คุยกับ นักวิจัยสถาบัน ITD และ อาจารย์รัฐศาสตร์ ถึงเหตุผล…ทำไมคนฟิลิปปินส์เลือกทำงานที่เมืองไทย?

ประเทศไทยมีแรงงานหลากหลายสัญชาติ หนึ่งในนั้นมาจากประเทศ 'ฟิลิปปินส์' ซึ่งเราอาจจะเห็นได้อย่างชินตาจากอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา นอกจากนั้นก็ยังมีอาชีพอื่นๆ ให้เราได้พบอยู่บ้าง

วันนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะพาผู้อ่านไปค้นหาเหตุผลกันว่า เหตุใดคนฟิลิปปินส์จึงเลือกประเทศไทยเป็นจุดหมายในการทำงาน ผ่านการสนทนากับ 'คุณภูชิสส์ ภูมิผักแว่น' นักวิจัยสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD) และ 'รศ.ดร.กมลพร สอนศรี' อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

...

นโยบายส่งออกแรงงานฟิลิปปินส์ : 

'คุณภูชิสส์ ภูมิผักแว่น' ซึ่งได้ทำการศึกษาเรื่อง "นโยบายส่งออกแรงงานฟิลิปปินส์" กล่าวกับเราว่า ประเทศฟิลิปปินส์มีนโยบายส่งออกแรงงานตั้งแต่ปี 1974 โดยตั้งแต่สมัยรัฐบาล เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส (Ferdinand Marcos) ก็มีนโยบายส่งเสริมให้แรงงานฟิลิปปินส์ ออกไปทำงานต่างประเทศ ทำให้สังคมฟิลิปปินส์คุ้นชินกับการออกไปทำงานต่างประเทศ

"นอกจากนั้น ประเทศฟิลิปปินส์ยังพึ่งพารายได้จากแรงงานที่ส่งกลับไปในประเทศค่อนข้างมาก อย่างในปี 2022 รายได้จากการส่งเงินกลับประเทศของชาวฟิลิปปินส์มีสัดส่วนสูงถึง 8.9% ของ GDP ประเทศ"

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ พบข้อมูลของกรมการจัดหางาน ณ เดือนมกราคม 2567 พบว่า แรงงานฟิลิปปินส์ เดินทางมาทำงานถูกกฎหมายในไทย จำนวน 20,498 คน แบ่งเป็นมาตรา 59 ทั่วไป 18,966 คน มาตรา 62 ส่งเสริมการลงทุน 1,532 คน 

ข้อมูลโดยธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (Bangko Sentral ng Philippinas) พบว่า ปี 2022 ชาวฟิลิปปินส์โอนเงินจากไทยกลับประเทศ จำนวน 62.01 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2,220 ล้านบาท

คุณภูชิสส์ ภูมิผักแว่น
คุณภูชิสส์ ภูมิผักแว่น

เมื่อทีมข่าวฯ ถามว่า เพราะเหตุใดชาวฟิลิปปินส์จึงเลือกทำงานนอกประเทศ?

คำตอบของคำถามนี้ คือ ในอดีตหลายสิบปีที่ผ่านมา ประเทศฟิลิปปินส์มีแรงงานส่วนเกินค่อนข้างมาก ตลาดแรงงานไม่สามารถรองรับคนทั้งหมดเข้าระบบเศรษฐกิจได้ นอกจากนั้นยังประสบกับปัญหาค่าแรงตกต่ำ โดยเฉพาะในอาชีพที่เป็นวิชาชีพ เช่น พยาบาล ครู เป็นต้น ทำให้เมื่อเข้าทำงานในระบบ ก็จะได้ค่าแรงค่อนข้างต่ำ ถ้าเทียบกับที่ออกไปทำงานต่างประเทศ แรงงานจึงเลือกที่จะทำงานนอกประเทศ

"คนฟิลิปปินส์ที่จบด้านครู พยาบาล หมอ หรือวิศวกร นิยมไปทำงานที่ต่างประเทศ แม้ว่าจะได้งานที่เป็นการใช้แรงงาน หรือลดระดับลงมา เช่น เป็นหมอที่ฟิลิปปินส์ แต่พอไปอยู่ต่างประเทศ อาจจะได้เป็นเพียงพยาบาล แต่เขาก็ยอมไป"

คุณภูชิสส์ กล่าวต่อว่า ช่วงโควิดการส่งแรงงานออกนอกประเทศค่อนข้างน้อย แรงงานส่วนใหญ่เลือกเดินทางกลับประเทศ แต่เมื่อโควิดเริ่มหายไป คนฟิลิปปินส์ก็เริ่มเดินทางออกนอกประเทศมากขึ้นเหมือนเดิม

...

