จากผู้เรียนของศูนย์ศิลปาชีพฯ สู่ผู้ถ่ายทอดวิชา จนเกิดเป็น 'Lava Laweng' (ลาวา ลาเวง) หัตถศิลป์การปักผ้าไหมน้อย ฝีมือพลังหญิงเมืองนราธิวาส อาชีพเสริมหลังกรีดยางพารา สร้างรายได้ให้คนในชุมชน...

ถ้าพูดถึงเรื่องงานฝีมือ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ยืดอกพูดอย่างมั่นใจว่า "คนไทยเก่งไม่แพ้ชาติใดในโลก" เราได้พยายามค้นหาเรื่องราว เพื่อมายืนยันกับสิ่งที่ได้กล่าวไป และก็ได้พบกับ หนึ่งเพชรเม็ดงามแห่งงานฝีมือ ณ ปลายด้ามขวานไทย ที่ใช้ชื่อแบรนด์ว่า Lava Laweng (ลาวา ลาเวง)

เรากดเบอร์โทรศัพท์ที่ระบุไว้หน้าเพจ เพื่อติดต่อหา 'คุณเจ๊ะนาตีป๊ะ มะหิและ' หรือ 'คุณกะป๊ะ' ประธานวิสาหกิจชุมชน ผ้าคลุมผมสตรีบ้านลาเวง จ.นราธิวาส เธอกล่าวตอบรับด้วยความยินดี ที่จะถ่ายทอดเรื่องราวอันน่าประทับใจ จนกระทั่งเกิดเป็นสกู๊ปนี้ขึ้นมา

เจ๊ะนาตีป๊ะ มะหอและ
เจ๊ะนาตีป๊ะ มะหอและ

...

อาชีพจากโอกาสและพรแสวง :

ณ หมู่บ้านลาเวง ต.เชิงคีรี อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส ชาวบ้านในพื้นที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพ 'กรีดยางพารา' แต่ระยะหลังภาวะเศรษฐกิจเริ่มไม่สู้ดีนัก ราคายางตกต่ำ จากที่เคยมีรายได้ก็เริ่มหายไปเรื่อยๆ ประกอบกับช่วงฤดูฝน ความลำบากในการเดินทางไปประกอบอาชีพ ก็เพิ่มขึ้นกว่าเก่าเท่าทวีคูณ

เจ๊ะนาตีป๊ะ มะหิและ สาวธรรมดาแห่งชาวบ้านลาเวง เริ่มมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น เธอจึงครุ่นคิดว่าจะทำอย่างไรดี ที่ช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้เสริมจากที่เป็นอยู่ และเธอก็นึกขึ้นมาได้ว่า พวกเธอมีฝีมือด้านเย็บปักถักร้อยที่เรียกว่า การปักไหมน้อย สิ่งนี้น่าจะนำมาสร้างเป็นอาชีพได้

ความสามารถนี้ไม่ใช่พรสวรรค์แต่กำเนิด และไม่ได้มาจากตำราในห้องเรียน แต่เป็นโอกาสที่มาพร้อมกับพรแสวง คุณเจ๊ะนาตีป๊ะ เล่าย้อนจุดเริ่มต้นให้ทีมข่าวฯ ฟังว่า ในอดีตพื้นที่หมู่บ้านและบริเวณใกล้เคียง เรียกได้ว่า ทุรกันดาร กว่าปัจจุบันมาก แต่แล้วเมื่อปี พ.ศ. 2542 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จเยี่ยมราษฎรในหมู่บ้านใกล้เคียง กะป๊ะและชาวบ้านจำนวนหนึ่งได้มีโอกาสร่วมรับเสร็จครั้งนั้นด้วย

"พระองค์เสด็จมาพร้อมกับนำวิชาความรู้มาให้ เนื่องจากมีการเปิดรับคนเข้า มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เราและชาวบ้านอีกจำนวนมากได้สมัครเข้าร่วม ทำให้ได้เรียนรู้วิชาการปักผ้า พยายามฝึกฝนตัวเองกันอยู่สักพักใหญ่ จนสามารถทำได้อย่างชำนาญ"

'กะป๊ะ' จากผู้เรียนสู่การเป็นผู้สอน :

