คุยกับ 'เลขาธิการเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย' ชี้ที่ผ่านมากัญชาถูกปั่นให้เกิดแต่ภาพลบ มองหากนำกลับสู่ยาเสพติด จะเกิดผลกระทบหลัก 3 ประการ คือ ความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อผู้ประกอบการ, งานวิจัย และเรื่องยา ย้ำขอหยุดปั่น ให้นำข้อเท็จจริงมาคุยกัน
หลังจากที่มีการปลดล็อกกัญชา สู่ 'กัญชาเสรี' เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 มิถุนายน 2565 ก็ส่งผลให้กัญชาและกัญชงในไทย ถูกถอดออกจากยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 เรียกได้ว่าถูกใจสายเขียว ทำให้เกิดการปลูก บริโภค และจำหน่ายกันอย่างแพร่หลาย
อย่างไรก็ดี ตลอด 2 ปีที่ผ่านมาหลังการปลดล็อก เราจะเห็นข่าวที่ไม่สู้ดีเกี่ยวกับกัญชาไม่เว้นวัน จนนำไปสู่การตั้งคำถามจากสังคมว่า "กัญชายังควรเสรีไหม?" และดูเหมือนจะร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อรัฐบาลเศรษฐา ส่อแววว่าจะพากัญชากลับสู่ยาเสพติด ทำให้ขณะนี้เกิดการถกเถียงจาก 2 ฝ่าย ระหว่างผู้สนับสนุนกัญชาเสรี และผู้ต้องการให้กัญชากลับไปเป็นยาเสพติด ที่ต่างก็มีความคิดเป็นของตัวเอง และยังหาข้อตกลงกันไม่ได้เสียที
ทีมข่าวฯ จึงขอพาผู้อ่านทุกท่าน ไปรับฟังความคิดเห็นจากทั้ง 2 ฝ่าย โดยวันนี้ขอเริ่มต้นสนทนากับ 'คุณประสิทธิ์ชัย หนูนวล' เลขาธิการเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย ผู้ที่สนับสนุนให้ไทยยังคงเสรีกัญชาต่อไป!
...
กัญชาถูกปั่นให้เกิดภาพลบ :
ทีมข่าวฯ เริ่มต้นการสนทนาด้วยคำถามที่ว่า ทำไมจึงไม่ควรนำกัญชากลับสู่ยาเสพติด ด้าน คุณประสิทธิ์ชัย แสดงความคิดเห็นตอบกลับว่า เรื่องนี้เราต้องคุยกันด้วยข้อเท็จจริง ที่ผ่านมากัญชาถูกปั่นภาพด้านลบมาโดยตลอด เมื่อเกิดกระแสต่อต้านจากสังคมขึ้น รัฐบาลจะหยิบเรื่องนี้ไปเป็นประเด็นว่า กัญชาก่อความอันตรายต่อประเทศ สุดท้ายตั้งแต่ปลดล็อกกัญชามา 2 ปี สังคมนี้ยังไม่เคยพูด Fact (ข้อเท็จจริง) ของกัญชาเลย
"ที่ผ่านมามีแต่การโฆษณาปั่นทั้งการเมือง หรืออะไรทั้งหมด สุดท้ายพืชตัวนี้กลายเป็น 'พืชการเมือง' ไปแล้ว เราเลยคิดว่ามันถึงเวลาแล้วที่ต้องหยิบ Fact ด้านวิทยาศาสตร์ มาตัดสินว่า สุดท้ายแล้วกัญชามันควรกลับไปเป็นยาเสพติด หรืออยู่กับสังคมต่อไป โดยใช้กฎหมายระดับ พ.ร.บ.ในการคุม"
เลขาธิการเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย กล่าวต่อว่า ปั่น คือการปั่นว่ากัญชาไม่ดี ผมยกตัวอย่าง 2 ข่าว ข่าวแรกประมาณ 6 เดือนที่แล้ว ข่าวบอกว่าเด็กสูบกัญชาแล้วไปข่มขืนผู้หญิงวัยเดียวกัน ปรากฏว่าหลังจากตำรวจสืบสวน พบว่าเด็กไม่ได้ใช้กัญชา แต่กลัวแม่ด่าเลยอ้างว่าใช้
