วิเคราะห์สถานการณ์ หลัง สส.มะกัน ผ่านร่างแบน TikTok ผู้เชี่ยวชาญชี้ อาจทำความสัมพันธ์ สหรัฐฯ-จีน แย่ลง ด้านอเมริกาอาจถูกตั้งคำถามถึง 'สิทธิและเสรีภาพ' ซึ่งเป็นหัวใจหลักแห่งรัฐธรรมนูญของประเทศ!13 มีนาคม 2024 ซึ่งผ่านมาไม่กี่วันนี้เอง! สภาชิกสภาผู้แทนสหรัฐฯ มีมติ 352-65 เสียง สนับสนุนร่างกฎหมาย Protecting Americans from Foreign Adversary Controlled Applications Act หรือกฎหมายปกป้องชาวอเมริกันจากแอปพลิเคชันที่ควบคุมโดยปรปักษ์ต่างชาติกฎหมายนี้กำหนดให้ถอดแอปพลิเคชันที่อยู่ภายใต้บริษัท 'ไบต์แดนซ์' (ByteDance) ออกจาก App Store รวมไปถึง Web hosting ในสหรัฐฯ โดยขีดเส้นตายว่า หากไม่แยกตัวออกจากไบต์แดนซ์ภายใน 6 เดือน จะถูกแบนในสหรัฐฯ!!! แอปพลิเคชันที่กลายเป็นประเด็นและถูกพูดถึงมากที่สุด คือ 'ติ๊กต่อก' (TikTok) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ที่กำลังทรงอิทธิพลอย่างมากในสหรัฐอเมริกา เพราะมีผู้ใช้งานมากกว่า 170 ล้านบัญชี และเนื่องจากติ๊กต่อกอยู่ภายใต้บริษัทสัญชาติจีนอย่างไบต์แดนซ์ ทำให้ สส.สหรัฐฯ มองว่า ติ๊กต่อกเป็นเครื่องมือของรัฐบาลจีน ในการล้วงความลับและข้อมูลของสหรัฐฯ เหตุการณ์นี้ได้รับความสนใจไปทั้งโลก เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ 2 ชาติมหาอำนาจ ด้วยเหตุนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จึงได้ยกโทรศัพท์ต่อสายตรงไปถึง 'ร้อยเอก ดร.จารุพล เรืองสุวรรณ' อาจารย์ประจำสถาบันการทูตและการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยรังสิต และผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ เพื่อร่วมวิเคราะห์สถานการณ์ที่กำลังร้อนระอุ! ความกังวลของสหรัฐฯ ถึงความมั่นคงของประเทศ : ดร.จารุพล มองว่าสถานการณ์ที่กำลังเป็นอยู่มีหลายมิติ แต่ล้วนเกี่ยวข้องกับ 'ความมั่นคง' ซึ่งมิติแรก สภาของสหรัฐฯ มองว่า การออกกฎหมายฉบับนี้ เป็นการป้องกันคนในประเทศ ในเรื่องของข้อมูล เนื่องจากปัจจุบัน 'ข้อมูล' มีค่ามาก มันนำไปสู่ความอ่อนไหว และความเปราะบางหลายอย่างได้ ข้อมูลออนไลน์กลายเป็นเรื่องสำคัญมาก อีกทั้งเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับโลกไซเบอร์ กลายเป็นส่วนหนึ่งของตัวชี้วัดอำนาจ อย่างไรก็ตาม โลกดังกล่าวมีทั้งบวกและลบ สังคมไหนที่มีการพัฒนาและพึ่งพาเทคโนโลยีสูง