เรียนรู้จากดราม่าโลกโซเชียล ปมดูดคลิปมาใช้ อ้างกฎหมาย PDPA คุยกับกูรู ทำความเข้าใจ แบบไหนทำได้ อย่างไรไม่ถูกต้อง และมีผลย้อนหลังหรือไม่?…
ถ้ามีคนถ่ายคลิปติดเรา เขาสามารถนำคลิปนั้นมาใช้ได้หรือไม่ แล้วถ้าเรารู้สึกไม่พอใจ ไม่อยากให้ใช้ จะฟ้องเอาเรื่องคนถ่ายได้หรือเปล่า เอ๊ะ! หรือว่าทำได้นะ ก็ประเทศไทยมี PDPA นี่นา?
แล้วถ้าเกิดว่า คลิปนั้นถูกถ่ายก่อนมีกฎหมาย PDPA เราจะสามารถทำอะไรได้หรือไม่?
จากประเด็นข้างต้น ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จึงได้ต่อสายตรงสนทนากับ 'อาจารย์ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ' คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ ด้านกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สำนักคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) และเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการยกร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ให้ช่วยชี้แจงแถลงไขถึงข้อกฎหมาย PDPA
ถ้าพร้อมแล้ว… ไปร่วมหาคำตอบกันเลยดีกว่าว่า PDPA อักษรสี่ตัวนี้คืออะไร ทำแบบไหนถึงจะถูก แล้วทำอย่างไรเรียกว่าผิด เพื่อป้องกันตัวเอง ก่อนที่คุณจะเผลอทำสิ่งไม่ถูกต้อง หรือเผื่อใครมีคำถามเหมือนข้างต้น ก็จะได้ทำความเข้าใจตรงนี้เลย เพราะความจริงมีเพียงหนึ่งเดียว!!!
...
กฎหมาย PDPA คืออะไร? :
อาจารย์ไพบูลย์ กล่าวว่า PDPA ย่อมาจาก Personal Data Protection Act เป็นกฎหมายที่ออกมาเพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชน หากหน่วยงานหรือบุคคลต่างๆ จะเอาข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนไปใช้ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานรัฐ หน่วยงานเอกชน หรืออื่นๆ ต้องมีหน้าที่ในการเก็บรวบรวม ใช้ และเปิดเผยข้อมูลเท่าที่กฎหมายให้อำนาจ
นอกจากนั้นการใช้ต้องมีมาตรการรักษาความปลอดภัย ถ้ากรณีนำไปใช้เพื่อแสวงหาประโยชน์ส่วนตัว นอกขอบเขตที่กฎหมายกำหนด หรือว่านอกจากที่ตกลงไว้ กฎหมายก็จะระบุเป็นโทษปรับทางการปกครอง นอกจากนั้นยังมีโทษอาญาด้วย
กระบวนการนี้มีมาเพื่อแก้ปัญหาเดิม คือ ก่อนหน้าจะมีกฎหมาย PDPA เวลาประชาชนถูกเอาข้อมูลไปก็จะไม่มีตัวแทน แต่ว่าตอนนี้มีตัวแทนคือ คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยเขาจะตั้งคณะกรรมการเชี่ยวชาญ ในการช่วยวินิจฉัย และจะมีมาตรการลงโทษปรับ ซึ่งค่อนข้างสูง ตั้งแต่ 1 ล้านบาท ถึง 5 ล้านบาท ต่อการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลโดยไม่ชอบ
กูรูกฎหมาย PDPA ให้ข้อมูลต่อว่า มาตรการตรงนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการ หรือคนที่ใช้ข้อมูลไม่ถูกต้อง เขาจะได้รับโทษตามกฎหมาย และอย่าลืมนะครับว่ามี โทษทางอาญา ด้วย ในกรณีที่ไปใช้แล้วเสื่อมเสีย โดยเฉพาะเรื่องอ่อนไหวพิเศษ เช่น เรื่องทางเพศ ภาพไม่เหมาะสมต่างๆ ที่ส่งกันทางโซเชียลมีเดีย หรือจะเป็นเรื่องทางด้านสุขภาพ ประวัติอาชญากรรม เป็นต้น ถ้าเอาสิ่งที่กล่าวมาข้างต้นไปใช้ จะมีโทษจำคุกขั้นต่ำ 6 เดือน ปรับ 5 แสนบาท สูงสุดคือจำคุก 1 ปี ปรับ 1 ล้านบาท
ส่วนนี้เป็นกฎหมายมาช่วยประชาชน ให้การใช้ข้อมูลส่วนบุคคล ของภาครัฐหรือเอกชน มีกฎกติกามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ เอกชน หรือตัวบุคคล ก็ยึดข้อกฎหมายและบทลงโทษเดียวกัน
การยกเว้นของกฎหมาย PDPA :
อย่างไรก็ตาม อาจารย์ไพบูลย์ บอกกับ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ว่า กฎหมายจะมียกเว้นสำหรับหน่วยงานรัฐบางหน่วยงาน และจะไม่ไปบังคับใช้ หากหน่วยงานนั้นใช้อำนาจตามข้อยกเว้น
"ที่ยกเว้นก็จะมีอย่างเช่น กรณีเป็นหน่วยงานรัฐที่ดูเกี่ยวกับเรื่องศาล ความยุติธรรม ความมั่นคง หรือจะทางด้านที่รักษาความปลอดภัยของประชาชน เช่น ทหาร ตำรวจ รวมไปถึงสื่อมวลชน ซึ่งมีหน้าที่ในการตรวจสอบสังคม เหล่านี้กฎหมายก็จะยกเว้นให้"
อย่างไรก็ตาม การยกเว้นนั้น จะยกเว้นเฉพาะ สื่อมวลชนที่มีทะเบียน มีกองเซนเซอร์ และมีประมวลจริยธรรม ดังนั้น ยูทูบเบอร์ที่ไม่มีสังกัด ไม่มีกอง บก. ส่วนนี้ไม่ยกเว้น
...
คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ สคส. กล่าวต่อว่า นอกจากนั้น จะยกเว้นเพิ่มเติมในกรณีการบังคับใช้กฎหมาย ยกเว้นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับรัฐสภา ถ้าเป็นกรณีการใช้ข้อมูลในเรื่องเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ทางด้านรัฐสภา เช่น เกี่ยวกับการเลือกตั้ง โดยใช้เท่าที่จำเป็น กฎหมายก็จะยกเว้นให้ นั่นแสดงว่า ยกเว้นเฉพาะที่จำเป็นจริงๆ เกี่ยวกับความมั่นคง
แม้ว่าจะเป็นหน่วยงานหรือบุคคลที่ยกเว้น เช่น ทหาร ตำรวจ สส. สว. แต่ถ้าเกิดเอาไปใช้ส่วนตัว หรือแสวงหาประโยชน์ส่วนตน กฎหมายนี้ก็จะมีบทลงโทษเช่นเดียวกัน ดังนั้น กฎหมายนี้จะยกเว้นกรณีที่ใช้เพื่อภารกิจเกี่ยวกับประชาชนเท่านั้น
ยูทูบเบอร์หรือบุคคลทั่วไปควรทำอย่างไร? :
ทีมข่าวฯ ถามต่อว่า กรณียูทูบเบอร์ หรือบุคคลทั่วไปที่เราเห็นถ่ายกันเต็มไปหมด เข้าข่าย PDPA หรือไม่?
...
อาจารย์ตอบว่า สำหรับยูทูบเบอร์ หรือบุคคลทั่วไป กฎหมายจะยกเว้นกรณีถ้าถ่ายเพื่อ เรื่องส่วนตัว หมายความว่า หากเป็นญาติ เพื่อน หรือคนสนิทกัน แล้วถ่ายรูปในที่สาธารณะ โดยไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อแสวงหากำไร กฎหมายฉบับนี้จะยกเว้นให้ เพราะเป็นสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ
"ในกรณีที่ไปแสวงหากำไร แล้วเกิดมีผู้เสียหาย เช่น ยูทูบเบอร์ หรือบุคคลที่ไปถ่ายคลิปตามสถานที่ต่างๆ แล้วเดินไปตามเส้นทาง หรือเข้าร้านต่างๆ แล้วถ่ายติดคนอื่นมา ในอากัปกิริยาต่างๆ เช่น กินข้าว อยู่กับคนอื่น หรืออยู่กับครอบครัว หรือแม้แต่เขาอยู่ตัวคนเดียว ก็ควรที่จะต้องเบลอ"
เพราะถ้าไม่เบลอ แล้วเขาไปกับบุคคลที่เขาต้องการให้เป็นความลับ แล้วเกิดความเสียหายขึ้นมา ก็สามารถใช้กฎหมาย PDPA ในการร้องเรียนเข้าที่คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ เพื่อที่จะให้ต้นทางปรับแก้ไข หรือจะเลือกไปฟ้องศาลก็ได้ แล้วแต่ตามต้องการ… กูรูกฎหมาย PDPA กล่าวกับเรา
เราพูดสรุป และถามเน้นย้ำกลับไปว่า "ถ้าไปถ่ายรูป ถ่ายคลิปได้ แล้วนำมาลงเพื่อการส่วนตัวนั้นไม่ผิด แต่ถ้าลงเพื่อหากำไรหรือเชิงพาณิชย์ อาจจะผิดทันที หากไม่ได้เบลอหน้า แบบนี้ใช่ไหมครับ?"
...