กะป๊ะ เล่าต่อว่า ช่วงระยะเริ่มต้นทางศูนย์ศิลปาชีพฯ จะส่งครูมาคอยสอนวิชาถึงพื้นที่ แต่ประมาณปี 2557 หลังจากเริ่มเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้ไม่มีใครกล้าเข้ามา ปัญหาจึงเริ่มเกิดขึ้น เพราะไม่มีใครถ่ายทอดวิชาให้คนรุ่นต่อไปได้

จึงมีการประกาศรับสมัคร 'ครู' โดยคัดเลือกจากผู้ที่เคยได้อบรมกับศูนย์ศิลปาชีพมาแล้ว และต้องเป็นผู้ที่เคยได้รับรางวัลพระราชทานด้วย หบังจากนั้นต้องได้รับการรับรองจาก ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ นางสนองพระโอษฐ์ และราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เลขาธิการมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

...

แน่นอนว่ากะป๊ะมีความสามารถ จนได้รับการรับรองให้เป็นหนึ่งในผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ นอกจากนั้น ตอนนี้เธอยังเป็นครูสอนในกลุ่มวิสาหกิจชุมชน และเป็นครูช่างศิลปหัตกรรมไทย ปี พ.ศ. 2564 ประเภทเครื่องทอ จ.นราธิวาส

ระยะแรก ชาวบ้านบางส่วนมีรายได้จากการทำงานฝีมือส่งเข้าถวายในวัง ซึ่งสมาชิกทุกคนจะได้รับเอกสารรับรองจากท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ เพราะถ้าไม่มีเอกสารรับรองจะไม่สามารถส่งงานเข้าวังได้ แต่ระยะหลังการส่งนั้นลดลง เนื่องจากสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงประชวร

คุณกะป๊ะ กล่าวว่า ระยะหลังมีการส่งงานเข้าวังอยู่บ้าง แต่ก็ไม่เยอะแล้ว โดยเมื่อทำเสร็จแล้ว จะนำของไปส่งที่ค่ายจุฬาภรณ์ อ.เมือง จ.นราธิวาส ทางค่ายจะนำไปส่งที่สวนจิตรลดา โดยมีท่านผู้หญิงจรุงจิตต์เป็นผู้ตรวจสอบและดูแลต่อไป

รวมกลุ่มชาวบ้านก่อตั้ง Lava Laweng :

สืบเนื่องจากเรื่องหาอาชีพเสริมของชาวบ้านที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ทำให้ช่วงปี พ.ศ. 2555 คุณกะป๊ะและชาวบ้านที่มีวิชาจากศูนย์ศิลปาชีพฯ ได้รวมตัวเพื่อสอนงานปักผ้าให้กับชาวบ้านในลาเวง เธอมุ่งหวังว่าจะต่อยอดสร้างรายได้ให้คนในชุมชม และเป็นการสืบสานงานฝีมือไทยให้ยังคงอยู่ต่อไป

...

อย่างไรก็ตาม การสอนแรกๆ ถือว่ายากระดับนึง เพราะบางคนเรียนอาทิตย์เดียวก็ทำได้แล้ว แต่บางคนเรียนอยู่เป็นเดือนก็ยังทำไม่เป็น แต่เราก็ให้กำลังใจว่า…

"ถ้าอยากหาเงินได้ก็ต้องสู้ อย่ายอมแพ้ คนอื่นทำได้ เราก็ต้องทำได้ เราพยายามส่งพลังบวกให้เขาตลอด เพราะจะได้มีกำลังใจ อะไรที่ผิดพลาดก็แนะนำด้วยคำพูดดีๆ ไม่อยากใช้คำพูดที่รุนแรง เดี๋ยวเขาจะเสียกำลังใจ"

เมื่อทุกอย่างเริ่มเข้าที่จึงได้จัดตั้ง กลุ่มอาชีพ ขึ้นมาก่อน คุณเจ๊ะนาตีป๊ะ ระบุว่า ช่วงแรกไม่มีเงินทุนหมุนเวียน สมาชิกจึงต้องทำงานกันมาก่อน แล้วนำของไปขาย ถ้าขายได้ก็จะเอาเงินมาจ่ายค่าผลงาน ส่วนเงินที่เหลือจะนำไปซื้ออุปกรณ์ ถือว่าช่วงแรกล้มลุกคลุกคลานพอสมควร

...

