อดีตเด็กเสิร์ฟ ล้างจาน ทำความสะอาดบ้าน ร้อยมาลัย ไปกลับฉะเชิงเทรา-กรุงเทพฯ 2 ปีเต็ม เรื่องราวของ 'ยาดร์-เฉลิม หมัดร่วม' กับชีวิตที่ต้องฟันฝ่าอุปสรรคเลี้ยงตัวเองและแม่ สู่การปลดล็อกความคิดสุขนิยม เพราะ "คำสอนแม่"
ชีวิตของมนุษย์ล้วนมีเรื่องราวเข้ามาทดสอบมากมายนับไม่ถ้วน บางเรื่องระหว่างทางอาจเต็มไปด้วยความทุกข์ แต่ตอนจบกลับสร้างความสุขอย่างน่าแปลกใจ…
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้มีโอกาสสนทนากับ 'เฉลิม หมัดร่วม' หรือ 'ยาดร์' วัย 28 ปี ปัจจุบันทำงานอยู่ร้านเช่าชุดแต่งงานแห่งหนึ่งใน จ.นครศรีธรรมราช เขาเป็นเพียงคนธรรมดาที่มีแนวคิดการใช้ชีวิตที่เรียกว่า สุขนิยม
แต่กว่าจะเป็นคนที่มองโลกในแง่ดี และมีความสุข คนคนนี้ต้องผ่านเรื่องราวต่างๆ ที่เป็นดั่งบททดสอบความแข็งแกร่งของจิตใจ แต่แม้จะต้องเจอเรื่องยากแค่ไหน ก็ไม่เคยทำอะไรยาดร์ได้เลย เพราะเขามียาใจดีที่เรียกว่า "คำสอนแม่"
...
"พ่อเสียชีวิต" ครอบครัวย้ายจากสงขลาสู่ฉะเชิงเทรา :
ยาดร์ไม่ใช่คน จ.นครศรีธรรมราช มาตั้งแต่กำเนิด แต่เขาเกิดและโตที่ อ.สะเดา จ.สงขลา มีครอบครัวอยู่กันพร้อมหน้า 3 คน คือ พ่อ แม่ และตัวเอง จุดเปลี่ยนแรกเริ่มต้นเกิดขึ้นประมาณ ป.3 เนื่องจากคุณพ่อเสียชีวิต ทำให้คุณแม่กลายเป็นเสาหลักของบ้าน และต้องดูแลฟูมฟักลูกชายวัยประถมคนนี้อยู่คนเดียว
ช่วงที่ยาดร์เรียนอยู่ ม.3 คุณแม่เห็นว่าเศรษฐกิจไม่ดีนัก ทำมาค้าขายอะไรก็ดูจะไปไม่รอด จึงเริ่มมองหาที่อยู่ใหม่ ซึ่งก่อนจะเจอกับคุณพ่อ คุณแม่เคยอาศัยอยู่ที่ อ.แปดริ้ว จ.ฉะเชิงเทรา มาก่อน เธอจึงตัดสินใจชวนลูกชายย้ายมาอยู่แปดริ้ว
สองแม่ลูกแห่งครอบครัวหมัดร่วม เริ่มต้นชีวิตอีกครั้ง โดยแม่ทำข้าวกล่องขาย และมีลูกชายคนเก่งเป็นลูกมือไม่ห่างไปไหน จนกระทั่งยาดร์เติบโตเป็นวัยรุ่น และกำลังจะก้าวเข้าสู่การศึกษาระดับ ปวช. ชีวิตของทั้งคู่ก็ต้องพบกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ที่พลิกชะตาชีวิตพวกเขาไปตลอดกาล
แม่ล้มป่วยด้วยโรคเส้นเลือดในสมองตีบแบบกะทันหัน :
วันหนึ่งที่ยาดร์กำลังนั่งรัดถุงพริกน้ำปลา ส่วนคุณแม่นั่งทำอาหารอยู่ในครัว ซึ่งไม่ห่างกันมากนัก มีเพียงผ้าผืนหนึ่งกั้นระหว่างทั้ง 2 คนไว้ ทุกอย่างดำเนินไปเป็นปกติเฉกเช่นทุกวัน แต่แล้วยาดร์ก็รู้สึกถึงความไม่ชอบมาพากล…
