เหตุใดทำบุญได้บุญ จึงแข็งแกร่งกว่า คำสอนของให้หลุดพ้นทุกข์ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า...
สำหรับ คนไทยหิวบุญ EP.1 “เรา” ได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับรูปแบบต่างๆ ของ “พุทธพาณิชย์” ไปแล้ว ใน EP.2 “อาจารย์วีรยุทธ เกิดในมงคล” อาจารย์ประจำหลักสูตร ศศ.บ. ปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เจ้าของงานวิจัยรูปแบบและวิธีการทางธุรกิจกับพุทธพาณิชย์ในสถาบันพระพุทธศาสนา จะมาให้ข้อมูลอะไรที่น่าสนใจเพิ่มเติมนั้น โปรดค่อยๆ เลื่อนสายตาลงมาอ่านในบรรทัดต่อไปได้เลย
อะไรคือปัญหาที่เกิดกับวัดจากพุทธพาณิชย์
“จากประสบการณ์ที่เคยพบ และติดตามข่าวสารต่างๆ มา หากสามารถจัดสรรปันส่วนกันได้อย่างลงตัวทุกอย่างก็ไม่มีปัญหา หากแต่ที่เรามักเห็นปรากฏอยู่บ่อยๆ ว่ามีปัญหานั้น ส่วนใหญ่เกิดขึ้นเพราะมีการจัดสรรปันส่วนกันไม่ลงตัว” อาจารย์วีรยุทธ กล่าวกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ด้วยน้ำเสียงหนักแน่น
...
การมุ่งหารายได้และผลกำไร ขัดต่อหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาหรือไม่ :
“หากมีการกระทำในลักษณะเช่นนั้น ย่อมผิดพระวินัยแน่นอน เพราะไม่ใช่กิจของสงฆ์” อาจารย์วีรยุทธ ตอบคำถามนี้แทบจะในทันที!
“มีอยู่เรื่องหนึ่งที่ผมอยากแชร์ประสบการณ์นะครับ มีวัดใหญ่อยู่วัดหนึ่งจัดงานบุญประจำปี สิ่งที่น่าแปลกคือมีการให้พระสงฆ์ไปยืนเฝ้าบูทให้เช่าบูชาเครื่องรางของขลังต่างๆ ทั้งๆที่ปกติหน้าที่นี้มักจะเป็นของญาติโยม ด้วยความสงสัยผมเลยไปสอบถาม
ข้อมูลจนกระทั่งได้คำตอบว่า วัดนี้มีพระสองแบบ คือ แบบแรกพระที่ศึกษาปฏิบัติธรรมเขาก็จะส่งพระไปเรียนศึกษาพระธรรมอย่างจริงจังไปเลย ส่วนแบบที่สอง พระที่ไม่ยอมศึกษาด้านพระธรรมเขาก็จะให้ไปช่วยทำงานให้กับวัด”
แล้วการให้พระสงฆ์มาขายของผิดพระวินัยหรือไม่? ทีมข่าวฯ รีบสอบถามโดยพลัน
“ผิด ผิดนะ แต่ว่าแบบนี้เรียกว่าทำผิดเล็กน้อย แบบนี้ปลงอาบัติได้ (หัวเราะ) คือทำผิดแบบนี้ ถือเป็นความผิดในลักษณะชาวโลกติเตียน”
พุทธพาณิชย์รูปแบบได้สามารถทำรายได้มากที่สุด
“นี่คือสิ่งที่ ไม่มีทางที่ใครจะรู้ได้เลย แต่ถ้าหากจะให้ประเมิน ผมขอยกตัวอย่างแบบนี้แล้วกันนะครับ สมมุติว่าหากมีวัดหนึ่งขอเปิดรับบริจาคเพื่อนำเงินไปสร้างโรงพยาบาลสักแห่ง แบบนี้เราก็คงพอจะประเมินได้ว่า…ต้องได้เงินบริจาคจำนวนมากแน่นอน เพราะจะมีการนำเงินไปสร้างโรงพยาบาลถูกไหมครับ!
