วิเคราะห์ท่าทีเกาหลีเหนือ อะไรคือชนวนที่ทำให้ 'คิม จอง-อึน ประกาศตัดการติดต่อกับเกาหลีใต้ จะยุบหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และระบุว่านี่คือ "ศัตรูอันดับ 1" พร้อมย้อนจุดเริ่มต้นไฟสงครามความขัดแย้ง สายสัมพันธ์แห่งสายเลือดที่ตัดแต่ไม่เคยขาดวันจันทร์ที่ 15 มกราคม 2024 ณ ที่ประชุมสมัชชาประชาชนสูงสุด ชุดที่ 14 ครั้งที่ 10 กรุงเปียงยาง เมืองหลวงเกาหลีเหนือ ตามเวลาท้องถิ่น 'คิม จอง-อึน' (김정은) ผู้นำสูงสุดแห่งเกาหลีเหนือ กล่าวประกาศตัดการติดต่อกับเกาหลีใต้ และเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญของเกาหลีเหนือ เพิ่มคำจำกัดความระบุให้เกาหลีใต้ เป็นประเทศ 'ศัตรูอันดับ 1' ผู้นำคิมระบุว่า ไม่มีความเป็นไปได้อีกต่อไปแล้ว ที่เกาหลีเหนือจะรวมชาติกับเกาหลีใต้ พร้อมยุบหน่วยงาน 3 แห่ง ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริม การเจรจา และความร่วมมือ ได้แก่ คณะกรรมการเพื่อการรวมชาติอย่างสันติ สำนักงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจแห่งชาติ และสำนักงานการท่องเที่ยวระหว่างประเทศคัมกังซาน"เราไม่ต้องการสงคราม เว้นเสียแต่ศัตรูของเราจะเริ่มก่อน" คิม จอง-อึน กล่าวอะไรคือจุดเริ่มต้นที่เป็นชนวน ทำให้ 'คิม จอง-อึน' เลือกกล่าวและปฏิบัติเช่นนี้ หรือนี่จะเป็นสัญญาณแห่งสงครามเกาหลีอีกครั้ง? ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะพาไปทำความเข้าใจ ถึงที่มาที่ไปของเรื่องนี้ให้มากขึ้น ผ่านการวิเคราะห์และพูดคุยกับ 'ศ.ดร.นภดล ชาติประเสริฐ' ที่ปรึกษาศูนย์เกาหลีศึกษา สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทางนิตินัย 'เกาหลี' ยังคงอยู่ในสภาพสงคราม :ศ.ดร.นภดล เลกเชอร์ข้อมูลความสัมพันธ์เบื้องต้นของสองเกาหลีให้เราฟังว่า คนมักจะเข้าใจผิดว่าประเทศเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ เกิดขึ้นเพราะ 'สงครามเกาหลี' แต่ที่จริงเกิดขึ้นเมื่อ 75 ปีก่อน หลังจบสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะอเมริกาและสหภาพโซเวียตแบ่งกันยึดครอง จากนั้น 2 ปี จึงเกิดสงครามเกาหลี และรบกันอยู่ 3 ปี สงครามจึงยุติลงเมื่อ 70 ปีที่ผ่านมา"การยุติไม่มีผู้แพ้หรือชนะ เส้นพรมแดนก็ยังคงแบ่งเท่าเดิม แต่ต้องเข้าใจว่าตอนที่สงครามยุติ 'ยังไม่มีการเซ็นสนธิสัญญาสันติภาพ' เป็นเพียงสนธิสัญญาสงบศึกเท่านั้น เพราะฉะนั้นในทางเทคนิคการรบยุติแล้ว แต่โดยนิตินัยถือว่าสภาพสงครามยังคงอยู่ และยังไม่เคยมีการเซ็นสนธิสัญญาสันติภาพเลย"ศ.ดร.นภดล กล่าวว่า ดังนั้นนับตั้งแต่ก่อนสงคราม ระหว่างสงคราม และหลังสงครามเกาหลี จวบจนปัจจุบัน ทั้ง 2 ประเทศไม่เคยมีความสัมพันธ์ทางการทูต ตอนนี้จึงไม่มีการตัดความสัมพันธ์ใดๆ ให้เรียกว่า 'ตัดการติดต่อสื่อสาร' จะดูเหมาะสมกว่าจุดเริ่มต้นตัดการติดต่อ :สถานการณ์ 2 ชาติเริ่มตึงเครียดอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน 2023 หลังจากที่ สำนักข่าวกลางแห่งเกาหลี (KCNA) รายงานว่า เกาหลีเหนือปล่อย 'ดาวเทียมสอดแนมมัลลิกยอง-1' (만리경-1) จากฐานปล่อยดาวเทียมโซแฮ (서해 위성 발사장) ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ เข้าสู่วงโคจรได้สำเร็จศ.