ข่าวที่ 2 เกิดเมื่อประมาณ 2-3 เดือน ข่าวลงว่าเด็กเมากัญชาแล้วไปฆ่าคน ปรากฏว่าตำรวจสอบสวนแล้วทราบว่าเด็กเคยใช้กัญชาครั้งหนึ่ง เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว
"เหล่านี้เกิดจากการปั่น เพราะตอนนี้ไม่ว่าคุณจะเสพยาไอซ์ หรือยาบ้า มันก็ไม่เป็นอันตรายแล้วสำหรับสังคมไทย มีแต่กัญชาที่เป็นอันตราย มีแต่ข่าวการคลั่งแบบนี้ ไม่เคยมีข้อดีเลยว่าพวกผมใช้กัญชารักษาคนมา 20 ปี ไม่เคยได้รับการพูดถึงเลยในสังคมไทย"
แสดงว่าตามข่าวที่ออกว่ากัญชา อาจไม่ใช่กัญชาก็ได้อย่างนั้นเหรอ? ทีมข่าวฯ ถามกลับ
คุณประสิทธิ์ชัย ตอบว่า ถูกต้องครับ ผมพูดตรงๆ เลยว่า มีสายเขียวที่แสดงตัวว่าสูบกัญชาไม่ต่ำกว่าพันคน ผมใช้มา 7 ปี บางคนใช้มา 20 ปี ทำไมไม่คลั่งเสียที เพราะฤทธิ์กัญชาไม่ได้ทำให้คลั่งครับ มีประเทศเดียวในโลก ที่ออกข่าวว่ามีคนคลั่งกัญชา ผมถามหมอที่จบฮาร์วาร์ดว่า มีประเทศไหนบ้างที่คนคลั่งกัญชา แกพยายามหาแล้วก็ไม่มี มีแต่ประเทศเราที่ปั่นว่าคนใช้กัญชาแล้วคลั่ง ซึ่งถ้ากลัวคนคลั่ง จะปลดล็อกตั้งแต่แรกทำไมครับ
...
3 ผลกระทบ หากดึงกัญชากลับยาเสพติด :
อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลตัดสินใจให้กัญชากลับสู่ยาเสพติด คุณประสิทธิ์ชัย มองว่า จะเกิดผลกระทบหลักๆ 3 ประการ คือ ความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อผู้ประกอบการ, งานวิจัย และการจ่ายยา
เลขาธิการเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย เริ่มต้นอธิบายว่า ประเด็นแรก มีคนปลูกอยู่ล้านใบอนุญาต มีร้านขายอยู่หมื่นใบอนุญาต คนกลุ่มนี้จะเกิดความเสียหายทันที เพราะคนที่ปลูกแบบธรรมชาติอย่างพวกผมไม่ได้ลงทุนเท่าไร แต่คนกลุ่มนั้นที่ปลูกในโรงเรือน สมมติว่าเขาลงทุน 5-10 ล้าน ต่อ 1 ใบอนุญาต ลองคิดดูครับว่าความเสียหายจะเท่าไร แล้วยังมีร้านขายที่ลงทุนมากกว่าการปลูกอีก ที่ผ่านมาเขาเหล่านี้ทำตามข้อกฎหมายที่รัฐอนุญาต ฉะนั้นข้อนี้จะเป็นผลกระทบแรก
ประการถัดมาที่ผมมองว่าจะกระทบมาก คือ งานวิจัย ขณะนี้กัญชาในเมืองไทยเป็นกัญชาที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก อย่าง กัญชาไทยสายพันธุ์ซาติวา (Sativa) มีชื่อเสียงมาตั้งนานแล้ว ประวัติศาสตร์ของมัน เริ่มตั้งแต่ทหารอเมริกาที่มารบในเวียดนาม เขาไปเจอกับซาติวาไทยและนำไปเผยแพร่ เขากลายเป็นหนึ่งในผู้รณรงค์ให้รัฐแคลิฟอร์เนีย เสรีกัญชาเป็นรัฐแรกของโลก
"ถ้าเราดูไปในอดีต จะเห็นเลยว่ามีถุงกระสอบเป็นตราครุฑ ที่ส่งกัญชาออกนอกประเทศ ฉะนั้น กัญชาไทยไม่ใช่เรื่องธรรมดา ตอนนี้แค่ 2 ปี ไทยสามารถพัฒนาสายพันธุ์กัญชาได้อย่างเยี่ยมยอด ต่างชาติยกนิ้วให้ในความเก่ง แต่ถ้าเราเอากลับไปอยู่ในยาเสพติด การพัฒนาสายพันธุ์และงานวิจัยก็จะไม่เกิด จะไปเกิดแค่กับคนกลุ่มใหญ่ ที่กุมองค์ความรู้ไว้"
...
