คุยกับปราชญ์เกษตรเศรษฐกิจพอเพียง กับหลักวนเกษตร ปัจจัย 4 กับการปลูกไม้ หลักทรัพย์สร้างเงินล้าน...เชื่อว่าหลายคนอยากประสบความสำเร็จในอาชีพ มีเงินมีทองใช้ แต่...หาใช่ทุกคนที่จะเดินทางไปถึงจุดนั้น บางคนร่ำเรียนมาทั้งชีวิต แต่เมื่อลงมือทำจริง ก็ล้มเหลว เฉกเช่นกับ "ปราชเกษตรของแผ่นดิน" สาขาปราชญ์เกษตรเศรษฐกิจพอเพียง ปี 2556 ที่ชื่อ นายโชคดี ปรโลกานนท์ อายุ 67 ปี เจ้าของสวนลุงโชคดี บ.คลองทุนเรียน ต.วังน้ำเขียว อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ที่แม้จะจบการเกษตรมาโดยตรง แต่เมื่อลงมือทำจริงกลับล้มเหลว ในครั้งแรก ก่อนที่จะใฝ่รู้ หาทางที่ใช่ ของตนเอง กับแนวคิด “วนเกษตร” การเกษตรที่ควบคู่กับไม้ป่า...ความรู้มากมาย ปลูกข้าวโพด มันสำปะหลัง มุ่งหาเงินกลับไม่รอด...นายโชคดี เล่าว่า หลังจากเรียน จบปริญญาตรี ที่สถาบันเทคโนโลยีเกษตรแม่โจ้ จ.เชียงใหม่ ก็เริ่มกลับมาที่ วังน้ำเขียว เพื่อเริ่มปลูกพืชของตนเอง โดยใช้ที่ดินของพี่ชาย ซึ่งเขามีที่ดินนับร้อยไร่ สิ่งที่ทำคือ การปลูกข้าวโพด มันสำปะหลัง ซึ่งก็ทำอยู่ราว 5 ปี ผลปรากฎว่า เจ๊ง เป็นหนี้เป็นสิน“แถวนี้เขาก็ทำทั้งนั้น แต่ปัญหาที่เจอ คือ ช่วงปีแรก ก็ขาดทุน เนื่องเทคโนโลยีต่างๆ ไม่มี ต้องอาศัยพึ่งพาดินฟ้าเป็นหลัก และผลผลิตเสียหาย เข้าปีที่สอง ขาดทุนอีก จากปัจจัยในการตลาด ด้านราคา ปีที่สามเจอฝนแล้ง เมื่อทำแบบนี้สักอ 4-5 ปี ก็ได้บทสรุปกับตัวเองว่า หากยังทำต่อไป คงไปไม่รอด...เพราะปัจจัยการผลิตไม่ได้เป็นของตัวเอง ต้องซื้อทุกอย่างเข้ามา ขณะที่กลไกการตลาด ด้านราคาก็ไม่สามารถควบคุมได้ แม้เราจะทำบนที่ดินจำนวนมากนับร้อยไร่ แต่ก็ล้มเหลว”ปราชเกษตรเศรษฐกิจพอเพียง เผยว่า ตอนที่เรียนหนังสืออยู่ ดูเหมือนว่าจะง่าย แต่เมื่อทำจริงๆ เจอปัญหานอกตำรา เพราะเราไม่สามารถควบคุมอะไรได้เลย... ทั้งปัจจัยการผลิต ปุ๋ย และ ราคาทั้งซื้อและขาย“การทำพืชไร่ตอนนั้น เหมือนคนเล่นการพนัน แทงสุ่มสี่สุ่มห้า ก็ต้องลุ้นว่าจะถูกตอนไหน”เริ่มต้นใหม่ ความรู้จากปราชญ์สู่ปราชญ์หลังจากไม่ประสบความสำเร็จกับพืชไร่ นายโชคดี ได้กลับมาคิดทบทวนตัวเอง และหาเหตุผล โดยมองไปที่พื้นเพเดิม คือ เป็นคนภาคใต้ เขาก็ปลูกต้นไม้ ปลูกไม้ผล จากนั้นก็เริ่มสนใจปลูกไม้ผล และช่วงนั้น จังหวะชีวิตมีการเปลี่ยนแปลง ได้สร้างครอบครัวด้วยการแต่งงาน ย้ายถิ่นฐานมาอยู่กับภรรยา“ปณิธานตอนนั้น คือ เราจะไม่ปลูกพืชไร่แล้ว และทดลองปลูกไม้ผล ลดพื้นที่ลง จาก 100 ไร่ที่เคยทำ ได้ที่ดินมา 50 ไร่ แต่ทำจริง เพียง 10 ไร่...”การเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ เป็นสิ่งที่ยาก โดยเฉพาะ “เป้าหมายในชีวิต” โดยไม่หวังรวยจากพืชไร่ คิดว่าทำอย่างไร ชีวิตจะมีความสุข ไม่เป็นหนี้ ซึ่งเราก็ขายที่ดินจำนวนหนึ่งเพื่อใช้หนี้ และก็ย้ายมาอยู่บนที่ดินภรรยาปราชญ์เกษตร ศก.พอเพียง เผยว่า ตอนนั้น ตั้งต้นด้วยการปลูกกล้วย ผัก ระหว่างกอกล้วย ก็ปลูกไม้ผลแซม ระหว่างที่กำลังก้าวเดินนั้น มีโอกาสได้เจอกับ ผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม (ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน สาขาปราชญ์เกษตรเศรษฐกิจพอเพียง ปี 2552)ตอนนั้น ได้งานที่ มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่า การที่เรามาทำงานตรงนี้ถือว่า “ได้มากกว่าเงินเดือน” ตอนนั้นเงินเดือน 3,000 บาท แต่สิ่งที่มากกว่า คือ “ความรู้” ได้เริ่มต้นเรียนรู้ใหม่กับคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต และมีแนวคิดและแนวปฏิบัติ เราทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ เราพาชาวบ้านไปพบปะกับปราชญ์ชาวบ้าน เมื่อเขาสอนชาวบ้านเราก็ได้องค์ความรู้เหล่านั้นมาด้วย โดยเพราะแนวคิดจากพ่อผู้ใหญ่วิบูลย์“ที่ผ่านมา โชคไม่ได้ทำเพื่อตัวเองนะ”“เฮ้ย...แต่ผมก็ปลูกพืชไร่ หวังรวยนะ” “ถ้าโชคทำเพื่อตัวเองนั้น โชคต้องทำให้ตัวเองมีกินก่อน เพราะที่ผ่านมา โชคปลูกข้าวโพด บั้นปลาย คือ เลี้ยงสัตว์ แต่ตรงกลาง คือ การขายให้ได้เงิน แล้วเอาเงินมาซื้อของกิน แต่คนทำเกษตร คือ ต้องทำแล้วมีกินก่อน เหลือแล้วค่อยขาย”เออ...เมื่อทบทวนสิ่งที่ผู้ใหญ่วิบูลย์พูดกับ เรา ก็รู้สึกว่า มันจริง เมื่อเราปลูกกล้วย ปลูกผัก เริ่มจากของกิน จากนั้นค่อยมาคิด ขาย แปรรูปอย่างไรดี...หากเป็นระยะยาว ก็จะแซมด้วยไม้ผล“วนเกษตร” คือการตอบสนองปัจจัย 4 ดังนั้น “วนเกษตร” คือ การปลูกต้นไม้ที่หลากหลาย ตอบสนองปัจจัย 4 ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่ดี ปัจจัย 4 คือกิน : อยากกินอะไรก็ปลูกที่อยู่อาศัย : ปลูกต้นไม้ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์เป็นเนื้อไม้ ยา : ปลูกสมุนไพร เครื่องนุ่งห่ม : ไม่จำเป็นต้องปลูกฝ้าย แต่เราอาจปลูกต้นไม้ที่ให้สีทางธรรมชาติ เช่น ต้นประดู่ ต้นสัก (ใบเอามาย้อมผ้าได้) แก่นขนุน เป็นต้นการปลูกไผ่ กับมูลค่าที่ได้นับล้านนายโชคดีเผยว่า เมื่อเราได้แนวคิดในการปลูกพืชของเราแล้ว เราก็ปลูกในลักษณะนี้มาตลอด กระทั่งเข้าปี 2560 ที่เราเริ่มที่จะมาปลูกไผ่ ซึ่ง ไผ่ ก็อยู่ในปัจจัย 4 เช่นเดียวกัน หน่อ กินได้, ไม้ใช้ได้ ใบ เป็นยาได้ และในต่างประเทศ สามารถนำมาทำเสื้อผ้าแล้ว“การที่เราจะทำอะไรก็แล้วแต่ เราต้องรู้จักประยุกต์ เมื่อก่อน เรายึดแนวของ ผู้ใหญ่วิบูลย์แต่เราทำแบบเขาไม่ได้ เพราะเราไม่ได้เก่งด้านยา แต่ผู้ใหญ่ฯ เขาอยู่ร้านยาจีนตั้งแต่วัยรุ่น มีสูตรยา องค์ความรู้ของตัวเอง ท่านทำ วนเกษตรเหมือนกัน แต่ท่านเอาเรื่องยา พืชสมุนไพรเป็นตัวนำ ส่วนตัวผมเอง ทำวนเกษตร เน้นเรื่องที่อยู่อาศัย”ปราชญ์เกษตรฯ บอกว่า แนวคิดในการปลูกไผ่ของเขานั้น เป็นการปลูกสะสมไว้กับไม้ป่า ซึ่งทีแรก ตั้งใจว่าจะปลูกไม้มูลค่าสูงอย่าง พะยูง แต่เมื่อปลูกแล้ว ยังมีปัญหาด้านกฎหมายอยู่ ดังนั้น เราจึงปลูกไผ่ แทน ซึ่งเราเริ่มปลูกตั้งแต่ปี 2543 มาบูมจริงๆ ในตอนปี 2560 กูรูเรื่องการปลูกไผ่ เผยว่า การปลูกไผ่นั้น ใช้เวลาไม่นานมาก เพียง 3 ปีเท่านั้น โดยพอปลูกเข้าสู่ปีที่ 2 ก็สามารถขยายพันธุ์ได้แล้ว ซึ่งของลุงเองปลูกไผ่ไว้กว่า 2,000 พุ่ม ซึ่ง 1 พุ่มก็มีหลายสิบต้นมูลค่าของไผ่ นั้นมีสูง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับการจัดการด้วย บางคนมีที่ดินไม่เยอะ 1-2 ไร่ ก็สามารถหาเงินได้เป็นล้าน นี่แค่ขายพันธุ์อย่างเดียว...ไผ่นั้น ตอบแทนด้านเศรษฐกิจได้ทุกระยะ ระยะที่ 1 : ช่วงขยายพันธุ์ ลำยังไม่ใหญ่ ตัดเป็นพุ่ม แตกแขนงก็ขายได้ ระยะที่ 2 : ตั้งเป็นกอ เราก็สามารถนำหน่อมากินได้ เรียกว่า “มีกิน” แปรรูปได้ด้วย ยกระดับเป็นไส้กรอกได้ ระยะที่ 3 : เป็นลำ จะกลายเป็นไม้ใช้สอย สามารถต่อยอดเพิ่มมูลค่าได้ “ระยะที่ สามนี่ ลุงโชคเชี่ยวชาญ จากที่เราขายลำสดๆ นั้น ราคา 40-50 บาท แต่เมื่อนำมาแปรรูป เราสามารถขายได้ราคา 100-120 บาท กับไม้ไผ่ยาว 6 เมตร ซึ่งแต่ละลำ นั้น ยาว 10 เมตรได้...”ปราชญ์โชคดี กล่าวว่า เพราะเราเน้นเรื่องไผ่นี่แหละ ทำให้เราได้ลูกคืนกลับมาช่วยงาน...เดิมลูกผมไปเรียนต่างประเทศ คนหนึ่งจบ ป.โท อีกคนจบ ป.ตรี เมื่อเราพยิบไม้ไผ่มาทำ ส่งผลให้ลูกเรากลับมาช่วยงาน ส่วนหนึ่ง เพราะเขาก็เริ่มอิ่มตัวในอาชีพเขาแล้ว คือ เป็นอาจารย์สอนเรื่องเกษตรอินทรีย์ เขาอยากกลับมาอยู่สวน อยากต่อยอด “ผมปลูกฝังเขาไว้ตั้งแต่เด็ก คือ หากต้องการเรียนเพื่อจาก...