ก็ยิ่งเพิ่มความเปราะบางเรื่องการถูกโจมตีและล้วงข้อมูล "สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่พึ่งพาเทคโนโลยีเยอะ เชื่อมโยงโลกไซเบอร์และความเป็นจริงเข้าด้วยกัน ทำให้เขามองเห็นด้านมืดของมันด้วย เขาจึงกลัวว่าแอปพลิเคชันที่มาจากจีน จะทำลายความมั่นคงของประเทศ" "เมื่อเป็นเช่นนั้น ทำให้สหรัฐฯ ตระหนักถึง 'ความเปราะบาง' จึงพยายามอุดรอยรั่วทุกทาง เพื่อป้องกันคนเข้าสู่ข้อมูล ซึ่งในโลกปัจจุบัน ถ้าถามว่ามีการล้วงข้อมูลคอมพิวเตอร์กันจริงไหม ก็ต้องบอกว่ามี และมีมาตลอด ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ แค่ใครเก่งก็ทำก่อน"กูรูความมั่นคงระหว่างประเทศ กล่าวต่อว่า เรียกว่านี่เป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขันเทคโนโลยี ที่สอดแทรกมิติความมั่นคง หรือจะบอกว่า เป็นการแข่งขันด้านความมั่นคง โดยใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือก็ได้ เพราะประเทศที่มีการแข่งขันกันทางเทคโนโลยี เขาไม่ต้องการให้เทคโนโลยีของคู่แข่ง เข้ามามีบทบาทในสังคมของตนเองสำหรับอีกมิติหนึ่ง แพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งรวมไปถึง 'TikTok' ด้วย มีกลไกทำให้คนเสพติด อีกทั้งสามารถสร้างแรงจูงใจ และโน้มน้าวใจได้ทั้งเรื่องจริงและไม่จริง หากจะมองว่านี่เป็น 'ซอฟต์พาวเวอร์' ก็ย่อมได้ "เมื่อสหรัฐฯ รู้ว่าสิ่งนี้มีพลังอำนาจทางสังคม เขาก็ต้องพยายามบล็อกเพื่อไม่ให้คนในประเทศคล้อยตาม หรือโดนจูงใจไปสนับสนุนผลประโยชน์ของชาติอื่น เพื่อความมั่นคงทางการเมือง และความมั่นคงด้านอื่นที่จะตามมา สถานการณ์นี้ก็ไม่ต่างจากที่จีนบล็อกยูทูบ เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม หรือหลายแพลตฟอร์มที่มาจากอเมริกา"เลกเชอร์เรื่องนี้ชัดเจนยิ่งขึ้น เมื่อจากกูรูความมั่นคงระหว่างประเทศ ยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นให้เราฟังว่า ไม่ใช่เรื่องแปลก มันมีการเจือปนมิติการเมืองระหว่างประเทศ สิ่งเหล่านี้ทำให้คนอเมริกันหลายคนเสพติด อย่างที่เห็นตอนนี้ คือ เริ่มมีคนออกมาคัดค้านเรื่องการแบน ชาวอเมริกันบางคนออกมาบอกว่า พวกเขาได้ประโยชน์ ร่ำรวย และสร้างตัวได้ จาก TikTok นี่จึงเป็นจุดทำให้เห็นว่า แอปฯ นี้จูงใจคนอเมริกันได้หลายอย่าง "การที่คนอเมริกันออกมาประท้วงรัฐบาลตัวเอง ยิ่งทำให้เห็นได้ชัดว่า ถ้าติ๊กต่อกมีรัฐบาลจีนอยู่เบื้องหลังจริง ถือว่าเขาทำสำเร็จแล้ว เขาทำให้คนอเมริกันออกมาทำแบบนี้ได้" ปฏิเสธให้ตาย ถ้าไม่เชื่อ ก็คือไม่เชื่อ! : อย่างไรก็ตาม 'TikTok' พยายามปฏิเสธต่อสหรัฐฯ มาโดยตลอดว่า ไม่มีรัฐบาลจีนอยู่เบื้องหลังแน่นอน! แต่พวกเขาก็ไม่เคยไว้ใจและไม่เคยเชื่อ ซึ่ง ดร.