คุยกับ รองผู้กำกับ ตำรวจสืบสวน กับอาชีพเสริมทำเกษตรอินทรีย์ปลอดสารพิษ และแนวทาง 3 เคล็ดลับ การตลาด และการแปรรูป แนะ "คาร์บอนเครดิต" จะเป็นอีก 1 ช่องทางทำเงิน...
หากทำเป็น ถูกที่ ถูกเวลา และเป็นที่ต้องการ ไม่ว่าจะทำงานอะไร ก็รวยได้ รวมถึงงาน เกษตร
เรื่องราวที่น่าสนใจในวันนี้เกี่ยวกับ “คนตัวอย่าง” ในวงการเกษตรกร เรา พาไปรู้จักแนวคิดของ ตำรวจ ระดับ รองผู้กำกับ ที่แบ่งเวลา มาจับจอบ จับเสียม ขุดดิน พร้อมแนวคิด และประสบการณ์ที่น่าสนใจ...
พ.ต.ท.วิษณุ โคตรพจน์ รอง ผกก.สส.ภ.จว.ขอนแก่น กับเบื้องหลังงานสีเขียว ปลูกผัก ปลูกผลไม้ตั้งแต่หลายสิบปีก่อน รองวิษณุ เล่าว่า เป็นลูกเกษตรกร ชาวไร่ชาวนา คนหนึ่ง หลังเรียนจบ ม.6 ก็ไปทำงานที่กรุงเทพฯ ในส่วนงานเกี่ยวกับโรงงาน ในช่วงปี 2535-2537 กระทั่ง พ่อแม่อยากให้สอบเป็นข้าราชการ ด้วยวุฒิ ม.6 ที่มีจึงมีทางเลือก 2 ทาง คือ 1.ตำรวจ 2.ทหาร
"ผมเลือกที่จะสอบตำรวจนายสิบ เพราะเล็งเห็นว่า มีโอกาสได้ทำงานใกล้บ้านในอนาคต และด้วยความเป็นคนหัวดี ทำให้สามารถสอบติด เรียนต่อจนได้เป็นตำรวจสมใจ..."
...
สิบตำรวจวิษณุในวัยหนุ่ม เริ่มงานด้วยการเป็นสายตรวจ ในที่พื้นที่ อ.บางบัวทอง ซึ่งตรงนั้น คือ แหล่งศูนย์กลางเกษตร โดยเฉพาะ ทุเรียน, มังคุด ผลไม้เมืองนนท์ การได้พบปะผู้คน ชาวสวนมากมาย ทำให้เราหันกลับมาสนใจงานเกษตรอีกครั้ง ซึ่งเดิมก็ชอบอยู่แล้ว
"ผมเข้าหาชาวสวน ชาวบ้าน ด้วยที่เป็นคนที่มีอัธยาศัยดี จึงทำให้เป็นที่รักของผู้คนในบริเวณนั้น เขาก็สอนเทคนิคต่างๆ ในการปลูกผลไม้ให้จนหมด เรียกว่าสวนไหนในบางกรวย ไทรน้อย บางบัวทอง ผมเข้าไปคุยได้หมด เพราะเป็นหน้าที่ต้องเข้าไปดูแลตรวจตรา"
พ.ต.ท.วิษณุ เล่าต่อว่า องค์ความรู้ที่ได้จากไทรน้อยหลายอย่าง แต่ส่วนตัวสนใจการปลูก “กล้วยไม้สีชมพู” เพราะเห็นว่า บางรายเขาเอาไปขายที่เมืองจีน เราจึงอยากทำบ้าง โดยลงทุนทำที่บ้านเกิด จ.กาฬสินธุ์ ใช้พื้นที่ 2 ไร่ ตอนแรกก็ขายดีในระดับหนึ่ง เพราะใช้ในการไหว้พระ แต่ด้วยต้นทุนที่สูง ใจมีความอยาก แต่ขาดความรู้ที่ดี และทางครอบครัวก็แสดงความเป็นห่วง เนื่องจากมีการใช้เคมีภัณฑ์เยอะ โดยเฉพาะ “ยาฆ่าแมลง” กลัวที่จะอายุไม่ยืนจึงอยากให้เปลี่ยน...
