อดีตนักศึกษาวิศวะ มช. เรียนจบ ป.ตรี แต่เลือกขายไข่เจียวบุฟเฟต์ เพราะเหลือแม่แค่คนเดียว จึงอยากอยู่ดูแล และใช้เวลาร่วมกันให้มากที่สุด เรื่องราวของ 'แพรว-ปวีณ์ธิดา เอี่ยมผ่อง' คนที่มองครอบครัวคือสิ่งสำคัญ และมี 'แม่' เป็นทุกคำตอบของชีวิต

เมื่อจบการศึกษา หลายคนเลือกจะเดินตามฝัน มุ่งไปในสายงานที่เรียนมา แต่หลังจากที่ 'ปวีณ์ธิดา เอี่ยมผ่อง' หรือ 'แพรว' จบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เธอกลับเลือกที่จะอยู่บ้านเพื่อขายอาหารอย่าง 'ไข่เจียวบุฟเฟต์' แทนที่จะประกอบอาชีพด้านวิศวกรรม

ร้านของเธอตั้งอยู่ที่ 'ตลาดมีนบุรี' หน้าร้านมีวัตถุดิบให้เลือกมากถึง 19 อย่าง เช่น ใบโหระพา พริก ฮอตดอก มะเขือเทศ แฮม ฯลฯ สนนราคาอยู่ที่ 25-30 บาท แพรวมีหน้าที่เป็นคนทอดไข่เจียว ตามออเดอร์ที่ลูกค้าเลือกสรรไส้มาแล้วตามแต่ใจชอบ โดยที่ข้างร้านของเธอ จะมีร้านขายปลาดุกต้มปลาร้า ซึ่งคนขายคือแม่ของแพรวเอง

ตลอดระยะเวลาที่ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้สนทนากับ 'แพรว ปวีณ์ธิดา' เธอเปิดใจกับเราว่า หนึ่งเหตุผลที่ทำให้เธอมาอยู่ตรงนี้ คือ 'แม่' และคำว่า 'ครอบครัว' ซึ่งสองคำดังกล่าว ก็เป็นแรงให้เธอก้าวพ้นคำครหาที่ผ่านเข้ามาในชีวิตได้

...

ทำไมถึงไม่ไปต่อด้านวิศวะ? : 

แพรว เปิดใจกับทีมข่าวฯ ว่า หลังจากเรียนจบวิศวะ พยายามยื่นสมัครงานตามสถานที่ต่างๆ อยู่ประมาณ 2 เดือน แต่กลายเป็นว่าสิ่งที่เรียนมาเหมือนจะสูญเปล่า เรายังไม่มีทักษะหลายอย่างที่บริษัทต้องการ ซึ่งอาจจะต้องไปเรียนต่อเพิ่มเติม

เราจึงถามกลับไปว่า "แล้วไม่ลองเรียนต่อ ป.โท หรือ?"

"ในสายงานของแพรว การต่อ ป.โท  ก็ยังไม่ตอบโจทย์ขนาดนั้น มันยังต้องมีทักษะส่วนตัวอีกหลายอย่างที่สั่งสมมาเรื่อยๆ เช่น การเขียนโปรแกรม หรือบางความรู้ที่ไม่ได้มีสอนทั้งระดับ ป.ตรี และ ป.โท หลายที่ที่ไปสมัคร เขาต้องการความสามารถระดับเชี่ยวชาญ แต่เราอาจจะยังมีความรู้ไม่ถึงจุดนั้น" แพรวตอบ

ปวีณ์ธิดา เล่าต่อว่า เลยตัดสินใจว่ายังไม่เรียนต่อ แต่เลือกมาช่วยงานที่บ้านก่อน ซึ่งตอนแรกช่วยทำงานที่ร้านมินิมาร์ตของแม่ แต่แม่อยากมีรายได้เพิ่ม เขาเลยไปขายของที่ตลาด เราก็ตามไปด้วย เริ่มต้นขายจากปลาดุกต้มน้ำปลาร้า พอปลาดุกเริ่มมีลูกค้าของตัวเอง แม่ก็อยากเพิ่มร้านอีก เลยเป็นที่มาของการขายข้าวไข่เจียว 

