการปลูกองุ่นถึงประเทศอิสราเอล ยาวนานถึง 5 ปี ก่อนจะกลับมาปลูกในพื้นที่ผืนน้อยของตนเอง เพียง 2 งาน สร้างผลผลิตปีละ 1 ตัน และยังขายกล้าพันธุ์องุ่น เกือบ 20 สายพันธุ์ เรื่องราวเบื้องหลังชีวิต และเคล็ดลับความสำเร็จเป็นอย่างไร วันนี้ ไทยรัฐออนไลน์ มีให้ทุกท่านได้เสพรายละเอียด
เรื่องเล่าชีวิต จากสายช่าง สู่ สายเกษตร ปลูกองุ่นที่อิสราเอล
นายอธิปัตย์ เล่าว่าเขาเป็นลูกชาวนา เรียนจบ เทคโนโลยีอุตสาหกรรม อิเล็กทรอนิกส์ หลังเรียนจบก็ไปทำงานที่นิคมอุตสาหกรรมนวนคร จากนั้นก็ทำธุรกิจส่วนตัว เกี่ยวกับไฟฟ้า เราทำตรงนี้อยู่หลายปี กระทั่ง กรมแรงงานเขารับสมัครแรงงานไปทำงานเกษตรที่อิสราเอล ซึ่งตอนนั้นไปกับทางภาครัฐ ทำให้เสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าของเอกชน หากเป็นของเอกชน จะต้องเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 350,000 บาท ขณะที่ ของภาครัฐ เสียค่าใช้จ่ายประมาณ 70,000 บาท
ตอนที่ไป ไม่รู้อะไรเลย รู้ว่า ไปทำงานเกษตร แต่ไม่รู้ว่า เกษตรแบบไหน ปลูกอะไร ทำอะไร... กระทั่ง เมื่อไปถึง นายจ้างที่อิสราเอล เขาจะเป็นคนเลือก ว่าจะเอาใครไปทำอะไร ซึ่งเกษตรในอิสเราเอล มีหลายอย่าง เช่น อินทผลัม ผักคะน้า มะเขือเทศ หรือ จะเป็นปศุสัตว์ ฟาร์มไก่ วัว เป็นต้น
"การเลือกของเขา เหมือนเป็นสุ่ม นายจ้างจะเป็นคนเลือกว่าจะให้ใครไปทำอะไร...ส่วนเราก็เหมือนไปตายเอาดาบหน้า...กระทั่ง ฟาร์มองุ่น เลือกเรา ตอนนั้นรู้สึกว่าโชคดีมาก เพราะเดิมชอบองุ่นอยู่แล้ว ชอบกินตั้งแต่เด็ก พอมาอยู่ฟาร์มองุ่น รู้สึกเหมือนโชคดี"
...
ฟาร์มองุ่น "อิสราเอล" กับการเรียนรู้ศึกษาเคล็ดลับ
นายอธิปัตย์ อธิบายว่า เราได้ไปเห็นฟาร์มองุ่นที่อิสราเอล รู้สึกชอบมาก จึงพยายามเรียนรู้และศึกษาว่าเขาทำกันยังไง ซึ่งมันแตกต่างจากบ้านเราคือ..
1.สภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศ : กลางวันร้อน กลางคืนหนาว เรียกว่าอุณหภูมิกลางวันกับกลางคืนห่างกันเยอะ เช่น กลางวัน 35 องศาฯ กลางคืน 15-18 องศาฯ
"เวลาร้อน จะร้อนแบบแห้งๆ แต่ของไทยเรายังพอมีความชื้นในอากาศ ซึ่งความรู้สึกจึงแตกต่างกัน"
2.ดิน : ลักษณะดินที่อิสราเอล ลักษณะเป็นดินภูเขา มีหินในดินเยอะ
3.เทคโนโลยี : การเกษตรของเขา ใช้ล้ำหน้ากว่าเรามาก
"เวลาทำเกษตร เขาจริงจังกว่าเรามาก เขาใช้เทคโนโลยีมาช่วย เช่น พื้นที่ที่เป็นทะเลทราย หากเป็นประเทศไทย ไม่สามารถปลูกอะไรได้ แต่สิ่งที่เขาทำ คือ เขาลงทุนทำโรงเรือน ในกลางทะเลทราย เดินระบบน้ำ ปุ๋ยน้ำ เขาสามารถปลูกต้นไม้ให้ทะเลทรายได้..."
