กลั่นลึกสุดใจ "น้าต๋อย เซมเบ้" กับวันที่ต้องจากลา อาจารย์โทริยามะ อากิระ ผู้ให้กำเนิด ดราก้อนบอล และการ์ตูนในดวงใจคนทั้งโลก เผยเคยคลาดกันเพียงนิด ที่จะได้เจอ กับเรื่องราวแห่งความผูกพัน 40 ปี

พลัง...คลื่น....เต่า...สะท้านฟ้า!!!! หนึ่งในท่าไม้ตายของตัวละครในตำนาน โงกุน จากเรื่องดราก้อนบอล ของอาจารย์ “โทริยามะ อากิระ” นักวาดมังงะ หรือการ์ตูนในตำนาน ที่วันนี้ได้จากลาแบบไม่มีวันกลับ เมื่อเขาได้เสียชีวิต ในวันที่ 1 มีนาคม ด้วยภาวะเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมอง ในวัย 68 ปี

การจากไปของอาจารย์โทริยามะ ถือเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ ของวงการ์ตูนระดับโลก แน่นอน สำหรับคนไทยกับดราก้อนบอล ทุกคนจะนึกถึง “น้าต๋อย เซมเบ้” หรือนายนิรันดร์ บุณยรัตพันธุ์ เพราะเขาเปรียบเสมือนอีกหนึ่งจิตวิญญาณของโงกุน และครั้งหนึ่ง ยังเคยฟื้นคืนชีพมาจากส่งแรงใจด้วยพลังบอลเกงกิ

น้าต๋อย ใช้เวลารื้อความทรงจำอยู่ชั่วครู่ ก่อนไล่เรียง เรื่องราว ระหว่าง ตัว “น้าต๋อย” กับ "อาจารย์โทริยามะ" ที่ทั้งคู่เกือบจะได้มีโอกาสพบกัน แต่คลาดกันอย่างเฉียดฉิว...

...

พลาดโอกาสเพียงนิดกับการได้พบกับ อ.โทริยามะ

น้าต๋อย เล่าว่า เมื่อราว 31 ปีก่อน มีโอกาสเดินทางไปญี่ปุ่น ตอนนั้น เดินทางไปซื้อลิขสิทธิ์ “ขบวนการวิหคสายฟ้า เจ็ทแมน” รวมไปถึงลิขสิทธิ์เรื่อง “ดราก้อนบอล” แต่...ปรากฏว่า เวลานั้น อาจารย์ไม่ว่างพอดี จึงทำให้พลาดโอกาสเจอกัน เวลานั้น จึงได้ไปพบกับ อาจารย์ “ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ” อาจารย์ผู้ให้กำเนิดโดราเอมอนแทน...

“ตอนที่มาพากย์เสียงแรกๆ ไม่รู้จักมาก่อน รู้แค่ว่าเป็นการ์ตูนมาจาก จัมป์ แต่...เมื่อมีโอกาสได้ไปญี่ปุ่น รู้สึกว่าอยากเจอเขา เราพยายามติดต่อเขา แต่เขาเป็นแนวทำงานหนัก ยุ่งอยู่ตลอด ยากมากที่จะมีโอกาสได้เข้าพบ..”

เวลานั้น เสียใจไหมที่ไม่ได้เจอ น้าต๋อย เผยความรู้สึกว่า ก็ไม่เชิงเสียใจ เพียงแต่รู้สึกพลาดโอกาสดีๆ ทั้งที่มีคนของประสานงานช่วยเหลืออย่างดี ซึ่งทางนั้นก็ปฏิเสธอย่างมีมารยาทมากๆ ว่า อาจารย์ติดธุระจริงๆ แต่ทางเราเอง ก็ไม่ถึงกับติดต่อล่วงหน้า...

