"ไม่มีไฟฟ้า ขมขื่น ท้อเกือบถอย" คุยเปิดใจกับ 'จันทร์แรม ดวงเพชร' แม่พิมพ์ปณิธานแกร่ง 23 ปี ณ โรงเรียนบ้านแม่หลองน้อย อ.อมก๋อย ที่อุทิศชีวิตเพื่อเด็กดอย
แผ่นดินไทยยังไม่สิ้นจิตวิญญาณครู เรื่องราวดีๆ ในแวดวงการศึกษาวันนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ขอพาผู้อ่านทุกท่านไปรู้จักกับ 'จันทร์แรม ดวงเพชร' ครูโรงเรียนบ้านแม่หลองน้อย ต.สบโขง อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่
เธอคือหนึ่งในหญิงแกร่ง ผู้พยายามถ่ายทอดวิชาความรู้ สอนให้เด็กเห็นคุณค่าของทุกสิ่ง และพยายามผลักดันให้เด็กพิเศษในชุมชน ได้เรียนร่วมกับเด็กคนอื่นในโรงเรียนได้อย่างมีความสุข…
...
รู้ตัวว่าชอบการสอนตั้งแต่เด็ก เพราะงานอดิเรก :
ทุกคนมีจุดเริ่มต้นอยากเป็นครูที่แตกต่างกันออกไป ครูจันทร์แรมเล่าย้อนอดีตครั้งยังเป็น ด.ญ.จันทร์แรม ให้ทีมข่าวฯ ฟังว่า เธอเองเป็นคน จ.เชียงใหม่ เติบโตมาในครอบครัวชาวจีนที่ยากจน คุณแม่เป็นชาวเหนือ ส่วนคุณพ่อเชื้อสายจีน
ช่วงประถมได้ไปอยู่กับอาม่าที่กรุงเทพฯ ย่านเยาวราช และเข้าเรียนที่โรงเรียนวัดคณิกาผล อาม่าสอนงานหลายอย่างให้กับ ด.ญ.จันทร์แรม ตั้งแต่ทำกับข้าวจนงานบ้านทั่วไป ทำให้เธอกลายเป็นคนมีวิชาติดตัว และชอบหางานทำไปเรื่อยๆ ไม่ชอบอยู่นิ่ง
"เราต้องช่วยที่บ้านทำงานตั้งแต่เด็ก ทางโรงเรียนให้เลือกเวลาเข้าเรียนได้ ครอบครัวเลยเลือกให้เข้าเรียนตอนบ่าย เพราะตอนเช้าต้องไปช่วยขายของที่เจริญกรุง และตอนบ่ายก็รีบไปเรียน มีเวลาเรียนแค่ประมาณ 4 ชั่วโมง"
แม้การมาอยู่กรุงเทพฯ จะทำให้เธอต้องทำงานหนัก แต่ที่นี่ก็ทำให้ ด.ญ.จันทร์แรม ได้ค้นพบตัวเองว่า เธอชอบการสอน
ครูจันทร์แรม เล่าว่า สมัยยังเรียนประถม ช่วงนั้นเรามีความรู้การถักโครเชต์ที่คุณแม่เคยสอน เราชอบทำงานฝีมือนี้มาก พอเพื่อนๆ เห็นว่าเราทำได้ทุกคนก็สนใจ อยากให้เราสอน เราค่อยๆ สอนเพื่อนทีละคน พอเขาทำได้ก็รู้สึกมีความสุขมาก บางครั้งเก็บเงินค่าขนมที่ครอบครัวให้ แล้วเอาไปซื้อไหมพรมมาสอนเพื่อนถัก ตอนนั้นรู้สึกภูมิใจมาก
ไม่ชอบสอน ร.ร.เอกชน อยากสอน ร.ร.ทุรกันดาร :
ครูโรงเรียนบ้านแม่หลองน้อย เล่าต่อว่า พอขึ้น ม.4 ได้ย้ายกลับมาเรียนที่เชียงใหม่อีกครั้ง ตอนนั้นต้องเริ่มคิดว่าจะเรียนอะไรต่อดี มองดูการค้าขายและตลาดที่เชียงใหม่ ก็ยังไม่ได้เจริญเหมือนในกรุงเทพฯ ทำให้เริ่มคิดว่าหากจะทำอาชีพขายของคงเป็นไปได้ยาก
"เลยเบนตัวเองไปทางด้าน 'การศึกษา' เพราะส่วนตัวชอบการสอนวิชาความรู้ให้คนอยู่แล้ว พอจบ ม.6 เลยสอบเข้าเรียนต่อที่ 'วิทยาลัยครูเชียงใหม่' (ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่) หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาอังกฤษ"
...