ซึ่งในตลาดมีกฎว่า 'ห้ามขายของซ้ำกัน' ตอนแรกแม่ก็เลยยังมองไม่ออก ว่าจะขายอะไรเพิ่ม แต่เขาเลื่อนไปเจอคนทำข้าวไข่เจียวในติ๊กต่อก แล้วที่ตลาดยังไม่มีร้านไข่เจียว พอลงความเห็นกันว่าไข่เจียวบุพเฟต์น่าสนใจ ก็เลยตัดสินใจทำดู 

"ผลตอบรับค่อนข้างดี เพราะว่าตลาดมีนบุรีเป็นเหมือนศูนย์รวมของขนส่ง รถเมล์สุดสาย รถตู้มาสุดสาย สองแถวมาสุดสาย ไข่เจียวก็ได้ไม่เท่าไร เพราะเราขายถูก 25-30 บาทต่อจาน วันนึงได้ประมาณ 3,000-4,000 บาท ใช้ไข่น้อยสุด 5 แผง สูงสุด 8 แผง ส่วนปลาดุกขายได้ต่ำสุด 7,000 บาท สูงสุด 10,000 บาท"

...

ก้าวข้ามคำดูถูกเพราะ 'แม่' : 

ทีมข่าวฯ ถามแพรวว่า จบวิศวะแต่หันมาขายอาหารแบบนี้ เคยโดนดูถูกบ้างไหม?

แพรว ตอบว่า ก็มีนะ มีคนดูถูกบ้างเป็นเรื่องธรรมดา เพราะเขาไม่ได้อยู่ตรงนี้ และไม่ได้เข้าใจเราจริงๆ ช่วงแรกๆ พอคนใกล้ตัวรู้ว่าเรามาขายของ จะมีคำพูดประมาณว่า "เรียนตั้งสูง แต่จบมาขายของตลาดนัด ทำไมไม่ลองไปหางานในสายอาชีพก่อน" แต่ตอนนั้นเราก็ไม่ได้ไปนั่งเล่าหรืออธิบายให้ใครฟัง 

"มีผู้ใหญ่สายตรงโทรมาหาเลย ว่าทำไมไม่ยอมไปทำงานวิศวะ กลับไปคิดดูนะ เรียนจบมาตั้งสูง ไปทำงานที่ตัวเองเรียนมาดีกว่า เราก็รับฟังไว้ แต่ไม่อยากตอบอะไรกลับไป เขาก็บอกว่าไม่ได้บริษัทนี้ ก็ไปบริษัทอื่นสิ มีอีกตั้งหลายบริษัท"

แพรวยอมรับว่า แรกๆ ก็เก็บมาคิดนะ แอบคิดว่าหรือเราไม่ควรอยู่ตรงนี้จริงๆ เพราะเรียนโรงเรียนวิทยศาสตร์มา 6 ปี เรียนวิศวะต่ออีก 4 ปี ดั้นดนมาทำไมตั้งนาน เราตัดสินใจผิดหรือเปล่า คิดวนกับตัวเองอยู่แบบนั้น

แต่สุดท้ายก็รู้สึกว่าคิดไม่ผิด เรามาอยู่ตรงนี้ก็เพราะ 'แม่' เรารู้ว่ามีอีกหลายบริษัทให้ไปสมัคร แต่แม่มีคนเดียว อยากมาดูแลแม่ก่อน ช่วงที่คิดมากเพราะคำพูดคนอื่น พอหันหลังไปแล้วเจอหน้าแม่ ทุกอย่างมันก็จบ เราอยู่ตรงนี้เพราะแม่จริงๆ เราก้าวข้ามคำดูถูกต่างๆ ได้เพราะแม่และครอบครัว

...

แพรวเหลือแม่แค่คนเดียว : 

ตลอดการสนทนา แพรวพูดถึง 'แม่' บ่อยมาก และเธอยังมักจะเน้นย้ำกับทีมข่าวฯ ว่า "แพรวอยู่ตรงนี้ก็เพราะแม่" เราจึงถามกลับว่า เพราะอะไรจึงเป็นเช่นนั้น?