ตอนนั้น คิดคำพูดไว้ไหม ว่าอยากพูดอะไรกับ อาจารย์โทริยามะ นักพากย์การ์ตูนมือหนึ่งของไทย เผยว่า คิดไว้ในใจว่าอยากจะแนะนำตัวให้รู้จัก บอกเขาว่า เราเป็นนักพากย์เสียงโงกุน และ เซมเบ้

“ส่วนโอกาสที่ได้ไปเจอ “ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ” นั้น ทางคนญี่ปุ่นที่เป็นคนนำเราเข้าไปเขาบอกว่า คนญี่ปุ่น ชอบที่เราพากย์เสียง “ไจแอนท์” นักพากย์ญี่ปุ่นหลายคนเขาก็ตื่นเต้น และให้เราพากย์เสียงไจแอนท์ให้เขาดู...

คนที่พากย์เสียงการ์ตูนดังๆ อย่างโดราเอมอน หรือ ดราก้อนบอล ความนิยมเขา เหมือนว่าเขาจะเป็นซุปเปอร์สตาร์เลย ดังนั้น ผู้คนจะอินกับการพากย์มาก ดังนั้น เมื่อเราไปถึงที่นั่น รู้ว่าเราเป็นคนพากย์ไจแอนท์ เขาจึงให้เกียรติเรามาก เขาจะรู้จักเราในฐานะว่าเป็นผู้ให้เสียงไจแอนท์ โงกุน ซิตี้ฮันเตอร์..”

ที่มารูป : น้าต๋อยเซมเบ้ fanpage
ที่มารูป : น้าต๋อยเซมเบ้ fanpage

ผลแหวกแนว แตกต่างกับผลงานโดดเด่นแห่งยุคสมัย  

น้าต๋อย เล่าว่า ผมได้พากย์การ์ตูนเรื่องแรกของ อาจารย์โทริยามะ จากเรื่อง ดร.สลัมป์ กับหนูน้อยอาราเล่ และถือเป็นเรื่องแรกๆ ที่ช่อง 9 เอามาฉาย เมื่อประมาณปี 2527 ตอนนั้นความรู้สึกของผมต่ออาจารย์โทริยามะ นั้น ถือเป็นนักเขียนการ์ตูนที่น่าสนใจ และแหวกแนวคนหนึ่ง

ดร.สลัมป์ ถือเป็นงานมังงะแปลกใหม่มาก เรียกว่าอยู่ดีๆ ก็มี “ยอดมนุษย์” โผล่มา มีซุปเปอร์แมนบ้าง ซึ่งก็ไม่ใช่ตัวเอกอะไร สภาพเหมือนตัวด้วงปีนต้นมะพร้าว ร้องแว้ๆๆ (น้าต๋อยเล่าไปอมยิ้มไป) เป็นการ์ตูนที่มีความแตกต่างกับสมัยนั้นอย่างสิ้นเชิง

“คาแรกเตอร์เฉพาะตัวของอาจารย์โทริยามะ นั้น การ์ตูนสไตล์ของแกจะออกแนวทะเล้นๆ ทะลึ่งๆ นิดหนึ่ง ไม่ถึงขั้นสัปดน... การเล่าเรื่องหลายอย่าง ถือเป็นกิมมิกของตัวอาจารย์ ที่เปรียบเหมือนผู้ชายคนหนึ่งที่สะท้อนตัวเองลงไปในการ์ตูน นอกจากนี้ อาจารย์ยังวาดตัวเองลงไปในการ์ตูนด้วย...กับตัวละครที่ใส่เครื่องป้องกันแก๊สพิษ และหากโผล่มาเมื่อไรก็จะทะเลาะกับ ดร.สลัมป์ ทุกครั้ง แม้อายุมากแล้ว แต่ไม่มีเมียสักที”

...

สิ่งที่สะท้อนออกมาผ่านลายเส้นที่วาด บ่งบอกถึงการทำงานหนักของอาจารย์ นี่คือ เบื้องหลังการวาดการ์ตูนมังงะของ อ.โทริยามะ ที่ “น้าต๋อย เซมเบ้” ตีความ

“ดราก้อนบอล” และ “น้าต๋อย” ความผูกพันอันยาวนาน

เกือบ 4 ทศวรรษ ที่ “น้าต๋อย” ให้เสียง “โงกุน” มีจุดเริ่มต้น เมื่อปี 2529 น้าต๋อย เล่าว่า ปีนั้น มีโอกาสได้พากย์การ์ตูนเรื่องใหม่ของอาจารย์ นั่นก็คือ “ดราก้อนบอล” เรื่องนี้เอง กลายเป็นตำนานการ์ตูน ฉายยาวนานมากที่สุดเรื่องหนึ่ง ซึ่งมีความยาวพอๆ กับ One Piece