จารุพล มองว่า เป็นเรื่องปกติเพราะสหรัฐฯ และจีนอยู่ท่ามกลางการแข่งขัน ทำให้สหรัฐฯ กังวลมิติความมั่นคงเป็นพิเศษ "ตัวอย่างที่ผ่านมาก็คือการบล็อก 'หัวเว่ย' (HUAWEI) เพราะเขาเชื่อว่าบริษัทมีรัฐบาลจีนอยู่เบื้องหลัง แม้ว่าหัวเว่ยจะพยายามปฏิเสธแล้วก็ตาม แต่สหรัฐฯ อาจจะมีข้อมูล หรือแหล่งข่าวหลายทาง ที่ทำให้เขาเชื่อแบบนั้น"ร้อยเอก ดร.จารุพล กล่าวต่อว่า ความกังวลของสหรัฐฯ ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะโดยธรรมชาติของบริษัทใหญ่ๆ ในจีน จะมีรัฐบาลควบคุมอยู่อยู่เบื้องหลัง ซึ่งเป็นธรรมชาติและวิถีของจีน เพราะเขาไม่ได้เปิดเสรีเหมือนโลกตะวันตก คาดว่าจีนไม่ยอมให้ TikTok แก่สหรัฐฯ : ทีมข่าวฯ สอบถามอาจารย์ว่า คาดว่า TikTok จะยอมจำนนต่อข้อเสนอของสหรัฐฯ หรือไม่?ปลายสายตอบทันทีว่า คิดว่าไม่ยอมแน่นอน เพราะบริษัทนี้มีความสัมพันธ์กับประเทศจีน เลยมองว่า อย่างไรทางจีนก็ไม่ยอม เพราะมีผลประโยชน์เชิงความมั่นคง และการเมืองเช่นเดียวกันกับที่สหรัฐฯ กำลังกังวล "มองว่า CEO TikTok ไม่น่าจะยอมแยกออกตัวมาจากบริษัทไบต์แดนซ์ เพราะเราไม่รู้ว่าลึกๆ แล้ว ติ๊กต่อกมีความสัมพันธ์ หรือได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีนมากน้อยขนาดไหน เพราะบางทีเรื่องพวกนี้ไม่ได้อยู่ใน 'กระดาษ' แต่ถ้าติ๊กต่อกมีรัฐบาลจีนอยู่เบื้องหลังจริงๆ รัฐก็จะบีบบริษัททุกทางไม่ให้ยอมจำนนสหรัฐฯ""รัฐบาลควบคุมทุกอย่างในจีน บริษัทที่ไม่ได้รับการยืนยันจากรัฐบาลก็ยากที่จะเติบโต พอมองในมุมระบบของเขา มันเลยทำให้พอคิดได้ว่า บริษัทไบต์แดนซ์และติ๊กต่อก ก็น่าจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีน ซึ่งรัฐบาลจีนน่าจะมีกลไกและวิธีบางอย่าง เพื่อไม่ให้ยอมสิ่งที่อเมริกาต้องการ" (หาก) TikTok ยอมทำตามสหรัฐอเมริกา : แม้ว่าผู้เชี่ยวชาญฯ ของเราจะมองว่า "จีนและติ๊กต่อกไม่น่ายอม" แต่ทีมข่าวฯ ก็ยังรู้สึกสงสัยว่า หากติ๊กต่อกยอมขึ้นมา จะเกิดอะไรขึ้น!?