นายอธิปัตย์ กล่าวว่า น้ำจืดเป็นสิ่งสำคัญมากในอิสราเอล ดังนั้น เวลาใช้น้ำเขาจะประหยัดทุกหยด ที่สำคัญคือ เขามีการวางระบบประปา อย่างครอบคลุมมาก ถึงแม้เขาเป็นประเทศที่ต้องสู้ศึกสงคราม แต่ด้วยที่ว่าเป็นประเทศเล็กๆ เขาจึงวางระบบน้ำได้ครอบคลุม ไม่ว่าพื้นที่ตรงนั้นจะเป็นภูเขาก็ตาม เขาสามารถทำการเกษตรได้ทุกที่ น้ำเข้าถึงหมด
ส่วนเรื่องไฟฟ้า เขาใช้โซลาร์เซลล์มานานแล้ว นอกจากนี้ ยังควบคุมการจ่ายน้ำ ปุ๋ย ด้วยระบบคอมพิวเตอร์
“การปลูกองุ่นของเขา แตกต่างจากบ้านเรา คือ เขาใช้ระบบน้ำหยด ขณะที่น้ำบ้านเรามีเหลือเฟือมากกว่าเขา”
เทคนิคสำคัญการปลูกองุ่น
เจ้าของสวนองุ่นเกศปรียา เล่าว่า สิ่งที่เราเรียนรู้และจับเทคนิคการปลูกองุ่นที่อิสราเอล ได้ คือ จังหวะการให้ปุ๋ย น้ำ และตัดแต่งกิ่งพันธุ์ บ้านเขาเป็นเมืองหนาว หิมะตก ถึงช่วงฤดูใบไม้ร่วงทุกอย่างจำศีล ทุกอย่างหยุดเจริญเติบโต
“ผลผลิตของเขาได้เป็นฤดูกาลปีละครั้ง แตกต่างจากบ้านเรา คือ อยากได้ตอนไหนก็ตัดตอนนั้น ดังนั้น เทคนิคที่เขาใช้ เราจึงต้องมาประยุกต์ตามสภาพอากาศ เมืองไทยเมืองร้อน ใบไม้ร่วง แล้วทำยังไงให้ใบร่วง คำตอบคือ ก็เด็ดออกมา ฉะนั้น ผลผลิตที่เราทำได้ คือ ปีละ 2 ครั้ง แต่ของเขาได้แค่ปีละ 1 ครั้ง”
นายอธิปัตย์ บอกว่า การปลูกองุ่นของเกษตรกรนั้น มีความแตกต่างกัน บางคนเลือกที่จะทำโรงเรือน บางคนไม่ทำ แต่สำหรับเขาแล้วเลือกที่จะทำ เพราะสามารถป้องกันเชื้อรา และ แมลง
...
“บางคนเลือกไม่ทำโรงเรือน เพราะคิดว่ามีค่าใช้จ่ายสูง แต่พอไม่ทำแล้วมีความเสี่ยงกับโรคและศัตรูพืช ทางออก คือ การใช้ยาเคมี ซึ่งการใช้ยาเคมีนั้น จำเป็นต้องมีความรู้ก่อนเพราะโรคแต่ละชนิดแตกต่างกัน แต่เกษตรกรไทยจำนวนมากไม่รู้เรื่องเหล่านี้ รู้แค่ว่าอยากปลูก อยากทำเกษตร แต่เมื่อเจอโรคมันก็ตายหมด พอปลูกใหม่ ก็ตายอีก สุดท้ายเปลี่ยนพืชชนิดใหม่มาปลูก”
ฉะนั้น โรงเรือนสำหรับไร่องุ่นเกศปรียา นั้น เป็นสิ่งจำเป็น เพราะเราจะหลีกเลี่ยงการใช้ยาทางเคมี ถามว่าใช้ไหม ตอบเลยว่าใช้บ้าง แต่น้อยมาก เรียกว่าสินค้าของเราผ่าน GAP (แนวทางเกษตรคุณภาพและได้มาตรฐาน) เรากางมุ้ง แมลงเข้าไม่ได้ ก็ไม่จำเป็นต้องฉีดยา
การให้น้ำและปุ๋ย ต้องสังเกตและดูช่วงเวลา
นายอธิปัตย์ บอกว่า การปลูกองุ่น ใน 2 เดือนแรก จะเป็นการสะสมอาหารให้กับเขา เราจะตัดแต่ง ฉะนั้น การให้น้ำกับปุ๋ย นั้น จะแบ่งเป็นช่วงเวลา บางช่วงให้น้ำมาก บางช่วงให้น้ำน้อย
ให้น้ำมาก : จะแบ่งเป็น 2 ช่วงเวลา คือ ช่วงเริ่มต้น และ ใกล้จะเก็บเกี่ยว ตอนลูกที่เป็นหนุ่ม จะต้องให้น้ำอย่างมาก
...