แต่คำถามที่น่าสนใจ คือ ถ้าหากมีใครไปถามว่า...แล้วเงินบริจาคที่ได้ จะนำไปสร้างโรงพยาบาลเท่าไหร่ เงินเข้าวัดเท่าไหร่ หรือ ถูกหักที่กรรมการวัดเท่าไหร่ สำหรับเรื่องนี้ไม่มีใครตอบได้แน่นอน!
หรืออีกหนึ่งกรณีที่น่าจะพอประเมินได้ว่า พุทธพาณิชย์สามารถทำให้เกิดรายได้จำนวนมาก ก็คือ กรณีที่เกิดกระแสการเช่าบูชาพระเครื่องดัง หรือกระแสที่ทำให้เกิดการเข้าไปสักการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่วัดในช่วงเวลาหนึ่ง
กรณีแบบนี้ก็น่าจะพอประเมินได้ว่า ต้องมีเม็ดเงินจำนวนมากไหลเข้าไปที่วัดจำนวนมากแน่นอน แต่ก็คงเหมือนกับกรณีแรก คือ ไม่มีทางที่จะมีใครรู้ได้เลยว่า...เงินบริจาคจากแรงศรัทธาเหล่านั้นมีจำนวนเท่าไรกันแน่?”
...
จาก 10 รูปแบบพุทธพาณิชย์ที่ค้นพบ รูปแบบใดสามารถหาเงินบริจาคได้มากที่สุด
“ตอบยากนะครับ เพราะผมคิดว่าขึ้นอยู่กับวิธีการในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับรูปแบบนั้นๆ คือ ในทุกๆรูปแบบนั้น หากมีการแฝงกิจกรรมทางการตลาดเข้าไป โดยมักมากจะช่วยให้สามารถระดมเงินบริจาคได้มากขึ้นเป็นปกติ หากแต่ปัจจัยที่ดูเหมือนว่าจะช่วยในเรื่องนี้ได้มากที่สุด ย่อมหนีไม่พ้นเรื่องอิทธิฤทธิ์และปาฏิหาริย์ต่างๆ ที่จะนำไปสู่ความร่ำรวย”
ทำบุญเพื่อตัดกรรมมาจากไหน และมีจริงในพุทธศาสนาหรือไม่
“ผมขอตอบแบบนี้แล้วกันครับ สำหรับพุทธศาสนา หากทำกรรมแล้ว อย่างไรก็ต้องรับผลกรรมนั้น ยกตัวอย่างเช่น องคุลีมาลทำกรรมไว้ แม้บวชเป็นพระแล้วก็ต้องรับผลกรรมที่ก่อไว้ เพราะกรรมมันจะทำงานของมัน
ทีนี้เวลาทำบุญ มันก็คงมาจากความเจริญเติบโตของศาสนาก็เลยทำให้คนคิดว่า บุญเป็นไอเทมพิเศษที่สามารถไปลบล้างอะไรอย่างอื่นได้ ทั้งๆ ที่จริงแล้ว ความหมายของบุญที่แท้จริง คือ เครื่องชำระสันดาน หรือ การทำจิตให้สะอาดสดใสเพื่อจัดการกับกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในสันดานของเรา
ลำดับถัดไป เวลาที่เราทำบุญเราทำกันด้วยอะไรบ้าง ก็ทำด้วย ทาน รักษาศีล และภาวนา แต่ทั้งหมดนั้นเป้าหมายมันไม่ใช่การไปลบล้างกรรม เพราะหากเราทำให้จิตสะอาดสดใสเราก็ไม่ได้ไปก่อกรรมใหม่ที่ไม่ดีถูกต้องไหมครับ
ฉะนั้นสิ่งที่ผมอยากชวนคิด คือ เวลาที่เราทำบุญ เราต้องเข้าใจความหมายของคำว่าบุญด้วย เช่น หากเราบริจาคทาน สิ่งที่คุณจะได้กลับมาคือ ความเสียสละและอิ่มเอิบใจที่ได้ช่วยเหลือคนอื่น ซึ่งแบบนี้เราอาจไม่จำเป็นต้องไปทำที่วัดก็ได้เช่นกัน”
...