ดร.นภดล ระบุว่า การยิงดาวเทียมนี้ ขัดกับมติขององค์การสหประชาชาติ (UN) ซึ่งไม่ให้เกาหลีเหนือทดสอบขีปนาวุธ มิสไซล์ หรือจรวดใดๆ เพราะต่างก็ใช้เทคโนโลยีใกล้เคียงกัน แต่ที่เกาหลีเหนือยิงดาวเทียม เพราะเขาคิดว่าเขาต้องพัฒนาความสามารถด้านนี้ เรียนรู้อะไรใหม่ๆ เพื่อป้องกันตัวเองหลังจากนั้นเกาหลีใต้จึงตอบโต้ โดยการลดข้อตกลงการพูดคุยเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียด ใน ปฏิญญาพันมุนจอมสำหรับสันติภาพ ความรุ่งเรือง และความเป็นเอกภาพของคาบสมุทรเกาหลี (Panmunjom Declaration) ซึ่งเป็นข้อตกลงที่เกิดขึ้นในรัฐบาล 'มุน แจ-อิน' หนึ่งในหลายเรื่องมีข้อตกลงการผ่อนคลายความตึงเครียด หรือการเผชิญหน้าแนวชายแดน ซึ่งเป็นเรื่องทางทหาร "การยิงดาวเทียมของเกาหลีเหนือ ทำให้เกาหลีใต้ไม่พอใจ จึงประกาศลดข้อตกลงบางข้อในปฏิญญาพันมุนจอม ทางเกาหลีเหนือจึงรู้สึกขุ่นเคือง และประกาศยกเลิกข้อตกลงทั้งหมด เพื่อเป็นการตอบโต้ จนกระทั่งในเดือนมกราคม คิม จอง-อึน ประกาศว่า จะตัดการติดต่อและไม่พูดคุยกับเกาหลีใต้""เดิมทีเกาหลีเหนือยังมองว่า ทั้งสองประเทศต่างก็เป็นพี่น้องสายเลือดที่ไม่อาจแบ่งแยกกันได้ มีแนวคิดที่จะสร้างความร่วมมือในอนาคต และอาจจะรวมประเทศอย่างสันติวิธี แต่พอเกิดเหตุการณ์นี้ จึงเลิกสนใจแนวคิดดังกล่าว มองเกาหลีใต้เป็นศัตรู ยกเลิกข้อตกลงหรือองค์กรที่เคยทำและจัดตั้งทั้งหมด ถึงขั้นจะมีการแก้กฎหมาย แก้รัฐธรรมนูญ"อ่านท่าทีเกาหลีเหนือ :ศ.ดร.นภดล กล่าวว่า ท่าทีของเกาหลีเหนือ น่าจะเป็นเพียงการตอบโต้เกาหลีใต้ คงยังไม่ได้คิดไปถึงขั้นทำสงคราม เพราะแม้ว่าเกาหลีเหนือจะมีอาวุธนิวเคลียร์ และทางเกาหลีใต้ไม่มี แต่เกาหลีใต้ก็ยังอยู่ใน ร่มนิวเคลียร์ (Nuclear umbrella) ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีมากกว่าเกาหลีเหนือทั้งในเชิงจำนวน และแสนยานุภาพ"เกาหลีเหนือมีนิวเคลียร์ เป็นเพียงการขู่อเมริกาว่าอย่ามารุกรานฉัน ถือเป็นการป้องกันตัวเอง ดังนั้น ในเมื่อรู้อยู่แล้วว่าตัวเองมีอำนาจน้อยกว่า การที่เกาหลีเหนือจะเปิดสงคราม จึงไม่สมเหตุสมผลสักเท่าไร แต่ถ้าเป็นการระดมยิงข้ามแดนเพื่อแสดงให้เห็นว่าไม่พอใจ แบบนี้ก็อาจเกิดขึ้นได้"ศ.ดร.