“ช่วงการเลี้ยงต้นก็ให้น้ำปกติตามธรรมชาติ ต่อมาเข้าช่วงติดดอก ออกผล จะต้องให้มากขึ้น เราต้องหมั่นสังเกตในแต่ละวัน หากพบว่า ช่วงนั้นให้น้ำไปแล้ว มันจะเกิดอาการช็อกน้ำ ใบจะเหี่ยว ช้ำ ส่วนสิ่งจำเป็นของราก คือ เขาก็ต้องการอากาศด้วย ฉะนั้น รดน้ำมากไป อากาศมีน้อยมันก็จะเหี่ยวช้ำ” นายอธิปัตย์ กล่าวและว่า
ส่วนพอเข้าช่วงติดผลอ่อน เราต้องให้น้ำ 2 เท่าจากปกติ จะให้จากวันละ 1 ครั้งเป็น 2 ครั้ง หรือ เพิ่มปริมาณน้ำก็ได้ ถ้านับจากวันตัดแต่ง อีก 90 วัน มันจะเริ่มเปลี่ยนสี หมายความว่า มันเริ่มแก่แล้ว แปลว่าเราต้องลดปริมาณน้ำลง สมมติว่าวันละ 2 ลิตรที่ให้มาก ก็ลดเหลือ 1 ลิตร หรือ น้อยลงอีกก็ 2 วันครั้ง
“ถ้าองุ่นเปลี่ยนสี แปลว่า มันจะเข้าสู่เดือนสุดท้ายก่อนตัดผลผลิต ถ้าได้น้ำมากไป เนื้อองุ่นจะปริแตก เนื่องจากเนื้อเยื่อมันขยายตัว หากเราสังเกตผลไม้หลายๆ ชนิด ช่วงใกล้สุกมันจะขยายตัว เช่น น้อยหน่า มะม่วง เป็นต้น”
นี่คือหลักการสำคัญอย่างหนึ่ง ที่เราได้ความรู้มาจาก “อิสราเอล” โดยมีการเก็บเกี่ยวความรู้จากครูบาอาจารย์ในประเทศไทยด้วย “คนไทย” เองก็เก่งมากเรื่องการเกษตร
...
แนวคิด “อิสราเอล” คือ การทำทุกอย่างจริงจัง
นายอธิปัตย์ ยอมรับว่า “แนวคิด” ที่ได้จากอิสราเอล คือ ผู้คนในประเทศเขา มีความจริงจังและวินัยในการทำงานมาก ใช้ชีวิต ซึ่งแตกต่างกับประเทศไทย บางวันขยันทำ บางวันขี้เกียจไม่ทำ แต่คนในประเทศเขาส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นแบบนั้น
“สินค้าทุกชนิดในอิสราเอล จะต้องผ่านการตรวจสอบมาตรฐาน หากหลุด QC เขาจะไม่ให้ขาย ผลผลิตทางเกษตรเขา ใช้สารเคมีเหมือนบ้านเรา แต่ถ้าปนเปื้อนสูงเกินไป เขาจะไปทำลาย สารเคมีที่เขาใช้ จะผ่านการควบคุมทั้งหมด แต่ของประเทศไทย ห้ามขาย แต่ซื้อหลังร้านได้? องุ่นของเขา ไม่ใช่อินทรีย์ 100% แต่ถือว่าผ่าน GAP”
รายได้ดี จากขายกล้าพันธุ์และผลองุ่น
นายอธิปัตย์ เผยว่า เขาปลูกองุ่นใช้เนื้อที่เพียง 2 งาน ที่เหลือเนื้อที่ก็ปลูกปาล์มน้ำมัน ซึ่งส่วนตัวเป็นคนชอบปลูกพืชสวน เพราะปลูกครั้งเดียวมันอยู่ได้ทั้งปีทั้งชาติ ขณะที่พืชไร่ ก็ต้องหมั่นพลิกดิน ส่วนการทำสวนของเรา ก็ช่วยกัน 2 คน สามีภรรยา เท่านั้น...