"ช่วงแรกเราทำแค่ผ้าคลุมผม (ฮิญาบ) แต่ว่ามันเป็นผ้าเฉพาะกลุ่มที่คนมุสลิมใช้ คนไทยพุทธไม่ค่อยซื้อ หลังจากได้ไปอบรมกับหน่วยงานต่างๆ ก็ได้รับคำแนะนำให้ทำสินค้าหลากหลายมากขึ้น ทำลายปักแยกออกมาเพื่อนำไปติดกับสินค้าอื่นได้"

หลังทำไปได้ระยะหนึ่ง ทุกอย่างเริ่มไปได้ดีและเข้าที่เข้าทาง จึงยื่นจดทะเบียนเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ทำให้สามารถเข้าอบรมกับหน่วยงานต่างๆ และได้เรียนรู้เรื่องใหม่ๆ มากขึ้น จนสามารถนำมาต่อยอดเป็นลวดลายของงาน

"ปัจจุบันนี้สมาชิกในกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ผ้าคลุมผมสตรีบ้านลาเวง มีอยู่ประมาณร้อยกว่าคน เป็นคนที่เคยเรียนจากศิลปาชีพประมาณ 10 คน จำนวนที่เหลือเป็นคนที่ได้รับการถ่ายทอดความรู้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กรุ่นใหม่ ฝีมือดี เรียนรู้ไว"

อาชีพเสริม - อาชีพหลัก สร้างรายได้สู่ชาวบ้าน :

ตั้งแต่ พ.ศ. 2555 กระทั่งกำลังก้าวเข้าสู่ปีที่ 12 ใน พ.ศ. 2567 คุณกะป๊ะเล่าให้ฟังว่า ทุกคนบอกว่าตั้งแต่มาอยู่ตรงนี้ คุณภาพชีวิตเริ่มดีขึ้น เพราะเมื่อก่อนช่วงหน้าฝนจะไม่มีเงินใช้ เนื่องจากออกไปกรีดยางไม่ได้ แต่ตอนนี้มีงานทำตลอดไม่ต้องกลัวแล้ว

"บางคนยึดเป็นอาชีพเสริม เพราะช่วงที่มียางให้กรีดก็ไปกรีด หลังว่างจากตรงนั้นก็มาทำงานตรงนี้ แต่บางคนยึดเป็นอาชีพหลักไปเลย ทำอยู่ที่บ้านได้ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ไม่ต้องเสียค่าที่พัก ทำเสร็จก็เอามาส่ง"

แล้วจ่ายเงินอย่างไร รายได้ของชาวบ้านอยู่ที่ประมาณกี่บาท?

ปลายสายจากจังหวัดนราธิวาส กล่าวตอบว่า ตอนนี้พอชาวบ้านนำงานมาส่งให้ เราก็จะจ่ายเป็นเงินสดเลย เนื่องจากหลังตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแล้ว เราได้กู้เงินของกองทุนพัฒนาชุมชนมาหมุนเวียนด้วย ทำให้สภาพคล่องทางการเงินมีมากขึ้น

"รายได้ของบางคนอยู่ที่ประมาณ 300-400 บาทต่อวัน แต่บางคนอาจจะได้ 100-200 บาท อย่างไรก็ตามมันขึ้นอยู่กับความขยัน ความชำนาญของแต่ละคน รวมไปถึงรายละเอียดของชิ้นงานด้วย อีกอย่างคือ ตอนนี้เราทำเป็นกลุ่มออมทรัพย์ด้วย ทำให้ชาวบ้านเริ่มมีเงินเก็บติดตัวกัน"

รูปแบบการปัก Lava Laweng :

คุณกะป๊ะ เล่าให้เราฟังว่า Lava (ลาวา) เป็นภาษามลายู แปลว่า ความสวยงาม ความประณีต มีคุณค่า ส่วนคำว่า Laweng (ลาเวง) มาจากชื่อหมู่บ้าน จึงนำสองคำนี้มาผสมกัน จนเกิดเป็น Lava Laweng

การปักผ้า ถือเป็นอีกหนึ่งงานหัตถศิลป์ ที่ต้องใช้เวลา ความอดทน ความชำนาญ และความประณีต ซึ่งคุณกะป๊ะก็ใส่ใจเรื่องนี้เช่นเดียวกัน