อาจารย์จารุพล มองว่า ถ้าเกิดกรณีดังคำถามขึ้นจริง อเมริกายิ่งจะมีพลังทางโซเชียลมีเดีย เพราะทุกวันนี้เขาก็ครองตลาดเรื่องนี้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ (X) หรืออื่นๆ ซึ่งถ้าเกิดขึ้นจริงๆ ทางจีนก็น่าจะมีกลไกอื่น หรือมีแพลตฟอร์มใหม่ขึ้นมา หรือต้องมีการพลิกแพลงใหม่ๆ เกิดขึ้น เรื่องนี้ก็ยากจะคาดเดา ทีมข่าวฯ สอบถามต่อว่า ถ้าสหรัฐฯ ครองสื่อได้จริง ถือว่ามีความน่ากังวลหรือน่ากลัวหรือไม่?ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ ตอบว่า มองได้หลายมุม แต่ถ้าถามว่าน่ากลัวไหม หากสหรัฐฯ คุมสื่อใหญ่ได้ทั้งหมด ก็อาจจะสร้างความหวั่นใจให้กับจีนอย่างไรก็ตาม ดร.จารุพล มองว่า หากมองให้ลึกจริงๆ ก็ต้องดูว่าถ้าสหรัฐฯ คลุมสื่อออนไลน์ใหญ่ๆ ได้ เขาตีกรอบเรื่องการแสดงออกมากน้อยขนาดไหน แต่ถ้ามองภาพตามปัจจุบัน สหรัฐฯ ไม่น่าตีกรอบเท่าไร เพราะถ้าเราดูในแฟลตฟอร์มต่างๆ เช่น เฟซบุ๊ก ยูทูบ สหรัฐฯ ก็ไม่ได้เข้มงวดขนาดนั้น เรายังสามารถเห็นคอนเทนต์โจมตีรัฐบาลสหรัฐฯในแพลตฟอร์มดังกล่าวได้ สหรัฐฯ อาจทำความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแย่ลง! : แม้ว่ารัฐบาลสหรัฐฯ จะกีดกันติ๊กต่อกออกนอกประเทศ หรือทำให้ติ๊กต่อกยอมแยกตัวจากบริษัทแม่ได้ ไม่ว่าท่าทีไหนของอเมริกา ก็น่าจะส่งผลให้ความสัมพันธ์กับจีนมีสิทธิ์ถดถอยกว่าที่เป็นอยู่!ดร.จารุพล วิเคราะห์เหตุการณ์ว่า ก่อนวันโหวตร่างกฎหมายฉบับนี้ ทางรัฐบาลจีนก็ออกมาพูดเรื่องนี้ ประมาณว่า อเมริกาควรเคารพตลาด เพื่อการแข่งขันอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม ซึ่งตัวนี้พอทำให้เราเห็นได้ว่า รัฐบาลจีนเองก็ขยับเหมือนกัน"แสดงว่ารัฐบาลจีนก็มีท่าทีในการปกป้อง TikTok พอสมควร ไม่อย่างนั้นผู้มีอำนาจระดับสูงคงไม่ออกมาพูดเช่นนี้ เรื่องนี้จึงมีโอกาสที่ทำให้ความสัมพันธ์ของสองประเทศแย่ลง ซึ่งปกติแล้วความสัมพันธ์ของสองประเทศก็ไม่ค่อยโอเคเท่าไร ทั้งเรื่อง การเมือง การแข่งขันทางการค้า โลกไซเบอร์ก็ชัดเจน และเทคโนโลยียิ่งเป็นหัวใจเลย" "ทำไมเรื่องเทคโนโลยีจึงเป็นหัวใจของสหรัฐฯ" ทีมข่าวฯ ถาม ดร.