ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว อธิบายสาเหตุที่ประเทศญี่ปุ่นเจอแผ่นดินไหวใหญ่ และบ่อยครั้ง เปรียบเทียบการแจ้งเตือน แนะแผนอพยพแบบใหม่ ...
เราทราบกันดีอยู่แล้วว่า ประเทศญี่ปุ่น เป็นชาติที่ต้องรับมือกับ “แผ่นดินไหว” อยู่บ่อยครั้ง และในอดีตก็เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ อย่างต่อเนื่อง...
แต่ก็ไม่มีใครคาดคิดว่า “ญี่ปุ่น” ต้องเจอกับแผ่นดินไหวครั้งรุนแรง ขนาด 7.6 ในวันเฉลิมฉลองปีใหม่ 1 มกราคม 2567 และอาฟเตอร์ช็อกตามมาอีกหลายระลอก
เหตุครั้งนี้ ล่าสุดพบว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 64 ศพ (อัปเดตข้อมูล 3 ม.ค.) โดยเมืองที่เสียหายส่วนมากจะอยู่ที่ วาจิมะ, ซูซุ และเมืองโนโตะ
ทำไม “ญี่ปุ่น” ถึงเจอแผ่นดินไหวใหญ่ และบ่อยครั้ง
ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย อาจารย์สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) และผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว อธิบายว่า การจะเกิดแผ่นดินไหว ต้องเริ่มต้นด้วยการ “มีแหล่งกำเนิด” ของแผ่นดินไหว สำหรับแผ่นดินไหวใหญ่ๆ จะเกิดขึ้นจากแผ่น “รอยต่อ” ของเปลือกโลก ส่วนแนวที่จะเกิดแผ่นดินไหวในระดับรองลงมาก็คือ “รอยร้าว” ภายในแผ่นเปลือกโลก ซึ่งภาษาทางการก็คือ “รอยเลื่อน” แต่ปัจจัยหลักจริงๆ ทำให้เกิดแผ่นดินไหวก็คือตัวแผ่นรอยต่อเปลือกโลก
...
สาเหตุที่ประเทศญี่ปุ่นต้องเจอกับแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง เพราะจุดที่ตั้งข้องประเทศ อยู่ระหว่าง “แผ่นเปลือกโลก” 4 แผ่นที่มาชน งัด และมุดกันไปมา และโซนดังกล่าวก็มี “รอยต่อ” ระหว่างแผ่นเปลือกโลกมากมาย และยังมี “รอยร้าว” ภายในแผ่นเปลือกโลกเป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้ประเทศญี่ปุ่นจึงกลายเป็นประเทศที่มีแผ่นดินไหวมากที่สุดในโลกประเทศหนึ่งพอๆ กับ ชิลี ตุรกี ในแถบบ้านเราก็คือ อินโดนีเซีย
“แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 2011 ครั้งนั้นทำให้เกิดคลื่นสึนามิ ซึ่งสูงเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยหลายพื้นที่เจอคลื่นสึนามิเกิน 10 เมตร ในขณะที่บางพื้นที่เจอคลื่น 15 เมตร หรือมากกว่า ทำให้ทะเลท่วมไปไกลกว่าที่คาดการณ์ไว้ เรียกว่าคลื่นสูงกว่า “กำแพงกันคลื่น” แม้แต่ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ก็ได้รับผลกระทบ ทำให้ระบบ “หล่อเย็น” มีปัญหา จึงทำให้เกิดการ “หลอมละลาย”
สำหรับ แผ่นดินไหวครั้งล่าสุด ขนาด 7.6 หากมองในมุมแผ่นดินไหว ถือว่าสเกลใหญ่ แต่ถ้าเป็นมุมของคลื่นสึนามินั้น ถือว่าไม่มาก
การจะเกิดคลื่นสึนามิขนาดใหญ่ จะต้องเกิดแผ่นดินไหวขนาด 8 ขึ้นไป หากดูตัวเลขขนาด 7.6 กับ 8 นั้น มีความใกล้เคียงกัน ในมุมภัยพิบัติ “แผ่นดินไหว” ถือว่าต่างกันเยอะ
เพื่อความเข้าใจในมุมนี้ อาจารย์เป็นหนึ่งได้ยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่า หากเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7 กับขนาด 8 แมกนิจูด พลังงานของแผ่นดินไหวแตกต่างกัน 33 เท่า ขนาด 8 กับ 9 ต่างกัน 33 เท่า แต่เมื่อเทียบ 7 กับ 9 แตกต่างกัน 1,000 เท่า!
“การเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.6 นั้น คาดการณ์ว่ามาจาก “รอยเลื่อน” และมีแนวยาวนับ 100 กม. ซึ่งจุดศูนย์กลางอยู่ใกล้ๆ “แหลมโนโตะ” ส่งผลให้หลายเมืองในพื้นที่ใกล้เคียงได้รับผลกระทบ ส่วนแนวเขย่านั้น อาจจะยาวไปนับ 100 กิโลเมตร หรือมากกว่า
แปลว่า ส่วนอื่นๆ ในแนวนี้มีการพาดยาวลงไปในทะเล และเชื่อว่าทำให้เกิดการ “ยกตัว” ของพื้นทะเลในบางส่วน กระตุ้นทำให้เกิดคลื่นสึนามิ และเนื่องจากจุดดังกล่าวอยู่ใกล้ชายฝั่งมาก ทำให้คลื่นพุ่งเข้าหาเมืองภายใน 10 กว่านาทีเท่านั้น
...
มหันตภัยญี่ปุ่น กับโอกาสเกิด สึนามิ ของไทยในฝั่ง “อันดามัน”
อาจารย์เป็นหนึ่ง ยอมรับว่า ระบบเตือนภัยสึนามิของญี่ปุ่นดีมาก เพราะเขาสามารถแจ้งเตือนได้ทันที ส่งแจ้งเตือนไปที่โทรศัพท์มือถือชาวบ้านในพื้นที่ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เขาสูญเสียไม่มาก อีกทั้งคลื่นที่เข้ามา “เบา” กว่าที่คาด ทีแรกประเมินว่าอาจจะสูง 3-5 เมตร แต่มาจริงแค่เมตรกว่าๆ จึงถือว่าเป็นความโชคดี
ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว เผยว่า ตอนที่ไทยเจอสึนามิ เมื่อปี 2547 ภูเก็ตเจอคลื่นสูง 5-6 เมตร ส่วนพังงา เขาหลัก คือ มากกว่า 10 เมตร ถึงวันนี้ผ่านมาเกือบ 20 ปีแล้ว โดยเฉพาะพื่นที่ที่เจอหนักๆ อย่าง “เขาหลัก” เวลานี้มีคนกลับเข้ามาสร้างโรงแรมเยอะกว่าเดิมหลายเท่าตัว
ความจริงในทะเล “อันดามัน” ของประเทศไทย ยังมีโอกาสเกิดแผ่นดินไหว และคลื่นสึนามิอยู่ เพราะที่ผ่านมา มันยังไม่เกิดแผ่นดินไหว แปลว่า มันกำลังสะสมพลังงานอยู่ คราวที่แล้วในปี 2547 มันยังไม่ระเบิดทั้งแนว ดังนั้น จึงไม่แน่ใจว่าจะเกิดขึ้นได้ในอีก 10 ปี หรือ 100 ปี
ขณะที่ฝั่ง “อ่าวไทย” ไม่น่ามีความเสี่ยง และยังไม่มีนัยสำคัญ
ส่วนกรณี “แผ่นดินไหว” เรามีแผนที่รอยเลื่อนที่ภาคเหนือ และตะวันตก เช่น กาญจนบุรี ซึ่งถือเป็นพื้นที่มีความเสี่ยงสูงกว่าพื้นที่อื่น โดยเฉพาะภาคเหนือ มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวได้เกือบทุกจังหวัด เหมือนที่เคยเกิดขึ้นที่เชียงราย ซึ่งโอกาสเกิดแรงที่สุด คือ 6.8-7.2 โดยเฉพาะในพื้นที่รอยเลื่อน
...
