กรมอุตุฯ เตือนพายุฤดูร้อนรุนแรงรอบหลายปี กรุงเทพฯ เผชิญความเสี่ยงถึง 10 พ.ค. 67 หวั่นสิ่งปลูกสร้างไม่แข็งแรง-ป้ายโฆษณา เจอแรงลมถล่มเสียหายกระทบชีวิตประชาชน เผยภาคเหนือพายุลูกเห็บเสี่ยงต่อเนื่อง

ว่าที่ร้อยตรี ธนะสิทธิ์ เอี่ยมอนันชัย รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า ปีนี้พายุฤดูร้อนมีความรุนแรงกว่าทุกปี เนื่องจากอุณหภูมิอากาศก่อนหน้านี้ร้อนจัดถึง 40 องศาฯ ขึ้นไปหลายวันติดต่อกัน เพราะเมื่อมีความเย็นมาปะทะทำให้ก้อนเมฆมีการก่อตัวขนาดใหญ่และสูงมากกว่าปกติ ซึ่งเมฆบางก้อนก่อตัวสูงจากพื้นดินถึง 13-15 กิโลเมตร แล้วทำให้ลมที่พัดผ่านก้อนเมฆมีความรุนแรงสูง ทำให้ลมที่พัดมากับฝนในพายุฤดูร้อนมีความรุนแรง และเกิดลูกเห็บตกขนาดใหญ่

“การเกิดลูกเห็บในช่วงที่มีพายุฤดูร้อน ทางภาคเหนือมีขนาดใหญ่กว่าภาคอีสาน เนื่องจากพื้นที่ของภาคเหนือสูงกว่า ทำให้ลูกเห็บที่ตกมามีก้อนใหญ่ เช่นเดียวกับความรุนแรงจากฟ้าผ่า ทางเหนือมีความรุนแรงมากกว่าภูมิภาคอื่น พายุฤดูร้อนในช่วงนี้เริ่มคลายลงในบางพื้นที่ เนื่องจากมีฝนตกมาต่อเนื่องหลายวัน แต่พื้นที่ที่ยังไม่มีฝนตก และยังมีอากาศร้อน เสี่ยงจะเจอพายุฤดูร้อนรุนแรงต่อจากนี้”

...

กรุงเทพฯ จะเจอพายุฤดูร้อนไปถึงวันที่ 8 พ.ค. 67 ส่วนภาคตะวันออกกับภาคอีสาน ต้องเจอกับพายุฤดูร้อนทำให้ฝนตกหนัก โดยเฉพาะจังหวัดที่ยังไม่เจอฝนตกหนัก เสี่ยงเจอลมพายุรุนแรง ขณะเดียวกันพื้นที่เสี่ยงเจอพายุยาวไปถึงวันที่ 9-10 พ.ค. 67 คือ เพชรบูรณ์ ลพบุรี สระบุรี นครราชสีมา กรุงเทพฯ และภาคอีสานในภาพรวม เนื่องจากมวลอากาศเย็นยังแผ่เข้ามาอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลานี้

“พายุฤดูร้อนเกิดจากอากาศที่ร้อนจัดต่อเนื่อง ตัวอย่างพายุฤดูร้อนช่วงปี 2532 ที่มีงานแสดงสินค้าที่อุบลราชธานี พอพายุเข้ากวาดร้านค้าที่กางเต็นท์ในงานแสดงสินค้าจนราบเป็นหน้ากลอง สำหรับพายุฤดูร้อนความรุนแรงมีส่วนประกอบหลายอย่าง ปีนี้มีตัวแปรที่สำคัญในการเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ เลยทำให้มีความรุนแรงของพายุมากกว่าทุกปี และหลังจากนั้นจะมีความร้อนและแห้งแล้งมาซ้ำเติมอีก”

พายุฤดูร้อนแรงลม-ลูกเห็บ ภัยพิบัติที่รุนแรงขึ้นทุกปี

ว่าที่ร้อยตรี ธนะสิทธิ์ มองว่า สิ่งที่ประชาชนต้องระวังในช่วงที่มีพายุฤดูร้อนคือ ลมกระโชกแรง ที่อาจมีความเร็วลมประมาณ 100-200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งถ้าความแรงของลมปะทะกับสิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรงจะทำให้เกิดความเสียหายหนัก เพราะแรงปะทะทำให้ความเร็วของลมเพิ่มขึ้น ส่วนปริมาณฝนยังไม่ค่อยน่ากังวล

จึงอยากเตือนประชาชนในพื้นที่ เสี่ยงได้รับผลกระทบจากลมกระโชกแรง โดยเฉพาะป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง ในพื้นที่กรุงเทพฯ หรือบ้านเรือนที่ปลูกสร้างในที่โล่งแจ้ง ขณะเดียวกันไม่ควรอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ในพื้นที่โล่งแจ้ง หรือตึกสูงที่ไม่แข็งแรง ในขณะฝนตก เพราะลมที่แรงอาจทำให้กิ่งไม้ หรือสิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรงหล่นลงมาทำให้บาดเจ็บได้

นอกจากนี้ต้องระวังภัยจากพายุลูกเห็บ โดยเฉพาะถ้ากำลังขับรถอยู่ ควรจอดข้างทาง เพราะลูกเห็บที่เกิดจากพายุฤดูร้อนจะมีขนาดใหญ่กว่าปกติ ประกอบกับแรงลมที่รุนแรงจะเพิ่มความเร็วให้ลูกเห็บที่ตกมามีความรุนแรงสร้างความเสียหายมากกว่าปกติ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือที่อยู่ในพื้นที่สูงจะมีความเสี่ยงมากกว่า

แม้พายุฝนในช่วงนี้ยังไม่มีปัญหาเรื่องฟ้าผ่า แต่ไม่ควรประมาท เพราะเมื่อเกิดพายุฤดูร้อนมีโอกาสที่ฟ้าจะแรงมากกว่าปกติ ดังนั้นเมื่อเกิดฝนควรอยู่ในอาคาร หรือที่กำบัง ไม่ควรอยู่กลางแจ้ง และควรงดใช้โทรศัพท์ที่อาจเป็นสื่อนำกระแสไฟฟ้าได้.