ผู้เชี่ยวชาญ PDPA กล่าวตอบกลับว่า ใช่ครับ บางคนเขาอาจจะต้องการความเป็นส่วนตัว เขาอาจจะร้องผู้ถ่ายว่า "ช่วยลบหน่อย" ซึ่งถ้าลบก็ถือว่าจบ ไม่มีอะไร แต่ถ้าไม่ลบก็จะมีประเด็นทันที
"สมมติรายการของคุณโน้ต อุดม ที่เปิดการแสดงโชว์ เดี่ยวไมโครโฟน เขาจะมีการถ่ายผู้ชมในฮอลล์ ซึ่งผู้จัดต้องแจ้งผู้ชม เพื่อขอความยินยอม ถ้าไม่ได้แจ้งแต่นำไปใช้ ก็ต้องมีการเบลอหรือตัดออก ไม่เช่นนั้นก็ถือว่าละเมิดสิทธิส่วนตัว อีกกรณีตัวอย่าง คือ ตามกองถ่ายต่างๆ ถ้าผู้จัดแจ้งแล้วว่าบริเวณนี้มีการบันทึกภาพ แต่ยังมีคนเดินเข้ามา ผู้จัดสามารถบันทึกได้ตามปกติ โดยไม่ผิดกฎหมาย"
กฎหมายมีผลกับคลิปที่ยังเผยแพร่ :
อาจารย์ไพบูลย์ กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้ประกาศใช้เมื่อปี 2562 แต่เนื่องจากช่วงที่กฎหมายประกาศใช้ กฎหมายลูกยังไม่พร้อม และยังไม่มีการตั้งคณะกรรมการ จึงมีการเลื่อนการบังคับใช้ไป 2 ปี ทำให้มีผลการบังคับใช้จริงในปี 2565
ทีมข่าวเฉาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จึงถามต่อไปว่า หากเราไปปรากฏตัวในคลิป ที่ถูกถ่ายตั้งแต่กฎหมายยังไม่บังคับใช้ กฎหมายจะมีผลกับคลิปได้หรือไม่?
คำตอบของคำถามนี้ จากอาจารย์ไพบูลย์ คือ มีผลครับ ขอให้เขาลบได้ โดยการแจ้งต้นทางเข้าไปก่อน แต่ถ้าเขายังไม่ลบหรือไม่แก้ไข ก็สามารถแจ้งมาได้ที่ศูนย์ สคส. แล้วทางศูนย์จะส่งไปที่คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งจะมีคำสั่งออกไปให้ต้นทางลบหรือแก้ไขคลิป แต่ถ้ายังไม่ปฏิบัติตาม ก็จะมีโทษปรับทางการปกครอง
แม้ถ่ายคลิปหรือรูปตอนยังไม่ได้บังคับใช้ ก็ร้องแก้ไขได้ใช่ไหมครับ?
"แน่นอนครับ เพราะว่าตอนที่บันทึก บันทึกจริง แม้จะยังไม่มีกฎหมาย แต่ปัจจุบันยังมีเผยแพร่อยู่ เราจึงสามารถใช้สิทธิในการลบได้ หรือแก้ไขได้ ไม่มีปัญหาเลยครับ"
กูรูกฎหมาย PDPA กล่าวต่อว่า แต่คลิปที่ถ่ายติด ก็ต้องดูว่าถ่ายติดแบบไหน ถ้าถ่ายติดนิดเดียว ไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย ปกติก็ไม่ค่อยซีเรียสอยู่แล้ว ดังนั้น มันต้องดูวิธีการใช้ด้วย สมมติถ้าเราเดินถ่ายถือกล้องที่ชายหาด แล้วไปติดบางคนแต่ไม่ได้ถ่ายเน้นเขา แต่ถ้าเราถ่ายติดแล้วนำภาพมาขยายเพื่อใช้ประโยชน์ ตรงนั้นจะกลายเป็นประเด็น
"เน้นย้ำว่า หลักๆ เลยถ้าใช้ในลักษณะที่เขาเสียหาย หรือแสวงหากำไร ตรงนี้จะเข้าทางกฎหมายฉบับนี้"
อาจารย์ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ กล่าวทิ้งท้ายฝากถึงประชาชนคนไทยว่า… "ผมคิดว่าตัวกฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่ดี และไม่ได้สร้างภาระให้ประชาชน ฉะนั้นในกรณีที่ประชาชนสงสัย เพราะกฎหมายอาจจะเข้าใจยาก ข้อกฎหมายสับสนค่อนข้างเยอะ อยากให้แจ้งไปที่ศูนย์ สคส. ก็คือเว็บไซต์ PDPC และเรายังมีที่เป็น Eagle eyes กรณีมีข้อมูลรั่วไหลจากภาครัฐ ทาง สคส. ก็จะแก้ไขให้"
อ่านบทความที่น่าสนใจ :