มองประเด็นดราม่า 'เบียร์ เดอะวอยซ์' คนไทยชอบเรื่องบันเทิง สื่อเล่นกับกระแสไม่ใช่เรื่องผิด แต่ต้องมีจรรยาบรรณ แนะประชาชน ไตร่ตรองก่อนแสดงความคิดเห็น เพราะอาจละเมิดสิทธิคนอื่น...

ช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา เรื่องราวของ 'เบียร์ เดอะวอยซ์' กลายเป็นกระแสดราม่า และประเด็นระดับประเทศ ที่เข้มข้นข้ามวันข้ามคืน จนขึ้นเทรนด์โซเชียลทุกแพลตฟอร์ม แทบทุกสื่อจะต้องนำเสนอเรื่องนี้ ทำคนไทยตากลายเป็นหมีแพนด้า เพราะนั่งจ้องจอตามข่าวแบบ 'เรียลไทม์'

แต่เคยสงสัยกันไหมว่า ทำไมเมื่อมีประเด็นลักษณะนี้ คนจำนวนมากจึงให้ความสนใจ และสื่อก็ต้องทำเสนอกันโครมคราม?

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะพาผู้อ่านทุกท่าน ไปคลายความสงสัยเบื้องต้น ผ่านการสนทนากับ 'ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์' จิตแพทย์เด็ก-วัยรุ่น และโฆษกกรมสุขภาพจิต เรามาดูกันว่า เหตุผลจากการวิเคราะห์เรื่องนี้เป็นอย่างไร?

...

คนไทยชอบเรื่อง 'บันเทิง'  :

นพ.วรตม์ แสดงความคิดเห็นว่า คนไทยชอบเรื่อง 'บันเทิง' ลองสังเกตดูว่า เรื่องราวใดก็ตามที่ไม่มีอารมณ์มาเกี่ยวข้อง จะไปได้ไม่ไกล ไม่ดัง หรือไม่มีกระแส แต่ถ้าเรื่องราวไหนมีสีสัน มีตัวละครหลากหลาย คนจะเริ่มติดตามมากขึ้น จนกลายเป็นที่พูดถึงในวงกว้าง

ถ้าเป็นเรื่องคนทั่วไป คนก็อาจจะไม่สนใจขนาดนี้ แต่เรื่องนี้เกิดขึ้นกับคนมีชื่อเสียง บุคคลสาธารณะ ซึ่งคนเรามักจะวาดภาพไว้ว่าคนกลุ่มนี้ ต้องมีชีวิตที่ 'สวยหรู' สมบูรณ์แบบ เป็นอย่างที่เราต้องการ เป็นตัวอย่างของสังคม ดังนั้น เมื่อเกิดเรื่องที่คนมองว่า การกระทำนั้นอยู่ 'นอกบรรทัดฐานสังคม' คนก็จะให้ความสนใจ 

นอกจากนั้น เรื่องนี้ยังมีตัวละครอื่นมาเกี่ยวข้อง และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ก็เข้าไปเกี่ยวข้องกับ 'ศีลธรรม' ความรัก ความโกรธ ความเกลียด อารมณ์ต่างๆ ของมนุษย์ ด้วย จึงทำให้คนติดตามมากขึ้น 

"พอมีเรื่องศีลธรรมและอารมณ์เกี่ยวข้อง ทำให้คนรู้สึกเข้าถึงอารมณ์ในใจได้มากกว่าเดิม พวกเขามองว่าเป็นส่วนหนึ่ง ที่สามารถเชื่อมต่อกับชีวิตได้ อีกทั้งบางคนอาจจะมีประสบการณ์ร่วมกับเรื่องเหล่านี้ หรือมีคนใกล้ตัวเคยเจอเหตุการณ์ลักษณะนี้ ก็เลยทำให้รู้สึกว่า 'น่าสนใจ' มากขึ้น"

โฆษกกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า เรื่องลักษณะนี้มักคุยไม่จบในครั้งเดียว จะมีตอนต่อไปเรื่อยๆ ทำให้คนเลือกติดตาม จนกว่าจะได้พบกับตอนจบ

แรงกดดันทางสังคม (Social pressure) : 

จากเหตุการณ์นี้ นพ.วรตม์ มองว่าเป็น 'จิตวิทยาสังคม' รูปแบบหนึ่ง อะไรก็ตามที่คนจำนวนหนึ่งสนใจ คนอีกกลุ่มก็จะเริ่มสนใจ พวกเขา 'ไม่อยากตกกระแส' เนื่องจากจะทำให้คุยกับคนอื่นไม่รู้เรื่อง

"การกระทำลักษณะนี้ ผมมองว่ามันเป็น Social pressure หรือ แรงกดดันทางสังคม ถ้าคุณไม่รู้ คุณจะดูแปลก พอรู้สึกแปลก ก็จะรู้สึกแตกแยก จนทำให้เราต้องสนใจ เมื่อคนรู้สึกแบบนี้มากขึ้น ข่าวจึงถูกส่งต่อไปเรื่อยๆ"

...