“ดราก้อนบอล” อาจารย์ได้แรงบันดาลใจมาจากพงศาวดารจีน คือ เรื่อง ไซอิ๋ว ซึ่งคนญี่ปุ่นเรียกว่า “โงกุน” และเมื่อเรื่องนี้ไปขายต่างประเทศ ฝรั่งเรียก “โงกุน” ไม่ได้ เขาจึงเรียก “โกคู” ซึ่งเวลาเขียนภาษาอังกฤษ เป็น GOKUL ฝรั่งจึงอ่านเป็น “โกคู”

ในขณะที่คนจีนเรียก “ซุนหงอคง” แต่คนญี่ปุ่นเรียก “หงอคง” ไม่ได้เหมือนกัน จึงกลายเป็น “ซุนโงกุน” (น้าต๋อย เล่าเกร็ดการ์ตูนดราก้อนบอล อย่างมีความสุข พูดพรางหัวเราะ)

...

สิ่งที่ “ดราก้อนบอล” ทำได้ คือการตีตลาดต่างประเทศ จนถึงตลาดโลก ที่แม้แต่ โดราเอมอน ก็ทำไม่ได้ เนื่องจากบางประเทศในยุโรปนั้น โดราเอมอน ยังทำไม่ได้ แต่ ดราก้อนบอล ทำให้คนทั่วโลกรู้จักและยอมรับ

โงกุน = ฮีโร่ ผู้นอบน้อม อ.โทริยามะ = สุดยอดนักเขียนแห่งยุคสมัย

ในสายตา “น้าต๋อย” โงกุน เปรียบเสมือน “ฮีโร่” ที่แท้จริง... เพราะ ไม่สำคัญว่า จะต้องพระเอกรูปหล่อ เก๊กท่า แต่โงกุน คือ ตัวเอกที่สะท้อนตัวตนมนุษย์ที่ติดดินมากๆ และมีความนอบน้อมถ่อมตน เวลาสู้กับตัวร้าย อย่าง เซลล์ หรือ จอมมารบู เมื่อชนะแล้ว ร่างสลายไปแล้ว โงกุน ของเราก็จะบอกว่า “ไปเกิดมาใหม่นะ กลับมาเป็นคนดีนะ มีโอกาสก็กลับมาสู้กันใหม่ ...

ส่วน อ.โทริยามะ ในมุมมองของ “น้าต๋อย” เห็นว่า เขาคือ นักเขียนผู้เป็นตำนาน เช่นเดียวกับ อ.ฟูจิโกะ ที่ทำเรื่องโดราเอมอน หรือ นินจาฮาโตริ เพราะสมัยก่อน การ์ตูนของ Toei จะเป็นแนวหุ่นยนต์ต่อสู้กัน

แต่พอมาถึงแนวของ อ.ฟูจิโกะ จะเน้นเรื่องราวที่เกี่ยวกับธรรมชาติ แต่ของอาจารย์โทริยามะ จะมาแนวเหนือมนุษย์

...

ที่มา “น้าต๋อย เซมเบ้” จากสายโทรศัพท์

ทีมข่าวฯ ถามว่า ที่มาชื่อ “น้าต๋อย เซมเบ้” มาจากอะไร นักพากย์ระดับตำนานบอกว่า แน่นอนว่า มาจากเสียงที่เราพากย์ ซึ่งคนแรกที่เรียกเราแบบนี้ มาจากแฟนคลับการ์ตูนช่อง 9 นี่แหละ

“คนโทรเข้ามาที่ช่อง 9 เยอะมาก จนฝ่ายทีวีเขาไม่อยากที่จะตอบแล้ว เขาจึงโยนมาที่ฝ่ายรายการ หัวหน้าฝ่ายเขาบอกว่า “งั้นคุณต้องไปออกรายการทีวีแล้วล่ะ...เวลานั้น ผมหัวฟูๆ เหมือน ดร.สลัมป์ ใส่ชุดหนัง ออกอากาศสดก่อนฉาย มีเด็กคนหนึ่งโทรเข้ามาถาม...