นภดล กล่าวว่า ต้องให้ความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย เพราะถ้ามามองฝั่งเกาหลีใต้ เขาเองก็ซ้อมรบกับอเมริกาอย่างหนัก เช่น ตุลาคม 2023 เกาหลีใต้ อเมริกา ญี่ปุ่น ก็ซ้อมรบใหญ่ทางอากาศ พอถึงมกราคมก็ซ้อมรบกันทางทะเลอีกอีกทั้งในทางภูมิศาสตร์ 'เกาหลี' ไม่ใช่ประเทศขนาดใหญ่ ดังนั้นพื้นที่ซ้อมรบของเกาหลีใต้ จึงห่างจากเกาหลีเหนือเพียงเล็กน้อย ทำให้เกาหลีเหนือมองว่านั่นเป็นการคุกคาม เพราะฉะนั้น หากมีการซ้อมรบเกิดขึ้นเมื่อไร เกาหลีเหนือจึงมักตอบโต้ด้วยวิธีต่างๆ เช่น วาจา ยิงขีปนาวุธ ให้เห็นเป็นประจักษ์"ความขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดขึ้น จึงเกิดจากการยั่วยุที่ซ้อนกันอยู่ 2 ชั้น ภาพใหญ่ก็คือนโยบายของเกาหลีใต้ ซึ่งถือเป็นรากฐานของความตึงเครียด ส่วนที่เพิ่มเข้ามาคือการซ้อมรบ ซึ่งเป็นการยั่วยุแบบเฉพาะกิจ ในอนาคตต้องดูกันต่อไปว่า ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศจะเป็นอย่างไร ในระยะสั้นและระยะกลาง ก็คงไม่มีความเปลี่ยนแปลงอะไรมาก"ท่าทีสองเกาหลีที่เปลี่ยนไปตามรัฐบาล :เรารู้กันดีอยู่แล้วว่า เกาหลีเหนือเป็นระบอบสังคมคอมมิวนิสต์ ที่เชิดชูผู้นำมาอย่างยาวนานไม่เคยเปลี่ยน ส่วนฝั่งเกาหลีใต้ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย มีพรรคการเมืองอยู่ 2 รูปแบบ คือ พรรคแนวอนุรักษนิยม และพรรคแนวก้าวหน้าศ.ดร.นภดล กล่าวว่า ความสัมพันธ์ของสองเกาหลี มักจะเปลี่ยนแปลงไปตามรัฐบาลช่วงนั้นๆ อย่างผู้นำคนก่อนของเกาหลีใต้ 'มุน แจ-อิน' (문재인) มาจากพรรคแนวก้าวหน้า แต่คนปัจจุบัน 'ยุน ซอก-ยอล' (윤석열) เป็นพรรคแนวอนุรักษนิยม ซึ่งนโยบายของพรรคแนวก้าวหน้า จะพยายามสานสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือ เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และความเป็นพี่น้องร่วมเชื้อชาติ ดังนั้น จะเห็นได้ว่าในรัฐบาลของ 'มุน แจ-อิน' ทั้งสองประเทศติดต่อและพบเจอกันบ่อยครั้ง จนกระทั่งสามารถชักนำให้ 'โดนัลด์ จอห์น ทรัมป์' (Donald John Trump) พบกับ 'คิม จอง-อึน' จนเกิดเป็นภาพจับมือแห่งประวัติศาสตร์แต่รัฐบาลปัจจุบันภายใต้การนำของ 'ยุน ซอก-ยอล' ซึ่งเป็นพรรคแนวอนุรักษนิยม ได้ใช้นโยบายแบบเผชิญหน้ากับเกาหลีเหนือคนละแบบ ชนิดที่ว่า "แรงมา แรงไป ขิงก็รา ข่าก็แรง" "ทำให้ตลอดระยะเวลากว่าหนึ่งปีครึ่งในรัฐบาล ยุน ซอก-ยอล สถานการณ์ทั้งสองประเทศเกิดความตึงเครียดมาโดยตลอด ต่างตอบโต้กันไปมาด้วยท่าทีและวาจาที่ดูแรงขึ้นเรื่อยๆ"ข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้นทำให้ ศ.ดร.นภดล มองว่า "นี่ไม่ใช่เรื่องแปลก" เนื่องจากท่าทีของทั้งสองประเทศ สลับไปมาในลักษณะนี้อยู่แล้ว ซึ่งเป็นไปตามการเมืองของเกาหลีใต้ ศ.ดร.นภดล เลกเชอร์ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ก่อนมีรัฐบาล 'มุน แจ-อิน' ประธานาธิบดีของเกาหลีใต้ทั้งสองคน ได้แก่ 'อี มยอง-บัก' (이명박) และ 'พัก กึน-ฮเย' (박근혜) ต่างก็มาจากพรรคแนวอนุรักษนิยม ซึ่งช่วงนั้นก็ตึงเครียดกับเกาหลีเหนือมาโดยตลอดประมาณ 13 ปีก่อน สมัยของ อี มยอง-บัก เกาหลีเหนือถึงขั้นเอาปืนใหญ่ ระดมยิงใส่เกาะยอนพยอง (연평도) ซึ่งเป็นกลุ่มเกาะของเกาหลีใต้ในทะเลเหลือง ตั้งอยู่ห่างจากเมืองอินชอนไปทางตะวันตกประมาณ 80 กิโลเมตร กระทั่งมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ทั้งทหารและพลเรือน"ความตึงเครียดของ 2 เกาหลีจึงไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร เพียงแต่เดิมทีเกาหลีเหนือไม่เคยประกาศชัดเจนถึงขั้นแก้กฎหมายขนาดนี้" ศ.