แลกเปลี่ยนมุมมองพระพุทธศาสนา กับ 'ผศ.ดร.สมพรนุช ตันศรีสุข' มองการยึดติดตัวบุคคลอาจไม่ใช่เรื่องผิด แต่ต้องไม่ลืมศึกษาหลักธรรมที่เป็นแก่นแท้ คนรุ่นใหม่เมินศาสนาไม่ใช่เรื่องแปลก เหตุข่าวเสียพระสงฆ์มีให้เห็นมาก จนภาพจำเริ่มเปลี่ยนไป
'ความไม่ยึดมั่นถือมั่น' เป็นหนึ่งในหลักธรรมที่สำคัญของพระพุทธศาสนา เพราะหากใจปล่อยวางได้แล้ว ย่อมเป็นส่วนประกอบนำไปสู่การหลุดพ้นจากสังสารวัฏได้ในที่สุด…
อย่างไรก็ตาม เราจะสังเกตเห็นได้ว่าชาวพุทธบางคน ยังยึดติดอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเสมอ โดยเฉพาะ 'ยึดติดในตัวบุคคล' นั่นก็คือพระสงฆ์ผู้สืบทอดศาสนา แต่เมื่อมีการยึดติดและส่งต่อความเชื่อ จนพระบางรูปโด่งดัง ก็ใช่ว่าทุกรูปจะปฏิบัติดีเสมอไป
มีข่าวจำนวนไม่น้อยที่พระสงฆ์ใช้แรงศรัทธาของประชาชน เพื่อช่วงชิงสร้างประโยชน์แก่ตนเอง จนกระทั่งนำมาซึ่งภาพจำไม่ดีที่มีต่อพระพุทธศาสนา ถึงกระนั้น การยึดติดในตัวบุคคลก็ยังมีให้เห็น จนนำมาซึ่งเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าว ที่ปรากฏภาพเดิมๆ ให้เห็นอยู่ 'ครั้งแล้วครั้งเล่า'
แล้วเพราะเหตุใดเราจึงยึดติดตัวบุคคล?
มีวิธีที่จะสามารถก้าวข้ามความยึดติดนั้นได้หรือไม่?
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ขอนำพาผู้อ่านทุกคน ไปเข้าใจกับเรื่องนี้ให้มากขึ้น ผ่านการสนทนาและมุมมองจาก 'ผศ.ดร.สมพรนุช ตันศรีสุข' อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
...
รากฐานการยึดติด :
ผศ.ดร.สมพรนุช มองว่า การบูชาตัวบุคคลเปรียบเสมือน 'ปรากฏการณ์' ของสังคม เรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่เฉพาะทางศาสนา แม้แต่ทางการเมืองก็สามารถเห็นเรื่องลักษณะนี้ได้ คนเรามักจะยึดโยงกับตัวบุคคล มากกว่าการดูที่หลักการ อุดมการณ์ หรือความคิดที่เป็นสำคัญ คราวนี้เมื่อคนหนึ่งได้รับความนิยม สิ่งใดที่เกี่ยวข้องกับคนนั้นก็จะได้รับความนิยมไปด้วย
ทีมข่าวฯ สอบถามต่อไปว่า มีรากฐานใดหรือไม่ ที่ทำให้คนไทยยึดติดกับตัวบุคคล มากกว่าแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา?