'สื่อ' และ 'โซเชียลมีเดีย' มีผลทำให้เกิดกระแส : 

เมื่อถามว่า 'สื่อ' มีผลกับเรื่องนี้มากเพียงใด?

โฆษกกรมสุขภาพจิต มองว่า 'สื่อ' มีผลทำให้คนสนใจมากขึ้นแน่นอน เพราะช่วงแรกข่าวอาจจะยังไม่ดังมากนัก แต่เมื่อสื่อหนึ่งเริ่มเล่นข่าว แล้วคนให้ความสนใจ ก็จะถูกส่งต่อกันเป็นทอดๆ จนทำให้เกิด 'กระแส' ขึ้นมา จนกลายเป็นว่าข่าวนั้นๆ ครอบครองพื้นที่สื่อไปในที่สุด

"โลกปัจจุบัน โซเชียลมีเดีย หรือสื่อออนไลน์ ก็เข้ามามีบทบาทมากขึ้นด้วย ทุกคนสามารถเป็นสื่อได้ ผู้ผลิตเนื้อหาจึงมากขึ้น ทำให้บางครั้งการนำเสนอข้อมูล ผ่านการคัดกรองเนื้อหาน้อย หรือไม่ผ่านการคัดกรองเลย จนอาจจะทำให้ผู้รับสารได้รับข้อมูลที่ผิดเพี้ยนจากเดิม"

สื่อสามารถเล่นกับกระแสได้ แต่ต้องระวัง : 

เมื่อมีกระแสข่าวลักษณะนี้ การที่สื่อเล่นกับกระแส เป็นเรื่องผิดหรือไม่ เพราะบางคนอาจจะมองว่า นี่ไม่ใช่ประเด็นที่สร้างสรรค์ หรือจรรโลงสังคมสักเท่าไร?

นพ.วรตม์ กล่าวว่า การที่สื่อจะวางตัวอย่างไรนั้น ผมมองว่าเรื่องนี้มีบทเรียนมาหลายครั้งแล้ว ในความเป็นจริงแล้ว เข้าใจได้ว่าสื่อต้องเล่นกับกระแสสังคม ไม่ใช่เรื่องที่ผิดอะไร เพราะต้องอาศัยผู้อ่าน ผู้ฟัง ผู้ดู และเป็นเรื่องของโลกธุรกิจด้วย แต่ถ้าสื่อจะนำเสนอ ก็อยากจะแนะนำว่า ต้องมีความรับผิดชอบและจรรยาบรรณ 

...

"ผมว่าเป็นเรื่องปกติ ที่สื่อต้องเล่นกับกระแส จะให้สื่อตีข่าวทุกอย่างเป็นแนวทางสารคดีทั้งหมดก็คงเป็นเรื่องที่ยาก หรืออาจเป็นไปไม่ได้ แต่ทุกครั้งที่นำเสนอข่าว สื่อก็ต้องตระหนักเสมอว่าใครได้รับผลกระทบจากเรื่องนั้น ต้องไม่ใช้อารมณ์ส่วนตัวเข้าร่วม เพราะสารอาจจะผิดเพี้ยน หรือเกิดผลลัพธ์ที่ไม่ดี จนทำให้ผู้อื่นเสียหาย และต้องระมัดระวังการส่งต่อข้อมูลหลายทอดด้วย"

...

แล้วหากสื่อยังต้องการเล่นกับกระแส สื่อควรจะวางตัวอย่างไร?

นพ.วรตม์ แนะนำว่า ต้องระมัดระวังการละเมิดสิทธิของคนที่เกี่ยวข้องในเรื่องนั้น ตรวจสอบข้อมูลให้ชัดเจนก่อนนำเสนอ 

"ถ้าเกิดเรื่องไหนมีแง่มุมอื่นๆ ที่น่าสนใจ หรือสามารถสร้างมุมมอง องค์ความรู้เพิ่มเติมที่เป็นประโยชน์ให้ประชาชนได้ ก็ควรจะนำเสนอไปด้วย ไม่อยากให้สื่อสารเรื่องราวที่ดราม่า หรือกระตุ้นอารมณ์ เช่น การด่าทอ ต่อว่าอย่างรุนแรง เพราะนั่นไม่ใช่สิ่งที่ดี และยังเป็นสิ่งที่นำไปสู่การละเมิดสิทธิคนอื่นด้วย ต้องระวัง"

โฆษกกรมสุขภาพจิต ฝากถึงประชาชนทุกคนว่า คนที่เข้าไปแสดงความคิดเห็น อยากให้ระมัดระวังตัวกันด้วย อาจจะต้องไตร่ตรองสักนิด ก่อนพิมพ์อะไรลงบนโลกออนไลน์ 

"อยากให้ระวังเรื่องกฎหมาย เพราะกฎหมายมีข้อจำกัดไม่ให้เราไปละเมิดสิทธิใคร นอกจากนั้น อย่าเอาตัวเองไปเสพข่าวดราม่าเยอะเกินไป เพราะจะทำให้ตัวเองเป็นคนที่มีความเครียดมากขึ้นด้วย"


อ่านบทความที่น่าสนใจ :