“พี่ชื่ออะไรครับ”

“ผม ชื่อ นิรันดร์ ชื่อเล่น ต๋อย”

“งั้น ผมขอเรียกน้า... น้าต๋อย ละกัน”

“ตอนนั้น ผมอายุ 26-27 ปีเอง เรียกผมน้าเลยเหรอ ผมแก่ขนาดนั้นเลยเหรอ” น้าต๋อย หัวเราะ เล่าภาพจำอย่างอารมณ์ขัน

ความประทับใจ แรงฮึดของ “โงกุน” ทำให้ยังมีลมหายใจ

ทีมข่าวฯ ถามนักพากย์ระดับตำนานว่า มีฉากไหนไหม ที่ประทับใจเป็นพิเศษ น้าต๋อย ตอบกับคำถามนี้ว่า “ไม่มีอะไรพิเศษ เพียงแต่ว่าเราได้พากย์ตัวละครต่อเนื่องมายาวนานมาก อย่างกรณี “ซุนโงกุน” ช่วงหนึ่ง มีบริษัทอื่นซื้อไป เขาก็ให้คนอื่นพากย์ ซึ่งช่วงนั้นเราไม่สบาย นอนโรงพยาบาลต่อเนื่อง ก็ไม่เป็นไร แต่เมื่อมีการทำเป็น “หนังฟอร์มใหญ่” ทางเจ้าของหนังก็ขอให้เราไปพากย์ เรารู้สึกว่าน่าประทับใจ ที่เขายังไม่ลืมเสียงของเรา ที่พากย์โงกุนมา

น้าต๋อย เล่าต่อว่า ช่วง 10 ปีที่แล้ว จำได้เลย ปี 2557 ช่วงนั้นถือว่าป่วยหนัก รักษาตัวอยู่ครึ่งปี เนื่องจาก กระดูกสันหลังแตก และต้องผ่าตัด คืนก่อนคริสต์มาส (24 ธ.ค. 57) จากนั้นก็นอนรักษาตัวยาวมาถึงวันเด็ก หลังผ่าตัดหลังเนื่องจากกระดูกแตก ปรากฏว่า ระหว่างนั้นเกิดอาการแทรกซ้อน จาก “งูสวัด” เวลานั้น ปวดมาก ปวดจากกระดูกสันหลังแตก ปวดจากงูสวัด

ตอนนั้นอยู่ในห้องไอซียู ปวดมาก ปวดมหาศาล ปวดจนคิดว่า ตัวเองไม่รอดแล้ว ซึ่งวันนั้นคือ วันวาเลนไทน์ เวลานั้นกินยาแบบเต็มแม็กซ์ หมอบอกว่าให้กินยามากกว่านี้ไม่ได้แล้ว ถ้ากินมากกว่านี้อาจช็อกตายได้ หมอเขาก็ลุ้นมาก...ผมร้องด้วยความเจ็บปวดอย่างสุดเสียงอย่างทรมาน

ระหว่างนั้น ผมนึกถึง “เจ้าโงกุน” ที่กำลังสู้กับฟรีเซอร์ ซึ่งโงกุนสภาพปางตายมาก เราพากย์ตัวนี้เอง ปางตายแต่กลับมารอดได้ ผมรู้สึก “ฮึด...ฮึบ” ความเจ็บมันพีกถึงขีดสุด

“ความเจ็บมันไม่ลดลง แต่ใจมันสู้มากขึ้น จิตใจมันเข้มแข็งขึ้น หากเราไม่ฮึดสู้มันอาจจะไปแล้ว ซึ่งถึงวันนี้ “ความเจ็บ” จากวันนั้นก็ยังไม่จางหาย มันยังคงอยู่กับเรา และเราต้องกินยาแก้ปวดอยู่ตลอด”

