แบบนี้ก็ได้หรือ...? คำถามถึง ฝรั่งสวิส กับการเปิดธุรกิจปางช้างรายได้กว่า 40 ล้าน ควบกับมูลนิธิอนุรักษ์  

เรียกว่าเรื่องนี้ไม่จบง่ายๆ เหมือนการทำร้ายร่างกาย สำหรับ กรณี นายเดวิด ฝรั่งสวิส ที่ก่อคดีเตะหมอปาย และกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โต จนชาวภูเก็ตสาปส่ง เท่านั้น ยังไม่พอ หลายเรื่อง หลายประเด็น ที่ถูกขุดคุ้ย ทั้งพฤติกรรมแย่ๆ บนท้องถนน รวมไปถึงเรื่องล่าสุด คือ ธุรกิจปางช้าง Green Elephant Sanctuary Park ที่จดในนามบริษัท และ ยังมีการจดในนามมูลนิธิด้วย 

ซึ่งข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจ พบว่า ในปี ล่าสุด บริษัทของ นายอูรส์ บีท เฟอร์ นั้น มีรายได้ถึง 46 ล้าน! จากการทำธุรกิจปางช้าง ซึ่งค่าบริการนักท่องเที่ยวเก็บจากเด็กหัวละ 1,500 บาท ผู้ใหญ่ 2,500 บาท แต่ในขณะที่มูลนิธิฯ ยังไม่ได้เปิดรับบริจาค? 

คำถามคือ เป็นไปได้หรือ คนที่ทำธุรกิจ “ปางช้าง” ซึ่งเป็นฝรั่ง และ ยังเปิดมูลนิธิที่ช่วยเหลือช้างด้วย จะไม่มีเงินบริจาคเข้า....? 

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้สอบถามไปยัง นายสุรพล ดวงแข  กรรมการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และ นักวิชาการสัตว์ป่า มูลนิธิพิทักษ์ช้างไทย อธิบายหลักการในการเปิดมูลนิธิที่เกี่ยวกับสัตว์ ว่า...การเปิดมูลนิธิสักแห่งเป็นเรื่องไม่ง่ายเลย เพราะต้องดูที่รายละเอียดที่การจดทะเบียนกับนายอำเภอ และจะมีการตรวจสอบหลายเรื่อง โดยหลักเกณฑ์ มีดังนี้ คือ 

- ต้องมีกรรมการอย่างน้อย 3 คน  

- ต้องมีเงินในบัญชี 5 แสนบาท 

- จะมีการตรวจสอบประวัติต่างๆ คนที่เป็นกรรมการ 3 คน ซึ่งใช้เวลาตรวจสอบหลายเรื่อง โดยพุ่งไปที่ เหตุที่มาก่อตั้งมูลนิธิ 

...

นายสุรพล ยอมรับว่า ปัญหาการเปิดมูลนิธิในประเทศไทย คล้ายกับแดนสนธยา โดยองค์กรที่ทำงานประสานกับรัฐนั้น จะต้องโดนตรวจสอบที่มาของเงิน โดยเฉพาะ NGO ซึ่งเรื่องนี้ถูกนำมาใช้ในช่วงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แม้ที่ผ่านมา จะมีความพยายามต่อต้าน แต่สุดท้ายมันก็ถูกผลักดันจนได้ 

นายสุรพล ยอมรับว่า ประเด็นกฎหมายนั้น ไม่สำคัญเท่ากับการตรวจสอบ โดยเฉพาะ คนจาก มหาดไทย ซึ่งพบว่ามีช่องโหว่มาก อาทิ นายทะเบียนของมหาดไทย จะขึ้นตรงกับผู้ว่าราชการจังหวัด และจังหวัด คำถามคือ อยู่ที่จังหวัด นั้นอยู่ที่ส่วนไหน ฝากเรื่องไว้กับใคร ฉะนั้น เวลาจะมีการเปลี่ยนชื่อสมาชิกกรรมการมูลนิธิ ยังต้องทำเรื่องและรอเป็นปี เนื่องจากต้องผ่านในหลายขั้นตอน ตั้งแต่นายทะเบียน ซึ่งขึ้นกับมหาดไทย, การส่งมอบเรื่องมาถึงจังหวัด กว่าเอกสารทุกอย่างจะเสร็จเรียบร้อยถูกต้อง จึงกินระยะเวลานาน 

