อัปเดตนวัตกรรมเกษตรกับ ผอ.สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กับการใช้ AI ในการจัดการ ซึ่งเป็นโอกาสและทางรอดในยุคนี้ พร้อมแนะนำ กลุ่มสตาร์ทอัพที่จะมาช่วยด้านต่างๆ
มีการคาดการณ์ว่า “ปีนี้” จะเป็นปียากลำบากของกลุ่มชาวเกษตรกร (อีกปี) เนื่องจากสภาพฝืดเคืองจากปัญหา “ราคา” สินค้าเกษตรแล้ว อาจจะต้องเจอ “เอลนีโญ” สำหรับประเทศไทย คือ สภาพอากาศร้อนหรือแล้ง...
สิ่งที่ “คาดการณ์” นี้ เป็นการดูข้อมูลสถิติ และทำนายว่าจะเกิดขึ้น แต่...ทุกอย่างนี้ มีปัจจัยและการเปลี่ยนแปลงได้เสมอ ฉะนั้น ในฐานะ “มนุษย์” จึงต้องรู้จักเตรียมพร้อม
รายงานพิเศษในวันจันทร์นี้ (15 มกราคม 2024) ถือว่าเพิ่งผ่านปีใหม่มาแค่ครึ่งเดือน ในวันนี้ “เรา” จึงอยากจะพาทุกท่าน โดยเฉพาะเกษตรกร ไปเตรียมความพร้อมและรับการเปลี่ยนแปลงถึง “นวัตกรรม” ด้านการเกษตร ที่อยากจะให้ทุกคนเรียนรู้และเท่าทัน
นวัตกรรมเกษตร 2024 เมื่อ AI คือทางรอดและโอกาส
...
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้มีโอกาสสนทนากับ “ด็อกเตอร์เติ้ล” หรือ ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โดยช่วงเวลาแห่งการสนทนานั้น ล้วนมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง
ดร.กริชผกา เกริ่นนำว่า การเกษตรเป็นสิ่งที่ประเทศไทยให้ความสำคัญมาก ที่ผ่านมา สำนักงานนวัตกรรมฯ ได้ให้การส่งเสริมสตาร์ทอัพสายเกษตร หรือที่เรียกว่า “AgTech Startup” โดยมีการส่งเสริมให้เกษตรกรเป็นเกษตรอัจฉริยะ หรือ Young Smart Farmer สิ่งที่ทำมา ส่วนมากจะกลายเป็น แอปลิเคชัน หรืออุปกรณ์เครื่องมือ
แต่สิ่งที่จะผลักดันในยุค 2024 นี้ สิ่งที่เน้น คือ การใช้ Data หรือ AI เข้ามาเพิ่มขึ้น และอยากจะผลักดันให้เกษตรกรนำมาใช้ได้จริง
3 แนวทาง ในการใช้ AI ช่วยกำหนดทิศทาง
1. นำเทรนด์นวัตกรรมการเกษตรของโลกมานำเสนอ เพื่อให้เกษตรกรได้เห็นทิศทางของการเปลี่ยนแปลง
2. สนับสนุนความเป็น “ผู้ประกอบการด้านเกษตร” หรือเรียกว่า “AgTech Startup” ซึ่งก็เกิดขึ้นหลากหลาย ตั้งแต่การเพาะปลูก การพัฒนาเมล็ดพันธุ์ รวมไปถึงรูปแบบการขนส่งจากฟาร์มถึงตลาด
3. หาแหล่งเงินทุนสนับสนุน เพื่อให้สตาร์ทอัพเติบโต โดยมีการเชื่อมโยงกับแหล่งเงินทุน เช่น ธ.ก.ส. ขณะเดียวกัน ก็พยายามเชื่อมโยงกับตลาดใหม่ๆ ทั้งในไทยและต่างประเทศ
เทรนด์ที่ต้องจับตา 2024 คือ การใช้ AI มาช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลที่แม่นยำขึ้น ดร.กริชผกา ได้ยกตัวอย่าง...
