กรณีศึกษาดราม่าโลกออนไลน์ กับประเด็น Cyberbullying สู่ภาพสะท้อนสังคม ที่มีเทคโนโลยีเป็นตัวเร่งแสดงความเกลียดชัง และซอฟต์สกิล 'การคิดไตร่ตรอง' ของมนุษย์ ที่กำลังเริ่มหายไป

ในวันที่เราสามารถแสดงความคิดเห็น ความคิด ความรู้สึก ได้ง่ายดายเพียงปลายนิ้ว หลายต่อหลายครั้ง เราก็อาจจะเผลอปล่อยตัวปล่อยใจ พิมพ์อะไรที่ไม่ค่อยดีนักลงบนโลกออนไลน์

ยกตัวอย่างเหตุการณ์ #อุงเอิง ดราม่าร้อนแรงเป็นข่าวทั่วประเทศ เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เราสังเกตเห็นว่า หลายคนแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้น แต่ก็มีหลายคนแสดงความคิดเห็นในเชิง "ตรงกันข้าม" ซึ่งดูแล้วอาจจะเลยเถิดจากกรณีที่เกิดขึ้นไปมากนัก

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จึงขอยก #อุงเอิง มาเป็นกรณีศึกษา ถึงประเด็นของ Cyberbullying ว่าจากเหตุการณ์นี้สะท้อนเรื่องใดในสังคมไทย และสังคมโลกยุคปัจจุบันบ้าง ผ่านการสนทนากับ 'รศ.ดร.วิมลทิพย์ มุสิกพันธ์' จากสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล

...

อย่างไรคือ Cyberbullying :

รศ.ดร.วิมลทิพย์ กล่าวว่า Cyberbullying เป็นการกลั่นแกลงทางโลกออนไลน์ ในอดีตมักจะใช้ระหว่างเด็กกับเด็ก เนื่องจากเป็นคำที่พัฒนามาจาก การกระทำของเด็กที่กลั่นแกล้งกันในโรงเรียน จนวันหนึ่งพื้นที่ในการแกล้งเปลี่ยนมาอยู่บนโลกออนไลน์แทน

ส่วนผู้ใหญ่นั้น อาจจะไม่ใช่การกลั่นแกล้งกันทั่วไป เพราะเป็นวัยที่มีความคิด วุฒิภาวะ และการไตร่ตรองแล้ว บางครั้งจึงอาจจะเข้าสู่หลักการที่เรียกว่าหมิ่นประมาท หรืออาจจะร้ายแรงไปถึงขั้น Cyber Crime (อาชญากรรมทางไซเบอร์)

"อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันคำว่า Cyberbullying ก็กลายเป็นเหมือนคำสำหรับทุกช่วงวัยไปแล้ว เพียงแต่ว่าการกลั่นแกล้งนั้นจะรุนแรงมากแค่ไหน เรื่องนี้ก็ต้องแยกเป็นกรณีไป"

แต่ถ้าไม่มองเรื่องของ 'อายุ' แล้วมองแค่เรื่อง 'บูลลี่' รศ.ดร.วิมลทิพย์ บอกว่า สำหรับไซเบอร์บูลลี่ จะโฟกัสที่พฤติกรรมและความรุนแรงที่เกิดขึ้น ซึ่งมักจะเกิดจากองค์ประกอบเหล่านี้รวมกัน

"เริ่มต้นจากมีเจตนาทำร้ายคู่กรณี ซึ่งรวมถึงการทำร้ายจากคำพูดด้วย เพราะเมื่อมีเจตนาเช่นนั้น ผู้กระทำก็มักจะประดิษฐ์ถ้อยคำ เพื่อทำร้ายความรู้สึก หลังจากนั้นจะเกิดการกระทำซ้ำๆ เช่น ด่าซ้ำๆ โพสต์ซ้ำๆ และจุดสุดท้ายคือการ ‘เล็งเห็นผล’ มุ่งหวังว่าถ้าทำแบบนี้ อีกฝ่ายต้องเจ็บปวด หรือทุกข์ทรมาน หนักสุดคือหวังให้เสียชีวิต" รศ.ดร.วิมลทิพย์ กล่าว

Cyberbullying ถือเป็น Cyber Crime? : 

หาก Cyberbullying มีการดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง และมีความรุนแรงขึ้น รศ.ดร.วิมลทิพย์ บอกว่า วันหนึ่งอาจจะกลายเป็น Cyber Crime หรือ อาชญากรรมทางไซเบอร์ได้ เพราะแต่ละบุคคลย่อมมีความอดทนต่อแรงกดดัน หรือสิ่งที่เจอไม่เท่ากัน 