เธอเล่าให้เราฟังว่า ด้ายที่ใช้ปักผลงานเป็นด้ายของ วีนัส เพราะสีไม่ตกง่าย อยู่ได้ทนทาน มีหลายเฉดสีให้รังสรรค์ ทำให้เอื้อต่อการใส่ลูกเล่นลงไปในผลงาน "เราเลือกของที่มีคุณภาพ พยายามทำให้ดีที่สุด บางทีสมาชิกมาส่งของ แล้วเราตรวจสอบว่าไม่โอเค เราก็จะให้เลาะทำใหม่ ทุกชิ้นเราทำการตรวจสอบ" คุณกะป๊ะ กล่าวกับเรา

สำหรับวิธีปักนั้น เป็นการปักขึ้นลงแบบซอยถี่ๆ โดยจะนำกระดาษที่ลอกลาย เย็บติดลงบนผ้าที่ขึงบนสะดึงไม้สี่เหลี่ยม แล้วเริ่มปักจากส่วนสำคัญ หรือส่วนละเอียด เช่น หน้าคนหรือหน้าสัตว์ ผม แล้วจึงปักทิวทัศน์โดยรอบ งานภาพปักที่ออกมา จะดูเหมือนธรรมชาติของจริง มีความละเอียด นุ่มนวล และกลมกลืน

สลัดความกลัว แล้วก้าวออกไปข้างหน้า :

เส้นทางของ Lava Laweng ไม่ได้สวยงามเหมือนลายงานปักที่พวกเธอทำ คุณกะป๊ะบอกว่าสินค้าเริ่มมาขายดีประมาณ 3-4 ปีที่ผ่านมานี้เอง แรกๆ ไม่มีใครรู้จักเราเลย รู้จักกันเฉพาะกลุ่มในวงแคบๆ มีส่งงานไปขายที่มาเลเซียบ้าง เพราะตอนแรกทำฮิญาบขาย แล้วกลุ่มตลาดทางนั้นส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม

"มีคนมาบอกให้ลองไปออกบูธสินค้าที่เมืองทอง เราก็ไม่ค่อยกล้าไป เพราะกลัวขายไม่ได้ กลัวไม่มีคนซื้อ ไหนจะเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ อีก แต่สุดท้ายเราก็ตัดสินใจที่จะไป"

อะไรที่ทำให้เปลี่ยนใจและเปลี่ยนความคิด?

เธอตอบว่า พอมานั่งคิดว่า ถ้ามัวแต่กลัวเราจะไม่ได้ก้าวออกไปไหน จะไม่ได้เปิดตลาดอื่น จะไม่รู้ความเห็นจากคนข้างนอก เลยตัดสินใจเอาความกลัวทิ้งไป ก้าวออกมาสักครั้ง ถ้าไม่ดีก็ไม่เป็นไร ยังเริ่มต้นใหม่ได้ แต่ถือว่าครั้งนั้นคุ้มมากที่ได้ไป เพราะการตอบรับดีมาก ลูกค้าหลายคนต่างบอกว่าชิ้นงานของลาเวงโดดเด่นจากคนอื่นๆ เพราะปักเสมือนภาพจริง มีการเล่นไล่สี ไม่ใช่ปักสีเดียว เป็นการปักผ้าแบบโบราณของไทย

หัวใจหลักในการทำงานคือ 'การรับฟัง' :

คุณกะป๊ะ เล่าให้ฟังว่า พวกเรามีหัวใจหลักในการทำงานคือ การรับฟัง เราพยายามฟังเสียงตอบรับและคำติชมจากลูกค้ามาตลอด หลังจากประมวลผลแล้วว่าส่วนไหนต่อยอดผลงานได้ เราก็จะค่อยๆ พัฒนาปรับปรุงตามคำแนะนำ นอกจากนั้นคนในกลุ่มก็พยายามพูดคุย รับฟัง กันอยู่เสมอ เพื่อหาแนวทางพัฒนากันต่อไป

"ในช่วงแรก งานของเราก็ไม่ได้สวยงามอะไรกันมากมาย ปักกันสีเดียวทื่อๆ ไร้ลูกเล่น แต่ลูกค้าจะแนะนำจุดต่างๆ ที่เห็นว่าเสริมได้ เราก็รับฟังมา ไม่เคยคิดว่าเขามองของเราไม่ดี แต่เขาชอบของเรามากกว่า อยากเห็นงานที่ดีขึ้นเรื่อยๆ จากเรา เลยเก็บข้อมูลมาเรื่อยๆ จนพัฒนาได้อย่างทุกวันนี้"