ยาดร์เล่าย้อนความรู้สึกในความทรงจำของวันนั้นให้ทีมข่าวฯ ฟังว่า ตอนนั้นนั่งอยู่ดีๆ ก็ไม่ได้ยินเสียงแม่ เริ่มเอะใจว่าทำไมแม่เงียบไป เพราะไม่ใช่เรื่องปกติแล้ว ตัดสินใจเดินเข้าไปในครัว ภาพตรงหน้าคือแม่ลงไปนอนอยู่กับพื้น ปากเบี้ยว มือหงิก ร่างกายเกร็ง
"ตอนนั้นผมช็อกมาก อึ้งจนทำอะไรไม่ถูก เหมือนคนสติหลุดไปเลย แต่พอตั้งตัวได้ก็รีบอุ้มแม่ออกมาหน้าห้องเช่า ผมก็ร้องไปด้วย ตะโกนเรียกให้คนช่วยด้วย ข้างห้องเขาออกมาเห็นเรา เลยช่วยเรียกรถโรงพยาบาลให้"
ยาดร์ เผยความรู้สึกว่า ตอนนั้นภาวนาขอแค่อย่าให้แม่จากไป เพราะมีกันอยู่แค่นี้ ยังอยากอยู่กับแม่นานๆ โชคดีที่แม่ยังอยู่ และตอนนั้นอาจารย์ที่รู้สึกเอ็นดูเรา เขาก็มาหาที่โรงพยาบาล เพื่อช่วยกันหาทางออกว่าชีวิตของเราจะไปต่อยังไงดี…
กลายเป็นเสาหลักของครอบครัว :
"หลังจากคุณแม่ล้มป่วย ผมกลายเป็นเสาหลัก แม่ทำข้าวกล่องขายไม่ได้แล้ว ผมเลยต้องทำงานหาเงินเพื่อมาจ่ายค่าเช่าบ้าน และไว้ใช้จ่ายค่าอื่นๆ" ยาดร์ กล่าวกับเรา
ยาดร์ ทำทุกอย่างเท่าที่จะทำไหว และทำได้ งานไหนที่เป็นงานสุจริต เขาพร้อมรับเสมอ ยาดร์ เล่าให้เราฟังว่า ตอนนั้นอาจารย์ประจำชั้นบอกคนอื่น ว่าเราทำความสะอาดบ้านได้ แล้วเขาบอกกันต่อๆ ไป ทำให้ช่วงวันเสาร์ และวันอาทิตย์ ถ้ามีเวลาก็จะไปทำความสะอาดบ้านอาจารย์ ได้หลังละ 300 บาท
...
"วันธรรมดาหลังเลิกเรียนจะไปเป็นเด็กเสิร์ฟ เขาก็จะให้วันละ 200-300 บาท พอประมาณห้าทุ่มก็จะไปรับจ้างล้างจานที่ร้านก๋วยเตี๋ยว เขาจะตั้งจานเป็นกองไว้ให้ ได้เพิ่มมาอีกวันละ 100-150 บาท แล้วก็ส่วนวันอังคารจะไปยืนขายดอกไม้ ช่วยดูแลร้านที่เขามาตั้งขาย ใครมีงานอะไรให้ทำ เรารับหมดเลย แม้จะได้เงินเล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม"
ยาดร์ กล่าวต่อว่า ตอนนั้นเป็นชีวิตที่เหมือนหาเช้ากินค่ำ พอมีเงินใช้เพราะก็เรียนไปด้วย ยังดีที่มีเก็บอยู่นิดหน่อย เพื่อเตรียมไว้ใช้จ่ายค่ายาของแม่ ช่วงนั้นโชคดีที่เพื่อนไม่มองว่าเราเอาเปรียบ เขาเข้าใจว่าเราต้องหาเงิน ถือว่าคนรอบข้างดีมาก ถ้าไม่มีเขา พวกเราก็แย่
...