ผลกระทบด้านการจ่ายยา ที่ส่อแววผูกขาด? :
เลขาธิการเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย เริ่มอธิบายผลกระทบข้อที่ 3 ว่า อีกผลกระทบที่จะเกิดแน่ๆ คือ เรื่องยา ปัจจุบันพวกผมใช้กัญชาสกัดเป็นทั้งแคปซูลและน้ำมัน รักษาคนป่วยหลายคนในภาคใต้ และพวกเราทำกันหลายกลุ่ม แต่เมื่อไรก็ตามที่กัญชากลับไปสู่ยาเสพติด เรื่องนี้จะหายไป และเราต้องหลบหนีกันอีก พูดง่ายๆ ว่า ช่วงที่ปลดล็อกมา 2 ปี ผมคุยกับหมอพื้นบ้านที่ จ.พัทลุง เขาดีใจมาก
"ในตำรายาหมอพื้นบ้าน ต้องมีกัญชาผสมเสมอ เพราะกัญชาคือตัวคูณของสมุนไพรทุกชนิด แต่ตั้งแต่ปี 2522 สูตรยาสมุนไพรอ่อนลงหมดเลย เพราะขาดกัญชา ฉะนั้น 2 ปีที่ผ่านมา เรามีโอกาสที่จะรื้อฟื้นตำรับยาใหม่แล้ว แต่ปรากฏว่าจะเอากลับไปเป็นยาเสพติดอีก"
คุณประสิทธิ์ชัย หนูนวล แสดงความคิดเห็นต่อว่า ผมมองว่าจะก่อผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน แม้ว่ารัฐมนตรีจะย้ำนักย้ำหนาว่าใช้ทางการแพทย์ได้ แต่การใช้ทางการแพทย์ในกฎหมายยาเสพติด ต้องมีใบอนุญาต และมีเภสัชสั่งจ่าย ซึ่งกัญชาที่จะจ่ายทางการแพทย์ จะเป็นกัญชาที่มีลายเส้นรองรับ มีงานวิจัยรองรับ มีการผลิตตามมาตรฐานที่กระทรวงกำหนด สุดท้ายแล้วยากัญชาที่เอามาจ่าย เอามาจากไหนครับ ก็บริษัทยาเหมือนเดิม
...