ดร.นภดล กล่าวกับทีมข่าวฯสองเกาหลีอาจกลับมาคืนดีกัน :แม้ว่าตอนนี้จะอยู่ในช่วงตึงเครียด แต่ในอนาคตก็อาจจะกลับมาดีกันอีกครั้งก็ได้ ศ.ดร.นภดล บอกว่า หากเลือกตั้งครั้งต่อไป พรรคแนวก้าวหน้าชนะการเลือกตั้ง บรรยากาศอาจจะผ่อนคลายลง เพราะอย่างที่บอก "ทั้ง 2 ชาติสลับดีร้ายไปมาเป็นปกติ"ศ.ดร.นภดล ยกตัวอย่างให้เราฟังว่า ย้อนกลับไปในช่วงปี 2000 ถือว่าเป็นต้นกำเนิดแห่งความ 'ญาติดี' เพราะเป็นการเจอกันครั้งแรกของผู้นำเกาหลีเหนือ (คิม จอง-อิล : 김정일) และผู้นำเกาหลีใต้ 'คิม แด-จุง' (김대중) ซึ่งเขาเป็นคนที่ได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ในช่วงนั้น คิม แด-จุง เดินทางไปเปียงยาง (평양) และเข้าพบ คิม จอง-อิล เพื่อเจริญสัมพันธไมตรี จนกระทั่งเกิดความร่วมมือหลายอย่าง เช่น นิคมอุตสาหกรรมแกซอง (Kaesong Industrial Complex) หรือแม้แต่ให้ญาติที่พลัดพรากได้กลับมาเจอกันได้ ความสัมพันธ์ที่ดีสืบเนื่องจนถึงรัฐบาล 'โน มู-ฮยอน' (노무현) จนกระทั่งยุค 'อี มยอง-บัก' ที่ความสัมพันธ์เริ่มสั่นคลอนอีกครั้งส่วนตกค้างจากสงครามเย็น :ศ.ดร.นภดล กล่าวว่า ความขัดแย้งของสองเกาหลี เป็นผลพวงตกค้างจาก 'สงครามเย็น' (Cold War) ซึ่งเกิดขึ้นจากคนอื่น แต่ยังคงดำรงอยู่ได้เพราะตัวเอง อย่างไรก็ตาม พื้นที่นี้ในทางภูมิรัฐศาสตร์ ถือว่าเป็นดุลอำนาจที่ลงตัว'จีน' ก็ยังคงอยากให้เกาหลีเหนือเป็นเหมือนพื้นที่อยู่เช่นนี้ ส่วนทางอเมริกาแม้ว่าจะไม่เคยประกาศชัดเจน แต่จากการวิเคราะห์ การที่เกาหลีเหนือยังคงอยู่แบบนี้ มันก็เป็นเงื่อนไขที่ทำให้อเมริกาสามารถคุมกำลังอยู่บริเวณนี้ได้ เพราะถ้าทั้งสองเกาหลีญาติดีกันเมื่อไร อเมริกาก็ไม่มีข้ออ้างหรือเหตุผล ที่อเมริกาจะอ้างสิทธิ์ควบคุม แทรกแซง หรือซ้อมรบกับทหารเกาหลีใต้ "ฉะนั้น จากการวิเคราะห์ ผมมองว่าสถานการณ์ตึงเครียดแบบนี้ เป็นประโยชน์กับประเทศมหาอำนาจ เพราะถ้าสองเกาหลีดีกันเมื่อไร ดุลอำนาจแห่งเอเชียตะวันออก จะเปลี่ยนไปหมดเลย ซึ่งอาจทำให้ประเทศมหาอำนาจ ต้องเสียผลประโยชน์ด้วยซ้ำ การที่มีสองเกาหลี จึงถือเป็นดุลแห่งอำนาจที่ลงตัวมาตลอด 75 ปี"- เส้นขนานที่ 38 กับจุดเริ่มต้นแบ่งแผ่นดินเกาหลี -อ้างอิงข้อมูล จากหนังสือ "สงคราม แห่งศตวรรษที่ 20" : เราจะพาคุณผู้อ่านย้อนไปหลังจบสงครามโลก ครั้งที่ 2 ปฐมเหตุแบ่งแยกแผ่นดินเกาหลี สู่จุดเริ่มต้นของความขัดแย้งแห่งสายเลือด ระหว่างเส้นขนานที่ 38ค.