เปิดใจครูดอย ศศช.มอตะหลั่ว เรื่องราว 10 ปี แห่งความตั้งใจ และทุ่มเท เพื่อส่งต่อโอกาสทางการศึกษา หวังเห็นเด็กดอยได้รับการพัฒนาอย่างเท่าเทียม และเท่าทันโลกภายนอก...

เรามีโอกาสได้คุยกับครูหลายท่านที่มีความตั้งใจ มุ่งมั่นอุทิศตนเพื่ออนาคตของชาติ 'กฤติยา ธนินสิริกุล' หรือ 'ครูมะ' พนักงานราชการครู ศศช.มอตะหลั่ว คืออีกหนึ่งชีวิตที่ทุ่มเทจิตวิญญาณให้กับ 'การศึกษา' โดยเฉพาะสำหรับเด็กบนดอยสูง 

เกือบ 10 ปีแห่งความตั้งใจ และการใช้ชีวิตในฐานะแม่พิมพ์ ณ ศูนย์การศึกษาสำหรับชุมชนบนพื้นที่สูง มอตะหลั่ว (ศศช.มอตะหลั่ว) วันนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะพาไปรู้จักกับเรื่องราวของหญิงคนนี้ให้มากขึ้น 

...

อยากเป็นครูกลับมาส่งต่อโอกาส และพัฒนาชุมชน : 

เมื่อครั้งยังเป็นเด็ก 'ครูมะ' ได้รับการศึกษาจาก โรงเรียนในหมู่บ้านเปิ่งเคลิ่ง ต.แม่จัน อ.อุ้มผาง จ.ตาก ซึ่งเป็นบ้านเกิดของตน เธอได้เห็นครูของเธอตั้งใจสอนเด็กมาตลอด ทำให้ความรู้สึกดีเหล่านั้นกลายเป็นเมล็ดพันธุ์แห่งแม่พิมพ์ที่ถูกฝังอยู่ในใจเด็กหญิงคนนี้ จนกระทั่งวันหนึ่งกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ 'มะ' อยากเป็น 'ครูมะ'

เมื่อเรียนจบระดับมัธยม เธอมีโอกาสได้รับทุนการศึกษาเรียนต่อจนจบระดับปริญญาตรี เธอเองได้มุ่งมั่นเล่าเรียนจนสำเร็จการศึกษาจาก คณะครุศาสตร์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป มหาวิทยาลัยราชภัฏกําแพงเพชร และได้เข้าฝึกสอนระดับชั้น ป.1-ป.3 ในโรงเรียน สพฐ.แห่งหนึ่ง

ครูมะ เล่าว่า ที่อยากเป็นครู เพราะมีแรงบันดาลใจที่ดีให้เห็น อีกทั้งยังเคยได้รับโอกาสทางการศึกษา วันหนึ่งจึงอยากผันตัวจาก 'ผู้รับ' สู่ 'ผู้ให้' หวังส่งต่อสิ่งดีๆ ให้กับเด็กดอย เพราะพวกเขาก็เปรียบเสมือนญาติ และลูกหลานคนหนึ่ง

"พื้นเพของเราไม่ใช่คนมีฐานะดีอะไร แต่อยากส่งต่อโอกาสให้คนอื่น ซึ่งโอกาสในที่นี้คือการได้มีส่วนพัฒนาให้คุณภาพชีวิตคนอื่นดีขึ้น ผ่านการถ่ายทอดวิชาความรู้"

อย่างไรก็ตาม หลังจากจบการศึกษา เธอไม่ได้เป็นครูอย่างตั้งใจทันที เพราะช่วงนั้นถือว่างานหายาก จึงได้ไปทำงานเป็น 'ล่าม' ส่งคนไข้ศูนย์อพยพที่โรงพยาบาลใน อ.อุ้มผาง ประมาณ 3 เดือน 

แต่แล้ว กองทุนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร (กพด.) ได้เปิดรับครูอัตราจ้าง 1 อัตรา เพื่อประจำที่ ศศช.มอตะหลั่ว เธอจึงได้ตัดสินใจสมัครสอบแข่งขัน โดยที่ยังไม่เคยรู้ว่าศูนย์การเรียนแห่งนั้นเป็นอย่างไร ได้แต่คิดว่าจะได้เป็นครูแล้ว อีกอย่างคือ ศูนย์การเรียนฯ ห่างจากบ้านเพียงประมาณ 11 กิโลเมตร เธอจะได้อยู่ใกล้พ่อแม่ เพื่อดูแลพวกท่านซึ่งชราภาพมากแล้ว 