ปลายสายตอบว่า เมื่อก่อนในบ้านจะมีแพรว แม่ ยาย ลุง และลูกพี่ลูกน้อง แต่แม่จะไม่ค่อยได้คุยกับลุงสักเท่าไร ตามทำนองที่เขาเป็นผู้ชาย ถ้ามีเรื่องอะไรแม่ก็จะคุยกับยาย จนกระทั่งยายเสียชีวิตไป แม่ก็เหมือนเหลือแพรวคนเดียว เพราะพ่อกับแม่แยกทางกันตั้งแต่เรายังไม่หัดเดิน เลยอยากมาอยู่ข้างๆ แม่ คอยช่วยเหลือและเป็นกำลังใจให้เขา

"เราคิดว่าตอนนี้เราต้องทำเพื่อแม่บ้างแล้ว ที่ผ่านมาแม่ทำเพื่อเรามาตลอด ตอนที่แม่ยังไม่ท้องเรา เขาก็เป็นคนซ่าเหมือนกัน เกเร กลับบ้านเช้า แต่พอมีเราขึ้นมา แม่ก็ตัดสินใจทิ้งชีวิตแบบนั้น เพราะเขาคิดกับตัวเองว่า คนเหลวแหลกแบบเขา จะเลี้ยงคนคนหนึ่งให้ดีได้ยังไง"

หลังจากนั้นแม่ก็พยายามทำเพื่อเรามาโดยตลอด เขาทำงานหาเงินส่งให้ใช้ แม้ว่าเราจะไม่ค่อยได้ของเล่น แต่ถ้าเราอยากกินอะไรแม่ก็ซื้อให้ อยากกินต้องได้กิน ถึงไม่มีเงินเขาก็จะหามาให้ 

...

หาเวลาให้ครอบครัวเสมอ : 

แพรวเป็นคนที่อยู่ไกลบ้านตั้งแต่ยังเล็ก เธอเล่าว่า ถูกเอาไปฝากเลี้ยงกับน้องของยายที่ จ.ลพบุรี ตั้งแต่อนุบาล 1 ส่วนแม่กับยายอยู่ที่กรุงเทพฯ แพรวจะได้กลับไปหาพวกท่านเฉพาะปิดเทอม นอกจากนั้น ช่วง ม.1-ม.6 แพรวเข้าเรียนที่ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ลพบุรี ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำ และเธอก็ไปเรียนต่อที่เชียงใหม่อีก 4 ปี เรียกได้ว่า เป็นคน 'ไกลบ้าน' มาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม ความห่างไกลไม่ได้ทำให้สายสัมพันธ์ของเธอที่มีต่อครอบครัวน้อยลง 

ปวีณ์ธิดา กล่าวว่า อาจจะเพราะที่ผ่านมาเราต้องไกลบ้าน ต้องอยู่กับตัวเองเยอะ เลยทำให้กลายเป็นคนที่มีเซฟโซน นิ่งๆ ไม่ค่อยยุ่งกับใคร แต่ในใจจะนึกถึงคนที่บ้านตลอด มีเวลาก็จะกลับไปหาเขาให้ได้

"ที่คิดแบบนั้น คงเป็นเพราะในชีวิตนี้เราไม่มีใครเลย อย่างตอนนี้เรามีแค่แม่ ตอนเรียนมีแค่แม่กับยาย ถึงจะไม่ค่อยได้อยู่กับเขา แต่ในความคิดเรามีแค่พวกเขา มันเลยกลายเป็นความผูกพันไปโดยปริยาย เราทำอันนู้นเพื่อแม่ ทำอันนี้เพื่อยาย"

ตอนที่เข้าเรียนมัธยม พยายามสอบให้ได้ทุนก็เพราะอยากช่วยแม่ประหยัด หรือช่วงโควิด ทางมหาวิทยาลัยให้เลือกได้ว่าจะเรียนออนไลน์หรือในห้อง แต่เราก็เลือกเรียนออนไลน์ เพราะจะได้กลับไปดูแลยายที่ป่วยด้วย

"ตอนนั้นกลับมาอยู่กับยายช่วงผ่าตัด มาช่วยดูแลเขา เขาจะได้มีความสุข เราพยายามให้เวลากับครอบครัวมากที่สุดเท่าที่เราทำได้" แพรว กล่าวกับทีมข่าวฯ

แล้วตอนนี้ได้มาอยู่กับแม่มากขึ้น ได้เห็นมุมใหม่ของแม่บ้างหรือไม่?