ศ. 1945หลังจากญี่ปุ่นปราชัยในสงครามโลกครั้งที่ 2 เกาหลีจึงได้รับเอกราชตามคำประกาศแห่งไคโรของฝ่ายพันธมิตร ปิดฉาก 35 ปีที่เกาหลีถูกครอบครองโดยญี่ปุ่น หลังจากนั้นผู้นำสงครามโลกทั้ง 2 ฝ่าย ใช้เส้นขนานที่ 38 แบ่งแผ่นดินเกาหลีออกเป็น 2 เขตการยึดครอง ซึ่งเขตเหนือยึดครองโดยโซเวียต และเขตใต้ยึดครองโดยสหรัฐอเมริกากันยายน 1945'สหรัฐฯ' และ 'โซเวียต' เคลื่อนกำลังสู่เขตการปกครองที่แบ่งไว้ พร้อมจัดตั้งการปกครองขึ้นมา สหรัฐฯ เริ่มแน่ใจว่าโซเวียตจะใช้เส้นขนานที่ 38 แบ่งเกาหลีเป็น 2 ประเทศ ซึ่งตนไม่เห็นด้วย จึงมีการเสนอให้รวม 2 เขตเป็นประเทศเดียวกัน โซเวียตเห็นด้วย แต่มีข้อตกลงว่า "รัฐบาลที่ปกครองเกาหลีต้องมาจากการจัดตั้งโดยโซเวียต"ต้นปี ค.ศ. 1946โซเวียตจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวในเขตเกาหลีเหนือ แต่งตั้งให้ 'คิม อิล-ซุง' (김일성) เป็นหัวหน้าคณะรัฐบาล และปกครองแบบ 'คอมมิวนิสต์' ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมาก หนีลงใต้ข้ามเส้นขนานที่ 38กันยายน 1947สหรัฐฯ นำปัญหาให้องค์การสหประชาชาติพิจารณา ทำให้ต่อมาสภาความมั่นคงฯ มีมติให้จัดการเลือกตั้งทั่วไปในเกาหลี ภายใต้ความควบคุมของสหประชาชาติ แต่โซเวียตปฏิเสธความร่วมมือค.ศ. 1948เดือน พ.ค. เกิดการเลือกตั้งสมาชิกประจำสมัชชาแห่งชาติเกาหลี เฉพาะในเขตที่สหรัฐฯ เป็นผู้ยึดครอง หลังจากการเลือกตั้งผ่านพ้น สมัชชาแห่งชาติได้ร่างรัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตยขึ้น และประกาศใช้ในวันที่ 17 ก.ค. กระทั่ง 15 ส.ค. ได้ประกาศตั้ง 'สาธารณรัฐเกาหลี' มี 'อี ซึง-มัน' (이승만) เป็นประธานาธิบดีคนแรกกันยายน 1948โซเวียตจัดตั้งแผ่นดินเหนือเส้นขนานที่ 38 ขึ้นเป็น 'สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี' ยังคงมี 'คิม อิล-ซุง' เป็นหัวหน้าคณะรัฐบาล หลังจากนั้นโซเวียตจึงถอนทัพออกจากเกาหลีเหนือ- สงครามเกาหลี : Korean War -อ้างอิง : หนังสือ "สงคราม แห่งศตวรรษที่ 20" - ความขัดแย้งกลางอิทธิพลของมหาอำนาจสงครามเริ่มต้น25 มิถุนายน 1950 ประมาณ 04.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น กองทัพเกาหลีเหนือนำรถถัง T-34 จำนวน 150 คัน ซึ่งสร้างในสหภาพโซเวียต พร้อมทหารราบ 7 กองพล บุกข้ามเส้นขนานที่ 38 ลงมา เมื่อประธานาธิบดี แฮร์รี เอส ทรูแมน (Harry S. Truman) แห่งสหรัฐฯ เห็นชัดแล้วว่านี่ไม่ใช่การโจมตีตามแนวชายแดนแบบที่เคยมีมา จึงบอกแก่ 'ดีน แอชสัน' รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศว่า จะแจ้งให้ 'ทริกเวอ ลี' (Trygve Lie) เลขาธิการองค์การสหประชาชาติรับทราบ และขอร้องให้เปิดประชุมสภาความมั่นคงฯ ขึ้นเป็นกรณีพิเศษในวันรุ่งขึ้น เพื่อทำการบีบบังคับเกาหลีเหนือทางเศรษฐกิจหรือปิดล้อมประเทศ หรือปฏิบัติการตอบโต้ด้วยกำลังทหาร อาจจะอย่างใดอย่างหนึ่ง หรืออาจใช้ทุกวิธีรวมกันช่วงเย็นของวันเดียวกันนั้น ทรูแมนตัดสินใจเดินทางกลับวอชิงตันทันที และทราบข่าวว่าองค์การสหประชาชาติ มีมติคะแนนเสียง 9-0 เห็นด้วยกับญัตติของสหรัฐฯ ที่เรียกร้องให้สมาชิกของสหประชาชาติทั้งหมด ช่วยเหลือองค์การสหประชาชาติทุกประการตามที่มีมติเมื่อเกาหลีเหนือไม่ยอมหยุดยั้งการบุกรุก