แม้ว่าตอนแรกจะรู้สึกกังวลที่ต้องสอบแข่งกับคนอื่น แต่ในที่สุดเธอก็ได้เป็นครูอย่างที่ตั้งใจ ทำให้เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2557 'ครูมะ' ได้เข้าสอนเป็นครั้งแรก และวันที่ 22 ธันวาคม ปีเดียวกันนั้น สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ มาเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด ศศช.มอตะหลั่ว อย่างเป็นทางการ 

...

ชีวิตความเป็นอยู่ ครู ศศช.มอตะหลั่ว : 

วันที่ 1-8 ของทุกเดือน จะเป็นวันหยุดสำหรับครู และนักเรียน ศศช.มอตะหลั่ว และทุกวันที่ 8 ครูมะ จะเดินทางจากบ้านตนเอง (หมู่บ้านเปิ่งเคลิ่ง) เข้าไปประชุมครูที่ อ.อุ้มผาง และวันที่ 9 จะเดินทางไปยังศูนย์การเรียนฯ และอยู่ประจำจนถึงสิ้นเดือน โดยจะพักที่บ้านพักครู ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่ได้ร่วมแรงร่วมใจสร้างไว้ให้กับมือ 

ในช่วงประมาณ 6 ปีแรกในฐานะครูอัตราจ้าง ครูมะได้รับเงินเดือนเท่ากับเงินขั้นต่ำของวุฒิการศึกษาปริญญาตรี และหลังจากได้เป็นพนักงานราชการครู เงินเดือนก็เพิ่มขึ้นมา ซึ่งครูมะบอกว่าพอใช้จ่าย สามารถดูแลพ่อแม่ได้ และมีเงินเพียงพอสำหรับจุนเจือครอบครัว

...

ในอดีตนั้นเมื่อครูมะต้องไปทำธุระ หรือซื้อของเข้าโรงเรียน จะต้องขี่รถมอเตอร์ไซค์ไปยังหมู่บ้านเปิ่งเคลิ่งเป็นระยะทาง 11 กิโลเมตร แม้ว่าจะดูไม่ไกลมากนัก แต่สำหรับบนดอยแล้วการเดินทางไม่ได้สะดวกเท่าที่ควร จึงทำให้หญิงคนนี้ต้องทุลักทุเลอยู่บ่อยครั้ง แต่ก็โชคดีที่เมื่อไหร่เธอต้องซื้อของจำนวนมาก จะมีชาวบ้านมอตะหลั่วมาคอยรับที่บ้านเปิ่งเคลิ่งอยู่เสมอ

แต่ด้วยความห่วงใยจากคนในครอบครัว แฟนครูมะจึงใช้รถยนต์รับ-ส่งเวลาต้องซื้อของ หรือทำธุระ อย่างไรก็ดีการเดินทางด้วยรถยนต์ก็ยังต้องใช้เวลามากกว่า 1 ชั่วโมง หากเป็นช่วงฤดูฝนอาจจะต้องใช้เวลาเดินทางมากกว่า 3 ชั่วโมง 

"ในช่วงที่ฝนตก เราเคยใช้เวลาเดินทางมากกว่า 5 ชั่วโมง เพราะรวมเวลาที่รถติดหล่ม และตกหลุมด้วย" ครูมะ บอกกับทีมข่าวฯ 

'ภาษาไทย' อุปสรรคแรกสำหรับครูมะ : 

แม้ว่า ครูมะ จะมีพื้นเพเป็นชาวดอย แต่การมาสอนเด็กดอยที่มอตะหลั่วก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ถึงจะจบจากสาขาวิทยาศาสตร์ทั่วไป แต่การเป็นครูดอยต้องสอนได้ทุกวิชา และส่วนใหญ่จะต้อง เน้นไปที่วิชาภาษาไทย ซึ่งถือว่าเป็นพื้นฐาน และหัวใจหลัก เพื่อการต่อยอดสู่เนื้อหาวิชาอื่น เพราะถ้าหากเด็กไม่ได้วิชานี้ จะไม่สามารถเรียนรู้เนื้อหาได้ หรือถ้าเรียนรู้ได้ก็จะยาก

...