ปวีณ์ธิดา มองว่า คงจะเป็นมุมที่เขายังมองเราเป็นเด็ก แต่ไม่ใช่เด็กน้อยที่ทำอะไรไม่ได้…เมื่อก่อนถ้ากลับบ้านมา เราไม่ต้องทำอะไรเลย เขาจะคอยถามตลอดว่ากินอะไรไหม โอ๋เราเหมือนเด็กน้อย แต่ทุกวันนี้อยู่กับเขาทุกวัน ต้องตื่นไปตลาด ซื้อของ บริบทของการคุยมันเปลี่ยนไปเป็นงาน ดูโตมากขึ้น แต่ก็ยังมีมุมที่เขามองเราเป็นเด็กน้อย 

แพรวเล่าให้ทีมข่าวฯ ฟัง พร้อมหัวเราะไปพลาง

"ครอบครัวสำคัญมาก" คำสอนจากแม่ถึงแพรว : 

ทีมข่าวฯ สงสัยว่า ทำไมแพรวถึงให้ความสำคัญ หรือนึกถึงครอบครัวได้ขนาดนี้ ทั้งที่ไม่ค่อยได้อยู่ด้วยกันด้วยซ้ำ มีเหตุผลอื่นอีกหรือไม่ นอกจากที่แพรวบอกว่าชีวิตมีแค่ครอบครัว?

ปลายสาย ตอบว่า ไม่แน่ใจนะ แต่อาจจะเพราะถูกสอนมาอย่างนี้ แม่แพรวเริ่มทำงานตั้งแต่อายุ 17 เพื่อส่งเงินให้ที่บ้าน เขาก็เลยติดนิสัยว่า จะทำอะไรต้องคิดถึงครอบครัวก่อน ช่วงประมาณ ป.5 เรากำลังวัยรุ่น ตอนนั้นมีปัญหากับที่บ้านเลยโพสต์ลงเฟซบุ๊ก แม่ก็ส่งข้อความส่วนตัวมาว่า 'ลบเดี๋ยวนี้นะ' เราก็ตกใจ พอลบแล้วเขาโทรมาบอกว่า…

"ทะเลาะกับที่บ้านอย่าไปโพสต์ให้คนอื่นดู คนอื่นเขาจะมองครอบครัวเรายังไง อย่าให้คนอื่นยื่นมือมาในครอบครัวเรา มีอะไรก็คุยกันในบ้าน คุยกับคนนู้นไม่ได้ ก็มาคุยกับคนนี้ เราจะมีปากเสียงกันแค่ไหน ก็อย่าให้คนอื่นรู้"

ครอบครัวสำคัญมาก เราทะเลาะกันได้ วันนี้เราทะเลาะกัน วันข้างหน้าก็อาจจะดีกัน ยังไงก็ใช้นามสกุลเดียวกัน คนอื่นรู้เองไม่เท่าไร แต่อย่าป่าวประกาศให้ใครรู้ หลังจากนั้นเราก็ไม่เคยโพสต์อะไรเกี่ยวกับครอบครัวอีกเลย….. แพรวเล่าคำสอนของแม่ ที่ยังคงชัดเจนในความทรงจำ 

ไม่เสียดาย เพราะนี่คือจังหวะชีวิต : 

เราถามแพรวว่า "เสียดายไหมไม่ได้เรียนต่อหรือทำงานวิศวะ?"

