จับตา ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด จะเป็นของ "จริง" หรือการหาเสียงของพรรคการเมือง นักวิชาการสิ่งแวดล้อม ชำแหละแผน สิ่งที่ขาดคือการ ลงมือทำ ...
เรียกว่ารับแบบเหมาเข่งกันเลยทีเดียว สำหรับ ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด โดยเมื่อวันที่ 17 ม.ค.67 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้มีมติเอกฉันท์ 443 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง รับร่างดังกล่าวจากภาคประชาชนกว่า 2.2 หมื่นรายชื่อ รวมถึงพรรคการเมือง ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐ และก้าวไกล ในการนำเสนอแผนแก้ปัญหาฝุ่นพิษ และฝุ่นข้ามแดน...
อากาศสะอาด คือ อะไร.... คำถามง่ายๆ ที่ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้ถามกับ นายสนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ตอบว่า อากาศที่สะอาด ไม่มีมลพิษ เป็นเพียงการอธิบายกว้างๆ เท่านั้น โดยไม่ลงรายละเอียดว่า อากาศสะอาดมีอะไรบ้าง มีมลพิษอะไรเจือปนบ้าง โดยการพูดคุยนั้น เป็นการมุ่งเน้นเรื่อง PM 2.5 มากกว่า โดยจะมุ่งไปที่แหล่งกำเนิด PM 2.5
ดังนั้น คำว่า “อากาศสะอาด” มันเป็นสิ่งที่ต้องตีความ หมายความว่า ไม่ได้ดูที่แหล่งกำเนิด PM 2.5 เพียงอย่างเดียว แต่มันต้องไปดูแหล่งกำเนิดมลพิษในอากาศ โดยแบ่งออกเป็นหลายประเภท ทั้งฝุ่นขนาดใหญ่ PM 10 (ฝุ่นหยาบ : Course Particles), ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ หรือ SO2, ไฮโดรคาร์บอน, คาร์บอนมอนอกไซด์ ไอระเหยสารอินทรีย์ (Volatile Organic Chemicals, VOCs) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง เป็นต้น
สารเหล่านี้ คือ สิ่งที่ต้องมาคิดพิจารณาทั้งหมด เพื่อวางแผนให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ฉะนั้น ตรงนี้เองจึงมองว่าเป็น “จุดอ่อน” ของร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด คือ การเน้นที่ฝุ่น PM 2.5 แต่อากาศสะอาด ไม่ได้หมายถึง PM 2.5 อย่างเดียว
...
ยกตัวอย่างง่ายๆ ในพื้นที่ “มาบตะพุด” ยังมีสารก่อมะเร็งเกินมาตรฐานอยู่ เช่น สารเบนซีน 1, 3 - บิวทาไดอีน แบบนี้ต้องควบคุมด้วย และสุดท้ายมันไปรวมตัวกับ PM 2.5 กลายเป็นสารก่อมะเร็งตามมา ซึ่งเรื่องเหล่านี้...ไม่ได้ถูกพูดถึง
ชำแหละ ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด แต่ละพรรคต่างกันอย่างไร...
นายสนธิ พูดถึงความแตกต่างของ ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ที่มีการนำเสนอเข้าสภา ว่า ทำความเข้าใจก่อนว่า พ.ร.บ.อากาศสะอาด พ.ศ. ... ที่เข้าสภานั้นมีอยู่หลายร่าง ทั้งของพรรคการเมือง และ ปยป. (สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความปรองดอง)
สำหรับร่างของ ปยป. และภูมิใจไทย มีความคล้ายคลึงกัน สิ่งที่แตกต่างกันที่เห็นชัด คือ บางร่างฯ เน้นเรื่องการทำฐานข้อมูล, ทำรายงานประจำปี แต่โดยรวมแล้วมีความคล้ายคลึงกัน คือ การไปแต่งตั้งคณะกรรมการเยอะแยะมากมาย ที่แตกต่างไปเลย คือ ร่าง พ.ร.บ.ฝุ่นพิษและการก่อมลพิษข้ามแดน ของก้าวไกล เพราะใช้คำว่า “ฝุ่นพิษ” คือมันตรงตัวชัดเจน
หากผ่านร่างอากาศสะอาด และนำมาบังคับใช้ จะทำให้อากาศดีขึ้นไหม?