รายได้จากการทำงานฝีมือ งานประดิษฐ์ ร้อยมาลัย :
อีกหนึ่งงานที่ช่วยสร้างรายได้ให้ยาดร์ตั้งแต่ช่วงที่ยังเรียนอยู่ จนกระทั่งปัจจุบันก็คือ งานด้านคหกรรม เช่น งานประดิษฐ์ งานมาลัย งานใบตอง ฯลฯ
ยาดร์ เล่าว่า ช่วงที่ยังเรียนอยู่ตั้งแต่ ปวส. ที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาฉะเชิงเทรา จนถึงมหาวิทยาลัย อาจารย์เห็นว่าเราพอจะมีความสามารถด้านนี้ เขาก็จะคอยรับงานให้เราทำอยู่เรื่อยๆ ผมดีใจนะที่สามารถหารายได้จากงานประเภทนี้ได้ เพราะเป็นสิ่งที่ผมชอบ และผมรักมาตลอด แค่คิดว่าไม่ใช่ว่าทุกคนที่จะทำงานประเภทนี้ได้ เท่านี้ผมก็ภูมิใจในตัวเองมากๆ แล้ว
ปัจจุบันยาดร์ทำงานอยู่ที่ร้านเวดดิ้งแห่งหนึ่งใน จ.นครศรีธรรมราช เขาเล่าว่า 'พี่อร' เจ้าของร้านใจดี และเอ็นดูเรามาเสมอ งานหลักตอนนี้คือคอยดูแลเรื่องชุดเจ้าบ่าว และเจ้าสาว ส่วนถ้ามีคนจะสั่งขันหมาก หรือพวงมาลัย พี่อรก็จะให้ผมรับงานตรงนั้นได้โดยตรง มันทำให้ผมรู้สึกดีไปด้วยที่ปัจจุบันยังได้ทำงานที่ชอบอยู่ ในอนาคตคิดอยากเปิดร้านเล็กๆ เป็นของตัวเอง
ตัดสินใจเรียนต่อปริญญาตรีที่กรุงเทพฯ :
...
หลังจากเรียนถึง ปวช.ปี 2 ยาดร์ ได้รับคำแนะนำให้เข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี เพราะจบแล้วจะได้หางานทำง่าย แต่การตัดสินใจครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเขาเลย
"ตอนคิดว่าจะเข้าไปเรียนที่กรุงเทพฯ ใช้เวลาคิด และคำนวณทุกอย่างอยู่นานมาก คิดว่าตื่นจะเอาแม่อาบน้ำยังไง ค่าใช้จ่ายต่อวันเท่าไร ถ้าเดินทางต้องไปยังไง ต้องขึ้นรถเมล์สายไหน และอีกหลายอย่างเลยครับ"
"เราพยายามปรึกษาเพื่อน และอาจารย์ตลอด ว่าจะทำยังไงดีถึงจะสามารถไปเช้าแล้วกลับเย็นได้ เพราะไม่อยากทิ้งแม่ไว้คนเดียว กลัวไม่มีคนดูแลแม่ กลัวแม่จะลำบาก ทีนี้มีโอกาสได้ปรึกษาอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยในกรุงเทพด้วย เขาเข้าใจเรื่องแม่ป่วย ทำให้บางคาบที่ต้องเรียนเย็น เราสามารถกลับก่อนได้"
ยาดร์ เล่าต่อว่า ตอนนั้นที่แม่รู้ว่าเราคิดจะไปเรียนที่กรุงเทพฯ แต่ต้องไปเช้ากลับเย็น แม่ก็เครียด และคิดมาก แกโทษตัวเองว่าเป็นภาระ เหมือนดึงอนาคตเราเอาไว้ แม่พูดเชิงน้อยใจชีวิตว่าแม่เป็นตัวถ่วงหรือเปล่า
