เรื่องราวแห่งแรงบันดาลใจ จากคนพิการที่มุ่งพิสูจน์ตัวเองว่า "ทำได้" ชีวิตของนักสู้ ฝ่าฟันท่ามกลางโลกไร้สีสัน ในวันที่ตามองไม่เห็น...

สวัสดีปีใหม่ 2567 เวลายังคงเดินต่อไปอย่างไม่หยุดนิ่ง แม้ปีที่ผ่านมาอาจจะรู้สึกหมดหวัง ท้อแท้ และไร้พลัง หรือไม่ได้ทำตามที่หวัง แต่ปีนี้ยังไม่สายที่จะลองทำอีกครั้ง

หากใครเคยได้อ่านสกู๊ป เปลี่ยนสงสารเป็นโอกาส วิธีมอบอาชีพให้คนพิการ สู่ความยั่งยืน จะพบเรื่องราวบางส่วนของ 'ป้าป้อม' ที่เล่าไว้เล็กๆ ว่าชีวิตเธอพลิกผัน สูญเสียการมองเห็น จนเกือบจะคิดสั้นลาโลก 

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ต่อสายตรงหา 'ป้าป้อม เยาวลักษณ์' ให้มาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ ขยายเรื่องราวของเธอให้มากขึ้น เพื่อส่งต่อพลังใจให้ทุกคน ไม่ยอมแพ้ หรือย่อท้อต่ออุปสรรค และเป็นเรื่องราวดีๆ ต้อนรับปีใหม่ 2567

จากนี้คือชีวิตจริงของ 'คนตาบอด' ที่เลือก 'ลงมือทำ' และสู้กับทุกสิ่ง แม้โลกใจร้ายพรากการมองเห็นของเธอไป…

...

สูญเสียการมองเห็น และการใช้ชีวิตช่วงแรก: 

เป็นเวลากว่า 10 ปี ที่ชีวิตของ 'ป้าป้อม' ต้องสูญเสียการมองเห็น ดวงตาที่เคยเป็นประกาย กลับต้องมืดดับลง ช่วงชีวิตที่เคยสดใส ต้องสูญเสียไปพร้อมสายตา

ป้าป้อม เล่าย้อนอดีตให้ทีมข่าวฯ ฟังว่า ก่อนที่จะมองไม่เห็นไม่รู้ว่าเป็นอะไร แค่รู้สึกว่าการมองเห็น 'เริ่มลดลง' ความคิด การอ่าน ทุกอย่างช้าลงหมด รวมถึงการเคลื่อนไหวก็ไม่คล่องแคล่ว และหลังจากเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง เธอก็เริ่มสูญเสียการมองเห็น จากที่เห็นภาพขาวจางๆ วันหนึ่งก็มืดบอดสนิท

"หลังจากมองไม่เห็นแล้ว ช่วงแรกเราทำอะไรเองไม่ได้ กลับมาบ้าน คนที่บ้านก็บอกว่าไม่ต้องไปฝึก ไม่ต้องทำอะไร ไม่ต้องทำกายภาพ เขาเลี้ยงได้"

ป้าป้อม เล่าต่อว่า แรกๆ คนในบ้านจะเอาอาหารมาวางไว้ให้ ส่วนอย่างอื่นลูกสาวคนเล็กจะมาทำให้ ทำทุกอย่างที่เตียง ช่วงนั้นใช้ชีวิตแบบ 'หมดอาลัยตายอยาก' บางครั้งลูกมาเห็นเราเขาก็ร้องไห้ 

'สงสารลูกสาว' จุดเปลี่ยน และจุดยืนของชีวิต : 

ป้าป้อม เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว มีลูกสาว 2 คน คนโตย้ายไปอยู่ข้างนอก ส่วนคนเล็กอายุ 13 (ในขณะนั้น) อยู่กับเธอที่บ้าน  