นายสนธิ กล่าวอย่างต่อไปตรงมาว่า “ไม่แน่...(หัวเราะ) เพราะร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดนั้น มีความซ้ำซ้อน พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 2535 อยู่หลายประเด็น เช่น การตั้งคณะกรรมนโยบายอากาศสะอาด กลายเป็นว่ามันจะซ้ำซ้อนกับ คณะกรรมคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีนายกฯ เป็นประธาน เหมือนกัน มีคณะกรรมการขับเคลื่อนเหมือนกัน และจะซ้ำซ้อนกันในเรื่องวิชาการ มาตรฐานแหล่งกำเนิด ทุกอย่างจะซ้ำซ้อนกันไปหมด
เมื่อถามว่า เพราะอะไร ต้องตั้งคณะกรรมการมากมายเป็นองคาพยพ ขนาดนั้น “ก็นี่ไงครับ” นายสนธิ อุทาน พร้อมคำอธิบายว่า นี่ยังไม่รวมคณะกรรมการในพื้นที่เฉพาะต่างๆ อีกนะ นี่คือข้อสังเกต
ใน พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม คือ การดูแลภาพรวมทั้งหมดอยู่แล้ว ที่เกี่ยวข้องกับมลพิษ แต่นี่ คือ จะแยกออกมาดูเฉพาะอากาศอย่างเดียว มันจะตัดอำนาจกันอย่างไร ดังนั้น หากต้องการจะออก พ.ร.บ.อากาศสะอาด จะต้องไปแก้ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม 2535 เสียก่อน โดย พ.ร.บ.นี้จะไม่เข้ามายุ่งเรื่องอากาศอีกต่อไป มิเช่นนั้นจะ “ซ้ำซ้อน” กันไปหมด
...
ในแง่การขับเคลื่อน จำเป็นต้องมีเงิน
นายสนธิ ย้ำว่า การขับเคลื่อนอากาศสะอาดนั้น จำเป็นต้องมีเงินกองทุน ซึ่งตาม พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฯ นั้น มีเงินจากน้ำมัน ซัพพอร์ต โดยรัฐบาลแต่สำหรับอากาศสะอาด เวลานี้ ในร่าง ยังไม่เห็น และการขับเคลื่อนตาม พ.ร.บ.อากาศสะอาดนั้นจำเป็นต้องใช้เงินในการ “จูงใจ” เช่น การให้เงินกับเกษตรกร หากไม่เผาตอซังข้าว ซึ่งเงินดังกล่าวก็ยังอยู่ในกองทุนสิ่งแวดล้อม ดังนั้น หากจะใช้ พ.ร.บ.อากาศสะอาดจริงๆ ก็จำเป็นต้องเขียนขึ้นใหม่อีก หางบมาใส่เพิ่มเติม
หาก พ.ร.บ.อากาศสะอาดนั้น จะเน้นเรื่องการจัดการฝุ่น PM 2.5 ก็จำเป็นต้องประกาศให้ชัด หรือฝุ่นข้ามแดน ไปเลย เพราะ ฝุ่น กับ มลพิษ นั้น แตกต่างกัน
แผนเยอะ คณะกรรมการมากมาย แต่ขาดคนลงมือทำ
นายสนธิ มองว่า ที่ผ่านมาเรามีแผนมากมาย ที่เป็น “วาระแห่งชาติ” อยู่แล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหา PM 2.5 ตามมติ ครม.62 กับรัฐบาลชุดเดิมที่อยู่มา 9 ปี และจะมาร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด จุดอ่อนของการแก้ปัญหาเรื่องนี้ คือ การทำงานแต่ละกระทรวงนั้น ต่างคนต่างทำ เช่น ก.เกษตรฯ ก็จัดการรณรงค์เรื่องไม่เผา แต่ด้านอื่น ก็ไม่ใช่เจ้าภาพ ฉะนั้น ปัญหาคือ ไม่มีเจ้าภาพที่ชัดเจน
ประเด็นเรื่อง “งบประมาณ” ก็ควรนำออกมาใช้ได้ทันที ซึ่งถ้าเทียบกับต่างประเทศ จะต้องเป็นนายกฯ หรือถ้าเป็นสหรัฐฯ เขาก็จะเป็น US EPA ก็คือ อยู่ภายใต้ ปธน. ดังนั้น หากเป็นบ้านเรา กรมควบคุมมลพิษ จะต้องอยู่ภายใต้ สำนักนายกรัฐมนตรี ขึ้นตรงกับนายกฯ ทำเรื่อง “check and Balance”
“คนที่จะสร้างโรงงาน ที่อาจจะก่อมลพิษ คุณก็ส่งเสริมไป แต่ต้องมีกรมควบคุมมลพิษไปคอยบาลานซ์ โดยต้องมีเจ้าหน้าที่ไปตรวจ ไม่ใช่ทำเอง ตรวจเอง แบบนี้ใช้ไม่ได้ เหมือนกับ กรมขนส่งทางบกไป อนุญาตต่ออายุรถ แต่อยู่ดีๆ ไปจับควันดำ ซึ่งความจริงต้องมีการตรวจสอบคนละหน่วยงาน”
...