คนฟิลิปปินส์นิยมทำงานในเอเชีย และเน้นเป็นครูที่ไทย : 

คุณภูชิสส์ เล่าให้เราฟังต่อว่า คนฟิลิปปินส์นิยมไปทำงานทั้งในเขตอาเซียน และประเทศต่างๆ ในทวีปเอเชีย แต่ ถ้ามาทำงานที่ประเทศไทย ส่วนใหญ่จะเป็นครูภาษาอังกฤษ และมีอยู่ในภาคบริการบางส่วน ทั้งถูกกฎหมาย และไม่ถูกตามกฎหมาย โดยอาศัยช่องทางผ่านทางฟรีวีซ่า (Free VISA)

เหตุที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายของแรงงาน เนื่องจากเป็นประเทศที่อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ไกลจากฟิลิปปินส์ โครงสร้างพื้นฐาน วัฒนธรรม อากาศ ก็ค่อนข้างคล้ายคลึงกัน และต้นทุนในการย้ายประเทศไม่ค่อยสูง 

"นอกจากนั้น หลังเปิด AEC ไทยเองก็มีความต้องการของครูสอนภาษาอังกฤษค่อนข้างเยอะ ซึ่งคนฟิลิปปินส์จำนวนมากก็อาศัยช่องว่างส่วนนี้ เข้ามาเป็นครูสอนภาษาอังกฤษในประเทศไทย เพราะตัวพวกเขาเองก็มีพื้นฐานภาษาอังกฤษดีอยู่แล้ว"

ในส่วนนี้ 'รศ.ดร.กมลพร สอนศรี' ได้พูดถึงการที่สถาบันการศึกษาในไทย นิยมจ้างงานครูสัญชาติฟิลิปปินส์ ให้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ฟังว่า… 

...

"เนื่องจากค่าจ้างน้อยกว่าการจ้างชาวตะวันตก และภาษาของคนฟิลิปปินส์ก็อยู่ในระดับดีถึงดีมาก แม้ว่าบางคนอาจจะมาอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่เมื่อเขามาสอน สถาบันบางแห่งก็ได้เงิน จึงเหมือนเป็นการได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย"

อย่างไรก็ตาม คุณภูชิสส์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ประเทศเราตอบโจทย์ฟิลิปปินส์ในบางงาน แต่งานอื่นๆ เขาอาจจะไปประเทศอื่น เช่น ถ้าเป็นงาน Housekeeping หรือแม่บ้าน เขาจะเลือกไปอินโดนีเซีย สิงคโปร์ ฮ่องกง มาเลเซีย

ปัจจัยดึงดูดแรงงานฟิลิปปินส์เข้าไทย : 

ทางด้าน รศ.ดร.กมลพร ได้ยกตัวอย่างของ ปัจจัยดึงดูดที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด 3 เรื่อง ซึ่งเป็นเหตุผลทำให้แรงงานฝีมือชาวฟิลิปปินส์เข้ามาในประเทศไทย ในส่วนนี้เป็นชุดข้อมูลที่อาจารย์ได้จากการทำงานวิจัยเรื่อง 'ปัจจัยผลักดันและปัจจัยดึงดูดการย้ายถิ่นของ แรงงานฝีมือชาวฟิลิปปินส์ในประเทศไทย'

ครั้งนั้น อาจารย์กมลพร ได้ทำการศึกษาจากเอกสาร และสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างจำนวน 377 คน โดยเจาะจง 3 กลุ่มวิชาชีพ ได้แก่ ประกอบวิชาชีพด้านการสอน ผู้จัดการฝ่ายต่างๆ และสถาปนิก วิศวกร 

...

ตัวอย่างปัจจัยแรก คือ 'วัฒนธรรม' ซึ่งได้รับค่านิยมสูงที่สุด โดยเฉพาะในประเด็น "การที่ประเทศไทย ไม่มีข้อห้ามอันนำไปสู่การกีดกันทางศาสนา" ในส่วนนี้ รศ.ดร. กมลพร วิเคราะห์ออกมาว่า 

การที่ประเทศไทยไม่มีการกีดกันทางด้านศาสนาทำให้แรงงานมีความสบายใจหรือมีความสุขใจในการดำเนินชีวิต ไม่ต้องกังวลต่อสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการกีดกันทางศาสนา นอกจากนี้การปราศจากการกีดกันทางศาสนา ยังทำให้แรงงานสามารถเลือกงานที่จะทำ หรือเกิดความมั่นคงต่อการดำรงชีวิตในประเทศ ที่แรงงานเข้ามาทำงาน (ในที่นี้หมายถึงประเทศไทย)

ปัจจัยต่อมาเป็นเรื่องของ 'เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม' โดยเฉพาะเรื่องที่ประเทศไทยมีการเดินทางสะดวกและคล่องตัว ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาที่บอกว่า ประเทศไทย มีความสะดวกในการเดินทางนั้นทำให้แรงงานสามารถเคลื่อนย้ายแรงงานได้ง่าย และเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศฟิลิปปินส์ที่มีสภาพภูมิศาสตร์เป็นเกาะ ทำให้การคมนาคมทำได้ยาก