น้าต๋อย บอกว่า ดราก้อนบอล ที่เขาชอบมากที่สุดคือ ภาคของเซลล์ ซึ่งภาคนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เขารอดตายด้วย เพราะมีการใช้ “ลูกบอลเกงกิ” และลูกบอลเกงกิ นี่แหละ คือ กำลังใจที่แฟนๆ ส่งมาให้ ทุกคนที่รู้ข่าวว่าผมไม่สบาย ต่างส่งใจผ่านลูกบอลเกงกิ มาให้ บอกว่า “น้าต๋อย” สู้ๆ อย่ายอมแพ้”

ดูการ์ตูนแล้วได้อะไร คำถามที่ถูกถาม เมื่อ 30 ปีก่อน

ทีมข่าวฯ ถามน้าต๋อยว่า การดูการ์ตูนแล้วได้อะไร สังคมได้อะไร นักพากย์ผู้เป็นตำนาน บอกเล่าว่า คำถามนี้ เคยถูกถามเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ช่วงที่การ์ตูนญี่ปุ่น ถูกโจมตีอย่างหนัก เพราะมีความรุนแรง

“ช่วงนั้น ดราก้อนบอล ถูกโจมตีอย่างหนัก เนื่องจากมีเนื้อหาต่อสู้กัน เป็นที่มาของการจัดเสวนากันที่คุรุสภา ซึ่งมีทั้งนักการเมือง นักวิชาการ ครูเด็กประถม สื่อมวลชน มาให้ความเห็น วันนั้นมีการระดมความคิดนับร้อยคน โดยเวลานั้น มีมุมมองว่า ดราก้อนบอล ควรจะโดนแบน เวลานั้น ช่อง 9 อสมท ไม่กล้าทำอะไร ตอนนั้น ผมก็ลาออกจากช่อง 9 แล้ว แต่เขามาขอร้องให้เราไปพูดเป็นตัวแทน เพราะ “น้าต๋อย” สามารถให้ความเห็นได้โดยไม่ต้องเกรงใจใคร...”

วันนั้น น้าต๋อยก็ตัดสินใจเดินทางไปร่วม แต่...เข้าไปช้า เนื่องจาก หาที่จอดรถไม่ได้ วนหาอยู่เป็นชั่วโมง ขณะที่บรรยากาศในห้องประชุมก่อนหน้านั้นก็เครียด...

“อ้าว...ช่อง 9 ส่งใครมา!” คนในที่ประชุมถาม

“ยังไม่มาเลยครับ...” ทีมงานก็ตอบ

จังหวะผมเดินเข้าไป เห็นบรรยากาศ โอ้โห เครียดๆ และเผอิญว่าวันนั้นเป็นวันเสาร์ ซึ่งฉายดราก้อนบอล พอดี 10 โมง เราก็ไปถึง วนรถหาที่จอด จนถึง 10 โมงครึ่ง เผอิญช่อง 9 ฉายดราก้อนบอลพอดี เป็นฉาก ที่คุริริน ฆ่าโดนฟรีเซอร์ระเบิดตัว

ผมดูจนจบ...ก็เลยเดินขึ้นไป จากนั้นก็สวัสดีทุกคน ก่อนขออภัยที่มาช้า เพราะหาที่จอดรถไม่ได้...

“เมื่อกี้นะครับ ผมกำลังยืนดู ดราก้อนบอล ตอนที่คุริรินสู้กับฟรีเซอร์ จากนั้นผมก็ถามว่า มีใครดูการ์ตูนเรื่องนี้บ้าง...เชื่อไหม ยกมือกันเป็นแถว”

นักวิชาการบางคนก็นั่งหน้ามุ่ยเลย เพราะเพิ่งวิจารณ์การ์ตูนในทางลบ ผมจึงถามกับอาจารย์ว่า “สนุกไหม...”