ทรรศนะของ ผศ.ดร.สมพรนุช ที่มีต่อคำถามนี้ คือ เรามองว่า เรื่องเชื่อในตัวบุคคล เป็นความคิดทางศาสนาที่มีมาตั้งแต่โบราณ แสดงถึงการยึดมั่น และเชื่อมั่นผู้ที่มีความเกร่งกล้าสามารถ คล้ายกับมองว่าเป็น 'ฮีโร่' ซึ่งถ้ามองดีๆ แล้ว พระพุทธเจ้าพระองค์ก็มีความเป็นฮีโร่อยู่เช่นกัน
"อย่างในประเทศไทย ความคิดดั้งเดิมมีผลมาก ที่ทำให้เรายึดตัวติดบุคคล หรือคุณวิเศษบางอย่างที่อยู่ในบุคคลนั้น มากกว่าที่จะไปยึดหลักการของพระพุทธศาสนา"
อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ กล่าวต่อว่า แต่สิ่งที่พระพุทธเจ้าต้องการสอน นั่นก็คือหลักการที่พระองค์ทรงค้นพบจากการตรัสรู้ ได้แก่ อริยสัจ 4 ที่พูดถึงเรื่องของความทุกข์ และการหลุดพ้นจากทุกข์ สิ่งนี้ต่างหากที่เป็น 'พระพุทธศาสนา' แต่เมื่อศาสนาสืบทอดต่อกันมานับพันปี แน่นอนว่าย่อมมีความคิดพื้นเมืองเข้าไปผสมผสาน
ยึดติดตัวบุคคลได้ แต่ต้องศึกษาแก่นธรรมด้วย :
ผศ.ดร.สมพรนุช การยึดตัวบุคคล การยึดเป็นที่พึ่งทางใจ การได้สนทนาแล้วสบายใจ อยากเข้าใกล้ ฯลฯ มันคือสิ่งที่เป็นปฐมภูมิ เป็นเพียงขั้นต้น แก่นของพระพุทธศาสนาต้องไปไกลกว่านั้น จะไม่ยุ่งไม่ยึดติดตัวบุคคล เราต้องพึ่งตัวเอง ต้องเข้าใจว่าชีวิตเป็นทุกข์ได้อย่างไร และจะออกจากทุกข์นั้นได้อย่างไร
การนับถือพุทธศาสนาเราต้องเล่าเรียนด้วย ต้องศึกษาจากตัวบทและคัมภีร์ที่เป็นหลักการ ถ้าไม่ได้ศึกษาจากหลักการเลย แต่ไปเน้นอยู่ที่ตัวของบุคคล ศาสนาพิธี หรือพิธีกรรมต่างๆ ก็จะทำให้คนไปยึดติดกับตัวบุคคล
"การศึกษาพระพุทธศาสนาตามหลักการ ต้องมีผู้ให้ความรู้ที่ถูกต้อง พยายามที่จะสอนหลักศาสนา แต่สุดท้ายแล้ว ผู้สอนก็ไม่พ้น 'พระภิกษุ' หรือ 'พระอาจารย์' สุดท้ายคนเราก็จะไปติดอยู่กับพระอาจารย์ ตามที่เราเห็นว่ามีชาวพุทธจำนวนมาก ไปแสดงหาครูบาอาจารย์ดังๆ มากกว่าการแสวงความรู้ทางหลักธรรม"
...
อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ กล่าวต่อว่า ในบรรดาของพระชื่อดัง มีทั้งที่เป็นของจริงและไม่จริง ถ้าเป็นของจริง ผู้ที่เข้าไปก็จะได้รับผลประโยชน์ จากการได้ศึกษาเล่าเรียนหรือฝึกปฏิบัติกับพระรูปนั้นๆ แต่ถ้าเกิดว่าเป็นของไม่จริง สุดท้ายประชาชนก็จะถูกหลอก อย่างเช่นคดีของ หลวงปู่เณรคำ
สำหรับเราในจุดนี้ จะยึดติดตัวบุคคลอาจไม่ใช่เรื่องผิด แต่ต้องไม่ลืมว่าอะไรคือสิ่งสำคัญ นั่นก็คืออริยสัจ 4 ความเข้าใจสิ่งที่ต่างๆ ตามความเป็นจริง ความเข้าใจสภาพไตรลักษณ์ ความไม่เที่ยงของขันธ์ 5 การที่พยายามที่จะปฏิบัติธรรมตามหลัก ศีล สมาธิ ปัญญา นี่คือหลักการ
"พระสงฆ์เป็นเพียงผู้สืบทอดศาสนา ท่านก็ปฏิบัติเพื่อตัวท่านเอง และแบ่งปันความรู้ให้พุทธศาสนิกชน เพื่อให้ทุกคนนำไปเป็นความรู้ ต่อยอดสู่วิธีทางปฏิบัติเพื่อตนเอง"
กรณีตัวอย่าง (อดีต) 'พระมิตซูโอะ' :
กรณีตัวอย่างที่ ผศ.ดร.สมพรนุช ยกประกอบการอธิบายว่า เข้าข่ายลักษณะ 'การยึดติดตัวบุคคล' คือกรณีของ (อดีต) 'พระมิตซูโอะ' โดยได้อธิบายว่า ท่านเป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่ชา ในสายของท่านเป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ตั้งใจสืบทอดศาสนา มีลูกศิษย์มากมาย มีพระที่เป็นนักปฏิบัติ แล้วไปสร้างวัดตามสถานที่ต่างๆ
...