เมื่อเล่าถึงตรงนี้ พ.ต.ท.วิษณุ นึกย้อนไปสมัยวัยเด็ก ที่คุณตาได้เลี้ยงดูมา และพร่ำสอนเรื่องเกษตร ท่านบอกว่า “คนเรามีเงินมากมายขนาดไหน แต่หากว่าไม่มีอาหาร เกษตรกรรม หรือ ประมง เราก็จะไม่รอด” มีเงิน ก็ซื้ออาหารที่ปนเปื้อนสารเคมี กินเข้าไปโดยไม่รู้ตัว ยืมจมูกคนอื่นหายใจ กินอะไรเข้าไปก็ไม่รู้ นี่ก็เป็นคำสอนส่วนหนึ่งที่ซึมซับเข้ามา ทำให้เราเลือกที่ปลูกพืชทำเกษตร ปลูกพืช เลี้ยงปลา”
รอง ผกก. หัวใจเกษตรกร ยอมรับว่า สาเหตุที่ทำกล้วยไม้ไม่สำเร็จ เพราะส่วนหนึ่งไม่ค่อยได้มีเวลาบริหารจัดการส่วนใหญ่จะใช้คนงานในการดูแล ผลลัพธ์ที่ออกมาจึงไม่ค่อยดี
“การทำอะไร หากเราไม่ลงมือทำเอง ก็มักจะมีปัญหาตามมา และ มันจะเกิดต้นทุนสูง”
หมวกอีกใบ คือ นักธุรกิจ และเกษตรกร
นายตำรวจ ผู้ใฝ่รู้เรื่องการเกษตร เล่าต่อว่า หลังจากทำสวนที่ กาฬสินธุ์ ตั้งแต่ปี 2547-2552 ปลูกมะพร้าวจนเริ่มโต กระทั่งมาต่อยอดทำธุรกิจโรงเหล็ก ในปี 2556 ก่อน จะตัดสินใจไปลงทุนที่ จ.ขอนแก่น ซื้อที่ดิน ซื้อบ้านไว้ สาเหตุเพราะในสมัยเด็กเคยมาอาศัยอยู่กับน้า และเติบโตที่ขอนแก่น
“ตอนที่เรียน รามฯ ปี 2544 ได้มีการพูดคุยกับกลุ่มพ่อค้า และเขาแนะนำว่า ควรจะมีที่ทาง ที่ จ.เชียงใหม่ หรือ จ.ขอนแก่น เพราะเชื่อว่าในอนาคต 2 สถานที่นี่จะเป็นเหมือนนิวยอร์ก ซึ่ง ผมก็เลือกที่ จ.ขอนแก่น กระทั่งพอมีเงินในปี 2547 จึงซื้อที่ดินเก็บไว้”
ช่วงที่เรียนรามฯ ต่อยอดอาชีพตำรวจ ถือเป็นช่วงสำคัญในชีวิต เพราะได้เจอกับนักธุรกิจใหญ่ระดับประเทศ ซึ่งเขาแนะนำให้เรารู้จักวางแผนชีวิต และตั้งแต่ตอนนั้น เราก็ทำอาชีพเสริม คือ คือ ตำรวจ นักธุรกิจ และเกษตรกร นอกเวลาราชการ ตอนได้มาอยู่ จ.ขอนแก่น ผมกลายเป็นเจ้าของ “เซียงกง” ที่ใหญ่ที่สุด ชีวิตผมประกอบอาชีพหลายอย่าง ชอบที่จะศึกษาเรียนรู้ อาศัยที่เป็นคนความจำดี จึงทำให้เทคนิคต่างๆ ที่เรียนรู้ สามารถนำมาปรับใช้ในชีวิตได้”
...
พ.ต.ท.วิษณุ เผยว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องปิดบังอะไร เวลาที่เราทำธุรกิจ เราจะเป็นคนวางแผน วางระบบให้หมด จากนั้นก็ส่งต่อให้แม่บ้าน หรือ คนที่ไว้ใจมาช่วยดูแล เมื่อธุรกิจมันเดินได้ด้วยตัวเอง เราก็ปล่อยมือ ทำงานเต็มที่กับราชการ
การเกษตร ในขอนแก่น และหลักการที่เหมาะกับคนไทย
พ.ต.ท.วิษณุ เล่าว่า การเกษตรในขอนแก่นนั้น เราเลือกที่จะใช้เงินก้อนใหญ่ จากธุรกิจเซียงกง ในการลงทุน ซื้อที่ดิน ซึ่งมันก็เป็นอย่างที่คิดจริงๆ คือ หลังจากนั้น เวลาผ่านไป 5-10 ปี สิ่งที่เราซื้อไว้มันเพิ่มมูลค่า
เมื่อเราเอาเงินจากโรงเหล็กมาใช้ซื้อที่ดิน พอเรามีที่ดิน เราก็เริ่มทำการเกษตร จากการเกษตร เราก็แปรรูปสินค้าที่เราเพาะปลูกเอง มาเปิดร้านเบเกอรี่ ซึ่งมันสร้างรายได้ให้เราพอสมควร...