เตือนภัยสึนามิระหว่าง “ไทย” กับ “ญี่ปุ่น”
ขณะที่ระบบแจ้งเตือนของเราจะใช้เวลา 15-30 นาที ถึงจะเริ่มแจ้งเตือนได้ สาเหตุที่ล่าช้ากว่าของญี่ปุ่น เนื่องจากของไทยมีระบบและขั้นตอน ประกอบด้วย การรับคลื่นสัญญาณ ประเมินขนาด ให้ผู้เกี่ยวข้องพิจารณาสถานการณ์ เปรียบเทียบต่างๆ แต่ของญี่ปุ่น คือ กึ่งอัตโนมัติ
เพราะบางกรณีที่เกิดขึ้นของญี่ปุ่น เขาต้องเลือกใช้แบบอัตโนมัติ เพราะเวลาเกิดคลื่นสึนามิของเขากระชั้นชิดกว่า ส่วนของไทย เมื่อเปรียบเทียบกับจุดที่เกิดเหตุ มีการคาดการณ์ว่ากว่าคลื่นจะมาถึง เรามีเวลา 2 ชั่วโมง โดยรวมกระบวนการแจ้งเตือน ประมาณ 30-40 นาที แปลว่า เราจะมีเวลาอพยพราวชั่วโมงกว่าๆ
ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว มองว่า เวลาชั่วโมงกว่าๆ ในการอพยพหนีสึนามิของไทย บางพื้นที่อาจจะหนีทัน แต่บางพื้นที่อาจจะไม่ทัน เพราะอย่าลืมว่าการอพยพนั้น ไม่ได้มีแค่คนที่แข็งแรง แต่ยังมีเด็ก คนแก่ และคนป่วยด้วย ที่สำคัญคือการซ้อมของเราไม่เหมือนจริง โดยให้คนไปรวมตัวกันที่ชายหาด พอส่งสัญญาณเตือนภัย แล้วทยอยเดินไปที่อาคารอพยพในที่สุด
...
“บางพื้นที่เคยเจอสึนามิ คลื่นซัดไป 1-2 กม. ทำให้มีการซ้อมเดินไกลหน่อย แต่ความเป็นจริง คนอาจจะไม่ได้ทำแบบนั้น คนจะเลือกใช้รถ ขี่ จยย. ขับรถ ซึ่งอาจทำให้เกิดรถติดบนถนน ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้น และหากเตือนภัยจริงๆ คนจะไม่อพยพทันที แต่จะเลือกกลับบ้านหรือที่พักก่อน เพื่อหาครอบครัว หรือเก็บของมีค่า ยังไม่รวมกรณีไม่รู้เส้นทาง หรือป้ายนำทางที่เคยทำไว้เสื่อมสภาพ” อาจารย์เป็นหนึ่ง กล่าว และว่า
การอพยพ จำเป็นต้องเตรียมพร้อมให้ดีกว่านี้ โดยเฉพาะคนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ โดยเวลานี้ที่ญี่ปุ่นได้มีมาตรการใหม่ที่เราสามารถเรียนรู้จากเขาได้ คือ ใช้อาคารสูงที่แข็งแรงในพื้นที่ เพื่อเป็นสถานที่อพยพ เราเรียกวิธีการนี้ว่า การอพยพแนวดิ่ง แทนที่จะวิ่งแนวราบ ยกตัวอย่างในพื้นที่เสี่ยงอย่างพังงา พบว่า มีอาคารลักษณะนี้ที่เป็นพื้นที่ราชการเพียง 4 หลัง ซึ่งไม่สามารถรองรับคนในพื้นที่ แต่ก็มีโรงแรมสูง 5 ชั้น ขึ้นไปที่มีสภาพแข็งแรงอยู่เยอะ แต่ที่ผ่านมายังไม่มีการขอความร่วมมือในการแปรสภาพรับ เป็นอาคารอพยพ หากมีการดำเนินการประสานงาน ก็จะช่วยให้โอกาสรอดของประชาชนมากขึ้น
“เนื่องจากมีคนจำนวนมากมายที่ไม่สามารถหนี หรืออพยพได้เร็ว การใช้แผนนี้จึงถือว่าเป็นทางรอดทางหนึ่ง...” อาจารย์เป็นหนึ่งฝากไว้
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านบทความที่น่าสนใจ