นอกจาก กรณี การขึ้นทะเบียนช้าง (สัตว์พาหนะ) คำถามคือ ปลัดอำเภอ จะเอาความสามารถใด มาดูว่า ช้างที่มีการขึ้นทะเบียน ตรงกับลักษณะ “ตั๋วรูปพรรณ” นายอำเภอดูออกไหม ตำหนิต่างๆ ของช้าง ปานช้าง ที่บางเรื่องรู้เฉพาะคนเลี้ยงช้าง เป็นภาษาที่คนเลี้ยงช้างคุยกัน และหากมีช้างที่รูปพรรณ คล้ายกับตั๋วทะเบียนที่มีอยู่ ก็จะกลายเป็นที่มาของการสวมทะเบียนช้าง 

“ปัญหาคือ กระบวนการตรวจสอบของมหาดไทย ยังไม่มีระบบชัดเจน ด้วยกฎหมายที่เป็นสัตว์พาหนะ และที่ผ่านมา ในอดีตมีการลักขโมยกัน ที่สำคัญ คือ การขาดการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ ถึงแม้บางครั้งจะมีรายงานก็ตาม 

ข้อสังเกต กรณี “เดวิด” กับปัญหาที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ 

นายสุรพล ตั้งข้อสังเกต กรณีที่เกิดขึ้นกับฝรั่งสวิส รายนี้ มีหลายอย่างเกี่ยวข้องกับภาครัฐ เช่น การเช่าวิลล่าบุกรุกที่ชายหาด เกี่ยวข้องโดยตรงกับ กระทรวงมหาดไทย คำถามคือ ก่อนหน้านี้ทำไมไม่ลงมาตรวจสอบ..? และเมื่อมีการตรวจสอบพบว่ามีการบุกรุกอยู่หลายแห่ง

“โดยขั้นตอนแล้ว มหาดไทย จะมอบหมายให้ อำเภอ หรือ เทศบาล ไปตรวจสอบ ซึ่งที่ผ่านมา ทำหรือไม่? เพราะหากมีการตรวจเจอ จะต้องทำหนังสือให้ออกไปจากที่รุกล้ำ และมีการดำเนินคดี หากเกิดขึ้นแบบนี้ ก็จะไม่มีการรุกล้ำที่สาธารณะ ดังนั้น การที่มีคนพูดว่า มีหลายที่ทั่วประเทศ มีการรุกล้ำที่สาธารณะ จึงถือไม่เกินเลยจากความจริง เพราะ ไม่มีใครเข้ามาอยู่ในกระบวนการตรวจสอบ มีการรายงานหรือไม่ มีการจับกุมไปแล้วกี่ราย 

นายสุรพล เล่าว่า ที่ผ่านมา ผมเคยร่วมคณะตรวจสอบ กรณี การบุกรุกที่สาธารณะ ปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ระดับเทศบาล กลับไม่มีความรู้เรื่องเหล่านี้เลย คำถาม คือ ไม่ได้รับการอบรมเกี่ยวกับระเบียบที่สาธารณะหรือ หรือ คำตอบที่ได้ คือ เขาไม่รู้...ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าเป็นไปได้ เพราะเขารับภาระงานต่างๆ เยอะ 

...

กิจกรรม และวัตถุประสงค์ต้องชัดเจน  

“คำถามต่อมา คือ ที่ผ่านมา เคยตรวจสอบประวัตินายเดวิด ก่อนหรือไม่ ก่อนที่จะให้จดทะเบียนเป็นมูลนิธิ หรือ ศูนย์อนุรักษ์ช้าง" 

นายสุรพล อธิบายว่า หลักเกณฑ์การเป็นมูลนิธิ คือ ต้องมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน ว่าตั้งมูลนิธิขึ้นมาเพื่ออะไร...ปัญหาเหล่านี้ คือ ราชการต้องไปตรวจสอบ ยกตัวอย่าง รับดูแลช้าง ดูแลจริงไหม ปล่อยให้อดอยากหรือไม่ 