อาจารย์ก็อมยิ้ม

“ไหนว่าการ์ตูนไม่ดี”

น้าต๋อย เล่าต่อไปว่า พอผมเข้าไปก็พยายามทำให้บรรยากาศในที่ประชุมคลายเครียดลง จากนั้นก็สรุปให้ฟังว่า ก่อนหน้านี้ไปเช็กเสียงเด็กอนุบาลมาแล้ว โดยไปถามที่โรงเรียนแห่งหนึ่งย่านราชปรารภ ถามว่าดูดราก้อนบอล แล้วหนูสามารถตีลังกา เหาะเหินเดินอากาศได้ไหม

เด็กถามกลับมา “น้าบ้าหรือเปล่าเนี่ย” (น้าต๋อยพูดในเสียงการ์ตูนแล้วหัวเราะ)

“เด็กเขาดูออกครับ ว่าอันไหน จริงหรือเท็จ เขาดูการ์ตูนเพราะความสนุก เด็กนั้น ไม่โง่ แต่สิ่งที่คุณทำ คือความพยายามทำเหมือนเด็กไทยโง่ ด้วยความพยายามในการปิดกั้น ทำไมผู้ปกครองไม่สอนลูกหรือว่า ดี หรือ ไม่ดี อย่างไร...

การดูการ์ตูน เพื่อให้สนุกสนาน และเป็นเยี่ยงอย่างในทางที่ดี ในการรักษาคุณธรรม เด็กที่ดูการ์ตูน อยากเป็นพระเอกทั้งนั้น ไม่มีใครอยากเป็นคนร้าย และพระเอก นางเอกทุกคนก็เป็นคนดีทั้งนั้น จุดเล็กๆ แค่นี้เองคือการปลูกฝังเด็ก ให้เด็กเป็นคนดี เป็นฮีโร่”

จากนั้นก็เจอคำถามสุดว่า “แน่ใจเหรอว่าเด็กที่ดูการ์ตูนแบบนี้โตขึ้นจะกลายเป็นคนดี แล้วจะเอาตัวรอดได้”

น้าต๋อย ถึงกับ อึ้งกับคำถามนี้ นิ่งอยู่พักหนึ่ง ก่อนจะหันไปตอบ..

“ความอัจฉริยะของเด็กจะต้องมีการปลูกฝัง...ไม่ต้องห่วงครับ DNA ของคนรุ่นใหม่ มีแต่คนฉลาดมาก แต่ผมมั่นใจว่า โตขึ้นจะต้องเป็นคนดี เป็นสังคมที่ดีในอนาคต”

ประโยคแรกนั้น ยืมมาจากหนังที่เขาเพิ่งพากย์ไป ก็คือ “Star Trek” ที่เจ้าสป๊อกมันพูด...น้าต๋อยเล่าด้วยสีหน้าเปื้อนยิ้ม

“ทำไมผมถึงแน่ใจหรือครับ เพราะสมัยผมเป็นเด็ก ยังดูหนังคาวบอย ยิงกันตาย ผมก็นั่งดูตอนเรา 7-8 ขวบ ตอนนี้ท่านทั้งหลายอายุ 40 กันแล้ว ก็ดูหนังคาวบอย หนังอินเดียแดงใช่ไหม หรือเป็นซุปเปอร์แมน พวกท่านก็ไม่เห็นว่าจะทำอะไรไม่ดี...ซึ่งการเสวนาครั้งนั้นก็จบลงไปด้วยดี”

แม้สิ่งที่พูดไปวันนั้น “น้าต๋อย” จะมีความมั่นใจมาก แต่คำตอบที่แจ่มชัด คือ ในเวลาอีก 30 ปีต่อมา

กับคำถามสุดท้ายในวันนั้น มันกลับมาหาผมอีกครั้ง ตอนที่ผมอยู่โรงพยาบาล “หมอดมยา” บอกหนูดูการ์ตูนน้าต๋อย ตอนอายุ 10 ขวบ หมอผ่าตัดผม ดูเรื่องหน้ากากเสือ ถึงวันนี้เป็น ผอ.โรงพยาบาลแล้ว ทุกคนในโรงพยาบาลดูหมด

“คนดูการ์ตูนเมื่อ 30 ปีที่แล้ว หลายคนก็มีอาชีพดีๆ ที่สำคัญไปกว่านั้น คนที่ดูการ์ตูนในวันนั้น คือคนที่กลับมาช่วยชีวิตผม คนที่ผมเคยให้ความสนุกสนานในวัยเด็กของเขา..”

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านบทความที่น่าสนใจ