ป้าป้อม บอกกับเราว่า "คนเล็กเป็นคนที่สนิทมากที่สุด เขาดูแลเราตลอด ตอนนั้นเขาอายุแค่ 13 ปี และเรายังมีประจำเดือน ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ แต่ลูกสาวคนนี้ทำให้หมด เราคิดว่าลูกคงเหนื่อย เพราะแค่ 13 เอง ไม่ได้ไปเที่ยวเล่นอย่างคนอื่น ต้องมาคอยดูแลแม่"

ป้าป้อม หันมาช่วยเหลือตัวเองมากขึ้น เธอเริ่มคลานไปเข้าห้องน้ำเอง แม้ร่างกายจะชนนู่นบ้างนี่บ้าง และลูกจะพยายามช่วย แต่เธอก็บอกว่า "ไม่เป็นไร ต้องพยายามทำให้ได้"

"เราไม่ยอมแพ้เพราะยังมีลูกสาวคอยอยู่ข้างๆ แม้ว่าเขาจะไม่เคยพูดอะไร แต่ก็รู้สึกได้ว่าเขา 'รัก' เรา เราไม่อยากให้เขาเสียใจ และไม่อยากให้ตัวเองเป็นภาระ จึงพยายามปรับตัวไปเรื่อยๆ ตอนนั้นเหมือนเรากลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง ส่วนลูกสาวกลายเป็นแม่" ป้าป้อม กล่าวติดตลก พร้อมเสียงหัวเราะเล็กๆ ที่ถูกส่งผ่านปลายสาย

ตัดสินใจขอทุนฝึกที่ศิริราช : 

เมื่อยังมีลูกสาว 2 คนคอยหยัดยืนเคียงข้างไม่ห่าง ผู้เป็นแม่คนนี้ตัดสินใจลุกขึ้นอีกครั้งเพื่อต่อสู้กับชีวิตให้ก้าวเดินต่อไปข้างหน้า

...

ป้าป้อม บอกว่า เราเห็นที่ศิริราชสามารถขอทุนฝึกคนพิการได้ จะฝึก 3 เดือน และมีเงินให้วันละ 150 บาท เราจึงขอให้ลูกสาวคนโตมาพาเราไป ลูกก็พาไปด้วยความทุลักทุเลพอสมควร พอช่วงเดือนเมษายน 2555 ก็ได้รับทุนให้ไปฝึก

"ความสะบักสะบอมจากการผ่าตัด และตาบอดใหม่ๆ ทำให้เราเรียนได้ช้ากว่าคนอื่น มีครูคนหนึ่งคอยประกบเราตลอด เขาสอนเราทุกอย่าง ทั้งทำอาหาร รีดผ้า ใช้ไม้เท้า ขึ้นลงลิฟต์ ต้องขอบคุณครูมากจริงๆ ที่เขายอมอดทนกับเรา"

"ช่วงนั้นได้เงิน 150 บาท มีทั้งค่ารถ ค่ากิน ต้องพยายามบริหารให้พอ ระหว่างการฝึก และเดินทางไป-กลับ ก็สร้างวีรกรรมไว้เยอะ เคยตกรถเมล์ ตกทางเท้า ตกท่อน้ำ ชนต้นไม้ เตะกำแพง เหยียบหางหมา มีดเฉือนนิ้ว เข็มทิ่มมือ ทำชามหล่น มีสารพัด ผ่านมาหมดแล้ว"

ป้าป้อม เล่าวีรกรรมตัวเอง พร้อมกับขำไปด้วย ทำให้เราเห็นได้ว่าแม้วันนั้นจะเป็นอดีตที่แย่แค่ไหน แต่เมื่อไรที่วันนี้เรายอมรับชีวิตและตัวเองได้ มันจะกลายเป็นอดีตที่ไม่เจ็บปวดอีกต่อไป

ซ้าย : ป้าป้อม / ขวา : ผึ้ง วันดี
ซ้าย : ป้าป้อม / ขวา : ผึ้ง วันดี

...