“ถ้าเก็บตังค์ คนมาขี่ช้าง แล้วอ้างว่าเป็นมูลนิธิ แบบนี้อาจจะไม่ถือว่า เป็นมูลนิธิไม่แสวงหากำไร กลับกัน หากจดในรูปแบบบริษัท ก็สามารถทำได้ แต่การจดแบบแสวงหากำไรนั้นจำเป็นต้องเสียภาษี การจะเป็นมูลนิธิ กับ รูปแบบบริษัท มีผลในทางภาษี” 

นายสุรพล ย้ำว่า สิ่งที่ต้องดูอย่างละเอียด หากเป็นมูลนิธิ คือ องค์กรไม่แสวงหากำไร ต้องมีรายงานประจำปี จะถูกตรวจสอบว่า กิจกรรมที่ทำ ตรงกับรายงานประจำปีหรือไม่ หากไม่ตรงก็ผิดกฎหมาย 

หากมีการจดทะเบียนในลักษณะการเป็นธุรกิจ แบบนิติบุคคล ก็ต้องไปดูลักษณะการประกอบธุรกิจ ว่าตรงตามวัตถุประสงค์หรือไม่ ซึ่งถ้าจดว่า มีการซื้อขายช้าง หรือ นำช้างมาบริการนักท่องเที่ยว ก็ถือว่าตรงวัตถุประสงค์ 

แต่...หากมีการจดในลักษณะการทำธุรกิจ แล้วมีการอ้างว่าเป็นศูนย์อนุรักษ์ช้าง แบบนี้ถือว่าไม่ใช่ เพราะหากจะบอกว่าอนุรักษ์ ก็ต้องทำกิจกรรมอนุรักษ์ เพราะการจะจดทะเบียนศูนย์อนุรักษ์ในนามบริษัทไม่ได้ เพราะบริษัท มันต้องระบุว่าค้าขายอะไร 

“หากทำในนามบริษัท ไม่สามารถเรี่ยไร ได้ และที่สำคัญคือ คุณจะมาเก็บเงินเข้าชมช้าง แล้วอ้างว่าเป็นเงินบริจาคให้ช้างก็ไม่ได้ เพราะหากทำแบบนั้นก็ถือเป็นการทำผิดกฎหมายอีก เข้าข่ายหลอกลวงประชาชน เพราะถือเป็นการทำกำไร และต้องเสียภาษี หากเงินเข้ามาผ่านระบบบัญชี และเสียภาษี มันก็ถือว่าไม่ใช่องค์กรอนุรักษ์ นี่คือธุรกิจ”

...

นายสุรพล ย้ำว่า หากทำธุรกิจท่องเที่ยวเกี่ยวกับช้าง แต่กลับโฆษณาชวนเชื่อว่าเป็นศูนย์อนุรักษ์ หรือ มูลนิธิ เช่น โบรชัวร์ เว็บไซต์ ถ้าหากทำให้คนที่ใช้บริการ เข้าใจผิดว่าเป็นศูนย์อนุรักษ์ ก็เท่ากับหลอกลวงประชาชน...เพราะถือว่าหลอกลวงให้คนบริจาคเงิน เพราะเข้าใจผิด บอกว่า เก็บเงิน 2,500 บาท ซึ่งถือว่าแพงมาก ซึ่งไม่รู้ว่าคนที่ใช้บริการเข้าใจผิดหรือไม่ ว่ามีการแบ่งเงินช่วยเหลือ มีการแอบอ้างว่าเอาเงินมารักษาช้าง จึงต้องเก็บแพงหรือไม่ ที่สำคัญ คือ หากมีการเผยแพร่ข้อมูลไปยังต่างประเทศ ซึ่งคนต่างชาติเขานิยมบริจาคช่วยเหลือสัตว์ มันก็สามารถเกิดขึ้นได้ ซึ่งเรื่องนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องตรวจสอบให้ชัดเจน..” นายสุรพล กล่าว 

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านบทความที่น่าสนใจ 

...