คนไทยหิวบุญ และที่หิวบุญเพราะถูกกระตุ้นด้วยพุทธพาณิชย์?
“ผมเชื่อว่า คนไทยไม่ได้หิวบุญนะ แต่คนไทยอาจจะมีความขัดสน หรือ มีความต้องการ แล้วก็คิดว่า การทำบุญแล้วก็จะได้รับบุญ และสิ่งที่ดีๆตามมา โดยเฉพาะโชคลาภวาสนา
ฉะนั้นในความเห็นของผม คนไทยไม่ได้หิวบุญแต่อาจจะต้องการความมั่งคั่ง ซึ่งประเด็นนี้น่าจะเป็นภาพสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า...คนไทยส่วนใหญ่อาจจะมีปัญหาเรื่องระบบเศรษฐกิจในตัวของตัวเองพอสมควร เพราะถ้าคนไม่มีปัญหาในชีวิตก็คงไม่ไปเข้าวัดทำบุญกันหรอก
เพราะในความเป็นจริง เป็นเรื่องยากมากที่จะเห็นว่า คนไทยอยากจะเข้าวัดนั่งสมาธิ ฟังธรรม เพื่อขัดเกลากิเลส เพราะวันนี้พูดคำหยาบมากเกินไป (หัวเราะ) อะไรแบบนี้เป็นต้น
ถ้าเป็นแบบนี้วัตถุประสงค์ในการเข้าวัดของคนไทย ก็ไม่ใช่เพราะต้องการหลุดพ้นทุกข์ ตามคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใช่ไหมครับอาจารย์? ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รีบขอความเห็น
“ผมขอตอบแบบนี้แล้วกันครับ ผมคิดว่า คนไทยไม่ได้หิวบุญ เพียงแต่ประโยชน์ที่คนไทยส่วนใหญ่ต้องการ จากการเข้าวัด มันอาจจะเป็นคนละประโยชน์กับที่ศาสนาพุทธจะให้ เพราะศาสนามีหน้าที่ชี้ให้เห็นว่า ประโยชน์ที่ศาสนาจะให้นั้นแท้จริงแล้ว…ไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจ หรือ ความร่ำรวย แต่เป็นเรื่องของการให้ภาวะจิตใจที่สงบ มีสติ และสามารถหักห้ามตัวเองได้ เวลาที่จะไปทำอะไรที่จะนำมาซึ่งความทุกข์และความชั่วร้ายต่างๆ หรือ พูดง่ายๆ คือ รู้ทันตัวเองและมีสติ
นอกจากนี้ สิ่งหนึ่งที่ต้องไม่ลืม คือ เราจะเห็นได้ว่าคนไทยส่วนใหญ่มักไปเข้าวัดทำบุญเพราะต้องการแก้ไขความไม่สบายใจเป็นครั้งคราวเท่านั้น เช่น อาจจะไม่สบายใจเพราะเพิ่งไปทำแท้งมาก็เลยอยากจะไปเข้าวัดทำบุญอุทิศส่วนกุศลเพื่อให้เกิดความสบายใจ หรือ อาจจะไม่ถูกใจเจ้านายก็เลยไปบูชาพญาครุฑสักหน่อย เป็นต้น
...