AbyteSoft AI : การใช้ AI ในการให้อาหารปลาแบบอัตโนมัติ โดยเราใช้ AI คำนวณการให้อาหารปลาในปริมาณที่เหมาะสมที่สุด
Easy Rice : ใช้ AI วิเคราะห์เมล็ดข้าว ว่ามีคุณภาพเป็นอย่างไร
Algaeba : เครื่องนวัตกรรมที่ใช้นับจำนวนสัตว์น้ำ ซึ่งการขายสัตว์น้ำแต่ละชนิด บางชนิดตัวเล็กมาก จะนับได้ยาก แต่เรามีเครื่องเหล่านี้
DURICO : ระบบบริหารจัดการฟาร์มทุเรียน เพื่อประเมินปริมาณและคุณภาพของทุเรียนโดยใช้เทคโนโลยี โดรน เข้ามาช่วยในการเพาะปลูก
ดร.กริชผกา สรุปว่า การใช้ AgTech AI เข้ามาช่วยนั้น แสดงให้เห็นถึงความสำคัญในงานด้านการเกษตร เช่น การใช้ “โดรน” เพื่อเป็นมอนิเตอร์ฟาร์ม หรือการพ่นยา ทำให้การบริหารจัดการฟาร์มได้ดีขึ้น
นอกจากงานข้อมูลบริหารจัดการแล้ว ทางสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ยังให้การส่งเสริมด้านชีวภาพ คือ AgBioTech เราจะเห็นว่า พืช สัตว์ หรือจุลินทรีย์ มีส่วนสำคัญในการเกษตรมาก โดยเฉพาะสตาร์ทอัพ ที่คิดค้นนวัตกรรมชีวภาพในการแก้ปัญหาโรคระบาดที่เกี่ยวพืช หรือการใช้โมเลกุล ในการยืดอายุในการเก็บรักษาสินค้าเกษตร
...
ผอ.สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ เน้นย้ำว่า หากเราใช้ AI อย่างคุ้มค่า เราจะสามารถคำนวณต้นทุน เวลา และได้ผลตอบรับอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด หรือแม้แต่รู้ถึงความต้องการของผู้บริโภค และเวลานี้ หลายๆ ธุรกิจนั้นเอามาใช้กันแล้ว โดยเฉพาะภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม เพราะต้องการรู้ “เทรนด์ผู้บริโภค”
“ในอนาคต เราจะสามารถรู้ได้ว่า “เทรนด์สินค้าเกษตร” จะเป็นแบบไหน ผู้บริโภคต้องการอะไร เพียงเท่านี้ เราจะรู้ถึง Supply Chain ใน Value Chain ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ มันจะทำให้สินค้าของเรามีประสิทธิภาพมากขึ้น”
การเข้าถึงเทคโนโลยี กับราคาที่ต้องจ่าย แพงไหม ไหวไหม?
ทีมข่าวสะท้อนปัญหาว่า การเข้าถึงเทคโนโลยีต่างๆ อาจมีราคาสูง และเกษตรกรจำนวนมากเข้าไม่ถึง ประเด็นนี้มีแนวทางแก้ไขอย่างไร ดร.กริชผกา อธิบายว่า ปัจจุบันมีสตาร์ทอัพหลายแห่ง ที่พร้อมให้บริการโดรน ดังนั้น สิ่งที่เกษตรกรต้องลงไม่ใช่การซื้อโดรน แต่คือการใช้บริการเหล่านี้ เช่น การใช้โดรนพ่นยา จำเป็นต้องใช้กี่ครั้งต่อปีในช่วงไหนบ้าง...
...
“เมื่อเป็นเช่นนี้ เกษตรกรก็ไม่จำเป็นต้องลงทุนราคาแพง ไม่ต้องฝึกขับโดรน (ไม่ง่าย) ดังนั้น การแก้ปัญหานี้ ทางกลุ่มสตาร์ทอัพด้านนี้ที่เกิดขึ้น จึงสามารถใช้บริการในการแก้ปัญหาได้..”
เมื่อถามว่า ความเป็นจริง เกษตรกรเหล่านี้เข้าถึงเทคโนโลยีแค่ไหน...ปัญหาอุปสรรคคืออะไร ผอ.สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ให้ข้อมูลว่า ตอนที่เราทำโครงการ AgTech Connext เกษตรกรจำนวนหนึ่งเริ่มเข้าใจและปรับตัว อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราทำได้ คือ การนำเสนอเป็นข้อมูล หากมีหน่วยงานใดสนใจ ไม่ว่ากระทรวง ทบวง กรม สามารถเอาไปขยายต่อหรือเชื่อมโยงได้
“สิ่งที่เห็นชัด คือ ครอบครัวเกษตรกร ที่มีลูกหลาน เรียกว่า Young Smart Farmer การรับรู้และนำไปใช้ ง่ายขึ้นมาก แต่ความจริงคือเราก็มีจำนวนมากที่เป็นเกษตรกรรุ่นเก่าที่เข้าไม่ถึง จะทำอย่างไรให้เข้าถึงได้ คำตอบของเรื่องนี้คือ “ผู้นำชุมชน” หากมีคนเหล่านี้ช่วย หรือวิสาหกิจชุมชนที่เข้มแข็ง จะช่วยนำนวัตกรรมเหล่านี้ไปใช้ได้ ถือเป็นการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งอีกทางหนึ่งด้วย”
ดร.กริชผกา ยกตัวอย่างว่า มีบางพื้นที่มาขอทุนและนวัตกรรมความรู้ไปใช้ คือ ทำอย่างไร จะนำน้ำไปใช้บนภูเขาได้ ซึ่งเมื่อเราทำให้ได้แล้ว เราก็อยากจะแบ่งปันเพื่อนำไปใช้กับพื้นที่อื่นได้ด้วย โดยอาจจะต้องประสานงานกับหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งนวัตกรรมในมือเรามี เพียงแต่เราต้องการหน่วยงานอื่นๆ มาช่วยขยายผล...