หลังจบการศึกษา ตนได้มีโอกาสไปสอนในโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง แต่กลับรู้สึกว่า "ยังไม่ใช่ทางของตัวเอง อยากสอนในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล โรงเรียนที่ลำบากหรือขัดสน เพราะอยากไปมอบโอกาสทางการศึกษาให้เด็ก"
"พอตัวเองรู้สึกแบบนั้น เลยตัดสินใจศึกษา ค.บ. (ครุศาสตรบัณฑิต) ภาษาอังกฤษเพิ่มเติม และในที่สุด ปี 2543 ก็สามารถสอบบรรจุราชการได้ตามใจหวัง ซึ่งตอนนั้นมีโอกาสเลือกโรงเรียนเอง ใน สพป.เขต 5 เชียงใหม่ มีอยู่ 6 โรงเรียน แต่ละแห่งต่างก็กันดาร ลำบาก เราตัดสินใจเลือกโรงเรียนบ้านแม่หลองน้อย อยู่ประจำที่เดียวมาตลอด ตั้งแต่วันนั้นจนวันนี้เป็นเวลากว่า 23 ปีแล้ว"
5 ปีแรกอยู่อย่างขมขื่น :
แม้ว่าความตั้งใจแรกของครูจันทร์แรม อยากสอนโรงเรียนทุรกันดาร เพราะอยากให้โอกาสทางการศึกษาแก่เด็กพื้นที่ห่างไกล แต่ชีวิตก็ไม่ง่ายอย่างที่คิด ครูต้องต่อสู้กับความรู้สึกนึกคิดของตัวเองอยู่ระยะหนึ่ง
ครูจันทร์แรม เล่าอย่างเปิดใจว่า ตอนที่ได้บรรจุเราท้องอยู่ 7 เดือน เลยได้อยู่ช่วยราชการที่โรงเรียนบ้านอมก๋อยก่อน หลังจากคลอดลูกแล้ว ก็ย้ายขึ้นไปประจำที่โรงเรียนบ้านแม่หลองน้อย ถึงตอนแรกจะเตรียมใจมาอยู่แล้วบ้างว่าต้องเจอกับอะไร แต่ก็ถือว่าเป็นบททดสอบทางใจที่หินพอสมควร
...
"ตอนมาอยู่ไม่มีไฟฟ้า โทรศัพท์ใช้งานไม่ค่อยได้ 1 เดือนมีเวลากลับบ้านแค่ประมาณ 10 วัน และกลับเองก็ยาก เพราะทางเละเป็นโคลนไปหมด อยู่ได้ประมาณ 20 วัน รู้สึกทนไม่ไหวแล้ว เพราะคิดถึงลูกเล็กที่บ้านมาก ตัดสินใจเดินจากโรงเรียนไปตามทางประมาณ 20 กิโล แล้วก็โบกรถเพื่อไปอมก๋อยต่อ จำได้ว่าทำอย่างนั้นประมาณ 3 ครั้ง ยอมรับเลยว่าช่วง 5 ปีแรกอยู่ด้วยความขมขื่น ถามตัวเองตลอดว่าอดทนไหวไหม จะย้ายดีไหม นอนหลับตาลงไปก็ไม่อยากให้เช้า"
แต่ฟ้าหลังฝนเขาว่าสวยงามเสมอ หลังจากความทุกข์นั้นผ่านไป ครูจันทร์แรมก็ปรับตัวกับโรงเรียนและสถานที่แห่งนี้ได้…
...