ค่ำของวันนั้นเอง ทรูแมนจึงเห็นว่าต้องรีบปฏิบัติการตอบโต้ทันที และประเทศในค่ายเสรีประชาธิปไตย ต้องร่วมกันตอบโต้เกาหลีเหนือเกาหลีเหนือยึดกรุงโซลทรูแมนสั่งให้นายพล ดักลาส แมกอาร์เธอร์ (Douglas MacArthur) อพยพชาวอเมริกันออกจากเกาหลีใต้ และให้พยายามรักษาสนามบินในเกาหลีใต้ เพื่อจะได้ใช้ปฏิบัติการได้ตลอดเวลา ให้จัดส่งอาวุธยุทโธปกรณ์และสิ่งจำเป็น จากญี่ปุ่นไปยังเกาหลีใต้ สั่งให้กองทัพเรือที่ 7 ของสหรัฐฯ เดินทางมายังช่องแคบไต้หวัน เพื่อป้องกันไม่ให้จีนคอมมิวนิสต์บุกเข้ายึดเกาะไต้หวัน และเพื่อป้องกันไม่ให้สงครามแผ่ขยายไปยังส่วนอื่นของเอเชียตะวันออกนายพลแมกอาร์เธอร์ ไม่สามารถหาวิธีขับไล่กองทัพเกาหลีเหนือออกไปได้ จนกระทั่ง 28 มิถุนายน 1950 กรุงโซลตกอยู่ภายใต้การยึดครองของทหารเกาหลีเหนือ บ้านเรือนถูกทำลายเสียหาย วันรุ่งขึ้นนายพลแมกอาร์เธอร์ ขึ้นเครื่องบินประจำตัว ไปลงที่บริเวณห่างจากกรุงโซลมาทางใต้ 20 ไมล์ มองเห็นเปลวไฟลุกท่วมกรุงโซล ส่วนทหารเกาหลีใต้แตกทัพกระจายเป็นจำนวนหลายพันคน เดินปะปนกับประชาชนที่กำลังมุ่งหน้าลงทางใต้ เกาหลีเหนือยึดกรุงโซลทรูแมนสั่งให้นายพล ดักลาส แมกอาร์เธอร์ (Douglas MacArthur) อพยพชาวอเมริกันออกจากเกาหลีใต้ และให้พยายามรักษาสนามบินในเกาหลีใต้ เพื่อจะได้ใช้ปฏิบัติการได้ตลอดเวลา ให้จัดส่งอาวุธยุทโธปกรณ์และสิ่งจำเป็น จากญี่ปุ่นไปยังเกาหลีใต้ สั่งให้กองทัพเรือที่ 7 ของสหรัฐฯ เดินทางมายังช่องแคบไต้หวัน เพื่อป้องกันไม่ให้จีนคอมมิวนิสต์บุกเข้ายึดเกาะไต้หวัน และเพื่อป้องกันไม่ให้สงครามแผ่ขยายไปยังส่วนอื่นของเอเชียตะวันออกนายพลแมกอาร์เธอร์ ไม่สามารถหาวิธีขับไล่กองทัพเกาหลีเหนือออกไปได้ จนกระทั่ง 28 มิถุนายน 1950 กรุงโซลตกอยู่ภายใต้การยึดครองของทหารเกาหลีเหนือ บ้านเรือนถูกทำลายเสียหาย วันรุ่งขึ้นนายพลแมกอาร์เธอร์ ขึ้นเครื่องบินประจำตัว ไปลงที่บริเวณห่างจากกรุงโซลมาทางใต้ 20 ไมล์ มองเห็นเปลวไฟลุกท่วมกรุงโซล ส่วนทหารเกาหลีใต้แตกทัพกระจายเป็นจำนวนหลายพันคน เดินปะปนกับประชาชนที่กำลังมุ่งหน้าลงทางใต้ ทำลายกองทัพอากาศเกาหลีเหนือต้นเดือนกรกฎาคม ทุกสิ่งทุกอย่างกำลังเลวร้ายลงเรื่อยๆ กองทัพเกาหลีใต้ถูกทำลายไปมากกว่าครึ่ง และถูกเกาหลีเหนือบุกจนต้องถอยร่นลงสู่ทางใต้ของประเทศ กองทัพที่ 8 ของนายพลวอล์คเกอร์ เริ่มเดินทางไปยังปูซานพร้อมรถถังขนาดกลางจำนวน 92 คัน แล้วเคลื่อนตัวสู่แนวรบอย่างรวดเร็ว ระหว่างวันที่ 2-4 กรกฎาคม เครื่องบิน B-29 ของสหรัฐฯ เริ่มโจมตีสนามบิน และทำลายเครื่องบิน ทิ้งระเบิดขนาดเบาของเกาหลีเหนือ ช่วงดังกล่าวทำให้เครื่องบินเกาหลีเหนือถูกทำลายมากกว่า 30 ลำ เมื่อสิ้นเดือนกรกฎาคม กองทัพอากาศของเกาหลีเหนือจึงหมดสมรรถภาพ เกาหลีเหนือบุกยึดแทจอนในสมรภูมินี้ เมืองแทจอน (Daejeon) มีความสำคัญสำหรับเกาหลีใต้มาก เพราะเป็นเมืองที่คุมเส้นทางลงสู่ทางใต้ไปยังปูซาน ถือเป็นเมืองท่าแห่งเดียว