หากพูดถึงรายได้ หลักๆ จะมาจากองุ่น แต่เมื่อไปเปรียบเทียบเชิงพื้นที่ ยิ่งเทียบกันไม่ได้เลย เนื่องจาก “องุ่น” จะได้มากกว่า เพียงแต่การปลูกปาล์มนั้น เราดูแลน้อย ปล่อยให้เติบโตเป็นธรรมชาติ ส่วน “องุ่น” เป็นลักษณะเกษตรประณีต
รายได้องุ่น นั้น อยู่ที่สายพันธุ์ด้วย โดยเรานำเข้ามาจากอิสราเอล เป็นองุ่นไร้เมล็ดโดยธรรมชาติ หากไม่มีเมล็ดจะกลายเป็น องุ่นพรีเมียมไปในตัว โดยที่ทำการตลาดในเวลานี้ เป็นพันธุ์ S48 (early adora) พันธุ์นี้จะขายกิโลกรัมละ 300 บาท โดยใครอยากได้ต้องสั่งจอง โดยเราจะเปิดรับออเดอร์ตั้งแต่เริ่มเป็นลูกหนุ่มๆ
ต่อ 1 รอบ เราจะได้ผลผลิต ประมาณ 500 กิโลกรัม ปีหนึ่งขาย 2 รอบ นอกจากรายได้ผลผลิตแล้ว ยังมีการขายพันธุ์องุ่นด้วย ซึ่งถือเป็นรายได้หลักของเรา เราเพาะพันธุ์ไว้เกือบ 20 สายพันธุ์ ซึ่งลูกค้าอยากได้พันธุ์ไหนเราก็พร้อมซัพพอร์ต
“เฉพาะกล้าพันธุ์ที่ขาย ก็ 30,000-40,000 บาท ไม่รวมการขายผล 2 รอบปี”นายอธิปัตย์
คำแนะนำ เกษตรกรรวยได้ต้อง...
เซียนมือองุ่น เผยว่า เคล็ดลับการทำเกษตรนั้น เราต้องไม่ตามคนอื่น อย่าตามกระแส บางคนทำนาเป็นร้อยๆ ไร่ แต่เสียค่าใช้จ่ายมากมาย ทั้งค่าเช่า ค่าแรง พอสุดท้ายหักรายจ่ายแทบไม่เหลืออะไร ฉะนั้น การจะทำอะไร เราต้องคำนวณผลลัพธ์ เช่น องุ่น เรามองว่ามันสามารถสร้างมูลค่าให้กับเราได้ เราจึงเลือกที่จะทำ
“ผมเป็นคนแรกๆ ในพื้นที่ ที่ทำองุ่น บางคนก็มาทำตาม แต่เขาไม่ทำโรงเรือน เพราะต้องลงทุนสูง เช่นต้องลงทุน ประมาณ 3 แสน แต่ถ้าไม่ลงทุนตรงนั้น คุณจะเสียเงินไปกับยาฆ่าแมลง ซึ่งที่สุดแล้วก็อาจจะมากกว่า 3 แสน อย่างไรก็ตาม การลงทุนสูงนั้น แปลว่าเราต้องตั้งใจจริง ฉะนั้น ก่อนจะทำแบบตั้งใจจริง เราต้อง “รู้จริง” ก่อน คือ รู้นิสัยของสิ่งที่เราจะปลูก และที่สำคัญ อย่าเป็นคน “น้ำเต็มแก้ว” ถ้าเราเจอคนที่แนะนำดี หากเขาพูดแล้วผิด เราก็เก็บไว้ในใจ แต่ถ้าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เป็นข้อมูลใหม่ เราก็มาปรับใช้” เซียนมือองุ่น ของไทย กล่าว
อ่านบทความที่น่าสนใจ