"เราพยายามบอกแกว่า 'ไม่นะ ไม่เลย อย่าไปคิดอย่างนั้น เราเหลือกันอยู่แค่ 2 คน' สุดท้ายแล้วพอเข้าใจกันทั้งหมดแล้ว แกก็อวยพรให้เรียนให้จบ ส่วนเลยเทียบโอนเรียนปีที่ 3 ในมหาวิทยาลัย"
ยาดร์ อธิบายเพิ่มเติมให้เราฟังว่า ที่ต้องเลือกเรียนกรุงเทพฯ เพราะสาขาที่ต้องการเรียนไม่มีสอนในมหาวิทยาลัยที่ฉะเชิงเทรา จึงปรึกษาอาจารย์ว่าจะทำต่อยังไงดี เขาก็บอกว่าถ้าใกล้สุดก็ต้องเรียนกรุงเทพฯ
เรียน ป.ตรี ไป-กลับ กรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา :
หลังจากยาดร์ตัดสินใจเรียนต่อระดับปริญญาตรีที่ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ทำให้เขาต้องเดินทางไป-กลับระหว่างกรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา ตลอด 2 ปีการศึกษา
ยาดร์ และแม่ จะตื่นพร้อมกันประมาณ 04.00 น. ของทุกวันที่มีเรียน เขาจะอาบน้ำ และแต่งตัวให้แม่ ก่อนที่จะพาไปนอนพักอีกครั้ง หลังจากนั้นจะเตรียมตัวเองให้พร้อม เพื่อไม่ให้ตกรถไฟรอบแรกที่ไปกรุงเทพฯ เพราะถ้าเกิดเหตุการณ์นั้นเมื่อไหร่ แปลว่าเขาอาจจะต้องขาดเรียนไปโดยปริยาย
รถไฟรอบแรกเดินทางออกจากฉะเชิงเทราสู่กรุงเทพฯ ประมาณ 05.45 น. และเคลื่อนตัวออกจากสถานีรถไฟกรุงเทพฯ (หัวลำโพง) กลับฉะเชิงเทรา เวลา 18.30 น. ยาดร์ บอกกับเราว่า ตลอด 2 ปีที่ต้องขึ้นรถไฟไป-กลับ เขาไม่เคยตกรถเลยสักครั้ง เรื่องนี้จึงทำให้ตนเองได้ระเบียบวินัยติดตัวมาด้วย
รู้สึกเหนื่อยไหมที่ตลอด 2 ปีต้องไป-กลับแบบนี้?
ยาดร์ ตอบว่า เหนื่อยครับ ถือว่าเป็น 2 ปีที่ค่อนข้างหนัก มีอยู่ประมาณ 2-3 ครั้ง ที่เรานั่งรถไฟอยู่คนเดียว แล้วก็เผลอร้องไห้ออกมาเอง มันอาจจะเป็นความรู้สึกที่ระบายออกมาเป็นคำพูดไม่ได้ แต่ก็ต้องยอมเหนื่อยหน่อยครับ เพื่อความฝัน และอยากจะประสบความสำเร็จตามที่มุ่งหวังไว้
ส่วนคุณแม่ของยาดร์ เขาจะจ้างคนดูแลแทนวันละ 200 บาท โดยบอกคนที่อยู่ข้างห้อง ซึ่งเปิดร้านอาหารตามสั่งว่า ช่วงประมาณ 07.00 น. หรือถ้าได้ยินเสียงแม่เรียก รบกวนอุ้มแม่ขึ้นนั่งรถเข็น หากแม่อยากกินอะไร รบกวนทำให้แม่กิน ถ้ากลับถึงบ้านจะมาจ่ายเงินให้
"ถึงจะมีคนดูแลแม่ แต่ผมก็ยังรู้สึกเป็นห่วงมากๆ พอออกจากห้อง ผมก็จะส่งแชตบอกข้างห้องว่า ฝากดูแลแม่ด้วยนะครับ วันนี้ผมมีเรียน เวลาขึ้นรถไฟแล้วผมจะโทรหาแม่ตลอด พยายามติดต่อเขาทุกครั้งที่ตัวเองว่าง เพื่อถามว่าเป็นยังไงบ้าง โอเคใช่ไหม ต้องการอะไรหรือเปล่า"