ที่จะลำเลียงกองทัพของฝ่ายสหประชาชาติออกไปจากเกาหลีใต้ กระทั่ง 19 กรกฎาคม 1950 รถถัง T-34 ของเกาหลีเหนือ รุกคืบหน้าเข้าสู่บริเวณเมืองแทจอน ฝั่งทหารอเมริกันสามารถทำลายรถถังเกาหลีเหนือได้ 15 คัน แต่สภาพเมืองไม่สามารถต้านทานข้าศึกได้ พลตรี 'วิลเลียม เอฟ. ดีน' จึงพาทหารถอยออกจากแทจอนหลังจากนายพลดีนพยายามหลบหนี และซ่อนตัวอยู่ตามบริเวณเทือกเขาประมาณ 1 เดือน เขาก็ถูกจับตัวได้ รัฐบาลเกาหลีเหนือจึงควบคุมตัวไว้ที่ค่ายเชลยศึกในฐานะแขกของรัฐบาลจนกระทั่งสงครามเกาหลียุติเสริมกำลังปกป้องปูซานปลายเดือนกรกฎาคม 1950 หลังจากแทจอนถูกยึด กองกำลังทหารจึงถูกส่งมาที่ปูซาน เพื่อเสริมกำลังให้แข็งแกร่งท่ามกลางสภาพที่กำลังโกลาหล เพราะถ้าปูซานถูกตีแตกอีก เท่ากับว่าสหประชาชาติจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้สงครามกองทหารสหรัฐฯ จากแหล่งต่างๆ เช่น ฮาวาย ทาโคมา ซานดิเอโก เกาะโอกินาวา กำลังเดินทางมาเสริมทัพ พร้อมกับกองทัพเกาหลีเหนือที่เริ่มเข้าประชิดเขตแนวป้องกัน29 สิงหาคม 1950 กองทหารราบที่ 27 ของอังกฤษ และกองทัพยานเกราะ 5 กองพัน พร้อมรถถัง 69 คัน เดินทางมาถึงปูซานได้ทันเวลา ทำให้จำนวนรถถังมีมากกว่าเกาหลีเหนือ 5:1 ระหว่างวันที่ 18-25 สิงหาคม 1950 รอบเมืองแทกู (Daegu) มั่นคงและปลอดภัยขึ้น ฝั่งสหประชาชาติยึดเมืองนี้ไว้ได้ ปลายเดือนสิงหาคม ปูซานจึงมีความเข้มแข็งมากขึ้นบุกยึดอินชอนเมื่อ 29 สิงหาคม 1950 เพนตากอนอนุมัติแผนการบุกอินชอน (Incheon) ถึงช่วงเวลาที่เหมาะสมแก่ปฏิบัติการครั้งนี้ คือช่วงกลางเดือนกันยายนและกลางเดือนตุลาคมเท่านั้นช่วงกลางเดือนกันยายน ฉากแรกของการบุกอินชอนประสบความสำเร็จอย่างงดงาม หลังจากการต่อสู้เป็นไปอย่างดุเดือด ทำให้สามารถขับไล่ทหารเกาหลีเหนือออกจากอินชอนจนหมดสิ้น บุกยึดกรุงโซลคืนมาภารกิจต่อไปคือการบุกยึดกรุงโซลคืนมา กองทัพสหประชาชาติจากเมืองอินชอน ต้องใช้เวลาเกือบ 2 สัปดาห์จึงยึดโซลคืนมาได้ ซึ่งผิดจากที่แมกอาร์เธอร์ตั้งเป้าจะพิชิตภายใน 5 วัน เนื่องจากทหารเกาหลีเหนือต่อสู้อย่างดุเดือด แต่ 28 กันยายน 1950 เกาหลีเหนือก็ต้องถอนตัวออกไป หลังจากนั้น จึงมีการเปิดประชุมสมัชชาแห่งชาติของเกาหลีใต้ เพื่อคืนกรุงโซลให้กับรัฐบาลเกาหลีใต้ตามเดิม ประธานาธิบดี 'อี ซึง-มัน' กล่าวทั้งน้ำตาต่อแมกอาร์เธอร์ว่า "เราขอคารวะท่าน ที่ช่วยรักษาเชื้อชาติของเราไว้ไม่ให้สูญสิ้นไป"แมกอาร์เธอร์ยึดเปียงยาง6 ตุลาคม 1950 องค์การสหประชาชาติ อนุมัติแผนบุกข้ามเส้นขนานที่ 38 ของแมกอาร์เธอร์ ทางด้าน โจว เอินไหล (Zhou Enlai) กล่าวเตือนว่า "จีนจะไม่เฝ้าดูอยู่เฉยๆ หากโจมตีเกาหลีเหนือ"แมกอาร์เธอร์ได้รับอนุมัติให้กองทัพสหประชาชาติ บุกขึ้นไปทางเหนือจนถึงบริเวณที่ห่างจากแม่น้ำยาลู ประมาณ 30 ถึง 40 ไมล์ ซึ่งเลยแนวที่กำหนดไว้ตามแผนเดิม ส่วนการยกพลขึ้นบกที่วอนซาน ก็เป็นไปได้ด้วยดี ต่อมาแมกอาร์เธอร์ได้สั่งทหารพลร่มลงที่บริเวณหลังแนวข้าศึก