ครูจันทร์แรม บอกว่า พอเวลาผ่านไป เราเริ่มปรับตัวได้ มานั่งคิดกับตัวเองว่า เราตั้งใจดีตั้งแต่แรก ต่อจากนี้เจออะไรก็ต้องรู้ ลำบากฉันก็จะอดทน ทนเพื่อเรียนรู้และแก้ปัญหา สานต่อสิ่งที่ตัวเองตั้งใจให้ได้ นับตั้งแต่วันนั้นจนถึงตอนนี้ ทุกอย่างดีขึ้นมากๆ ตัวเราเองจากคนที่ไม่อยากให้เช้า กลับอยากตื่นเร็ว เพราะอยากทำงาน กลายเป็นคนที่ชื่นชอบวัฒนธรรมชาวกะเหรี่ยง
ในโรงเรียนมีเด็กพิเศษเยอะ :
ครูจันทร์แรม เล่าต่อว่า การได้มาอยู่ที่โรงเรียนบ้านแม่หลองน้อย ทำให้เราพบว่าที่นี่มี 'เด็กพิเศษ-เด็กพิการ' เยอะ และเมื่อก่อนคนในชุมชน มักจะมองข้ามความสำคัญของเด็กกลุ่มนี้ เวลาผู้ปกครองออกไปทำเกษตรกรรม ก็จะกักตัวลูกหรือหลานไว้ในบ้าน ไม่ให้ออกไปไหน…
"พอสถานการณ์เป็นแบบนั้น ทำให้เราเริ่มคิดว่า อยากพาเด็กๆ มาสอนที่โรงเรียน ให้พวกเขาได้เรียนรู้ และใช้ชีวิตร่วมกันกับเด็กปกติ ได้มีพัฒนาการที่ดี เป็นที่ยอมรับ และอยากทำให้คนอื่นเห็นว่าเด็กกลุ่มนี้ก็มีความสามารถ อาจจะมีคนมองว่าเด็กกลุ่มนี้ไม่สมประกอบ แต่สำหรับเราแล้ว พวกเขาก็เป็นมนุษย์ มนุษย์ที่มีชีวิต มีลมหายใจ และมีคุณค่าในตัวเอง"
ทีมข่าวฯ สอบถามครูจันทร์แรมที่อยู่ปลายสายว่า คิดว่าเป็นเพราะเหตุใด จึงทำให้ที่นี่มีเด็กพิเศษมากกว่าปกติ คุณครูแสดงความคิดเห็นว่า อาจมีสาเหตุมาจากการที่เด็กต้องสัมผัสกับสารเคมีตั้งแต่อยู่ในท้อง เพราะที่ชุมชนนี้ สตรีมีครรภ์ก็ต้องเข้าสวน ทำสวนจนถึงวันใกล้คลอด บวกกับพื้นฐานปัจจัย 4 ยังไม่ค่อยดีนัก ทำให้เด็กมีพัฒนาการที่ไม่สมวัย
"ก็ไม่ชัดเจนว่านั่นเป็นต้นเหตุ แต่อย่างไรก็ตาม ที่นี่มีเด็กพิเศษเยอะ บางคนคลอดลูกออกมา พิการร่างกาย พิการทางสติปัญญา บกพร่องทางการเรียนรู้ อย่างปัจจุบันโรงเรียนมีเด็กพิเศษ 20 กว่าคน" ครูจันทร์แรม กล่าว
สอนเด็กพิเศษต้องใช้เวลาและความอดทน :
ครูจันทร์แรม เล่าว่า ในอดีตยังไม่มีคำว่าโรงเรียนเรียนร่วม เรารู้แค่ว่าต้องทำให้พวกเขาเรียนด้วยกัน เราพยายามดึงเด็กเข้ามาเรียนที่โรงเรียน ดูแลเท่าที่จะดูแลได้ ตอนแรกเราก็ดูแลไปด้วย ศึกษาเกี่ยวกับเด็กที่พิการทางร่างกายไปด้วย
ที่นี่มีเด็กบางคนที่ความคิดเขาไม่เหมือนคนอื่น เลยหาตำราอ่านศึกษา พบว่า เขาบกพร่องทางการเรียนรู้ เราก็ศึกษาสอนมาเองเรื่อยๆ จนประมาณ พ.ศ. 2552 โรงเรียนเริ่มมีคำว่าการศึกษาพิเศษเข้ามา เราไปเข้าร่วมอบรม และปี 2555 ได้เป็นโรงเรียนแกนนำในเรื่องนี้ ทำให้ปัจจุบันทางโรงเรียนมีพี่เลี้ยงเด็กพิเศษด้วย
ทีมข่าวฯ สอบถามว่า การสอนเด็กพิเศษของโรงเรียนเป็นอย่างไรบ้าง และสอนยากหรือง่ายเพียงใด?