แม่เสียชีวิตก่อนเรียนจบเพียงเทอมเดียว :
ชีวิตของยาดร์ต้องต่อสู้มาตลอด แต่เขามองโลกในแง่ดีว่า "โชคดีที่มีแม่คอยเป็นกำลังใจให้อยู่เสมอ" จนกระทั่งวันหนึ่งในช่วงการระบาดของ โควิด-19 เทอมสุดท้ายก่อนจบการศึกษา แม่ของยาดร์ก็ได้จากเขาไปอย่างสงบด้วยอาการ หลอดเลือดในสมองแตก
"ตอนนั้นพูดอะไรไม่ออกเลย ได้แต่ร้องไห้ และเสียใจ ในหัวตื้อไปหมด คิดอะไรไม่ออกเลย เหมือนตัวเองอยู่ในภวังค์ ตอนแรกเราไม่ยอมรับด้วยซ้ำว่านั่นเป็นความจริง ได้แต่ร้องไห้ และไปพูดข้างหูแกว่า ‘ทำไมทิ้งหนูอยู่คนเดียว’ เพราะตอนนั้นเราไม่เหลือคนในครอบครัวแล้ว"
แม้ว่าแม่จะไม่ทันได้เห็นลูกชายใส่ชุดครุย แต่ยาดร์ก็กล่าวกับเราด้วยน้ำเสียงที่ภาคภูมิใจว่า…
"ตอนที่เรียนจบปริญญาตรี มันดีใจมาก มีความสุขข้างในแบบบอกไม่ถูก ภูมิใจที่ตัวเองเดินทางมาได้จนทุกวันนี้ ภาพในหัวของวันรับปริญญา เหมือนกับภาพที่เคยคุยไว้กับแม่ ถึงแม้จะไม่ได้อยู่ด้วยแล้ว แต่ชีวิตนี้ก็ประสบความสำเร็จได้เพราะคำแม่"
"ท้อครับ… แต่เกิดเป็นคนแล้ว เจอเรื่องอะไรก็ต้องไปต่อ" :
ชีวิตของ 'ยาดร์' คนธรรมดาคนหนึ่งต้องเจอกับเรื่องราวการต่อสู้ และความเปลี่ยนตั้งแต่ยังเด็ก เมื่อทีมข่าวฯ สอบถามปลายสายว่า "ท้อบ้างไหม" เขาก็ตอบเรากลับอย่างไม่ลังเลว่า "ท้อครับ"
ยาดร์ เผยความรู้สึกว่า ตลอดชีวิตที่ผ่านมาท้อมากครับ เราทำงานเหนื่อย เรียนหนังสือหนักด้วย บางทีหัวตื้อๆ ตันๆ คิดอะไรไม่ออก ชอบเผลอเอาชีวิตตัวเองไปเทียบกับคนอื่น ประมาณว่า ทำไมชีวิตคนอื่นดีแบบนั้น แต่เราต้องมาทำงานลำบากแบบนี้
"แต่ผมก็ผ่านมันมาได้ เพราะคำสอนของแม่"
แม่บอกว่า "ไม่เป็นไร ในเมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว ชีวิตก็ต้องไปต่อ ทุกอย่างที่มันเกิดขึ้นคือชีวิต อย่าไปเอาความเครียด ความลำบาก ความคิดลบ มาผูกไว้กับสิ่งที่ต้องเจอ"
ยาดร์ กล่าวต่อว่า คำสอนของแม่ทำรวมเข้ากับเรื่องราวที่เราผ่านมาตลอด ทำให้เรากลายเป็นคนยอมรับชีวิตของตัวเอง และเข้าใจความจริงของชีวิตมากขึ้น เวลาเจอความเครียดก็จะเครียดแป๊บเดียว เพราะสุดท้าย "ชีวิตต้องไปต่อ"
จากคำสอนของแม่ สู่การเป็นคน 'สุขนิยม' :
คิดว่าตอนนี้ชีวิตประสบความสำเร็จมากแค่ไหน?