“ผมทำเกษตรในแบบเกษตรอินทรีย์ ไม่มีสารเคมี เพราะเราต้องการบริโภคสิ่งที่มีประโยชน์ จากเดิมที่เราสุขภาพไม่ค่อยดี แต่เมื่อเรามาทำเกษตร กินของดีๆ จากธรรมชาติ ทำให้ร่างกายที่เคยอ่อนแอ ป่วยบ่อย เวลานี้แข็งแรง สุขภาพดี ซึ่งนี่เอง คือ ประโยชน์ที่เราได้รับ และประเมินมูลค่าไม่ได้”
...
การเกษตรที่เหมาะกับคนไทย คือ อย่าทำเกินแรงกับต้นทุนในการว่าจ้าง คนไทย จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยี บางส่วนมาช่วย เหมือนกับของญี่ปุ่น เพื่อลดต้นทุน...ส่วนการตลาด ควรจะมอง “รอบตัว” ก่อน
สาเหตุที่การเกษตรมีปัญหาเวลานี้ เพราะเรา ไปปลูกพืชที่ห่างไกลกับการตลาด เช่น การปลูกพืช จ.กาฬสินธุ์ แต่ต้องไปขาย จ.ขอนแก่น แบบนี้จะเป็นการกินต้นทุนขนส่ง และหากยังทำต่อไป อาจจะส่งผลต่อความสำเร็จ ทำให้ไม่สามารถยืนระยะได้ เพราะขาดทุน เบื่อหน่าย...
ปลูกแล้ว ไม่มีตลาดรองรับ
ปลูกแล้ว ถูกเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง ซึ่งบางแห่งนั้นมีพ่อค้าคนกลางเพียงรายเดียว
ปัจจุบัน มีระบบเทคโนโลยีเข้ามา ระบบ AI เข้ามา หากมีลูกหลานมาช่วยกันทำการตลาดให้ เขาก็สามารถขายของได้ ไม่ว่าเขาอยู่ไหน เช่น ปลูกมะม่วงบ้านแฮด ที่โด่งดังในขอนแก่น สามารถไปขายที่ไหนก็ได้ ภาคเหนือ หรือ ใต้ก็ได้ คนจากสงขลาก็สามารถซื้อออนไลน์ได้ ส่งภายใน 2 วันก็ถึง
การบริหารจัดการดี "เกษตรกร" รวยทุกคน!!
“เราต้องสอนเกษตรกรทุกภาค ทุกพื้นที่ โดยเฉพาะภาคอีสาน จัดระบบ รู้จักตลาด อย่าปลูกพืชทั้งหมดร้อยเปอร์เซ็นต์ส่งตลาด แต่ให้ปลูกพืช เพื่อส่งตลาดท้องถิ่น เป็นรายได้เสริม หาเงินใช้ชีวิตประจำวัน ส่งครอบครัวตัวเองเพื่อกินใช้เอง และที่เหลือก็ส่งขายเป็นล็อตใหญ่ มาเป็นรายได้หลัก เลี้ยงดูครอบครัวตัวเองอย่างยั่งยืน”
...
หลักการสำคัญอีกอย่าง คือ คุณต้องรู้จักพื้นที่ของตนเอง เช่น ในตำบลที่อยู่นั้น ปลูกอะไรขายได้ และไม่ควรปลูกซ้ำกับคนอื่น ยกเว้นว่า ตำบลนั้นมีความต้องการสินค้าตัวนั้นเยอะ เยอะเกินกว่า จะผลิตคนเดียวได้ จึงต้องเป็นการรวมกลุ่มเกษตรกร
“การรวมกลุ่มเกษตรฯ ที่รัฐส่งเสริมนั้น เป็นสิ่งดี เพียงแต่ผู้ปฏิบัติไม่เข้าใจ เหมือนกับกลุ่มสินค้าโอท็อป ซึ่ง ตอนนั้นยังไม่มีออนไลน์ แต่เวลานี้มีออนไลน์แล้ว และสามารถทำให้คนรู้จักเราได้ผ่านออนไลน์ ซึ่งเราต้องพยายามสร้างตัวตน หากลูกค้ารู้จักเราแล้ว เราก็ต้องวางแผนในการปลูก...”