ส่วนพระมิตซูโอะ ช่วงที่ท่านยังอยู่ในสมณเพศ ท่านเป็นพระรูปหนึ่งที่น่าเคารพนับถือ แต่เมื่อวันหนึ่งมีเหตุปัจจัยต่างๆ เข้ามา ทำให้ท่านจำเป็นต้องเปลี่ยนการใช้ชีวิตจึงตัดสินใจลาสิกขา มันก็เป็นเรื่องปกติที่ท่านจะทำได้ แต่ก็จะมีคนไทยบางกลุ่มที่รับไม่ได้กับเรื่องนี้
"กรณีนี้แสดงให้เห็นว่า คนอาจจะไม่ได้เข้าหาพระมิตซูโอะเพราะเรื่องหลักธรรม แต่เข้าหาเพราะคุณสมบัติบางอย่างของท่าน การเคารพในคุณลักษณะที่เป็นพระดี ซึ่งคนไทยติดเรื่องลักษณะนี้ มากกว่าที่จะมองแค่ว่าท่านเป็นเพียงแค่พระสงฆ์ผู้สืบทอดศาสนา"
ผศ.ดร.สมพรนุช กล่าวต่อว่า เรื่องนี้แสดงถึง 'การยึดติดในตัวบุคคล' แทนที่จะมองว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม การยึดติดกับตัวบุคคลไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ต้องเรียนรู้แนวคิด หลักธรรม กระบวนการทางศาสนาด้วย อย่างเรื่องของพระมิตซูโอะ เราก็ควรมองว่าเป็นเรื่องขันธ์ 5 ทุกอย่างย่อมเปลี่ยนแปลงไม่แน่นอน
แนวคิด 'กัลยาณมิตร' :
แม้การยึดติดตัวบุคคลจะไม่ใช่หลักการของพระพุทธศาสนา แต่ ผศ.ดร.สมพรนุช บอกว่า การกระทำลักษณะนี้มีสิ่งที่ศาสนารองรับอยู่ นั่นก็คือเราจะรู้สึกว่า 'เหมือนได้อยู่ใกล้กัลยาณมิตร'
...
อาจารย์ ขยายความว่า กัลยาณมิตร หรือ ผู้มีบุญมาก เป็นเรื่องที่ฝังอยู่ในความคิดของคนไทยมาช้านาน เพราะเราต่างมองหาคนที่เป็นผู้นำ และต้องยอมรับว่า 'พระสงฆ์' เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณมาตั้งแต่โบราณ ในประวัติศาสตร์ไทย เราก็มักจะมองหาคนที่มีความรู้ และมีคุณธรรมสูงส่งเป็นผู้นำ ซึ่งคนมีภาพจำว่าพระสงฆ์มีสิ่งที่กล่าวมา และปัจจุบันก็ยังคงเป็นอยู่
"เมื่อคนมีความรู้สึกแบบนั้น มันก็ดึงดูดให้คนมีศรัทธาในลักษณะนี้ ทีนี้ถ้าไม่ได้ไตร่ตรองให้ดี ก็อาจจะเข้าใจอะไรผิดๆ" ผศ.ดร.สมพรนุช กล่าว
ทำอย่างไรจึงจะเลิกยึดติดตัวบุคคล? :
คราวนี้… ถ้าการยึดติดตัวบุคคล ไม่ใช่แนวทางของพระพุทธศาสนา เราจึงสงสัยและสอบถามอาจารย์ว่า จะมีวิธีใดบ้างที่ช่วยให้ก้าวข้ามความรู้สึกเหล่านั้นได้?
ผศ.ดร.สมพรนุช แสดงความคิดเห็นว่า เรายังคงเชื่อในเรื่อง 'การศึกษา' สิ่งที่ถูกต้อง ซึ่งมันยากเพราะเป็นนามธรรม เป็นอะไรที่เข้าใจยาก และปฏิบัติได้ยาก แต่กลับกันเมื่อเราเข้าหาอาจารย์ท่านหนึ่ง ที่เราเชื่อว่าเขาศักดิ์สิทธิ์ มีคุณวิเศษ มันเข้าถึงง่ายมากกว่า
"การได้รับการศึกษาอย่างถูกต้อง จะช่วยพัฒนาเรื่องของวิจารณญาณ ซึ่งจะเป็นเหมือนกรอบ ที่ทำให้แต่ละท่านได้สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ตนเองที่สุด หรือว่าหลีกเลี่ยงการถูกหลอกลวง"
เมื่ออาจารย์ผู้ให้สัมภาษณ์ยังมองว่า การศึกษาเป็นเรื่องที่อยาก ทีมข่าวฯ จึงถามต่อไปว่า แล้วเรายังจะมีความหวังให้สังคมไทยก้าวข้ามเรื่องนี้ได้หรือไม่?