ครูจันทร์แรม อธิบายให้ฟังว่า เมื่อเด็กทุกคนถึงโรงเรียนและมีการทำกิจกรรมช่วงเช้า 1 ชั่วโมง ครูจะแยกกลุ่มเด็กพิเศษออกมา โดยให้เด็กคนอื่นๆ ไปทำกิจกรรมรอบโรงเรียน เช่น กวาดพื้น เก็บขยะ ทำความสะอาด ส่วนเด็กพิเศษจะมาอยู่กับพี่เลี้ยง ซึ่งพี่เลี้ยงจะคอยสอนเรื่องต่างๆ เพื่อฝึกการพัฒนากล้ามเนื้อและความคิด เช่น คัดลายมือ สอนเขียนชื่อ เมื่อถึงเวลาประมาณ 09.00 น. เราจะส่งเด็กเหล่านี้ไปเรียนเด็กคนอื่นในชั้นเรียนต่อไป
"อย่าไปคิดว่าการอยู่กับพี่เลี้ยงแค่วันละ 1 ชั่วโมงไม่มีความหมายนะ เพราะคิดง่ายๆ ว่า 1 เทอมการศึกษา มี 100 วัน 1 ปีมีสองเทอมการศึกษา เท่ากับ 200 วัน เด็กได้อยู่กับพี่เลี้ยง 200 ชั่วโมง ทำให้เด็กพิเศษของเรามีพัฒนาการเร็ว ประมาณ ป.4-5 เขาก็จะทำอะไรด้วยตัวเองได้หลายอย่างมากขึ้น เหมือนเด็กคนอื่นๆ"
ครูโรงเรียนบ้านแม่หลองน้อย เปิดใจต่อว่า เวลาสอนเด็กพิเศษต้องใช้เวลามาก เราต้องจัดกิจกรรมบางอย่างที่เขาจะไปทำกับเด็กทั่วไป และต้องคอยสังเกตว่าเขาสนใจอะไร เช่น ถ้าเขาอยากทำอาหาร เวลาเราทำอาหารเขาจะชอบมาดู เราก็พยายามให้เขาช่วย ลองผิดลองถูกไป แม้จะต้องใช้เวลานาน แต่เราก็ไม่ท้อ ฝึกให้เขาทำไปเรื่อยๆ ฝึกแล้วฝึกอีก
"สำหรับเราแล้ว ความอดทนและความพยายามให้ผลตอบแทนที่ดี เพราะเมื่อเด็กพิเศษเขาทำอะไรเป็นแล้ว บางครั้งเขาทำได้มากกว่าเด็กทั่วไปด้วยซ้ำ อาจจะเพราะเขาต้องฝึกฝนมากกว่า อีกอย่างคือการสอนเด็กพิเศษ สามารถขอคูปองที่สอนเสริมได้ชั่วโมงละ 50 บาท แต่เราไม่รับเงินนั้น เพราะอยู่ตรงนี้ด้วยความเต็มใจและอยากทำ เราคิดว่าเอาให้โรงเรียนที่เขาลำบากกว่าเราดีกว่า"
รางวัลของเด็กพิเศษ และการสอนให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้ :
ครูจันทร์แรม กล่าวอย่างเต็มภาคภูมิ ถึงผลงานความสำเร็จของตนและผู้มีส่วนร่วม ที่ได้ช่วยกันขลัดเกลา จนทำให้เด็กพิเศษโรงเรียนบ้านแม่หลองน้อย ได้รับรางวัลหลายต่อหลายครั้ง…