"เด็กส่วนใหญ่เป็นชาวเขา และคนในหมู่บ้านเป็นชาวกะเหรี่ยง ซึ่งพวกเขาไม่นิยมสื่อสารภาษาไทยกันเลย กลายเป็นอุปสรรคในการสอนช่วงแรก เพราะเด็กยังติดกับภาษาถิ่น จึงต้องสอนด้วยภาษาถิ่น และแปลเป็นภาษาไทยไปด้วย และเด็กก็ยังเข้าใจเนื้อหาได้ยาก เพราะพวกเขาเข้าใจเพียงบางคำ ไม่ได้เข้าใจทั้งประโยค"

อย่างไรก็ดี ครูมะ ก็พยายามสอนเด็กทุกรุ่นต่อไป จนกระทั่งครั้งหนึ่งมีกลุ่มอาสามาที่ ศศช. ตอนแรกครูมะรู้สึกกังวล เพราะกลัวว่านักเรียน และกลุ่มอาสา จะคุยกันไม่รู้เรื่อง แต่หลังเลิกเรียนได้เห็นเด็กคุยภาษาไทยกับกลุ่มอาสาอย่างสนุกสนาน ตนจึงรู้สึกดีใจเป็นอย่างมาก แสดงว่าความพยายามที่ผ่านมาไม่สูญเปล่า และนักเรียนรุ่นหลังเริ่มสื่อสารภาษาไทยได้ดีขึ้น 

ตื่น 05.00 น. เตรียมอาหารกลางวันให้เด็กนักเรียน : 

นอกเหนือจากการสอนหนังสือ และทำเอกสารทางราชการที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ครูมะ ยังได้รับบทบาทเป็น 'แม่ครัว' มือฉมังประจำ ศศช.มอตะหลั่ว โดยมีนักเรียนเป็นผู้ช่วยตัวน้อย 

ครูมะ จะต้องตื่นเวลา 05.00 น. ของทุกวัน เพื่อลุกขึ้นเตรียมอาหารสำหรับมื้อกลางวันให้เด็กๆ เธอบอกว่า การที่ต้องตื่นเช้าขนาดนั้น ทำให้เด็กที่จะช่วยทำอาหารต้องนอนค้างคืนอยู่ที่บ้านพักครู

พนักงานราชการครู ศศช.มอตะหลั่ว เล่าให้ทีมข่าวฯ ฟังต่อว่า หมู่บ้านแห่งนี้เป็นหมู่บ้านฤาษี พวกเขามีความเชื่อที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาอย่างหนึ่ง คือ จะไม่บริโภคเนื้อหมู เนื้อไก่ ไข่ไก่ และไข่เป็ด ทำให้ช่วงแรกที่รับรู้เรื่องนี้ ครูของเรารู้สึกเครียดเป็นอย่างมาก จึงต้องทำการปรึกษาผู้นำชุมชน

"ตอนแรกเราก็ไม่รู้ว่าจะทำยังไง แล้วจะทำอาหารอะไรให้เด็กกินได้บ้าง ผู้นำชุมชนบอกว่า ยุคสมัยเริ่มเปลี่ยนไป ก็มีการผ่อนปรนในบางเรื่อง กล่าวคือ สามารถทานเนื้อสัตว์ดังกล่าวที่แปรรูปได้แล้ว เช่น ฮอตดอก ลูกชิ้น ส่วนไข่ก็สามารถกินไข่นกกระทาได้"

นั่นจึงทำให้ครูมะรู้สึกสบายใจที่เรื่องนี้ยังมีทางออกอยู่บ้าง และทุกสัปดาห์จะมี 1 วัน ที่ครูมะจะเดินทางไปยังหมู่บ้านเปิ่งเคลิ่ง โดยหลังจากเตรียมอาหาร และกินข้าวเช้าเสร็จ ก็จะรบกวนฝากหน้าที่ไว้กับครูคนอื่น ส่วนตนเองเพื่อซื้อวัตถุดิบอาหาร

ไฟฟ้าขัดข้อง ห้องควบคุมโซลาร์เซลล์ไฟไหม้!!! : 

ศศช.มอตะหลั่ว มีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ เพื่อเป็นแหล่งพลังงานหลักในการผลิตไฟฟ้าใช้ทั่วศูนย์ฯ ซึ่งในอดีตนั้นที่นี่มีไฟฟ้าใช้อยู่ตลอดเวลา ครูมะ เล่าว่า จะเปิดไฟช่วงทำอาหาร เวลาสอนเด็กๆ ในห้อง ชาร์จไฟฉายให้นักเรียน รวมถึงชาร์จแบตเตอรี่อุปกรณ์สื่อสารของครู และอื่นๆ 