ผศ.ดร.สมพรนุช ตอบว่า เราต้องบอกว่า "อยากให้มองแบบมีความหวัง" เราต้องมีความหวังไว้ก่อนไม่งั้นจะอยู่ลำบาก ถ้าเห็นแต่ข้อเสียอย่างเดียวจะทำให้เรารู้สึกว่าชีวิตไม่มีความหวัง
การภาวนาขอพรไม่ใช่เรื่องผิด :
อีกหนึ่งคำถามที่น่าฉงน คือเมื่อศาสนาพุทธสอนให้หลุดพ้น แต่ผู้คนต่างยังมุ่งมั่น 'ขอพร' และอ้อนวอนต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แล้วนี่ถือเป็นเรื่องผิดหรือไม่ควรหรือไม่?
ข้อสงสัยนี้ ผศ.ดร.สมพรนุช มองว่า การขอพร หรืออธิษฐานเรื่องต่างๆ ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะในทางศาสนามีสิ่งที่เรียกว่า 'อธิษฐานบารมี' คือ การตั้งจิตให้มั่น เหมือนการตั้งความหวัง ตั้งความปรารถนา เซตเป้าหมายว่าเราจะไปถึงอะไร หรืออยากได้อะไร แต่ตามหลักการแล้ว การที่เราวางเป้าหมายอย่างเดียว โดยที่ไม่ลงทำอะไร ความสำเร็จในเรื่องนั้นก็เป็นไปไม่ได้เลย
"การไปอธิษฐานกับพระ ทำให้มีที่พึงทางใจ กลายเป็นคนที่มีหวัง สภาพชีวิตที่อยู่โดยไร้หวังเป็นเรื่องที่แย่มากเลยนะพราะจะทำให้เราไม่อยากมีชีวิตอยู่ ดังนั้น การที่เรามีความหวัง แล้วฝากความหวังไว้ที่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ มันจะช่วยเป็นแรงผลักดันให้เรามีแรงกาย แรงใจ ที่จะดำเนินชีวิตต่อไป"
อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ แสดงทรรศนะต่อว่า ดังนั้น เรามองว่านี่ไม่ใช่เรื่องผิด แต่ต้องระลึกว่าขออะไรต้องปฏิบัติ มันก็เข้ากับหลักการของศาสนาอีก เป็นเรื่องของ 'กรรม' ก็คือ 'การกระทำ'
มูเตลู-กุศโลบาย :
อีกหนึ่งกระแสที่ตีคู่กันมากับการยึดติดตัวบุคคล นั่นก็คือเรื่อง 'มูเตลู' เราจะเห็นได้ว่าหลายคนเลือกที่จะเมินพุทธศาสนา แต่หันไปพึ่งพาเครื่องรางของขลัง ซึ่ง ผศ.ดร.สมพรนุช มองว่า เรื่องนี้เหมือนเป็น 'ไสยศาสตร์ยุคใหม่' เป้าหมายของการบูชาตรงนี้ ก็เพื่อจะให้ได้สิ่งที่ต้องการเท่านั้น คนก็จะแสวงหาของต่างๆ มา ซึ่งนี่ก็ถือว่าผิดหลักการของศาสนา
แต่อย่างไรก็ดี ในความเป็นจริงศาสนาพุทธก็มีเรื่องทำนองนี้ แต่เราจะยึดถือในลักษณะที่เป็น 'กุศโลบาย' มากกว่า เช่น คุณได้รับพระเครื่องไป แต่ถ้าต้องการจะบูชาพระองค์นี้ แล้วให้ได้ดี ต้องเป็นคนที่มีศีล มีสัตย์ มีคุณธรรม จึงจะสามารถรักษาคุณวิเศษของพระองค์นั้นได้ มันเป็นกุศโลบาย เพื่อให้ผู้ชาปรับตัวให้ดีขึ้น ไม่ใช่เพียงการเช่าบูชาหรือครอบครอง
คนรุ่นใหม่เมินศาสนาไม่ใช่เรื่องแปลก :
เราจะเห็นได้ว่าในหมู่คนรุ่นใหม่ กระแสการเข้าวัดทำบุญเริ่มลดลงเรื่อยๆ หลายคนเลือกที่จะเมินพระพุทธศาสนา หรืออาจจะไม่นับถือศาสนาใดเลยเสียด้วยซ้ำ ไม่ก็เน้นการกราบไหว้บูชาตามโอกาส และช่วงเวลาที่ตนอยากได้สิ่งที่ต้องการ