อีกทั้งประเทศไทยมีช่องทางในการเดินทางที่หลากหลาย ทั้งการเดินทางด้วย รถยนต์ส่วนบุคคล การเดินทางโดยรถโดยสารสาธารณะที่มีการขนส่งที่ครอบคลุมทุกจังหวัด การเดินทางโดยรถไฟ หรือการโดยสารทางอากาศยาน ก็สามารถทำได้โดยสะดวก เพราะ เป็นจุดศูนย์กลางในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีสายการบินต่างๆ ใช้ท่าอากาศยานของไทยเป็นจุดเชื่อมต่อ

ปัจจัยข้อที่ 3 คือ 'ด้านเศรษฐกิจ' จากการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่าง พบว่าส่วนใหญ่พูดถึงเรื่องของ ค่าครองชีพ ซึ่งประเทศฟิลิปปินส์ยังมีค่าจ้างแรงงานค่อนข้างต่ำ สวนทางกับค่าครองชีพที่สูง จึงทำให้ไทยกลายเป็นประเทศปลายทางที่แรงงานฟิลิปปินส์เลือก

นโยบายแรงงานส่งผลต่อฟิลิปปินส์ทั้งลบและบวก : 

นักวิจัยสถาบัน IDT กล่าวว่า สำหรับผลกระทบจากนโยบายแรงงานของฟิลิปปินส์ มีการวิเคราะห์กันมาค่อนข้างนาน ซึ่งผลกระทบมีทั้งด้านบวกและลบ ข้อดี คือเมื่อคนฟิลิปปินส์ส่งเงินกลับประเทศ ทำให้เกิดการพึ่งพาทั้งในระดับครัวเรือน และระดับประเทศ เห็นได้ชัดว่าช่วงโควิด-19 ที่แรงงานต้องกลับประเทศ ทำให้ฟิลิปปินส์ขาดรายได้ค่อนข้างเยอะ

ผลกระทบด้านลบ คือ ประเด็นที่ 1 แน่นอนว่าถ้าคนแรงงานออกไปทำงานนอกประเทศ ทำให้ตลาดภายในประเทศสูญเสียแรงงานบางกลุ่ม เช่น กลุ่ม STEM (Science, Technology, Engineering and Mathematics) 

ประเด็นที่ 2 เป็นการส่งผลกระทบต่อครอบครัว ทำให้หลายครอบครัวมีลักษณะเป็น 'ครอบครัวแหว่งกลาง' คนวัยแรงงานออกไปทำงานต่างประเทศ ทิ้งลูกไว้กับปู่ย่าตายาย คล้ายกับคนในต่างจังหวัดบ้านเรา ที่ต้องเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ

คุณภูชิสส์ แสดงความคิดเห็นว่า รัฐบาลฟิลิปปินส์ต้องมองว่า จะดำเนินนโยบายนี้ไปถึงตรงไหน เพราะถ้ายังทำเช่นนี้ต่อไป โอกาสในการเติบโตของตลาดแรงงานในประเทศก็ค่อนข้างน้อย หรืออาจไม่มีโอกาสเติบโตไปมากกว่านี้แล้ว เพราะคุณส่งเสริมแรงงานให้ออกไปด้านนอก 

ประเด็น 4 มีนาคม วันกะเทยผ่านศึก ณ สุขุมวิท 11 : 

จากกระแสข่าวที่เกิด ณ ซอยสุขุมวิท 11 เหตุพี่กะเทยไทย ยกทัพบุกตบพี่กะเทยปินส์ จนชาวเน็ตยกให้วันที่ 4 มีนาคม เป็น วันกะเทยผ่านศึก ทำให้ ทีมข่าวฯ ได้มีโอกาสสนทนา กับ ผู้การฯ วิสุทธิ์ วานิชบุตร ในสกู๊ป รากปัญหา สุขุมวิท 11 ก่อนวันกะเทยผ่านศึก ฝ่าดงทีนฟิลิปปินส์ ความตอนหนึ่งว่า…

"แก๊งฟิลิปปินส์ เน้นทำงานในด้านการบันเทิง ซึ่งบางส่วนก็เป็นการค้าประเวณี ซึ่งแน่นอนอยู่แล้ว เมื่อมาอยู่รวมกัน ก็รักกัน พอมีเรื่องก็รวมตัวกัน ก่อเหตุทะเลาะวิวาท เมื่อมันรู้ข่าวว่าจะลุยมันก็รวมตัวกัน ช่วยกัน มันถือเป็นการรวมตัวของชนชาติเดียวกัน"

เราจึงสอบถามไปยังคุณภูชิสส์ว่า เรื่อง Sex worker ในฟิลิปปินส์เป็นอย่างไรบ้าง แล้วคาดว่าเพราะเหตุใดพวกเขาจึงเลือกเดินทางมาที่ไทย?