'ไฟฟ้า' ไม่ได้เพียงช่วยอำนวยความสะดวก แต่ยังมีส่วนช่วยให้เด็กๆ เข้าถึงแหล่งการเรียนรู้ที่สามารถเปิดโลกทัศน์ของพวกเขาได้มากขึ้น

"ช่วงที่มีไฟฟ้าใช้ตลอด จะเปิดคลิปวิดีโอให้เด็กๆ ดูผ่านแล็ปท็อปของครู เพื่อให้เขาเห็นโลกภายนอก และยังใช้วิดีโออื่นๆ เป็นสื่อการสอนประกอบการบรรยายให้นักเรียนเห็นภาพมากขึ้น รวมไปถึงยังได้ใช้ประโยชน์จากไฟฟ้าในการจัดการประชาสัมพันธ์ข้อมูลต่างๆ ใน ศศช.ด้วย"

แต่แล้ววันหนึ่ง ครูมะ บอกว่า ไม่รู้แน่ชัดว่าเกิดจากสาเหตุอะไร ไฟฟ้าเริ่มมีปัญหาติดๆ ดับๆ ใช้งานไม่ได้เหมือนปกติ เมื่อถึงฤดูฝนยิ่งหนักขึ้น บางครั้งสอนอยู่ไฟก็ดับไปต่อหน้าต่อหน้า หนำซ้ำเครื่องปั่นไฟที่มีอยู่ก็พังซะอีก!

เคราะห์ซ้ำกรรมซัด ก่อนถึงเดือนมกราคม 2567 เกิดเสียงระเบิดดังขึ้นจากห้องควบคุมแผงโซลาร์เซลล์ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านตามเสียงมาถึง ศศช.มอตะหลั่ว พบว่า 'ไฟกำลังไหม้' จึงวิทยุตามคนมาช่วยเหลือ 

"ถือว่ายังโชคดีที่ดับไฟได้ทัน เพราะหากลามไปยังอาคารเรียน ทุกอย่างที่สร้างกันมา คงต้องกลับไปเป็นศูนย์ และเริ่มนับ 1 ใหม่กันอีกครั้ง" ครูมะ กล่าว

ผลกระทบของไฟฟ้าติดขัด และการแก้ปัญหา : 

เมื่อไฟฟ้าติดขัด การใช้ชีวิต และการทำงาน ก็ไม่สะดวกเท่าที่เคย อีกทั้งยังส่งผลไปถึงสื่อการสอน โลกทัศน์ที่เคยกว้าง ถูกขัดขวางจากเรื่องไฟฟ้า ครูมะ บอกว่า ไม่ได้เปิดสื่อให้เด็กดูเหมือนเดิม เพราะไฟไม่เสถียร บางครั้งก็ไม่สามารถปรินต์เอกสาร และสื่อการเรียน จากเครื่องปรินต์ที่มีอยู่ได้

แต่ใจของนักสู้ ใครเล่าจะยอมแพ้!!! เมื่อวันที่ต้องเดินทางไป 'บ้านเปิ่งเคลิ่ง' มาถึง ครูมะ จะถือโอกาสนั้นปรินต์สื่อการสอนที่ต้องการ รวมไปถึงปรินต์เอกสารทุกอย่างที่ต้องใช้ และต้องส่งให้จบที่นั่น เรียกได้ว่าเป็น '1 วัน เวลาทอง' ที่ต้องใช้เวลาให้คุ้มค่ามากที่สุด

"แม้ว่าตอนนี้เราจะไม่มีสื่อการสอนที่เป็นวิดีโอ แต่ก็ยังคงสอนกันอย่างเต็มที่ ทำใบงานต่างๆ มาช่วยเสริม และใช้เนื้อหาจากหนังสือที่ทาง กศน.มอบให้"

เกือบไม่มี ศศช.มอตะหลั่ว เพราะชาวบ้านไม่รับการศึกษา : 