หลังจากนั้นกองทัพของเขาก็เข้ายึดเมืองเปียงยางไว้ได้ และเขาประกาศว่า "การทำสงครามกับเกาหลีสิ้นสุดลงแล้ว"จีนคอมมิวนิสต์เข้าร่วมสงครามสัปดาห์แรกของเดือนพฤศจิกายน 1950 สงครามเริ่มขยายตัวออกไป หลังจากมีทหารจีนคอมมิวนิสต์จำนวน 2 กองพลอยู่ในเกาหลี นั่นแสดงว่าจีนคอมมิวนิสต์ได้เข้าร่วมทำสงครามเกาหลีแล้ว แมกอาร์เธอร์ตกที่นั่งลำบาก เพราะต้องเจอกับกองทัพจีนที่เข้มแข็ง มีผู้บัญชาการความสามารถสูงเคยผ่านสงครามมาแล้วโชกโชน ทำให้ตนเองที่เคยประกาศว่า "เกาหลีเหนือปราชัยแล้ว" ต้องขอกำลังอาวุธจากสหรัฐฯ เพิ่ม กองทัพที่ 8 ของสหรัฐฯ ค่อยๆ รุกคืบหน้าไปอย่างช้าๆ จนกระทั่งนายพล 'หลิน เปียว' สั่งเพิ่มกำลังกองทัพอีก 2 แสนคน ในที่สุดแมกอาร์เธอร์ก็จำใจอนุมัติให้กองทัพที่ 8 และหน่วยนาวิกโยธินถอยทัพกลับ เพราะถูกจีนคอมมิวนิสต์รุกไล่อย่างหนัก 5 ธันวาคม 1950 เปียงยางจึงตกอยู่ในความยึดครองของเกาหลีเหนือตามเดิมสงครามช่วงปี 1951 และการเริ่มเจรจาเข้าสู่ ค.ศ. 1951 ช่วงเดือนเมษายน นายพลแมกอาร์เธอร์ถูกปลดจากตำแหน่ง สงครามเกาหลีรุนแรงและดุเดือดยิ่งขึ้น ฝ่ายคอมมิวนิสต์เริ่มทำการรุกใหญ่ถึง 2 ครั้ง ได้แก่ ปลายเดือนเมษายน และปลายเดือนพฤษภาคม ทำให้ฝ่ายกองทัพสหประชาชาติ ถูกรุกไล่ให้ถอยร่นลงมาทางใต้ แต่ยังคงรักษากรุงโซลไว้ได้ช่วงเดือนกรกฎาคม 1951 กองทัพสหประชาชาติ สามารถยึดคืนพื้นที่ ที่สูญเสียไปจากการรุกใหญ่ 2 ครั้งกลับคืนมาได้ในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน เริ่มมีการเจรจาสงบศึก ซึ่งการเจรจานั้นดำเนินต่อเนื่องนานถึง 2 ปี อย่างไรก็ตาม การรบตามแนวหน้าก็ยังคงดำเนินไปเรื่อยๆ แต่ไม่รุนแรงมากนักสงครามยุติทางพฤตินัยการสู้รบได้ยุติลง เมื่อ 27 กรกฎาคม 1953 จากการลงนามความตกลงการสงบศึกเกาหลี โดยพลโท วิลเลียม แฮร์ริสัน จูเนียร์ แห่งกองทัพบกสหรัฐฯ ในนามของกองบัญชาการสหประชาชาติ และพลเอก นัม อิล แห่งเกาหลีเหนือ ในนามของกองทัพประชาชนเกาหลีเหนือ และกองทัพอาสาประชาชนจีนข้อตกลงครั้งนี้ได้สร้าง เขตปลอดทหารเกาหลี (Korean Demilitarized Zone : DMZ) เพื่อแบ่งแยกเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ และอนุญาตให้มีการส่งตัวเชลยศึกกลับคืน อย่างไรก็ตาม สงครามยุติเพียงพฤตินัย เพราะ ยังไม่มีการลงนาม 'สนธิสัญญาสันติภาพ' และทั้งสองประเทศเกาหลียังคงทำสงครามกันอยู่ ทำให้สงครามนี้จึงกลายเป็น "ความขัดแย้งที่ถูกแช่แข็งเอาไว้"ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมา คือเรื่องราวโดยย่อของ "เกาหลี"ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงานอ่านบทความที่น่าสนใจ :บรูโน และทัวริง... 2 ผู้มาก่อนเวลาฆาตกรไม่รักต้องฆ่า เหตุใดจึงถูกประหารแม้เป็นเยาวชนพล.ต.ท.เรวัช กลิ่นเกษร เส้นทาง...มือปราบขุนดงจากมติ ครม. ปี 42 ถึง รากปัญหา ครู (มี) เวรสรุป 'วิกฤติลิงลพบุรี' ปัญหาที่ยังไม่คลี่คลาย