รศ.ดร.วิมลทิพย์ ได้เล่าประสบการณ์ ส่วนตัวให้ทีมข่าวฯ ฟังว่า ช่วงเด็กเราถูกล้อหนักมาก จากคนในโรงเรียน แต่ถือว่าเป็นคนที่มีจิตแข็งพอตัว เลยไม่ได้สนใจเท่าไรนัก และก้าวข้ามช่วงเวลาเหล่านั้นมาได้ ในขณะที่เพื่อนอีกคนหนึ่ง ทนแรงกดดันเหล่านี้ไม่ไหว จิตใจห่อเหี่ยว จนต้องลาออกจากโรงเรียน

"หากวันหนึ่งการบูลลี่กลายเป็น Crime ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่แย่ที่สุด เพราะนั่นหมายความว่า ผู้ถูกกระทำจะต้องจมปลักอยู่กับความรู้สึกเหล่านั้นมานาน เมื่อวันหนึ่งทุกอย่างรุนแรงขึ้น เขาก็รับไม่ไหว เกิดความรู้สึกว่าตัวเองเป็นเหยื่อ ไม่อยากพบเจอใคร ขั้นหนักสุดอาจจะตัดสินใจลาโลกเลยก็ได้ ดังนั้น Cyberbullying จะกลายเป็น อาชญากรรม หรือไม่ อยู่ที่กระบวนการระหว่างทาง"

...

กรณีศึกษา #อุงเอิง

สำหรับกรณีของ #อุงเอิง นั้น รศ.ดร.วิมลทิพย์ แสดงความคิดเห็นกับทีมข่าวฯ ว่า ที่ทุกอย่างดูรุนแรง ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากการที่น้องเขาเป็น 'บุคคลสาธารณะ' ทำให้ความอ่อนไหวต่อเรื่องต่างๆ เกิดขึ้นได้อย่างง่ายดาย แนวโน้มการถูกด่า ถูกว่า เป็นสิ่งที่คู่กันมา

อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเหมือนเรื่องปกติที่ไม่ปกติ บางคนอาจจะแสดงความเกลียดชัง หรือถ้อยคำรุนแรงเกินไป โดยอาจจะหลุดจากประเด็นที่เกี่ยวข้อง หรือเกินเลยมากไป…

"บางคนอาจจะไม่รู้จัก ไม่มีความสัมพันธ์โดยตรง หรือไม่มีอะไรกับอุงเอิงเลยก็ได้ วันนั้นที่พิมพ์แสดงความคิดเห็น อาจจะอารมณ์เสียมาจากไหนไม่รู้ อยู่ดีๆ มาเห็นว่าบนโลกออนไลน์ มีคนกำลังด่าคนนี้อยู่ มีคนแสดงความคิดเห็นว่า คนนี้ทำไม่ถูกอย่างนู้น คนนี้ทำไม่ถูกอย่างนี้ เราก็เลยเข้าไประบายอารมณ์ด้วย หรือบางคนอาจจะไม่ได้ไตร่ตรองข้อมูลก่อนด้วย อาจจะว่าไปก่อน"

...

เทคโนโลยี = ตัวเร่งการบูลลี่ : 

ทีมข่าวฯ สอบถาม รศ.ดร.วิมลทิพย์ ว่า เพราะเหตุใดผู้คนจึงแสดงความเกลียดชังกันง่ายมากขึ้น?

รศ.ดร.วิมลทิพย์ แสดงความคิดเห็นต่อคำถามนี้ว่า การที่มนุษย์ไม่ชอบหน้ากัน หรือทะเลาะกัน เป็นเรื่องที่มีมานานมากแล้ว และเป็นเรื่องปกติวิสัยเลยด้วยซ้ำ แต่ปัจจุบันเรามีสื่อกลางอย่าง 'เทคโนโลยี' เป็นตัวเร่งสำคัญ ที่ทำให้การทะเลาะกัน หรือการแสดงความเกลียดชังนั้นง่ายขึ้น

"หากเป็นเมื่อก่อน สมมติว่าเราทะเลาะกันไปสักพัก สุดท้ายก็ต้องแยกย้ายกลับบ้าน ทางใครทางมัน ไม่มีสื่อกลางที่สะดวกพอ สำหรับการทะเลาะกันต่อได้ คราวนี้พอได้พักผ่อน นอนคิด ตื่นเช้ามาอารมณ์ก็อาจจะเปลี่ยนไป จากที่รู้สึกไม่ดีมาก ก็อาจจะดีขึ้น เพราะได้อยู่กับตัวเองมาแล้ว"

"แต่ตอนนี้มีเครื่องมือเทคโนโลยี เป็นตัวกลางที่ทำให้คนเรา สามารถแสดงออกได้ทันที ขณะที่กำลังมีอารมณ์นั้นๆ อยู่ หลายต่อหลายครั้ง เทคโนโลยีจึงเป็นตัวเสริมให้เรื่องบานปลาย จนไม่สามารถควบคุมได้อีก"

...