อีกอย่างคือ เมื่อก่อนจะมีอาจารย์จากสถาบันอุตสาหกรรมสิ่งทอช่วยออกแบบลายปัก แต่ตอนนี้เราสามารถออกแบบและพัฒนาลวดลายกันเองได้แล้ว เราอาศัยการเรียนรู้และดูภาพจากหลายแหล่ง มาประยุกต์ให้เข้ากัน โดยปกติเรา (กะป๊ะ) จะเป็นคนออกแบบลายปัก แล้วให้คนในกลุ่มเลือกสีได้ที่อยากปักก่อน เพื่อให้เขาให้ลองคิดด้วยตัวเอง หลังจากนั้นเราจะช่วยดูอีกทีว่าสีเหมาะสมที่จะใช้หรือไม่

จากที่ Lava Laweng เคยมีแค่ผ้าคลุมผม ตอนนี้ได้พัฒนาสินค้าออกมาหลากลาย เช่น ที่ปักบนเสื้อ บนกระเป๋า กระเป๋า หมวก กิ๊บติดผม ที่คาดผม ของตกแต่งบ้าน ฯลฯ

"ฉันต้องสู้ ต้องทำให้ได้ ยังไงก็ต้องสำเร็จ" :

ตลอด 12 ปีบนเส้นทางชีวิตของคุณกะป๊ะ เจ๊ะนาตีป๊ะ ในนามของประธานวิสาหกิจชุมชน ผ้าคลุมผมสตรีบ้านลาเวง เธอบอกว่าเป็นความสำเร็จอีกขั้นหนึ่งของชีวิต ความต้องการและปณิธานที่ตั้งกับตัวเองว่า อยากสานต่อสิ่งดีๆ และงานหัตถศิลป์ของไทย ถือว่าก้าวไปอีกขั้นนึงแล้ว

นอกจากนั้นยังสามารถทำให้ชาวบ้านมีอาชีพ มีรายได้ ซึ่งเป็นความต้องการสูงสุดของชีวิต ตอนนี้มีความสุขมากๆ ถึงเราจะไม่มีเงินให้เขาโดยตรง แต่เรามีวิชาที่สามารถต่อยอดเป็นอาชีพให้เขาได้ วิชานี้ก็ติดตัวไปจนเขาตาย ตัวเราเองก็ยังไม่อยากหยุดแค่นี้

"หลายคนบอกเราว่า 'อย่าเพิ่งเป็นอะไรไปนะ เดี๋ยวไม่มีงานทำ' (หัวเราะ) ซึ่งตอนนี้เราก็พยายามสานงานตรงนี้ผ่านทางลูกและโอทอป ตอนนี้ลูกเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา กรุงเทพฯ เวลาว่างเขาก็จะช่วยไลฟ์ขาย เพราะเขาอยากช่วยชาวบ้านอีกทางหนึ่ง"

เคยรู้สึกเหนื่อยจนไม่อยากทำ และปล่อยวางทุกอย่างบ้างหรือไม่? นี่คำถามส่งท้ายก่อนการสนทนาทางไกลจะจบลง ทำให้เสียงปลายสายจากนราธิวาสของ เจ๊ะนาตีป๊ะ มะหิและ ตอบอย่างชัดถ้อยชัดคำว่า

"ความเหนื่อย ความท้อ มันมีเข้ามาบ้างเป็นปกติ แต่ไม่เคยคิดอยากจะหยุดเลย เพราะรักที่จะทำและถ่ายทอดความรู้ พอรู้สึกว่าเหนื่อย เราก็จะบอกตัวเองว่าท้อไม่ได้ ต้องพยายามทำให้สำเร็จ บางทีกลางคืนนอนไม่หลับ นอนฟังเพลงสู้ชีวิต (หัวเราะ) 'ฉันต้องสู้ ต้องทำให้ได้ ยังไงก็ต้องสำเร็จ' เราคิดแบบนี้มาตลอด พลังบวกที่ได้จากชาวบ้านทุกคน ก็เป็นอีกหนึ่งแรงใจที่ทำให้เราก้าวต่อไปข้างหน้า"

ภาพ : Lava Laweng

อ่านบทความที่น่าสนใจ :