อำนาจนายกฯ ใช้จัดการได้อยู่แล้ว แต่ไม่เคยนำมาใช้
นายสนธิ สะท้อนว่า ความเป็นจริงคือ นายกฯ สามารถใช้อำนาจตามมาตรา 9 ตาม พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม อยู่แล้ว เนื่องจากบางครั้งมีเหตุฉุกเฉินจากภัยธรรมชาติ ที่เป็นมลพิษ ที่เป็นอันตรายกับสุขภาพ นายกฯ มีอำนาจตรงนี้อยู่แล้ว สามารถใช้อำนาจระงับเหตุได้ทันที หรือมอบอำนาจให้ผู้ว่าฯ จัดการได้
“นี่คือ อำนาจนายกฯ แต่ไม่เคยเอามาใช้ หรือมอบอำนาจให้ผู้ว่าฯ จัดการแทนก็ได้ พร้อมกับเอาเงินให้เขาด้วย และในความเป็นจริง หน่วยงานท้องถิ่นถือว่าอยู่ใกล้ชิดกับประชาชน จึงมีหน้าที่ต้องช่วยลดฝุ่น PM 2.5 ด้วย แต่งบประมาณไม่เพียงพอ ที่ผ่านมา ท้องถิ่นจึงทำได้ 2 อย่าง คือ ให้ความรู้ กับขอร้อง...งบ PM 2.5 ที่มีก็ไปกระจุกตัวตาม ทบวง กระทรวง กรมต่างๆ ซึ่งมันห่างไกลจากความต้องการของประชาชนค่อนข้างมาก
พ.ร.บ.อากาศสะอาด กับ มลพิษข้ามแดน คุมได้แค่ไหน
ในประเด็นนี้ นายสนธิ บอกว่า เป็นเพียงตัวหนังสือที่เขียนไว้กว้างๆ ว่า หากเจอมลพิษข้ามแดน สิ่งที่ทำได้คือ การพูดคุย ประสานงาน หามาตรการระงับ ซึ่งคงต้องรอดูในขั้นตอนกฎหมายลูก
...
เมื่อถามว่า ความจริงเราจะจัดการได้อย่างไร ในเมื่อไม่ได้อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านปัญหาสิ่งแวดล้อม ระบุว่า เบื้องต้น หากเป็นการออกกฎหมายลูก อาจจะมีมาตรการ เช่น ไม่รับซื้อสินค้า หรือ ขึ้นภาษีให้สูง สำหรับสินค้าที่เกิดจากการเผา นี่คือ นโยบายที่ทั่วโลกเขาใช้กัน
“ที่อินโดฯ ถึงขั้นนำตัวคนที่เผามาลงโทษด้วย ด้วยการขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน ซึ่งตามกฎหมายนั้นทำได้ แต่เพื่อนบ้านจะยอมรับหรือไม่ นั่นเป็นอีกประเด็นหนึ่ง”
ส่วนประเด็นผู้ประกอบการที่เป็นคนไทย แต่ไปดำเนินการต่างประเทศ ไปทำความผิดในต่างประเทศ ก็สามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้ นายสนธิ บอกว่า ในร่างของรัฐบาล มีการเขียนประเด็นเรื่องการปรับไว้ ตั้งแต่ 5,000 ถึง 50 ล้าน
“ประเด็นนี้ตาม พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม มีระบุอยู่แล้ว ส่วนเรื่องการปรับ มันขึ้นอยู่กับความเสียหาย”
พ.ร.บ.อากาศสะอาด กับการหาเสียงของนักการเมือง
นายสนธิ มองว่า พ.ร.บ.อากาศสะอาดหลายฉบับ ก็เอามาจาก พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม ที่สำคัญคือแผนต่างๆ เราก็มีเตรียมไว้หมดแล้ว เพราะเคยเป็นวาระแห่งชาติตามมติ ครม. เมื่อ 1 ต.ค.62 โดยมีแผนระยะสั้นและยาว แต่ประเด็นปัญหา คือ การบังคับใช้กฎหมายไม่เข้มแข็ง ช่วงนี้ PM 2.5 สูงมาก เพราะมีการเผาในหลายๆ พื้นที่ อาทิ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร อ่างทอง หรือในอีสาน เช่น โคราช แต่ไม่เคยเห็นข่าวการจับกุมเลย...