"ตลาดนี้มีการประเมินว่ามีมูลค่า 3 หมื่นล้าน ถามว่า ถ้ามูลค่าเท่านี้ แต่มีผู้ผลิตน้อยรายที่สามารถควบคุมได้ สุดท้ายก็คงจะเป็นแบบเบียร์ ที่ประชาชนสามารถใช้ได้ แต่ต้องใช้ภายใต้การคุมของ 2 ตระกูล ซึ่งคุมมูลค่าอยู่ 4 แสนล้านบาท แล้วรัฐก็จะบอกว่า ทำเพื่อรักษาสุขอนามัย ให้ประชาชนปลอดภัยจากการผลิตเบียร์ ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นกลไกปกป้องประชาชน แต่มันคือกลไกของการผูกขาด"
"เพราะฉะนั้นกัญชาก็เหมือนกันครับ อ้างว่าจะเกิดผลกระทบกับประชาชน ต้องให้หมอจ่าย แล้วหมอที่ไหนจะเอากัญชาที่ประชาชนปลูกไปจ่าย ไม่มีทางครับ เพราะฉะนั้นความเสียหายเรื่องมูลค่ายาและการพึ่งพาตนเองของประชาชน ซึ่งเรากำลังยากลำบากในจังหวัดนี้ มันจะหายไปอีก จะเกิดปรากฏการณ์ที่คนไม่มีเงินไปรักษา"
มีปัญหาตั้งแต่แรก แนะออก พ.ร.บ.กัญชา แก้ปัญหาทั้งระบบ :
คุณประสิทธิ์ชัย ยอมรับว่าที่ผ่านมา คนทำผิดกฎหมายมีส่วนทำให้คนมองกัญชาแย่อย่างมาก
ทีมข่าวฯ ถามกลับว่า คิดว่าปัญหามาจากกฎหมายที่ไม่ครอบคลุมแต่แรกหรือเปล่า?
"อันนี้ก็มีส่วนครับ พอเราปลดออกมาปั๊บ แต่ไม่มีกฎหมายรองรับ เนื่องจากตอนนั้นได้รับการอธิบายว่า เขาคุยกันเรียบร้อยแล้วว่าก่อน 9 มิถุนายน 2567 กฎหมายรองรับจะทำเสร็จ แต่มีโควิดเข้ามาก่อน พอสภาไม่เปิด แต่ประกาศไปแล้วว่า 9 มิถุนาจะปลดล็อก ทำให้เขาเอากัญชาไปควบคุมใน พ.ร.บ.สมุนไพร พูดง่ายๆ ว่า เป็นการหากฎหมายสักฉบับที่ใกล้เคียงเพื่อเอามาควบคุม แต่พอเป็น พ.ร.บ.สมุนไพร มันก็ควบคุมได้บางเรื่อง ไม่สามารถควบคุมเชิงลึกได้ จึงมีสิ่งเล็ดลอดออกมา"
เราจึงถามต่อว่า ถ้าเช่นนั้น หากการยังให้กัญชาถูกกฎหมาย คิดว่ามีวิธีดำเนินการอย่างไร เพื่อจะแก้ปัญหาต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้น?
เลขาธิการเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย มองว่า ต้องคุมทั้งระบบครับ ต้องคุมตั้งแต่การปลูกไปจนถึงการแปรรูป การนำเข้า และการส่งออก เพราะถ้าเราคุมแค่จุดใดจุดหนึ่ง มันจะมีสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาออกมาได้ ซึ่งกฎหมายฉบับเดียวที่จะคุมเชิงระบบได้ทั้งหมด คือ พระราชบัญญัติ เพราะถ้าไม่นับรัฐธรรมนูญ ยังไง พ.ร.บ. ก็มีอำนาจสูงสุด เราต้องวางแผน และออกแบบโครงสร้าง กลไก อำนาจ มาตรการ งบประมาณ เจ้าหน้าที่ กำลังพล และอื่นๆ
คุณประสิทธิ์ชัย กล่าวต่อว่า ที่สำคัญนะครับ ถ้าจะพูดว่าอยากปกป้องเยาวชนจริงๆ คำถามคือ เมื่อใช้กัญชาไปแล้วเกิดปัญหาใหม่ ซึ่งเราอาจไม่เคยนึกถึงมาก่อน กฎหมายฉบับไหนจะมีความสามารถ ในการออกกฎกระทรวงเพิ่มได้ มันก็ยังต้องเป็น พ.ร.บ. ครับ เพราะเขาให้อำนาจในการออกกฎหมายลูกประกอบ พ.ร.บ. ได้ รวมไปถึงกฎหรือประกาศกระทรวงก็ตาม เพราะฉะนั้น กฎหมายนี้จะมีความสามารถยืดหยุ่น และปรับตัวไปตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปได้
ทีมข่าวฯ ถามต่อไปว่า หากกล่าวเช่นนั้น แสดงว่าอยากให้มี พ.ร.บ. ออกมาคุมเรื่องกัญชาอย่างชัดเจนใช่หรือไม่ คุณประสิทธิ์ชัย ตอบกลับทันทีว่า ใช่ครับ
"พวกผมก็พยายามกันมา 2 ปี เพื่อที่จะให้เกิดกฎหมายเฉพาะ ตอนนี้มีกฎหมาย พ.ร.บ. อยู่บนโต๊ะนายกรัฐมนตรี 4 ฉบับ เสนอโดยพรรคก้าวไกล พรรคภูมิใจไทย เครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย และมีอีกเครือข่ายหนึ่ง แต่นายกฯ ไม่เซ็นสักฉบับเดียว"
"เพราะอะไรครับ?" เราถามกลับทันทีเช่นกัน
"เขาอยากให้เป็นยาเสพติดครับ เพราะถ้าเป็นยาเสพติด จะสามารถกำหนดกติกาเฉพาะสำหรับบางกลุ่มที่ปลูกได้" เลขาธิการเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย ตอบกลับเรา
คุณประสิทธิ์ชัย แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า แต่ถ้าทำแบบนั้น อย่าคิดว่าจะแก้ปัญหากัญชาได้ มันอาจจะทำให้พวกผมต้องลงใต้ดินเหมือนเดิม ก่อนหน้านี้ผมต้องอุ้มต้นกัญชาหนีตำรวจนะครับ ซึ่งเป็นต้นกัญชาที่เอาไปสกัดยารักษาโรคมะเร็งให้คนที่หมอให้ออกจากโรงพยาบาล เพราะบอกว่าอีก 6 เดือนจะตาย แล้วโรคอีกสารพัดที่เราใช้กัญชารักษา แต่ต้องวิ่งหนีตำรวจ
"แล้วถ้าเป็นใต้ดินจริงๆ จะเกิดปรากฏการณ์กัญชาจะไม่ปลอดภัย จะมีการผสมสารกันชื้น สารกันรา เต็มไปหมด คนที่บริโภคกัญชาก็จะไม่ปลอดภัย นี่เป็นเหตุผลหลักที่รัฐบาลเยอรมนี ยกขึ้นมาวางบนโต๊ะ ดีกว่าปล่อยให้อยู่ใต้ดิน เพราะเขาจะได้ควบคุมและดูแลได้ แต่ประเทศเราดันถนัดทำใต้โต๊ะ เพราะตราบใดที่อยู่ใต้โต๊ะ จะมีแค่คนบางกลุ่มควบคุมได้ แต่คนส่วนใหญ่จะถูกเบียด"
"ดังนั้น ถ้าจะแก้ปัญหาทั้งหมดได้ ก็ต้องใช้ พ.ร.บ. เพราะ พ.ร.บ. จะกำหนดได้ด้วยซ้ำว่า ร้านสามารถตั้งตรงไหนได้ ตั้งตรงไหนไม่ได้ อย่างถนนข้าวสารที่ระเนระนาดไปหมด ก็จะจัดการได้"
คุณประสิทธิ์ชัย บอกว่า ที่ผ่านมาผมเข้าใจกระทรวงสาธารณสุขว่าเขาไม่มีกฎหมายจะจับ เข้าใจตำรวจว่าเขาจับไม่ได้ แต่ถ้ามี พ.ร.บ. ขึ้นมา จัดการได้แน่ครับ เพราะ พ.ร.บ. จะให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่ต้องรอเจ้าหน้าที่สาธารณสุข แต่ปัจจุบันตำรวจยังต้องรอเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ผมยืนยันอีกครั้งว่า ถ้ามี พ.ร.บ. อะไรที่นอกเส้นนอกทางจะถูกตบเข้าไปอยู่กับที่
ขอหยุดปั่น แต่นำข้อเท็จจริงมาคุยกัน :
คุณประสิทธิ์ชัย กล่าวว่า สรุปแล้วที่ผมไม่เห็นด้วยกับการนำกัญชากลับสู่ยาเสพติด เพราะกัญชาถูกปั่นให้เลยข้อเท็จจริงไปมาก ถ้านำกัญชาเทียบกับเหล้าและบุหรี่ พิษภัยมันน้อยกว่าเป็น 10 เท่า ตอนนี้เราได้เรียกร้องขอให้กระทรวงสาธารณสุขทำงานวิจัยขึ้นมาชิ้นหนึ่ง รวบรวมเลยว่าตลอด 2 ปีที่ผ่านมา กัญชาก่อหายนะอะไรให้สังคมไทย และอีกข้อหนึ่งที่เสนอ คือ ให้เปรียบเทียบข้อเท็จจริงของบุหรี่ สุรา และกัญชา ซึ่งเราต้องเอาข้อเท็จจริงเหล่านั้นมาคุยกัน
อีกอย่างคือ เราไม่เคยวิพากษ์เครื่องมือกันเลย ฉะนั้น กระบวนการกำหนด Public Policy (นโยบายสาธารณะ) ในสังคมไทย เหลวแหลกมาตลอด เพราะเราไม่เคยใช้ข้อเท็จจริงกำหนดกัน แล้วสิ่งที่ผมเศร้ามากขณะนี้ คือสื่อมวลชนหลายช่อง ถามคำถามเดี่ยวๆ ว่า
"กัญชาควรกลับไปเป็นยาเสพติดหรือไม่ ซึ่งคำถามแบบนี้มันชี้นำสังคม เนื่องจากว่าสื่อปั่นมาตลอดว่ากัญชาสูบแล้วคลั่ง พอสังคมไทยรับรู้แต่การปั่น แล้ววันหนึ่งจะมาถามว่า กัญชาควรกลับไปเป็นยาเสพติดหรือไม่ วิธีการเหล่านี้เป็นการตอกย้ำวิธีที่ไม่ถูกต้อง ในการกำหนดนโยบายสาธารณะเพิ่มขึ้นอีก"
"เวลาเราจะถามคำถามพวกนี้ ผู้ตอบต้องได้รับข้อมูล 2 ด้าน พร้อมๆ กันก่อน จึงจะถามเหล่านี้เข้าไป แล้วคนตอบจะตอบด้วย Fact จำนวนหนึ่ง ตอนนี้เราไปยื่นกับรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขว่า พอสักทีเถอะเรื่องการปั่น เอาข้อเท็จจริงมาพูดกันดีกว่า ซึ่งต้องเป็นข้อเท็จจริงที่มีการจัดทำตามกระบวนการที่เชื่อถือได้ ไม่ใช่ไปหยิบอะไรมาก็ได้"
นอกจากนั้น เลขาธิการเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย ได้แสดงความคิดเห็นถึง พรรคภูมิใจไทย ซึ่งถือเป็นผู้นำร่องนโยบายกัญชาเสรีว่า เท่าที่ผมได้ตามท่าทีของพรรคภูมิใจไทย ล่าสุดเห็นคุณอนุทินให้สัมภาษณ์ว่า ยังไงก็ไม่ยอม ยังไงก็ยืนยันว่าต้องมี พ.ร.บ.
"แต่ผมยังไม่เห็นปฏิบัติการที่แข็งแรง เห็นเฉพาะความคิดเห็น เพราะเอาเข้าจริงเรื่องนี้ก็ถูกพูดไว้ตอนแถลงนโยบายด้วยว่า กัญชาต้องใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และเศรษฐกิจ แต่อยู่ดีๆ จะมาหักนโยบายตัวเองเหรอ ซึ่งอย่างที่ว่า ผมยังไม่เห็นปฏิบัติการที่ยืนยันหลักคิดของตัวเอง"
ภาพ : iStock, ประสิทธิ์ชัย หนูนวล และ ThairathPhoto
อ่านบทความที่น่าสนใจ :