ครูมะ เล่าย้อนอดีตให้ทีมข่าวฯ ฟังว่า ก่อนที่ตนจะเข้ามาสอน ศศช.มอตะหลั่ว เกือบจะไม่ได้เกิดขึ้น เนื่องจากคนในหมู่บ้าน 'ไม่ต้องการการศึกษา' เพราะพวกเขามองว่าจะทำให้วัฒนธรรมดั้งเดิมที่เคยมีอยู่ต้องเปลี่ยนไป 

เมื่อเป็นเช่นนั้น บุคลากรจาก กศน. และคุณครูคนอื่นๆ จึงเริ่มรวมตัวกันขออนุญาตชาวบ้านเข้าไป 'ลอง' จัดการเรียนการสอน และพยายามเข้าไปคลุกคลีอยู่กับชาวบ้าน เพื่อเรียนรู้ชีวิต วิถี วัฒนธรรม และทำความเข้าใจกับชาวบ้านทุกคน

"คุณครูในตอนนั้นเข้าไปสอนหนังสือถึงบ้านของผู้นำชุมชน หลังจากทุกอย่างดำเนินไปสักระยะ ก็มีการจัดการประชุมกันเกิดขึ้น โชคดีที่ผู้นำชุมชนเข้าใจ และเห็นคุณค่าของระบบการศึกษา เมื่อตกลงกันได้แล้วจึงเกิดเป็น ศศช.มอตะหลั่ว ขึ้นมา"

'ครู' ยังไม่พอ และการแก้ปัญหาเบื้องต้น : 

ตอนนี้ ศศช.มอตะหลั่ว จัดการเรียนการสอนตั้งแต่อนุบาล ถึง ป.6 มีนักเรียนทั้งหมด 48 คน มีครูทั้งหมด 3 คน ได้แก่ ครูข้าราชการ 1 คน, ครูมะ 1 คน ส่วนอีก 1 คน เป็นศิษย์เก่าของ ศศช.มอตะหลั่ว ที่ใช้ภาษาไทยได้ดี พระอาจารย์ในหมู่บ้านจึงออกเงินจ้างให้มาเป็นครูชั่วคราวของที่นี่

ทีมข่าวฯ จึงสอบถามว่า หากเป็นเช่นนี้ในช่วงปกติที่มีครูแค่ 2 คน การจัดการเรียนการสอนไม่มีปัญหาหรือ?

ปลายสายตอบกับเราว่า "มีปัญหาแน่นอน แม้ว่าการมีครู 2 คนก็สอนทั่วถึง แต่จะได้ไม่ค่อยเต็มที่สักเท่าไร ตอนนี้จึงได้จัดให้มี 'พี่สอนน้อง' หมายความว่า นักเรียนรุ่นพี่คนไหนที่สามารถเรียนรู้ได้ไว จะให้มาช่วยสอนน้องอีกที"

ครูมะ กล่าวต่อว่า ตั้งแต่จัดตั้งโรงเรียนขึ้นมา จะมีโครงการชื่อ 'ครูอาสาในป่าใหญ่' ที่จะช่วยหาอาสาสมัครมาสอนที่ ศศช. ซึ่งส่วนใหญ่จะมาประมาณ 1-3 เดือน ไม่มีการอยู่ระยะยาว

แม้ว่าตอนนี้มีการกำหนดว่า ศศช. สามารถมีครูได้ 2 คน เพราะจำนวนเด็กน้อย แต่ในความคิดของ 'ครูมะ' มองว่า ถ้ามีบุคลากรเพิ่มก็จะดีต่อเด็ก เพราะแต่ละวิชามีความยาก-ง่ายต่างกัน และพื้นฐานของเด็กไม่เหมือนกัน ยิ่งช่วง ป.4-ป.6 เด็กจะต้องเน้นการวิเคราะห์ ดังนั้นถ้ามีครูมากขึ้นก็น่าจะช่วยให้ดูแลเด็กได้อย่างครอบคลุม

"บางวิชาเราไม่ถนัดเลย แต่พยายามจะหาข้อมูลมาสอนเด็กๆ ให้ได้ บางช่วงอินเทอร์เน็ตไม่ค่อยเสถียร เมื่อเราไปซื้อวัตถุดิบประกอบอาหารที่บ้านเปิ่งเคลิ่ง จะใช้ช่วงเวลานั้นค้นหาข้อมูลมาสอนเด็กเพิ่ม"

อยากให้เด็กมีวิชา ป้องกันการเป็นเหยื่อ : 

