ชี้จุดสงสัยภาพแกะสลักหิน กลางป่าเขากระเจียว จ.บุรีรัมย์ ปริศนาโบราณแท้-เทียม ชี้เคยมีพระธุดงค์ปักกลด ในพื้นที่ดังกล่าวเมื่อ 15 ปีก่อน ส่วนนักโบราณคดี ไม่ปักใจเชื่อ แม้ศิลปะเชื่อมโยงกับปราสาทหินในพื้นที่

กรณีมีชาวบ้านในพื้นที่ ต.ลำนางรอง อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ เข้าไปเก็บเห็ดในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ แล้วพบหินศิลาแกะสลักโบราณเป็นรูปสตรี บริเวณเขากระเจียว ท่ามกลางการตั้งข้อสังเกตของชาวบ้าน เบื้องต้นทางกรมศิลปากรในพื้นที่ได้เข้าไปตรวจสอบ เพื่อหาข้อมูลยืนยันว่าภาพดังกล่าวเป็นของโบราณ หรือเป็นสิ่งที่ทำขึ้นใหม่

สมส่วน รักสัตย์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ ได้เดินเท้าเข้าไปดูภาพหินสลักดังกล่าว ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่กรมศิลปากร ได้เดินเท้าเข้าไปตรวจสอบในพื้นที่เพื่อยืนยันว่าภาพสลักดังกล่าว เป็นของเก่าหรือของใหม่ที่มนุษย์ทำขึ้น เพื่อให้ชาวบ้านในพื้นที่และผู้ที่ติดตามข่าวได้ข้อมูลที่กระจ่างมากขึ้น

เดิมจุดที่พบหินสลักเคยมีพระธุดงค์ ไปจำพรรษาในบริเวณดังกล่าวอยู่กว่า 15 ปีที่แล้ว ก่อนที่หน่วยงานทำการผลักดันพระให้มาอยู่ในพื้นที่เหมาะสม ทำให้ตอนนี้ชาวบ้านยังมีข้อสงสัยว่า รูปสลักผู้หญิง อาจเป็นฝีมือของพระที่เคยมาจำพรรษา

...

จากการสอบถามกรมศิลปากร ถึงการค้นพบโบราณวัตถุในพื้นที่ดังกล่าวได้รับการยืนยันว่า เคยพบเพียงสถูปขนาดเล็ก ซึ่งการค้นพบเป็นเพียงกองหินโบราณ แต่น่าสนใจว่า พื้นที่เจอเป็นป่าบริเวณท้ายหมู่บ้าน ใช้เวลาเดินเท้าเข้าไปประมาณ 20 นาที ในพื้นที่ของการค้นพบจะเป็นเส้นทางที่ช้างป่าใช้เดินอยู่เป็นประจำ ซึ่งตอนนี้ชาวบ้านยังไม่ปักใจเชื่อว่าเป็นของโบราณ แต่มีการตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นฝีมือของพระที่เคยเข้าไปจำพรรษาภายในพื้นที่ดังกล่าว

นักโบราณคดีไม่ปักใจเชื่อว่าเป็นของเก่า

ดร.ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการอิสระด้านโบราณคดี ให้ข้อมูลว่า หากพิจารณารูปสลักที่พบค่อนข้างวิเคราะห์ได้ยากว่าเป็นของเก่าหรือใหม่ เพราะเป็นหญิงมีใบหน้าที่ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมอินเดีย เห็นได้จากทรงผม ถ้าในศิลปะสมัยทวารวดี ลักษณะหญิงดังกล่าวเป็นในกลุ่มจำพวกยักษ์ โดยเฉพาะตุ้มหูที่เป็นวง มักพบได้ในชาดกเรื่องต่างๆ

การพิจารณาว่าเป็นของโบราณหรือไม่ ต้องดูสภาพแวดล้อมในพื้นที่ประกอบ เพราะถ้าตัดสินกันในเชิงศิลปะอย่างเดียว อาจทำได้ยาก เพราะรูปดังกล่าวได้รับอิทธิพลด้านอินเดียค่อนข้างสูง ดังนั้น การเข้าไปตรวจสอบของกรมศิลปากร จะช่วยคลายปริศนาที่ชาวบ้านสงสัยได้

ในพื้นที่ดังกล่าว ตามหลักฐานประวัติศาสตร์เป็นพื้นที่รอยต่อของ 2 แผ่นดิน สมัยทวารวดีมีการได้รับอิทธิพลศิลปะจากอินเดียมาค่อนข้างมาก ก่อนที่มีการพัฒนามาเป็นปราสาทหินตามแบบเขมรในยุคต่อมา หากมีการพิสูจน์แล้วพบว่าเป็นของโบราณหรือเป็นศิลปะที่สร้างขึ้นมาใหม่ ก็ยังทำให้คนในพื้นที่เห็นถึงประวัติศาสตร์ในท้องถิ่นที่มีมายาวนานต่อไป.