ฉะนั้น เราคงไปเหมารวมเลยว่าคนไทยเข้าวัดเพราะหิวบุญไม่ได้ เพราะความหมายของคำว่าหิวบุญ คือ จะต้องไปทุกวาระโอกาส เจออะไรก็จะต้องทำบุญ ซึ่งคนไทยเราไม่ได้ถึงขนาดนั้น”
เพราะอะไรความเชื่อทำบุญได้บุญ จึงแข็งแกร่งกว่า คำสอนให้หลุดพ้นทุกข์
“เพราะมันถูกทอนมาให้ง่าย เพื่อให้คนส่วนใหญ่เข้าใจ เหมือนกับที่เราได้ยินกันมาตั้งแต่เด็กๆว่า ไปเข้าวัดทำบุญ เราก็ได้บุญ ไปเข้าวัดฟังธรรม เราก็ได้บุญ ทำบุญแล้วได้ดีเราก็ทำกันไว้ก่อน
ซึ่งเราได้ยินแบบนี้กันมายาวนานจนกระทั่ง เราไม่รู้หรือพยายามตั้งคำถามว่าที่แท้จริงแล้ว…บุญคืออะไร รวมถึงบุญสามารถทำได้ในหลายรูปแบบ?”
ขอถามย้ำอีกครั้งครับว่า รายได้หรือผลกำไรที่วัดได้รับจากพุทธพาณิชย์ในรูปแบบต่างๆ ส่วนใหญ่อยู่ที่วัด พระสงฆ์ หรือ คณะกรรมการวัดครับ?
“คำถามนี้ เป็นคำถามที่ตอบไม่ได้ (หัวเราะ) เพราะคงต้องไปถามเจ้าอาวาส หรือ กรรมการวัด เพราะผมเองก็คงไม่อาจล่วงรู้ได้จริงๆ (หัวเราะ)”
สุดท้ายเมื่อวัดสามารถทำรายได้จากพุทธพาณิชย์ได้สูงและตรวจสอบได้ยาก จะเป็นอันตรายสำหรับการแฝงตัวของกลุ่มอาชญากรหรือไม่?
“คำตอบนี้ ผมว่าเราคงได้เห็นจากเรื่องอื้อฉาวต่างๆที่เกิดขึ้นกันแล้ว แต่เอาเข้าจริงๆ นอกจากวัดแล้ว ทุกที่ก็สามารถกลายเป็นแหล่งฟอกเงินของอาชญากรได้ มูลนิธิต่างๆ ก็เป็นแหล่งฟอกเงินได้ ฉะนั้น ทุกอย่างขึ้นอยู่กับคนว่าจะมีความสุจริตในหน้าที่มากน้อยแค่ไหน
นอกจากนี้อีกประเด็นที่ผมอยากจะตั้งข้อสังเกต คือ ความพยายามที่จะมีการออกกฎต่างๆออกมาเพื่อพยายามควบคุมจากองค์กรภายนอกนั้น เอาเข้าจริงๆบางทีมันอาจกลายเป็นช่องทางให้ข้าราชการบางคน สามารถเข้าไปแชร์ผลประโยชน์ได้ด้วยซ้ำไป
ฉะนั้น สิ่งที่ผมอยากให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมโดยเร็ว คือ การสร้างระบบและพระสงฆ์ที่ดีออกมาให้ได้มากที่สุด เพราะเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า พระสงฆ์ที่ดี ที่ไม่เข้าไปยุ่งกับอะไรพวกนี้ มีอยู่จริง!
รวมถึงพยายามให้ความรู้กับประชาชนว่า เรื่องแบบนี้ไม่ได้ทำให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองกับศาสนาอย่างแท้จริง และเรื่องแบบนี้ควรแยกออกไปให้เด็ดขาดเลยว่าควรเป็นหน้าที่ของมูลนิธิหรือภาคเอกชนต่างๆ โดยที่วัดไม่ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องใดๆ ผมคิดแบบนี้นะครับ”
อ่านมาถึงตรงนี้ “คุณ” เริ่มสงสัยเหมือน “เรา” แล้วใช่ไหมว่าเพราะอะไร “วัด” จึงตรวจสอบการเงินได้ยาก และมีความเสี่ยงแค่ไหนสำหรับการถูกใช้เป็นสถานที่ฟอกเงินของกลุ่มอาชญากร หากสนใจ สามารถติดตามอ่านต่อได้ใน “ซีรีส์สกู๊ปคนไทยหิวบุญ EP.3 ต่อไป”
กราฟิก Anon Chantanant
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง :