ชวนรู้จัก 'บรรณบำบัด' หรือ 'Bibliotherapy' หนึ่งในองค์ความรู้ด้านจิตวิทยา ที่ใช้หนังสือเพื่อเยียวยาหัวใจและจิตวิญญาณ

'จิตวิทยา' คือศาสตร์แขนงหนึ่งที่มนุษย์ใช้เวลาตกผลึกองค์ความรู้ นำไปสู่การศึกษา เพื่อแก้ปัญหา และเยียวยาอารมณ์ จิตใจ จนไปถึงความรู้สึก ซึ่งบนโลกของเรามีวิธีทางจิตวิทยาอยู่หลายอย่าง หนึ่งในนั้นเรียกว่า 'บรรณบำบัด' หรือ 'Bibliotherapy'

'ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วัลลภา ทรงพระคุณ' อาจารย์ประจำคณะพยาบาลศาสตร์แมคคอร์มิค มหาวิทยาลัยพายัพ กล่าวกับ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ว่า เมื่อพูดถึงคำว่า 'บรรณบำบัด' พอมีคำว่า 'บำบัด' ทำให้หลายคนเข้าใจและนึกถึง 'การบำบัดทางการแพทย์' เพียงอย่างเดียว

แต่บรรณบำบัดสามารถใช้เพื่อผ่อนคลายอารมณ์ โดยไม่ต้องมีแพทย์ก็ได้เช่นกัน จะเน้นการใช้หนังสือ การเขียน และการอ่าน เพื่อช่วยฝึกเรื่องจินตนาการ ให้เกิดเป็นภาพสะท้อน ทำให้ผู้อ่านได้กลับมาคิดทบทวน หรือปรับอารมณ์ของตัวเอง เมื่อปรับได้แล้วก็จะช่วยให้สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองได้ 

...

"ที่ผ่านมามีการใช้บรรณบำบัดเพื่อลดความวิตกกังวล ความกดดันทางด้านจิตใจ บางส่วนก็เริ่มไปใช้กับผู้ติดสารเสพติด เพราะต้องการให้เขาปรับวิธีคิด อย่างไรก็ตาม บรรณบำบัดเป็นเพียงหนึ่งทางเลือกที่เป็นตัวช่วยเสริม ยังคงต้องรักษาร่วมกับการบำบัดรูปแบบอื่น" อาจารย์วัลลภากล่าว

สำหรับคำว่า Bibliotherapy มาจากภาษากรีก 2 คำ คือ biblion แปลว่า หนังสือ และ therapeia แปลว่า การรักษา คำนี้ถูกนำมาใช้ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1916 โดยนักเขียนชาวอเมริกันที่มีชื่อว่า 'ซามูเอล แมคคอร์ด โครเธอร์ส' (Samuel McChord Crothers) เป็นการพยายามใช้คำเพื่ออธิบายว่า หนังสือเป็นตัวแทนของยาสำหรับการรักษาอาการต่างๆ

ในความเป็นจริงแล้ว มีการคาดการณ์กันว่า ลักษณะการบำบัดด้วยหนังสือ อาจจะมีมาตั้งแต่ยุคโบราณ ตัวอย่างเช่น มีคำจารึกที่อยู่บนห้องสมุดในเมืองธีบส์ (Thebes) ซึ่งเป็นเมืองอียิปต์โบราณ ถอดคำออกมาได้ว่า 'Healing place of the soul' แปลว่า 'สถานที่แห่งการรักษาของจิตวิญญาณ'

ประเภทของบรรณบำบัด : 

ผศ.ดร.วัลลภา กล่าวว่า บรรณบำบัดไม่ได้มีการแบ่งประเภทไว้อย่างชัดเจน แต่จากข้อมูลที่เคยศึกษา คาดว่าสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่ 

1. 'การบำบัดเชิงสร้างสรรค์' เป็นการอ่านหนังสือเพื่อปรับอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดของตนเอง โดยสามารถเลือกเนื้อหาได้ตามความสนใจ เช่น นวนิยาย วรรณกรรม เรื่องสั้น หนังสือสร้างกำลังใจ จิตวิทยาพัฒนาตัวเอง หรือเนื้อหาประเภท Life Coach (ไลฟ์โค้ช)

2. 'การบำบัดเพื่อพัฒนาการ' สำหรับการบำบัดประเภทนี้ ปัจจุบันมีการนำไปใช้กับช่วงวัยเด็กและวัยรุ่น ในช่วงเปลี่ยนผ่านวัยของพวกเขา โดยจะใช้เพื่อพัฒนาการทางด้านความคิด อารมณ์ และพฤติกรรม ให้เป็นไปในทิศทางที่ดี ป้องกันพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้น

3. 'การบำบัดโดยแพทย์' จะใช้ในกลุ่มผู้ที่มีความผิดปกติทางด้านอารมณ์ อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ หรือผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งจะช่วยเยียวยาและผ่อนคลายจิตใจ เน้นปรับความคิดเป็นหลัก 

คนที่ 'ไม่ควรใช้' บรรณบำบัด : 

...

ทีมข่าวฯ สอบถามต่อว่า ต้องมีอาการหรือลักษณะอย่างไร ถึงต้องใช้บรรณบำบัดโดยแพทย์?

อาจารย์คณะพยาบาลศาสตร์แมคคอร์มิค ตอบว่า ไม่มีเกณฑ์กำหนดอย่างชัดเจนว่าอาการลักษณะไหนต้องใช้บรรณบำบัด แต่มีข้อจำกัดที่ 'ไม่ควรใช้' สำหรับคนบางกลุ่ม เช่น คนที่ไม่อยู่ในโลกของความเป็นจริง 

"เราต้องทำการวิเคราะห์อาการ และตรวจสอบความรู้สึกนึกคิด ของผู้รับบริการก่อนตัดสินใจใช้การบำบัดด้วยหนังสือ เพราะถ้าผู้ป่วยมีความคิดที่เกินความเป็นจริงไปแล้ว มีอาการประสาทหลอน อันนี้ไม่ควรใช้หนังสือบำบัด เพราะเขาอาจแยกโลกแห่งความเป็นจริง และโลกจินตนาการออกจากกันไม่ได้ การบำบัดนี้ต้องอยู่กับความเป็นจริง เพื่อจะได้พัฒนาความคิดของเขาให้เป็นปัจจุบัน"

ผศ.ดร.วัลลภา กล่าวต่อว่า นอกจากนั้นยังไม่ควรใช้กับผู้ที่ไม่ชอบอ่านหนังสือ หรือผู้มีความสนใจในระยะเวลาที่จำกัด หากแพทย์ต้องการใช้บรรณบำบัด ต้องทำข้อตกลงและความเข้าใจกับผู้รับบริการตั้งแต่แรก 

"บรรณบำบัดจะเป็นวิธีที่แพทย์เลือกให้ หลังจากนั้นต้องทำความเข้าใจร่วมกันว่า เขาจะยอมรับวิธีที่เลือกให้หรือไม่ เพราะถ้าผู้บำบัดไม่ต้องการอ่านหนังสือ การบำบัดจะไม่ได้ผล และบางคนอาจจะล้มเลิกระหว่างทาง"

...

ตัวอย่างการศึกษา 'บรรณบำบัดสำหรับผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า' : 

ผศ.ดร.วัลลภา ทรงพระคุณ เล่าประสบการณ์จากข้อมูลที่เคยได้ทำการศึกษาเรื่อง 'บรรณบำบัดสำหรับผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า' (Bibliotherapy for Individual with Depression)ให้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ฟังว่า…

การทำบรรณบำบัดสำหรับผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า ก็เพื่อปรับความคิดและพฤติกรรม ซึ่งจะมุ่งไปที่การใช้หนังสือเพื่อเปลี่ยนความคิดทางลบ ให้มีความสมเหตุสมผล รับรู้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นตามสภาพความเป็นจริง และยังส่งเสริมให้ทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ 

โดยให้มีการจดบันทึกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตนเอง เพื่อทำให้เกิดความเข้าใจด้านความคิดและความรู้สึก อย่างไรก็ตาม การเลือกใช้บรรณบำบัดสำหรับผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า ควรจะใช้ร่วมกับการชี้แนะและกำกับติดตามระหว่างบำบัดอยู่เป็นระยะ 

...

ทีมวิจัยได้ศึกษาผลของบรรณบำบัด ในการปรับความคิดและพฤติกรรมระดับความซึมเศร้าของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า โดยใช้การวิจัยแบบ RCT หรือ Randomized Controlled Trial เป็นการทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม โดยมีกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับการวินิจฉัยว่า เป็นโรคซึมเศร้าระดับปานกลาง จำนวน 56 ราย

"เราแบ่งกลุ่มทดลองออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลอง กลุ่มควบคุมคือการรักษาปกติกับโรงพยาบาล ส่วนกลุ่มทดลองจะเพิ่มการทำบรรณบำบัด ร่วมกับการรักษาปกติด้วย มีการวัดผลก่อนและหลังการบำบัด นอกจากนั้นยังได้เพิ่มวิธีการโทรหากลุ่มทดลองทั้ง 2 กลุ่ม โดยทุก 1 อาทิตย์ จะโทรหาครั้งละ 5 นาที เพื่อเป็นการติดตามผลว่าเป็นอย่างไร"

หนังสือที่ใช้กับกลุ่มทดลอง : 

สำหรับหนังสือที่ทีมวิจัยใช้กับกลุ่มทดลองนั้น เป็น หนังสือช่วยเหลือตนเองเพื่อลดภาวะซึมเศร้า (Good Mood Guide: A self-help manual for depression) ซึ่งพัฒนาขึ้นโดย Life Line South Coast (NSW) ประเทศออสเตรเลีย ฉบับแปลและดัดแปลงภาษาไทย ซึ่งประกอบไปด้วยเนื้อหา 8 บท 8 เล่ม แต่ละเล่มกำหนดให้ใช้เวลาอ่านและบันทึก 1 สัปดาห์

ทีมข่าวฯ ถามต่อว่า หากผู้เข้าร่วมไม่ชอบอ่านหนังสือจะทำอย่างไร?

อาจารย์วัลลภากล่าวตอบว่า หนังสือไม่ได้มีตัวหนังสือเยอะเหมือนกับตำรา เน้นการใช้รูปภาพสื่อสาร และมีสถานการณ์ให้ เพื่อให้เขาเขียนบรรยายสั้นๆ ว่า จากรูปและสถานการณ์ตัวอย่าง บ่งบอกหรือสะท้อนอะไรบ้าง เราไม่ได้คาดหวังให้เขาก็ต้องเขียนยาวเป็นเรียงความ

"พอเขาเห็นตัวอย่างจากตัวละคร และเขียนบรรยายออกมาได้ มันจะเหมือนเป็นการทบทวนตัวเอง และอาจจะทำให้เขาพบทางออกของปัญหา เช่น ตัวละครมีวิธีจัดการปัญหาที่น่าสนใจ ตัวเขาน่าจะทำได้ เขาก็ลองทำตามวิธีนั้น"

"หนังสือถูกเขียนเนื้อหาขึ้นมาเพื่อจุดประสงค์เฉพาะ ต้องลงรายละเอียด กระทั่งว่า... รูปภาพที่ใช้ต้องเป็นรูปลักษณะไหน เพื่อไม่ให้เขาสร้างจินตนาการเกินกว่าความเป็นจริง นอกจากนั้น เราต้องยกกรณีตัวอย่างในหนังสือ กว่ากรณีไหนที่จะช่วยกระตุ้นให้เขาปรับวิธีคิด ต้องมีแบบฝึกหัดให้เขาทำ ต้องมีแบบประเมินอารมณ์เศร้าของตัวเองว่าดีขึ้นหรือยัง"

การศึกษาครั้งนี้ถือเป็นหนึ่งในตัวอย่างว่า การใช้บรรณบำบัดเข้าช่วย ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ได้ผลและน่าสนใจ โดยผลการวิจัยพบว่า ค่าเฉลี่ยระดับความซึมเศร้า หลังการใช้บรรณบำบัดของกลุ่มทดลองต่ำกว่ากลุ่มควบคุม นอกจากนี้ ค่าเฉลี่ยคะแนนความซึมเศร้าของกลุ่มตัวอย่างทั้ง 2 ลดลงในระยะหลังการทดลองทันที และลดลงเล็กน้อยในระยะติดตามผล 4 สัปดาห์ หลังการทดลอง 

บรรณบำบัดในไทยมีแนวโน้มดีขึ้น : 

อาจารย์คณะพยาบาลศาสตร์แมคคอร์มิค กล่าวกับทีมข่าวฯ ว่า การบำบัดด้วยหนังสือในเมืองไทย มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เริ่มมีการใช้การบำบัดประเภทนี้ ส่วนทางกรมสุขภาพจิตเองก็เริ่มพูดถึงและส่งเสริมเช่นกัน

"ตอนที่ยังเรียนอยู่ต่างประเทศ แล้วต้องศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ เราพยายามค้นหาฐานข้อมูลของไทย แต่พบว่ามีน้อยมากๆ ทำให้ต้องใช้ฐานข้อมูลจากงานวิจัยต่างประเทศ หรืออย่างตอนทำวิจัยของตัวเอง ในไทยก็ยังมีคนทำเรื่องนี้ประมาณ 1-2 เรื่อง แต่ตอนนี้เริ่มมีมากขึ้นแล้ว ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นความคาดหวังของชาวจิตเวช อาจารย์เองก็เป็นพยาบาลจิตเวช"

อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.วัลลภา บอกว่า ประเทศของเรายังไม่มีฐานข้อมูลที่ระบุตำแหน่ง 'นักบรรณบำบัด' โดยตรง ต่างกับต่างประเทศ ที่จะมีผู้เชี่ยวชาญ และเปิดคลินิกรับบำบัด ผู้ใช้บริการสามารถเดินเข้าไปใช้บริการได้โดยตรง ซึ่งของไทยยังไม่มีลักษณะนั้น

ผศ.ดร.วัลลภา กล่าวต่อว่า แม้เมืองไทยยังไม่มีตำแหน่งนี้โดยตรง แต่ก็มีผู้ที่สามารถทำการบำบัดด้วยหนังสือได้ เช่น แพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยาคลินิก นักสังคมสงเคราะห์ อย่างตัวเราตอนทำวิจัยก็ไม่ได้ถูกเรียกเป็น 'นักบรรณบำบัด' เพียงแต่มีประสบการณ์ในการทำบรรณบำบัด

หนังสือจุดประกายความคิด : 

"บรรณบำบัดไม่จำเป็นต้องเป็นหนังสือเสมอไป บางครั้งเราอาจจะเปิดไปเจอข้อความให้กำลังใจสั้นๆ ในโซเชียลมีเดีย นั่นก็ช่วยฮีลใจได้อย่างหนึ่งแล้ว" อาจารย์กล่าวกับทีมข่าวฯ 

ผศ.ดร.วัลลภา เพิ่มเติมว่า อยากชวนทุกคนให้มาอ่านหนังสือกัน ไม่จำเป็นต้องเพื่อการบำบัดเท่านั้น แต่เพื่อ เปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ ทางปัญญาและความคิด ช่วงแรกลองเริ่มต้นจากการ์ตูนหรือสิ่งที่ชอบ ยังไม่ต้องอ่านเนื้อหาที่มีความซับซ้อน อ่านสั้นๆ แล้วค่อยขยับไปทีละนิด เอาที่ตัวเราเข้าถึงได้ ตัวละครหรือเนื้อเรื่องไม่โตเกินวัย เพราะเดี๋ยวเราจะเข้าไม่ถึง

"หนังสือเป็นเหมือนสิ่งมหัศจรรย์ ทุกคำพูดทุกประโยคที่ได้จากการอ่านหนังสือ จะทำให้เราได้จุดประกายความคิดบางประการ อาจจะมีบางคำที่ตรงใจ หรือบางประโยคที่คิดต่าง แต่เชื่อเถอะว่าเราจะได้เรียนรู้ และอาจได้นำมาปรับใช้ในชีวิตจริง ทางออกของปัญหาที่พยายามค้นหา อาจจะเจอได้จากหนังสือ"


อ่านบทความที่น่าสนใจ :