ยาดร์ ตอบว่า ผมก็อธิบายไม่ถูกเหมือนกันว่าตัวเองประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน รู้แค่ว่าตอนนี้ได้ใช้ชีวิตแบบไม่เหนื่อย และไม่ทุกข์เท่าเมื่อก่อน แค่นี้ก็เป็นเรื่องที่ดีมากๆ แล้ว ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเรียกเป็นความสำเร็จได้ไหม
"หลังจากที่แม่เสียชีวิต ผมก็หลงทางอยู่สักพัก เพื่อน อาจารย์ คนรอบข้าง ก็เป็นห่วงเราอยู่ตลอด จนวันหนึ่งที่สติกลับมา ก็ตั้งใจบอกกับตัวเองว่า ต่อจากนี้จะพยายามไม่ให้มีเรื่องเครียด ต่อให้เจองานยาก หรือท้อมากแค่ไหน ให้ทุกอย่างมันจบที่ตรงนั้น อยากให้ตัวเองกลายเป็นคน 'สุขนิยม' ไปเลย"
ยาดร์ เล่าต่อว่า ช่วงแรกแอบเป๋ๆ อยู่นิดนึง ถึงบางครั้งจะมีเพื่อนมาอยู่ด้วย แต่พอเขากลับไป เราก็อยู่คนเดียว อย่างไรก็ตามมันทำให้เราคิดได้ว่า "เราเกิดมาคนเดียว ก็ต้องอยู่คนเดียวให้ได้ ทุกคนต่างมีหน้าที่เป็นของตัวเอง"
"ตอนนี้ตัวผมเองมีความสุขกับชีวิตมาก ความสุขของผมคือการได้อยู่กับงานที่รัก ได้ทำงานที่ชอบ ได้เจอพี่ๆ เจอเพื่อนๆ ได้เจอผู้คน ได้โทรหาคนรู้จักบ้าง ยังไม่ต้องมีเงินมากมายก็ได้ ขอแค่ได้เป็นแบบที่เป็นอยู่ก็สุขใจมากแล้ว แต่ถ้าเครียดงานก็จะให้จบตอนทำงาน จะไม่เอาไปปนกับชีวิต ผมถือว่าพลังบวกในชีวิตมาจากคำสอนของแม่ที่เขาเคยพูดไว้ คำสอนของแม่มีค่ามาก"
ยาดร์ กล่าวทิ้งท้ายก่อนบทสนทนาแห่งเรื่องราวชีวิตนี้จะจบลงว่า "ชีวิตคนเรามันสั้นมากๆ ครับ เราไม่มีทางรู้เลยว่าชีวิตจะต้องเจอกับอะไร แต่อยากให้ทุกคนมีสติ ไม่ว่าปัญหาอะไรจะเกิดขึ้น อยากให้มองว่านี่คือชีวิต ทุกชีวิตต้องเจอกับปัญหา แต่ปัญหาจะอยู่กับเรานานไหม อยู่ที่เราจะปล่อยวาง หรือกำมันไว้แค่ไหน"
"ทุกอย่างผ่านมาแล้วก็จะผ่านไป อย่าเอาใจไปยึดติดกับทุกสิ่งในชีวิตมากนะครับ อย่าลืมยิ้มรับความสุขเล็กๆ น้อยๆ ที่ตัวเองได้เจอในแต่ละวัน ขอให้ทุกคนสู้ๆ นะครับ ผมเป็นกำลังใจให้"
ภาพ : เฉลิม หมัดร่วม (ยาดร์)
อ่านบทความที่น่าสนใจ :