“เราพยายามคุยกับทุกหน่วยงาน ทั้งเกษตร รวมถึง อปท.ทั่วประเทศ เราคิดจะนำเสนอไปยังมหาดไทย เพื่อให้เอานวัตกรรมเราไปใช้
...
ปีแห่งสภาพอากาศเลวร้าย ร้อนและแล้ง นวัตกรรมใดช่วยได้
ดร.กริชผกา กล่าวว่า ปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ถือเป็นเรื่องที่รุนแรง สิ่งที่นวัตกรรมจะช่วยได้ คือ วิธีการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ เพราะหากเจอสภาพแล้งจริงๆ เราจะมีปริมาณน้ำน้อยลง คำถามคือ จะใช้นวัตกรรมใดช่วยได้...คำตอบคือ เรามีนวัตกรรมกับประเด็นการจัดการน้ำเยอะมาก อาทิ
1. เราใช้ระบบ IoT (Internet of Things) หรือเกษตรอัจฉริยะ ตรวจสอบข้อมูลแบบเรียลไทม์ ด้วยการคำนวณการใช้น้ำให้กับพืชแต่ละชนิด เราจะต้องไม่ให้น้ำแบบเสียเปล่า ในช่วงเวลาที่ขาดแคลนน้ำ
2. หาอุปกรณ์เสริมมาใช้ในลักษณะ “โรงเรือน” แบบปิด เช่น กรีนเฮาส์ หรือกรีนรูม ที่ผ่านมา เราพยายามผลักดันให้อุปกรณ์เหล่านี้มีราคาที่ถูกลง เพื่อให้เกษตรกรนำมาใช้ได้ และเมื่อเราปลูกพืชแบบใช้โรงเรือน เราจะสามารถควบคุมทุกอย่างได้ ซึ่งนอกจากจะควบคุมค่าใช้จ่ายได้แล้ว ยังสามารถป้องกันศัตรูพืช ลดความเสียหายได้ด้วย เรียกว่าทำเป็นโรงงานการผลิตพืชเลยก็ว่าได้
“แม้ที่ผ่านมา ต้นทุนเหล่านี้จะยังมีราคาสูงอยู่ เราพยายามหานวัตกรรมมาแก้ปัญหาเพื่อให้ราคาจับต้องได้ เพื่อเกษตรกรไทยทุกคนมาใช้ประโยชน์มากขึ้น”
ทางรอดเกษตรไทย กับการแก้ปัญหาแบบบูรณาการ
ดร.กริชผกา กล่าวว่า ปัจจุบันเราใช้เงินแก้ปัญหาที่ปลายทาง คือ การอุดหนุนช่วยเหลือสินค้าเกษตร แต่ในมุมกลับกัน หากเรานำเงินตรงนี้มาใช้ สร้างรูปแบบในการแก้ปัญหา เช่น เรารู้ว่าภัยแล้งเกิดขึ้นแน่ เราแก้ปัญหานี้ด้วยการสร้างระบบจัดการน้ำที่ดี แค่นี้มันก็ขยายผลได้ แทนที่จะเอาเงินมาชดเชย แต่เอามาใช้ในการสร้างสรรค์ ส่งเสริมในสายผลิตเกษตรที่มีคุณภาพมากขึ้น
ทำไมเราเห็นเกษตรกรในญี่ปุ่น มีคุณภาพชีวิตดีมาก...แล้วเกษตรกรไทยล่ะ เมื่อไรจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี นี่คือคำตอบว่า ทำไมการชดเชยสินค้าเกษตรต้องน้อยลง แต่เราต้องสนับสนุนเขาให้ประสบความสำเร็จ เราก็ไม่จำเป็นต้องเสียเงินชดเชย...
“ส่วนตัวเชื่อว่า เกษตรกรไทยยังมีโอกาสที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีแบบญี่ปุ่น เพราะเห็นรัฐบาลกำลังมีแผนยกระดับเกษตรกรไทยอยู่ ซึ่งการจะทำเรื่องเหล่านี้ เราต้องยกตัวอย่าง “เคสที่ประสบความสำเร็จ” เพื่อให้เห็นทิศทางที่ต้องเดินว่าจะไปทิศทางใด โดยอาจจะเริ่มที่กลุ่มเกษตรอย่างใดอย่างหนึ่งก่อนก็ได้ โดยนำนวัตกรรมที่มีเหล่านี้ไปใช้ ขณะที่บริษัทสตาร์ทอัพที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีเกษตรนั้นเราก็มีเยอะมาก สิ่งที่ขาดอย่างเดียว คือ การนำไปใช้ประโยชน์ และการส่งเสริมจากหน่วยงาน”
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านบทความที่น่าสนใจ