เริ่มรู้จัก 'ผึ้ง วันดี' และจุดเปลี่ยนอีกครั้งของชีวิต : 

หลังจากป้าป้อมฝึกเรียบร้อย เธอก็กลับมาอยู่บ้านโดยที่ยังไม่มีงานทำ วันหนึ่งในปี 2561 ป้าป้อม ได้ยินเสียงจากวิทยุว่า สมาคมคนตาบอดที่คุณผึ้งทำแบรนด์อยู่ (ในขณะนั้น) เปิดรับคนพิการเข้าฝึกอบรมอาชีพ จึงติดต่อไป แม้จะดูไปได้สวย แต่ก็ยังไม่ใช่ทางของเธอ

"เขาสอนให้เราทำหลายอย่าง ปักผ้า ทำดอกไม้ แต่เราทำไม่ได้สักอย่าง เพราะไม่ได้เรียนต่อเนื่อง ทุกคนจะต้องออกไปเรียนข้างนอก แต่เราออกไปไม่ได้เพราะต้องดูแลน้อง"

ขอเล่าแทรกไว้ตรงนี้ว่า หลังจากที่สูญเสียคุณแม่ไป ป้าป้อมรับช่วงต่อดูแลน้องชายที่พิการทางสติปัญญาและพูดไม่ได้ เต็มตัวได้ 3 ปีแล้ว เธอบอกว่า ไม่ได้มีพี่น้องคนไหนขอร้องให้ดูแลน้องชาย แต่เลือกเข้าไปหาเอง เพราะคิดว่าตนพิการยังอยากมีคนช่วยดูแล น้องก็คงอยากมีเหมือนกัน

อย่างไรก็ตาม ป้าป้อม ต้องดูแลน้องทั้งวัน ไม่สามารถออกไปไหนได้ จะไปเรียนอาชีพก็ไม่ได้อีก นานวันเข้าความเครียดรุกเข้าถาโถมหญิงตาบอดคนนี้ จนทำให้วันหนึ่งเธอรู้สึกอยากลาโลก และหายไปตลอดกาล

...

เป็นความโชคดีท่ามกลางความคิดอันสับสน 'คุณผึ้ง' ทราบเรื่องนี้เข้า จึงบอกกับป้าป้อมให้ใจเย็นลง เธอจะทำแบรนด์ของตัวเอง และจะมาสอนอาชีพให้ป้าป้อมถึงที่บ้าน ขอให้ป้าป้อมรอเธอก่อน รักษาชีวิตอันมีค่านี้ไว้ 

ทีมข่าวฯ ถามว่า ตอนนั้นที่คุณผึ้งบอกจะมาหา คุณป้ารู้สึกยังไง?

"ตอนนั้นเราก็รู้สึกเฉยๆ เพราะเราเครียดอยู่ และไม่คิดว่าจะมาจริง" ป้าป้อมตอบ

ผลสรุปคือ คุณผึ้งมาที่บ้าน พร้อมหอบของพะรุงพะรังมาเตรียมสอนอาชีพ นั่นจึงเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิต

เริ่มทำงานฝีมือ การก้าวข้ามความยาก ที่ต้องแลกด้วยน้ำตา : 

"เราทำไม่ได้สักที รู้สึกเหนื่อย ยืนร้องไห้ในบ้าน และโทรไปบอกเขาว่า ไม่อยากทำแล้ว" ป้าป้อม เปิดบทสนาทนาช่วงนี้ด้วยประโยคบอกเล่าที่ทรมาน แต่เธอก็ขำอีกแล้ว เพราะมองย้อนกลับไปก็รู้สึกฮาตัวเองเหมือนกัน

ป้าป้อม เล่าว่า การเริ่มเรียนครั้งแรกนั้นยากมาก เขาให้เราถักกระถางต้นไม้ ความรู้สึกตอนนั้นคือ 'โหดจริง ทำไม่ได้แน่ๆ' เพราะถ้าเวลาถัก แล้วต้องวางมือไปทำอย่างอื่น กลับมาเราก็ลืมแล้วว่าถักไปถึงไหน 