ปี 2554 ในงานแข่งขันทักษะวิชาการ ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประเทศ การประดิษฐ์ม้าฟางข้าว และคนสามารถขึ้นไปนั่งได้จริง ส่วนปี 2556 ผลงานทอผ้าชุดโต๊ะอเนกประสงค์จากเด็กพิการทางสายตา 1 ข้าง ได้รับรางวัลที่ 4 ระดับภาค อีกทั้งยังมีเรื่องของอาหาร ที่เคยส่งเด็กเข้าประกวดทำอาหารกะเหรี่ยง ได้รับรางวัลระดับภาค เป็นต้น
ครูจันทร์แรมเล่าต่อว่า ที่พยายามจัดการเรียนการสอนแบบเรียนรวม เพราะอยากให้เด็กทุกคนได้ใช้เวลาร่วมกัน เป็นเพื่อนกัน จะได้รักกัน อย่างส่วนตัวครูสอนชั้น ป.4 เราจะให้เด็กพิเศษนั่งกระจายในกลุ่มเด็กคนอื่นๆ
"เมื่อสอนให้เด็กทั่วไปเข้าใจแล้ว เราจะเดินเข้าไปหาเด็กพิเศษ และบอกกับทุกคนว่า 'ครูขอเวลาดูเพื่อนแป๊บนึงนะ' เด็กทุกคนก็น่ารักมาก เข้าใจในสิ่งที่เป็นเพื่อนเป็น ให้ความร่วมมือกับเราอย่างดี"
"เราพยายามบอกเด็กๆ ว่า ในโลกของความจริง เราจะเห็นคนพิการมากกว่านี้ เราต้องรู้จักรอ รู้จักแบ่งปัน แล้วสังคมเราจะกลายเป็นสังคมที่มีความสุข ทำให้โรงเรียนของเราเด็กพิเศษจะไม่โดนรังแก ไม่มีเหตุการณ์เหมือนกับที่เป็นข่าว ทุกคนก็รอกัน ไม่ทิ้งกัน เราจะช่วยเหลือกัน เราเคยเปิดคลิปข่าวที่เด็กพิเศษโดนรังแก เด็กของเราก็จะบอกว่าทำไมเขาถึงใจร้าย ใจดำอย่างนั้น" ครูจันทร์แรม กล่าว
สอนให้เด็กทุกคนเห็นคุณค่าของทุกอย่าง :
ครูจันทร์แรม กล่าวว่า ชีวิตคนบนดอยถือว่าดี เพราะผู้คนไม่มีหนี้สิน มีวัฒนธรรมที่สวยงาม อาหารการกินก็ครบ ครูจึงพยายามสอนให้เด็กเห็นคุณค่าของทุกสิ่ง และใช้ทุกสิ่งที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด…
"มันเป็นเหมือนทักษะการเอาตัวรอด และเป็นการปลูกฝังให้เราอยากอยู่ที่บ้านเกิด เพราะในอนาคตเราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ไม่ใช่จบออกจากโรงเรียนแล้ว พอย้ายไปเป็นคนงานอยู่ในเมือง ไปเป็นคนงานในเมือง เงินเดือนหมื่นสองหมื่น ชีวิตอยู่ไม่รอด ต้องคอยตามกระแส ความอยากมีไม่จบไม่สิ้น เราเลยพยายามทำให้เขาดูเป็นตัวอย่าง บนพื้นฐานของความประหยัด"
"ครูทำตัวอย่างให้เห็นอย่างไรบ้าง?" ทีมข่าวฯ สอบถาม