จารุพล กลับไปอาจารย์จึงยกตัวอย่างให้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ฟังว่า เรื่องที่จีนและอเมริกา พยายามมายุ่งกับไต้หวัน เป็นเรื่องชัดเจนว่าเกี่ยวกับเทคโนโลยี เพราะหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง สหรัฐฯ ก็พึ่งพาเทคโนโลยีทุกอย่าง โดยเฉพาะมิติของทหารและความมั่นคงต่างๆ ซึ่งนำมาสู่เรื่องความต้องการเทคโนโลยีระดับสูง เช่น ไมโครชิปบางตัว ที่บริษัทของไต้หวันสามารถผลิตให้อเมริกาได้"เรื่องเทคโนโลยีนี้ เลยเป็นหัวใจหลักว่า ทำไมจีนต้องการดึงไต้หวันกลับ เพราะถ้าจีนทำได้ อเมริกาเดี้ยงเลย"ดร.จารุพล กล่าวต่อว่า ยกตัวอย่างที่สหรัฐฯ ต้องการ คือ 'Semiconductor' เป็นสำหรับเทคโนโลยีทางการทหาร ซึ่งคนที่ผลิตได้คือบริษัทของไต้หวัน นี่จึงคือเหตุผลว่าทำไมสหรัฐฯ ถึงปกป้องเกาะเล็กๆ เกาะนี้มากเหลือเกิน ส่วนจีนก็พยายามจะเอาไต้หวันกลับ ไม่ยอมลดเลิกนโยบายจีนเดียว อย่างไรก็ตาม ไต้หวันเองก็เล่นเกมการเมือง เพราะเขาหวงเทคโนโลยีเหล่านี้ ไม่ยอมหลุดให้ใครแม้แต่สหรัฐฯ เพราะเขารู้ว่าถ้าวันหนึ่งสหรัฐฯ ผลิตได้เอง ก็อาจจะทิ้งเขาก็ได้ นี่จึงเป็นเกมการเมืองแต่!!! อาจารย์จารุพลยังมองต่อไปอีกว่า แม้ความสัมพันธ์ สหรัฐฯ-จีน จะถดถอยแค่ไหน แต่พวกเขาก็ยังต้องพึ่งพาอาศัยกัน เหมือนๆ กับที่ผ่านมา นี่เป็นความสัมพันธ์ที่คล้ายกับ 'Love Hate relationship' ทั้งรักทั้งเกลียด!"โอกาสที่ความสัมพันธ์จะแย่ลงมีแน่นอน แต่การเชื่อมโยงกันด้านอื่นก็ยังมีสูง เพราะคู่ค้าอันดับหนึ่งของจีนก็คือสหรัฐฯ ตลาดของสหรัฐฯ ก็คือจีน การที่จะขัดแย้งกัน ถึงขั้นใช้กำลังรบ นักวิชาการส่วนใหญ่จึงมองว่าไม่น่าไปถึงจุดนั้น เพราะจะสูญเสียด้วยกันทั้งคู่ กรณีนี้ก็ทำให้เราเห็นว่า นี่คือเรื่องของโลกาภิวัตน์ ที่โลกเชื่อมโยงกันไปหมด" #KeepTikTok คำถามถึงสิทธิและเสรีภาพ : แม้สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ จะให้เหตุผลสำหรับมติครั้งนี้ว่า "เพื่อความมั่นคงของประเทศ" แต่เราก็เห็นได้ว่า คนในชาติจำนวนหนึ่งต่างออกมาประท้วงเรื่องนี้ จนเกิดเป็น #KeepTikTok ขึ้นเทรนด์โซเชียล ความน่าสนใจชวนสงสัยต่อมาก็คือ เมื่อประชาชนแสดงออกเช่นนี้ สภาจะสนใจหรือรับฟังไหม?ดร.จารุพล แสดงทรรศนะว่า "นี่เป็นเรื่องที่น่าสนใจครับ" เพราะว่าถ้ารัฐบาลตัดสินใจบล็อกติ๊กต่อก อาจจะไปโดนเรื่องของ 'สิทธิมนุษยชน' และ 'เสรีภาพ' ซึ่งเป็นหัวใจหลักของรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ทำให้หลายคนมองว่า "นี่เป็นเรื่องใหญ่" ดังนั้น ถ้ารัฐตั้งใจจะปกป้องคนในชาติ ก็ต้องเกิดการ 'ตีกรอบ' แต่ถ้าทำเช่นนั้นก็จะขัดกับเสรีภาพแน่นอน