รศ.ดร.วิมลทิพย์ กล่าวเสริมว่า บางคนอาจจะแสดงความคิดเห็น หรือด่าไปแล้ว แต่พอผ่านไปสัก 2-3 วัน ความรู้สึกแย่ๆ ในใจหาย แต่สิ่งที่ทำไปยังคงอยู่ ถึงจะลบออกได้ แต่ก็อาจจะติดอยู่ในใจผู้ได้เห็น

'ไตร่ตรอง' ซอฟต์สกิลที่หายไปของใครหลายคน : 

รศ.ดร.วิมลทิพย์ ไม่ปฏิเสธว่า ลึกๆ ในจิตใจแล้ว มนุษย์ทุกคนมีความรู้สึกในการ 'บูลลี่' ผู้อื่น แม้อาจจะไม่ได้แสดงออก แต่บางครั้งบูลลี่คนอื่นในใจก็มี อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีกระบวนการบางอย่าง ที่ช่วยลดทอนไม่ให้เรื่องราวเชิงลบเหล่านี้เกิดขึ้นทันที แต่ตอนนี้ทุกคนมีความเป็นปัจเจกมากขึ้น ต่างมีเครื่องมือเป็นของตัวเอง สามารถแสดงอารมณ์และความรู้สึกได้ทันที 

ผลจากความรวดเร็ว รวมเข้ากับปัจเจก จึงทำให้ 'การคิดไตร่ตรอง' ของมนุษย์ลดลง…

รศ.ดร.วิมลทิพย์ กล่าวว่า สำหรับเรื่องการคิดไตร่ตรอง สมัยก่อนเรื่องพวกนี้ไม่ต้องสอนกัน เพราะกระบวนการใช้ชีวิตในอดีตมัน 'ยืด' มีเวลาให้มนุษย์ได้คิด แต่ทุกวันนี้ทุกอย่างไวไปหมด มนุษย์ต้องแข่งกับเวลา หลายครั้งจึงทำให้เราไม่มีเวลากลั่นกรอง หรือฉุกคิดกับสิ่งที่ทำ 

"การไตร่ตรองเป็นเหมือนซอฟต์สกิล ที่ทุกคนควรมีติดตัวอยู่เสมอ แต่พอไม่มีทำให้บางครั้งเราไม่มีการยับยั้งชั่งใจ บางคนเลือกจะพิมพ์ข้อความพิมพ์ตอนโกรธ บางทีด่าไปเรียบร้อยแล้ว พอมีคนมาแสดงความคิดเห็นร่วมด้วย มันก็ยิ่งรู้สึกฮึกเหิมเข้าไปอีก 'ใช่แล้ว! สิ่งที่เราคิดมันถูก!' จนกลายเป็นเรื่องบานปลาย"

รศ.ดร.วิมลทิพย์ เสริมต่อว่า จากที่พูดมา ทำให้เราพอจะมองภาพสังคมเราตอนนี้ได้ว่า ความรวดเร็วของเทคโนโลยี กับ กระบวนการสอน และการขัดเกลาทางสังคม มันไม่ไปด้วยกัน ไม่สอดคล้องกัน เรียกว่าแทบสวนทางกันเลยด้วยซ้ำ ทุกอย่างมันเร็วไปหมด

ตัวอย่างการวางแผนระยะยาวของญี่ปุ่น : 

รศ.ดร.วิมลทิพย์ เล่าให้ฟังว่า เคยมีโอกาสได้ไปทำงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องการบูลลี่ ที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว ที่นั่นเขาพยากรณ์เรื่องการบูลลี่ไว้หมด เขาคิดกันว่า เมื่อวันที่ราคาเทคโนโลยีถูกลง ทุกคนเข้าถึงได้ มันจะมีเรื่อง Cyberbullying เกิดขึ้น 

เราจึงถามต่อไปว่า ประเทศญี่ปุ่นวางแนวทางแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างไร?