คุณภูชิสส์ กล่าวว่า ในฟิลิปปินส์ก็มีเรื่องของ Sex Worker แต่ถ้ามองในภาพรวมของภูมิภาค Sex Worker ก็มีการโยกย้ายถิ่นฐานไปมาระหว่างประเทศ เช่น เราอาจจะเคยเห็นข่าวว่า คนไทยไปทำงานเป็น Sex Worker ในสิงคโปร์ หรือคนจากต่างประเทศมาทำงานที่ไทย ผมมองว่าตรงนี้เป็นเรื่องปกติ แต่อย่างไรก็ตามอาชีพนี้ก็ถือว่ายังเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย

ทีมข่าวฯ ถามต่อว่า มี Sex Worker ชาวฟิลิปปินส์ เดินทางมาที่ไทยเยอะหรือไม่?

คุณภูชิสส์ ตอบเราว่า เนื่องจากอาชีพนี้ยังไม่ถูกกฎหมาย จึงประเมินค่อนข้างยากว่ามีจำนวนอยู่ที่เท่าไร แต่ผมก็มองว่ามีอยู่ไม่น้อย และถ้าเทียบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฟิลิปปินส์ และไทย เป็น 2 ประเทศที่ค่อนข้างเปิดรับเรื่องความหลากหลายทางเพศ 

อีกทั้งการที่ LGBTQ+ เดินทางเข้ามาเที่ยวที่ไทยอย่างเป็นข่าว ก็เพราะประเทศเราค่อนข้างเปิดรับเรื่องนี้อย่างกว้างขวาง และชาวฟิลิปปินส์เอง ก็ชื่นชอบไทยในเรื่องนี้ ไม่ใช่แค่ฟิลิปปินส์ ประเทศไทยถือว่ามีภาพลักษณ์ด้านบวกในด้านความหลากหลายสำหรับคนทั้งโลก

ทางด้าน รศ.ดร.กมลพร แสดงความคิดเห็นต่อเหตุการณ์นี้ว่า จากที่เคยมีประสบการณ์ไปใช้ชีวิตอยู่ฟิลิปปินส์มา 3 ปี มองว่าคนฟิลิปปินส์เป็นหนึ่งในชาติที่อัธยาศัยดี เป็นมิตร อาจจะเพราะเป็นชาวคริสต์ด้วย ที่มีแนวคิดการมอบความรักให้ทุกคน นอกจากนั้นพวกเขาชื่นชอบเมืองไทย 

แต่ประเด็นที่เป็นข่าวอยู่ เป็นเรื่องปัญหาส่วนตัว เป็นปัญหาของคนเฉพาะกลุ่ม แต่ก็เข้าใจอยู่ดีว่า มันอาจจะทำให้เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีกันสักเท่าไร…

รศ.ดร.กมลพร สอนศรี
รศ.ดร.กมลพร สอนศรี

ไทยควรร่วมมือด้านแรงงานกับฟิลิปปินส์ : 

ทีมข่าวฯ สอบถาม รศ.ดร.กมลพร ว่า เมื่อมีแรงงานฟิลิปปินส์เข้ามาในไทยแบบนี้ คาดว่าจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อประเทศบ้าง?

อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มธ. แสดงความคิดเห็นว่า ถ้ามาอย่างถูกกฎหมายก็คาดว่าไม่มีปัญหาอะไร เพราะโดยปกติแล้วที่ประเทศฟิลิปปินส์ เขาก็จะมีหน่วยงานที่ดูแลเรื่องแรงงานอยู่แล้ว จะมีการอบรมอาชีพ ฝึกฝน ให้ความรู้ ทำทุกอย่างให้อยู่ในระเบียบ เพื่อให้แรงงานของเขามีคุณภาพ เป็นที่ต้องการ

อย่างไรก็ตาม แรงงานแบบที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายก็ยังมีอยู่ ไม่ใช่แค่ที่ไทย แต่ที่อื่นก็ยังมี ส่วนนี้มองว่าหน่วยงานของไทย ต้องร่วมมือกับหน่วยงานของฟิลิปปินส์ จัดการปัญหาคนเข้ามาแบบไม่ถูกกฎหมายให้ได้ เพื่อจะได้ไม่กลายเป็นเรื่องบานปลายในอนาคต 

ทีมข่าวฯ ถามว่า ถ้าไม่แก้ปัญหา คาดว่าจะส่งผลอย่างไร?

รศ.ดร.กมลพร ตอบว่า คงจะมีแบบที่เป็นข่าวให้ได้ให้เห็นอีก…


อ่านบทความที่น่าสนใจ :