เพราะมันเป็นการจำกัดเสรีภาพ ส่วนจะมากหรือน้อยย่อมขึ้นอยู่กับกรอบนั้นๆ ทำให้มองว่า ถ้าสหรัฐฯ ตัดสินใจบล็อกติ๊กต่อกจริงๆ งานนี้คนจะไม่พอใจกันอยู่สมควร สิ่งที่น่าสนใจคือ สภาจะทำให้เรื่องนี้ ให้มีความสมดุลกันได้อย่างไร ตัวนี้เป็นเรื่องค่อนข้างยาก เพราะติ๊กต่อกได้นำสังคมอเมริกาบางส่วนไปแล้ว… ร้อยเอก ดร.จารุพล บอกว่า ตอนนี้เสียงกำลังแตกว่า "มันเป็นภัยคุกคามจริงใช่ไหม" ซึ่งการพิสูจน์ว่า TikTok เป็นภัยคุกคามที่จะกระทบความมั่นคงของชาติ เป็นเรื่องยากมาก "ด้วยเหตุผลว่า มันไม่มีอะไรชัดเจน ถ้าย้อนกลับไปในอดีต ประเทศไหนมีอาวุธ แล้วไปบอกว่าเป็นภัยความมั่นคงจะถือว่าชัดมาก แต่พอเป็นโลกออนไลน์ ทุกอย่างมันเบลอไปหมด แม้ฝ่ายความมั่นคงรู้ว่ามันมีบทบาทต่อความไม่มั่นคง แต่ถามว่ามีหลักฐานในการชี้ชัดไหม ว่าเป็นภัยคุกคาม… ก็ไม่มี เมื่อไม่มี เสียงในสังคมจึงแตก ตีกรอบมากก็ขัดสิทธิเสรีภาพ ไม่ตีกรอบเลยก็ทำให้ประชาชนและรัฐเปราะบาง"อย่างไรก็ตาม หากสหรัฐอเมริกาเลือกแบนและบล็อกติ๊กต่อก แน่นอนว่าจะเกิดการประท้วงขึ้นในชาติ แต่ไม่น่าลามไปถึงขั้นใช้ความรุนแรง เพราะกูรูของเรามองว่า ธรรมชาติของคนอเมริกัน มีความชาตินิยมพอสมควร หากรัฐบาลมีเหตุผลมากล่อม หรือทำให้เข้าที่เข้าทาง ด้วยกลไกอะไรก็แล้วแต่ สุดท้ายแล้วก็ยังไปต่อได้ นี่คือเกมการเมือง : TikTok ดูจะไม่ได้สร้างแรงกระเพื่อม เรื่องความมั่นคงของประเทศต่อสภาของสหรัฐฯ เพียงอย่างเดียว แต่ยังลามไปถึงการใช้เป็น 'เกมการเมือง' สำหรับการเลือกตั้งครั้งต่อไป!ความน่าสนใจนี้ถูกอธิบายจากปลายสาย โดยผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงระหว่างประเทศว่า ก่อนหน้านี้ 'โดนัล ทรัมป์' (Donald Trump) เคยเอ่ยปากออกมาเองว่า "แบนติ๊กต่อก" แต่ตอนนี้กลับเลือกที่จะไม่แบนแล้ว เพราะว่าทรัมป์กำลังเอาใจคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นประชากรหลักที่ใช้ติ๊กต่อกเยอะ ให้กลายมาเป็นคะแนนเสียงสำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้า มองอีกฝั่ง คือ 'โจ ไบเดน' (Joe Biden) ถ้าเขาตัดสินใจเซ็นผ่านกฎหมายฉบับนี้ ท่ามกลางเสียงต่อต้านการแบนติ๊กต่อก มีความเป็นไปได้ว่า ไบเดนก็อาจจะถอยมาก่อน เพราะกลัวเสียคะแนนเสียงจากคนรุ่นใหม่ ซึ่งตอนนี้ฐานเสียงของเขาก็ไม่ค่อยจะสู้ดีนักเมื่อเทียบกับทรัมป์ เพราะฉะนั้นอะไรที่ไปกระทบกับฐานเสียงไบเดน เขาก็อาจจะพยายามหลักเลี่ยงก็ได้"ตรงนี้จึงเป็นจุดน่าสนใจในการเมืองของสหรัฐฯ อีกอย่างหนึ่ง เพราะว่าความต้องการของคน ยังเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอยู่ เพราะฉะนั้นตรงนี้เราต้องดูกันยาวๆ ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป" ต้องติดตามกันต่อไป : เดินทางมาถึงช่วงท้ายของสกู๊ปนี้ ก่อนจะต้องปัดหน้าจอออกไป ร้อยเอก ดร.จารุพล เรืองสุวรรณ ฝากทิ้งท้ายไว้ถึงผู้อ่าน และผู้คนสนใจทุกคนว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะเกี่ยวข้องกับความมั่นคง และทั้งโลกกำลังจับตามองท่าทีของสหรัฐฯ ทางรัฐบาลของเขายิ่งต้องใช้การพิจารณาที่ถี่ถ้วนสิ่งที่น่าจับตามองมากๆ ต่อสถานการณ์นี้ก็คือเรื่อง สิทธิเสรีภาพ หรือ Freedom of Speech ว่าสหรัฐฯ จะทำอย่างไร เพื่อสร้างสมดุลเรื่องนี้ และบอกทั้งโลกได้ว่าเขายังมี Freedom of Speech หากต้องกีดกันติ๊กต่อกออกไปด้วยเหตุผลใดๆ ก็แล้วแต่ "หากสหรัฐฯ กีดกันติ๊กต่อก เรื่องนี้อาจถูกนำมาใช้โจมตีสหรัฐฯ ได้ในอนาคต ว่า คุณไม่ได้ Freedom of Speech อย่างแท้จริง จึงน่าจับตาดูต่อไป ทั้งในมิติของการเมืองสหรัฐฯ บทบาทของผู้นำ การเลือกตั้งที่จะมาถึง ว่าคนที่จะลงเลือกตั้งจะจับประเด็นนี้มาเล่นอย่างไร""ด้านมิติของโลกทั้งใบ นี่อาจจะกลายเป็นในหนึ่งโมเดล ที่ประเทศอื่นๆ นำไปประยุกต์ใช้ ในเรื่องการดูแลผลประโยชน์ของชาติ และป้องกันการแทรกแซงจากต่างประเทศ""ส่วนคนไทย ผมไม่อยากให้มองว่า นี่เป็นเรื่องของสองชาติมหาอำนาจ เพราะมันก็เป็นเรื่องของประชาคมโลกและเราด้วย เนื่องจากเราใช้แอปพลิเคชันอยู่ทุกวัน และทุกแอปพลิเคชันมีการดึงข้อมูลเราหมด เราได้รับผลกระทบเรื่องข้อมูลเต็มๆ ถ้าคนไทยตามข่าวเรื่องนี้ และวิเคราะห์ สนใจ หรือมีความกังวลไปด้วย ผมมองว่าเป็นเรื่องดี อย่างน้อยเราจะขวนขวายการปกป้องตัวเองมากขึ้น" ร้อยเอก ดร.จารุพล เรืองสุวรรณทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงานภาพ : AFP และ iStockอ่านบทความที่น่าสนใจ : ปัญหา 'ผีน้อย' ส่อญี่ปุ่นเลิกฟรีวีซ่า โอกาสที่อาจสูญเสียคลาดกันเพียงนิด ผูกพัน 40 ปี ลึกสุดใจ น้าต๋อย เซมเบ้ ถึง โทริยามะ อากิระโทริยามะ อากิระ บทอวสานของจินตนาการ และความฝันที่ปลิดปลิวเทย์เลอร์ สวิฟต์ Exclusive สิงคโปร์ และคำถามถึงเงินภาษี?