ครู ศศช. กล่าวกับทีมข่าวฯ ว่า คาดหวังให้นักเรียนในศูนย์ฯ ได้เรียนสูงๆ อยากให้ทุกคนได้เรียนต่อเท่าที่จะทำได้ เพราะว่าเด็กจะได้มีความพร้อม และสามารถรับมือกับโลกภายนอกได้

"ในความเป็นจริงแล้ว โลกภายนอกไม่ได้ดีเสมอไป คนในสังคมมีหลากหลายรูปแบบ ถ้าเด็กๆ ออกไปโดยไม่มีความรู้ติดตัว หรือสื่อสารภาษาไทยไม่ได้เลย เรามองว่าจะกลายเป็นอุปสรรคสำหรับพวกเขา 

ส่วนตัวแล้วเคยเป็นล่ามมาก่อน ทำให้รู้ว่าใครที่สื่อสารภาษาไทยไม่ได้จะลำบาก ถ้าชีวิตไปเจอคนที่ดีก็ดีไป แต่ถ้าไปเจอคนไม่ดี ก็อาจจะโดนเขาหลอกได้"

ยังคงอยู่ต่อ เพราะชาวบ้านมอตะหลั่ว : 

ทีมข่าวฯ ถามว่า มีเรื่องยากลำบากเข้ามามากมาย ไม่อยากไปอยู่ในเมือง หางานอื่นทำหรือ?

ครูมะ ตอบว่า คงจะไม่ไปไหน ที่ยังคงอยู่ตรงนี้ ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะชาวบ้านมอตะหลั่วด้วย ทุกคนน่ารัก ใจดี และสามัคคีกัน ทำให้เรามีแรงใจที่จะก้าวต่อไปพร้อมกับทุกคน 

"เราเข้ามาอยู่ตรงนี้ก็ได้เรียนรู้ และรับสิ่งดีๆ กลับไปมากมาย บางอย่างอาจจะไม่คุ้นชินในช่วงแรก แต่อย่าลืมว่า เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม มันเป็นการเรียนรู้อีกอย่างหนึ่ง ทำให้เราเข้าใจโลกมากขึ้น ยกตัวอย่างเรื่องของที่ห้ามกิน เราก็แค่ไม่กินตอนอยู่ที่นี่ ทำตามธรรมเนียมของชาวบ้าน แต่หลังออกจากหมู่บ้านแห่งนี้ พวกเขาก็ไม่เคยห้ามเรากินหมู ไก่ หรือไข่เลย"

สู้ต่อไป! แม่พิมพ์ของเด็กดอย :  

จากวันนั้นที่ชาวบ้านไม่เข้าใจเรื่อง 'การศึกษา' จนกระทั่งวันนี้ที่ทุกคนพร้อมเปิดใจรับ ทำให้ ครูมะ และครูคนอื่น มีแรงใจที่จะก้าวต่อไปในฐานะ 'แม่พิมพ์ของเด็กดอย'

ครูมะ กล่าวว่า เด็กที่อยู่ในเมืองได้รับความสะดวกสบาย เราดีใจด้วยจริงๆ เพราะนั่นเป็นเรื่องพื้นฐานที่ควรได้รับ แต่สำหรับเด็กบนดอย เราก็อยากให้พวกเขาได้รับเหมือนกัน อยากให้ทุกคนได้รับเท่ากันอย่างเท่าเทียม

"ถ้าถามว่าตอนนี้เหนื่อยไหม มันก็มีช่วงเวลาที่เหนื่อยอยู่แล้ว เป็นเรื่องปกติของชีวิตการทำงาน แต่เราเหนื่อยไม่นาน พอจัดการทุกอย่างเรียบร้อย ตื่นมาเช้าวันใหม่ก็มีพลังก้าวต่อไปข้างหน้า ทุกงานย่อมมีอุปสรรคให้เราได้เรียนรู้ ถ้าไม่มีอุปสรรค ตัวเราจะไม่มีภูมิต้านทานความลำบาก"

'กฤติยา ธนินสิริกุล' ส่งท้ายว่า ทุกวันนี้เรายังคงยึดถือเด็กๆ เป็นหลักในการทำงาน ในอนาคตคิดว่าจะยังคงทำอาชีพนี้ต่อไปเรื่อยๆ และหวังว่า 'เด็กดอย' จะมีอนาคตที่ดีขึ้น…

ภาพ : ศศช.มอตะหลั่ว


อ่านบทความที่น่าสนใจ :