อย่างไรก็ดี ผศ.ดร.สมพรนุช รู้สึกว่า การที่คนรุ่นใหม่เมินศาสนาไม่ใช่เรื่องแปลก ส่วนหนึ่งก็มาจากเพราะเขาเห็นข่าวที่ไม่ค่อยดีเกี่ยวกับพระ ที่ถูกถ่ายทอดผ่านสื่อ มีข้อมูลมากมายที่พวกเขาเห็น ทั้งดีและเสีย เพียงแต่ว่าเราจะสื่อสารให้เขาเห็นได้อย่างไร ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันเป็นเรื่องธรรมดา ในหลักการของศาสนาต่างหากมีของดีอยู่
"จะทำอย่างไรให้เขาเข้าใจว่า พระพุทธศาสนาไม่ใช่พระสงฆ์ แต่พระสงฆ์เป็นเพียงส่วนหนึ่งของศาสนา เป็นเพียงแค่ผู้สืบทอด และจริงๆ แล้วพระสงฆ์เหล่านั้นก็เป็นเหมือนเรานี่แหละ เพียงแต่เขาไปนุ่งห่มผ้าเหลือง แล้วอยู่ในพระวินัย ซึ่งบางท่านก็ทำได้ ปฏิบัติดี แต่บางท่านก็ทำไม่ได้ เลยออกมาในลักษณะการนอกรีตนอกรอย มันอยู่ที่การให้ความเข้าใจที่ถูกต้อง"
ผศ.ดร.สมพรนุช กล่าวต่อว่า เรื่องพระนอกรีตมีมาตั้งแต่อดีต เพียงแต่ไม่มีสื่อกระแสจึงยังไม่กว้างเท่าปัจจุบัน เดี๋ยวนี้เราเห็นได้ทุกอย่าง แล้วอะไรที่เป็นเรื่องดี เป็นเรื่องสามัญที่พระต้องปฏิบัติ คนก็ไม่เอามาลงเป็นข่าว แต่อะไรที่ผิดประหลาดจะเป็นข่าวเสมอ คนจึงสูญเสียศรัทธาแห่งศาสนา
"ตอนนี้กลายเป็นว่าพระสงฆ์ เป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนาไปแล้ว ซึ่งจริงๆ มันไม่ใช่" อาจารย์กล่าวเน้นย้ำกับเรา
ความท้าทายในวันที่คนมีความเป็นปัจเจกสูง :
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาอาจารย์เชื่อว่า สังคมเราก็ดูมีความพยายามจะทำให้ศาสนาดีขึ้น โดยองค์กรของรัฐ เอกชน หรือหน่วยงานใดก็ตาม แต่สิ่งที่เป็นความท้าทายในยุคนี้ คือ โลกสื่อโซเชียล และความเป็นปัจเจกนิยมบุคคล สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดความยาก ที่จะทำให้ทุกคนคิดหรือทำเหมือนกัน
เราเผยแพร่ความคิดได้ระดับหนึ่ง แต่สุดท้ายแล้วเป็นเรื่องของ 'ปัจเจก' ที่จะเลือกเชื่อหรือไม่ อิทธิพลของสื่อยุคนี้แรงมาก ทำให้ข่าวสารแพร่สะพัดไปหลากหลาย ดังนั้น ความเชื่อทุกวันนี้ เราไม่สามารถบอกได้เลยว่ามีอยู่กี่อย่าง หรือมีอะไรปะปนมาบ้าง
อย่างเรื่องของ 'มูเตลู' คนที่ทำเรื่องนี้ไม่ได้มีแค่กลุ่มพระพุทธศาสนาเท่านั้น แม้กระทั่ง ฤาษี ชีไพร ไม่รู้มาจากไหน ตั้งตัวเป็นอาจารย์ ตั้งตัวเป็นเอกชน เป็นคนมีความรู้ ซึ่งถ้ามีคนศรัทธา พร้อมใช้เข้าไปบริการ เขาก็สามารถไปต่อได้ และก็วนกลับมาเรื่องยึดตัวบุคคล
"ปัจจุบันเรื่องความคิดปัจเจกบุคคล มีมากขึ้นกว่าในอดีต มากเกินที่รัฐจะควบคุมสื่อ ความคิด หรือความเชื่อทางศาสนาได้ ซึ่งทุกวันนี้มีสื่อให้เราค้นหามากขึ้น อยู่ที่ว่าเราจะแสวงหาองค์ความรู้ดีๆ จากไหน"
อ่านบทความที่น่าสนใจ :