คำตอบของคำถามนี้คือ นักวิชาการร่วมกันวิเคราะห์สถานการณ์ วางแผนออกมาเป็นหลักสูตร บรรจุเข้าไปในการเรียนการสอน นอกจากนั้น หลักสูตรมีการปรับเสมอ ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง โดยหลักๆ ช่วงนั้น เขาจะสอนเรื่อง ซอฟต์สกิลการวางตัวในสังคม เช่น การระมัดระวังคำพูด การไม่พูดถึงบุคคลที่ 3 หรือถ้าจะพูด สามารถพูดอะไรได้บ้าง เรื่องไหนควรพูด หรือไม่ควรพูด เขาจะสอนหมดเลย 

"ถ้าเป็นอย่างนั้น คนอาจจะรู้สึกว่าเป็นสังคมที่เครียดเกินไปหรือเปล่าครับ?" เราถามด้วยความสงสัย

รศ.ดร.วิมลทิพย์ ตอบรับว่า ส่วนหนึ่งก็ใช่ค่ะ… แต่การสอนนั้นเป็นเรื่องพื้นฐานให้รู้สึกกระตุกใจ หรือกระตุกความคิดเวลาเราจะพูดถึงใคร หรือเรื่องอะไร เพราะในความเป็นจริงแล้ว ถ้าเราชอบเม้าท์ กฎหมายเขาก็ไม่ได้ห้าม ไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย แต่คนเขาจะรู้ว่า ขอบเขตการพูด พูดได้ประมาณไหน แค่ไหนที่พูดได้ หรือสามารถพูดกับใครได้ ซึ่งมันคือการพยายามให้ความคิดมีขอบเขต

"ผลของการวางแผนระยะยาวนั้น พอวันที่ทุกอย่างมันเกิดขึ้นอย่างหนักหน่วง การบูลลี่ในสังคมญี่ปุ่นก็มีน้อย เราไม่ได้บอกว่าสังคมพวกเขาไม่มีเรื่องนี้ เพียงแต่มีน้อย แต่ถ้ามีดราม่าหรือบูลลี่กันครั้งหนึ่ง ก็หนักเหมือนกัน เพราะเขาเป็นคนสังคมซีเรียส"

มุมมองถึง 'สังคมไทย' ในยุคปัจจุบัน : 

รศ.ดร.วิมลทิพย์ มองว่า การไซเบอร์บูลลี่ของไทย ดูรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และไม่มีท่าทีจะลดลง ซึ่งในความเป็นจริง สังคมควรมีอารยะ นอกจากนั้น ตอนนี้ความรุนแรงต้องเป็นวาระแห่งชาติสำหรับประเทศไทยได้แล้ว เพราะทุกจุดเต็มไปด้วยความรุนแรง ตั้งแต่ผู้ใหญ่ลงไปถึงเด็ก ทั้งทางร่างกายและวาจา 

"เราเสพเรื่องความรุนแรงกันทุกวัน เราเสพความรุนแรงตลอดเวลา ถ้าเราไม่ทำอะไรกับมันเลย วันหนึ่งความรุนแรงจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต แล้วทำให้คนในสังคมรู้สึกว่าเป็นเรื่องปกติ ซึ่งมันจะกลายเป็นเรื่องน่ากลัว"

รศ.ดร.วิมลทิพย์ กล่าวต่อว่า ถ้าสังคมเพิกเฉยกับการบูลลี่ สังคมจะน่ากลัวมากขึ้น มันจะเหมือนกระจกเงาสะท้อนว่า ยิ่งเราเพิกเฉยมากเท่าไร ก็เท่ากับว่า เรายอมรับกับสิ่งนั้นได้มากเท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว คงไม่มีใครอยากอยู่ในสังคมที่มีความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงด้านใดก็ตาม

"แม้ว่าประเทศจะมีกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องลักษณะนี้ แต่สมมติคนมาคอมเมนต์ 600 คน ก็คงฟ้องกันไม่ไหว แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องมานั่งไล่ฟ้องกัน เพราะการแสดงความเกลียดชัง ไม่ควรมีตั้งแต่แรก เพราะถ้าเป็นอย่างนั้น ก็อาจจะสะท้อนการไม่ถูกขัดเกลาของคน"

รศ.ดร.วิมลทิพย์ มุสิกพันธ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ตอนนี้สังคมเรากำลังขับเคลื่อนด้วยอารมณ์ อยากให้ทุกคนใจเย็นให้มากขึ้น อย่าปล่อยให้อารมณ์อยู่เหนือเหตุผล เราต้องมีสติในการใช้ชีวิต 

อ่านบทความที่น่าสนใจ :