กลัวข้อกล่าวหา “รังแกคนจน” หรือไม่ สนธิ ตอบทันควัน ก็นี่ไง... เพราะเวลาไปจับ คุณก็ไม่ให้อะไรเขา ซึ่งเรื่องนี้ รัฐต้องให้นโยบายเพิ่มแรงจูงใจด้วย ถ้าใครไม่เผา ห้ไร่ละ 1,000 บาท หรือถ้าเป็นไร่อ้อย ไม่เผา เอาเข้าโรงงานน้ำตาลให้ 120 บาท/ตัน แต่...เมื่อดูความเป็นจริง คือ ไม่มีเงิน เรื่องนี้ชาวนา ชาวไร่ เขาก็รออยู่
...บอกว่าจะมีรถไถกลบให้เช่า ก็ยังไม่มา, จะเอาตอ ซัง ฟางข้าวไปเข้าโรงงานชีวมวล ซึ่งก็เป็นสิ่งที่พูด แต่ไม่ทำสักที
แปลว่า พ.ร.บ.นี้มันจะออกเป็น “มวยล้มต้มคนดู” หรือเปล่า นายสนธิ มองว่า “กลัวจะเป็นอย่างนั้น” (หัวเราะ)...หากอยากเน้นเรื่องฝุ่น ก็ไม่ต้องพูดเรื่องอากาศสะอาด แล้วเอาแผนที่มีอยู่แล้ว มาปฏิบัติทันที และใช้แนวคิดการทำงานจากข้างล่างขึ้นข้างบน
การระบุคำว่า อากาศสะอาด ไม่ชัดเจน จะนำไปสู่การลงโทษได้อย่างไร นายสนธิ ตอบว่า คำว่า ฝุ่นพิษข้ามแดน คำถามคือ ฝุ่นพิษที่ว่าคือตัวไหน คาร์บอนมอนอกไซด์ ไอระเหยสารอินทรีย์ หรือฝุ่นละออง ซึ่งร่างก็มีแค่ระบุว่า PM 2.5
แต่เมื่อถามว่าใน PM 2.5 มันก็มีสารพิษเจือปนได้ “ก็ใช่ไงครับ...ฉะนั้น ก็ควรระบุไปเลยว่าฝุ่นพิษ อะไรที่เป็นพิษที่อยู่ใน PM 2.5 ถือว่ารวมหมด เรียกไปเลยว่า ควบคุมฝุ่นพิษและฝุ่นข้ามแดน เอาให้ชัดไปเลย และควรเน้นแอ็กชันให้มาก ส่วนกรรมการทั้งหลายมีให้น้อย ตัดขั้นตอนไม่จำเป็นออก ลดให้เหลือคณะกรรมการเพียงชุดเดียว ขึ้นกับนายกฯ หรือ ปธน. เวลามีภัยพิบัติก็คือสั่งทันที และสามารถแทรกแซงหน่วยงานอื่นได้เลย สั่งจับได้ทันที
แต่เมื่อมีคณะกรรมการเยอะ คิดว่าอย่างน้อยใช้เวลากว่า 3 เดือน ถึงจะเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง เห็นชื่อคณะกรรมการ กว่าจะเริ่มงานต่างๆ ได้ก็ครึ่งปี
ปีหน้าฝุ่นมา แผนที่จะได้ใช้หรือเปล่า และที่สำคัญ แผนที่ร่างมาหากท้องถิ่นไม่มีส่วนร่วม เดินแผนลำบาก สิ่งที่เห็นด้วย คือ เรื่อง “เขตพื้นที่เฉพาะ” โดยแต่ละพื้นที่ต้องส่งข้อมูลเข้ามา เรียกว่า จากล่างขึ้นบน จากนั้นค่อยมารวมแผนและขับเคลื่อน
“ส่วนตัวมองว่า พ.ร.บ.อากาศสะอาด คือ การหาเสียงของพรรคการเมืองเมื่อมีฝุ่น เขาก็เลยบอกว่าพร้อมจะแก้ไข ว่ามีร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด แต่พอเป็นรัฐบาล ก็จำเป็นต้องมีการยกร่าง เมื่อพิจารณารายละเอียดก็พบว่า มีการนำข้อมูลตาม พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมมาใช้ และความหมายไม่ได้อยู่ที่นโยบายหรือแผน แต่มันอยู่ที่การปฏิบัติจริงต่างหาก คือสิ่งสำคัญ”
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์
อ่านบทความที่น่าสนใจ