ครูจันทร์แรม ตอบว่า เรามีองค์ความรู้ด้านสมุนไพรที่เป็นยา ก็เผยแพร่ให้คนในชุมชนรู้ กินผักที่ปลูกเองในโรงเรียน เรื่องของเครื่องนุ่งห่ม เรายังใส่ชุดกะเหรี่ยงมาตลอด 20 กว่าปี ชุดของเรามีไม่กี่ชุด หมุนเวียนเปลี่ยนไป เพื่อให้เขาเห็นว่าเราต้องประหยัด ที่อยู่อาศัยก็เรียบง่าย บนหลังคาก็ปลูกผัก เพื่อให้เขารู้ว่า การอยู่แบบพอตัว ก็สามารถมีความสุขได้ และอาจจะมีความสุขมากด้วย พยายามให้เด็กๆ เข้าใจถึงปัจจัย 4
"เราทำอีกหลายอย่างเลยนะ เช่น เอาเปลือกไข่ ใบไม้ มาทำปุ๋ย เอารากของผักมาปลูกต่อ พยายามทำทุกอย่างให้เด็กเห็น สร้างแรงบันดาลใจให้เขาเห็น เราหัวเราะทุกวัน ยิ้มแย้มแจ่มใส ให้เด็กเห็นว่า เราสามารถมีความสุขกับสิ่งที่เป็นอยู่ได้"
แม้ตัวไม่อยู่ อยากให้ทุกอย่างดำเนินต่อไป :
ครูจันทร์แรม กล่าวว่า เราไม่ค่อยได้กลับบ้าน ทั้งที่มีพ่อแม่ที่อายุ 80 กว่าปี มีลูก มีครอบครัว เพราะเรามาถึงจุดที่เหลืออีก 5 ปีสุดท้ายก่อนจะเกษียณ เราอยากใช้ 5 ปีสุดท้ายให้เต็มที่
"ครูไม่อยากใช้ชีวิตราชการที่เหลือแบบเช้าชามเย็นชาม มันน่าแปลกที่พอมาถึงวันนี้ ร่างกายของเรามันกลับมีแรง อยากทำทุกอย่างให้ดีที่สุด ก่อนจะหมดหน้าที่จากโรงเรียนแห่งนี้"
เราถามต่อว่า ถ้าวันข้างหน้าไม่มีครูจันทร์แรมแล้ว อยากเห็นโรงเรียนบ้านแม่หลองน้อยและชุมชนเป็นอย่างไร?
คำตอบของคำถามนี้คือ "แม้ในอนาคตเราอาจจะไม่ได้อยู่ที่นี่แล้ว ก็ยังอยากให้ชุมชนมองเห็นคุณค่าคนพิการต่อไป ทำทุกอย่างเหมือนเรายังอยู่ที่นี่"
'ครูจันทร์แรม ดวงเพชร' ฝากถึงคุณครูทุกคนทิ้งท้ายก่อนการสนทนาจะจบลงว่า…
"สำหรับครูที่พยายามเพื่อการศึกษาอยู่ บางครั้งอาจจะต้องเจอกับความลำบากที่เข้ามาทดสอบ อาจจะมีความสับสนเข้ามาในความคิด นั่นไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเราก็ผ่านมาแล้ว แต่อย่าลืมแน่วแน่และมุ่งมั่นกับสิ่งที่ตั้งใจ สู้และก้าวผ่านปัญหาไปให้ได้ วันหนึ่งอาจจะได้พบกับความสุขของชีวิต และสิ่งที่ตามหา"
ภาพ : จันทร์แรม ดวงเพชร
อ่านบทความที่น่าสนใจ :