ผมไม่มีปัญญาส่ง จากคือ เรียนแล้วไปทำงานที่อื่น แต่หากเรียนแล้วกลับมาอยู่ด้วยกัน ก็จะส่งเสีย เราพยายามชี้ให้เขาให้เห็นว่า คนที่มาอยู่ที่วังน้ำเขียว ล้วนเป็นคนต่างถิ่นทั้งนั้น แล้วทำไมเราเกิดที่นี่ แล้วไม่กลับมาอยู่ ที่สำคัญ ทำอะไรต้องตอบโจทย์กับปัจจัย 4”หลักการปลูกพืชผสมผสาน ต้องเกื้อกูลกันและกันสำหรับหลักใหญ่ในการปลูกต้นไม้นั้น ปราชญ์เกษตรวังน้ำเขียว บอกว่า เราต้องปลูกให้พืชแต่ละชนิดให้เกื้อกูลกัน “ทำสวนเหมือนป่าไม้” ต้องปลูกพืชหลากหลาย เช่น ไม้ป่า ไม้ที่มีลำต้นสูง ต้องปลูกห่างกัน ส่วนไม้ลำต้นพุ่มกลาง จะปลูกระหว่างไม้ใหญ่ โดยหลักการ คือ หากเป็นไม้ชนิดเดียวกัน ก็จะดูดซึมอาหารชนิดเดียวกัน ดังนั้น จึงต้องปลูกห่างกันเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนธาตุอาหารกันและกัน เช่นหากใบต้นไม้และพุ่มไม้มันร่วง สารอาหารของใบแต่ละชนิดก็จะมีความแตกต่างกัน เป็นการแลกเปลี่ยนกันและกันหากเป็น “ไม้ผล” ต้องดูเรื่องการแตกตาดอก ตากิ่ง เช่น เอาเงาะ มาปลูกกับมะม่วง ชิดกัน ก็จะไม่เกื้อกูลกัน เพราะต่างคนต่างออกดอกที่ปลายกิ่ง หากปลูกเงาะ กับ ลองกอง มันจะเกื้อกูลกัน เพราะ ลองกอง ออกลูกตามลำต้น...“พื้นที่เกษตรแต่ละที่มีความแตกต่างกัน การนำสูตรสำเร็จของคนบางคนมาใช้ กับเนื้อที่ที่แตกต่างกัน มาทำก็ไม่ได้ ฉะนั้น สิ่งสำคัญคือ การปรับใช้ วิเคราะห์เป็น ยกตัวอย่าง มีที่ดินภาคใต้ แต่คนตื่นสาย แบบนี้จะปลูกยางได้อย่างไร “ภูมิสังคม” นั้น ต้องตีโจทย์ให้แตก คือ ภูมิศาสตร์ และสังคม (ชุมชน สังคม ตัวตนของเรา) เหมาะกับอะไร ต้องสอดคล้องกันหมด”หลักปรัชญาเกษตรกิจพอเพียง เข้าใจ ทำจริง คำนวณต้นทุนลุงโชคดี กล่าวทิ้งท้ายถึง หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้น สามารถทำจริง คือ ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อน คือ การจัดการทุนของตัวเอง ให้ตอบรับกับกระแสโลก"ทุน ในที่นี้ไม่ใช่เงิน แต่มากกว่าเงิน หมายถึง การจัดการชีวิต จัดการทรัพยากร จัดการความรู้ เพราะทุกอย่างเป็นทุน การโต้เถียงในทางสังคมนั้น เป็นเรื่อง “กระพี้” เท่านั้น เช่น มีที่ดิน มีน้ำ มีองค์ความรู้ จัดการอย่างไร หากดูปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจริงๆ มีหลายระดับ ระดับครัวเรือน, ระดับส่วนราชการ หรือระดับประเทศ สิ่งสำคัญ คือ ขึ้นอยู่กับการจัดการ"ปราชญเกษตรเศรษฐกิจพอเพียง วัย 67 ปี กล่าวทิ้งท้าย