โดย พ.ต.ท.วิษณุ ได้ยกตัวอย่างว่า ในสวนมีการปลูกผลไม้ 5 อย่าง เราต้องรู้ก่อนว่าแต่ละอย่างให้ผลเดือนไหน ได้ประมาณเท่าไหร่ หลังจากนั้นค่อยทำการตลาดออนไลน์ จากนั้นก็จะมีการ “จอง” เข้ามา เมื่อผลผลิตออก ก็สามารถส่งขายได้ทันที สินค้าคุณไม่เสียหาย ฉะนั้น การทำข้อมูลตรงนี้ เปรียบเสมือนการทำ “ราคาทองคำ” ที่ต้องประกาศในทุกเช้า
“หากทำแบบนี้ได้ เกษตรกรไทยจะรวยทุกคน และเขาจะไม่ต้องไปส่งของที่ กทม. เราไม่จำเป็นต้องเข้าสู่กระบวนการอุตสาหกรรมทุกคน ดิน น้ำ ในประเทศไทยดีหมด ทุกภาค ทุกจังหวัด ส่วนจะเหมาะกับอะไร ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละที่”
ส่วนตัว พ.ต.ท.วิษณุ เชื่อว่า ปัจจุบัน และอนาคต คนไทยทุกกลัวความตาย และหากเขาเห็นขั้นตอนในการปลูกพืชของผม ที่ เป็นออร์แกนิก จริงๆ ผมถ่ายทำขั้นตอนต่างๆ ตั้งแต่เริ่ม เขาจะมั่นใจ ในผลผลิตของเรา และราคาเท่าไหร่ เขาก็มั่นใจที่จะซื้อ ผลผลิตดี ราคาผลไม้ลูกละ 500-1,000 บาท เขาก็กล้าที่จะซื้อ แต่สิ่งสำคัญ คือ เราต้องทำข้อมูลให้เห็นอย่างชัดเจน
สำหรับรายได้เฉพาะเกษตรฯ ในขอนแก่น นั้น แค่ขายมะพร้าวน้ำหอม 68 ต้น จากข้อมูลที่บันทึกไว้ 2 ปี นำมาแปรรูป ทำเบเกอรี่ เต้าฮวยมะพร้าวอ่อน เค้ก แค่มะพร้าวอย่างเดียว เดือนละ 5,000-8,000 บาท โดยมากที่สุดที่ทำได้ คือ เกือบ 17,000 บาท ต่อมะพร้าว 1 ลูก สามารถทำ ชิฟฟอน 8-10 กล่อง ส่วนน้ำมะพร้าว เอามาทำเต้าฮวยมะพร้าวอ่อน 3-4 ถ้วย โดยนอกจาก มะพร้าวแล้ว ยังมี มะม่วง ขนุน เอามาทำเป็นเค้กขนุน แกะขายก็ได้ราคา...
อนาคต เกษตรกร กับ คาร์บอนเครดิต" อย่าปล่อยที่ว่างเปล่า
ในช่วงท้าย พ.ต.ท.วิษณุ ได้พูดถึง คาร์บอนเครดิต ซึ่งถือเป็นอีกหนทางหนึ่งของเกษตรกรไทย โดยขยายความว่า เดี๋ยวนี้เริ่มจะมีคนมารับซื้อคาร์บอนเครดิตแล้ว โดยเฉพาะในสวนป่า สวนไม้ ดังนั้น หากเกษตรกรมีพื้นที่อย่าปล่อยให้ว่าง พยายามปลูกพืชทุกตารางเมตร
"ตรงนี้จะช่วยให้เกษตรกร ได้รายได้ จากหลายทางมาใช้จ่ายอุปโภค บริโภค ฉะนั้น ใครทำก่อนก็ได้ก่อน เพราะการปลูกไม้นั้น ต้องใช้เวลา อย่างน้อย 3-6 ปี ถึงจะเห็นผล"รองผู้กำกับวิษณุ กล่าวทิ้งท้าย..
อ่านบทความน่าสนใจ