ปลายสายส่งเสียงขึ้นมาว่า "อืม…" และเงียบไปสักแป๊บหนึ่ง ก่อนจะเอ่ยตอบว่า… ไม่นะ แค่รู้สึกว่า ตอนที่สมัครงานแล้วไม่ได้ มีแวบนึงเข้ามาในหัวถามตัวเองว่า "หรือเลือกเรียนสายผิด ทำไมหางานไม่ได้" แต่เราก็คิดได้ว่าสายที่เรียนไม่ได้จบแค่ที่โรงงาน ถ้าเรียนต่อหรือพยายามก็ยังไปได้อีก  

"เรารู้สึกว่า ถ้าคนเราพยายามจริงๆ มันอยู่ตรงไหนก็ได้ ถึงวันนี้แพรวจะขายของอยู่ แต่ถ้าวันหน้าเราไม่อยากทำตรงนี้แล้ว ก็ยังไปต่อสายวิศวะได้ แต่ ณ ตอนนี้ แพรวอยู่ตรงนี้ก่อนดีกว่า ส่วนตัวเราก็ไม่ได้ทิ้งวิศวะ วิศวะก็ยังอยู่กับเรา เรายังได้ชื่อว่าเรียนวิศวะมา มีใบปริญญา มีวุฒิ วศ.บ. ที่กำกับชื่อตัวเองอยู่"

แพรว กล่าวต่อว่า แต่ตอนนี้ทางที่เราเลือก คือ การได้ช่วยและอยู่ข้างๆ แม่ ตอนนี้จังหวะชีวิตให้เราอยู่ตรงนี้ ถ้าแพรวเลือกออกไปทำงานวิศวะ มันอาจจะดีแค่กับเราคนเดียว เราได้เงินเดือน ได้ทำงานตามที่เรียนมา แต่แม่กับคนอื่นๆ จะอยู่ยังไง 

อย่างที่บอก… แพรวเหลือแค่แม่ ตอนนี้บ้านมีอยู่ 4 เสา แต่ละคนเหมือนเสาหนึ่งต้นที่ช่วยกันพยุงบ้านไว้ ถ้าเสาต้นหนึ่งหายไป เสาต้นอื่นจะอยู่กันยังไง บ้านก็ไม่มีความสมดุล ดังนั้น ตอนนี้เราอยู่ตรงนี้ดีที่สุดแล้ว

"ถามว่าเราอยากไปต่อ ใจนึงเราอยากไป แต่ไม่ได้อยากไปในขณะที่แม่ยังต้องใช้ไม้ค้ำ ถ้าเราไปแล้วแม่ล้ม เราจะรู้สึกยังไง เพราะที่ผ่านมาตลอดชีวิต แม่ก็ทำเพื่อเรามาตลอด"

ไม่มีใครหวังดีกับเราเท่าครอบครัว : 

ก่อนการสนทนาจะจบลง ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ถามแพรวว่าอยากจะฝากอะไรถึงคนที่กำลังอ่านเรื่องราวของเราบ้างไหม?

แพรวตอบว่า… อยากฝากเรื่องการให้ความสำคัญกับครอบครัว แต่ต้องออกตัวก่อนว่า อันนี้พูดในมุมมองที่ชีวิตเราที่มีแค่ครอบครัวนะ

"เราคิดว่า พอออกไปพบคนข้างนอก เราไม่ได้รู้ทุกอย่างว่าคนคนนั้นเป็นยังไง ต่อหน้าเขาอาจจะดี ลับหลังเขาอาจจะเอาเราไปว่าร้ายก็ได้ แต่คนในครอบครัวแม้เขาจะตำหนิ แต่ลึกๆ แล้วจะมีความหวังดีให้ เขาอยากให้เราดีขึ้นกว่าที่เป็น"

"คำพูดของคนในบ้าน กับคนนอกบ้านมันต่างกัน ให้พูดคำคำเดียวกัน เราก็จะรู้สึกต่างกัน ดังนั้น ถ้าเป็นเรา เราเลือกฟังคนในครอบครัว เพราะคิดว่าไม่มีใครห่วง และอยากคอยเตือนเราเท่าพวกเขา"

ภาพ : แพรว-ปวีณ์ธิดา เอี่ยมผ่อง

อ่านบทความที่น่าสนใจ :