คุณผึ้งก็ยังคะยั้นคะยอให้เราทำต่อเรื่อยๆ ชิ้นแรกใช้เวลาหลายเดือน ยืนร้องไห้หน้าราวเชือกที่ถักเพราะทำไม่ได้ ท้อใจซะเหลือเกิน สภาพแวดล้อมก็ไม่ค่อยเอื้ออำนวย เช่น น้องจะเข้าห้องน้ำ เวลากลับมาดูก็จำไม่ได้แล้วว่าต้องทำอะไรต่อ

"ลูกสาวคนเล็กกับคุณผึ้งไปปรึกษากันตอนไหนไม่รู้ ลูกสาวซื้อที่หนีบผ้ามาให้ พอเราทำเสร็จแล้วจะไปไหน ก็เอาไม้นี้หนีบไว้ กลับมาจะได้จำได้ และมันก็ช่วยได้จริงๆ เราสามารถทำงานนี้ได้เสร็จ แม้จะต้องพยายามอยู่นาน"                                                

ความทุกข์ยากผ่านไป จากคนทำไม่เป็นสู่คนพิการฝีมือดีอีกหนึ่งคน "ตอนนี้ป้าป้อมถักได้คล่องมากแล้ว และพยายามเรียนรู้อยู่เรื่อยๆ"

ผลงานของป้าป้อม หลังจากผ่านไปครึ่งปี
ผลงานของป้าป้อม หลังจากผ่านไปครึ่งปี

การถ่ายทอดสู่สมาชิก V Craft และการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างคนพิการ : 

ทุกครั้งที่มีการรวมตัวของสมาชิก V Craft ป้าป้อมจะใช้เทคนิคที่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงมาถ่ายทอดให้คนอื่นๆ นอกจากนั้นเธอยังบอกว่า "คนพิการแต่ละคนจะมีเทคนิคต่างกัน"

"ใน V Craft พวกเรานำสิ่งที่คนอื่นมองว่าเป็น 'ปมด้อย' มาปรับรวมเข้ากันจนสามารถทำงานออกมาได้ เราพยายามคุยกันตลอดเพื่อให้ได้ผลงานที่ดี และสวยงาม 

คนตาบอดจะมีวิธีสื่อสารกันเอง เวลาทำไม่ได้ เราจะถามกันเพื่อช่วยกันหาทางออก ซึ่งเป็นเหมือนความรู้เฉพาะกิจที่พวกเรามีระหว่างกันเอง 

แต่ละคนมีอุปกรณ์เฉพาะด้านที่ต่างกันออกไป ตั้งแต่ด้ามไม้ถูพื้น แปรงสีฟัน ท่อ PVC กิฟต์ดำ กระดาษแข็ง เข็มหมุด ต่างก็เป็นเทคนิคแต่ละคน"

พร้อมเรียนรู้ แม้ยากก็อยากทำ : 

อย่างตอนนี้เราคุยกันป้าป้อม เธอถักกระเป๋าเสร็จไปแล้ว 4 ใบ แต่ยังถักที่ใส่แก้วไม่เสร็จ เพราะไม่ใช่ทางที่ถนัดสักเท่าไร กำลังพยายามเรียนรู้อยู่ จนคุณผึ้งบอกว่าให้คนอื่นทำไหม ป้าตอบว่า "ไม่ค่ะ อยากลองทำค่ะ ช้านิดช้าหน่อย จะทำได้หรือไม่ได้ก็อยากลองทำ"

ป้าป้อม บอกว่า แม้ว่าบางขั้นตอนเราจะทำไม่ได้ แต่ใช่ว่าจะไม่ยอมรับรู้ข้อมูลอะไรเลย เราเลือกที่รู้ทุกขั้นตอน แต่ทำเท่าที่เราทำไหว บางอย่างที่ยาก เราอยากลองทำให้สุดความสามารถ ถ้าจุดหนึ่งทำแล้วไม่ไหวจริงๆ ก็ต้องยอมรับตัวเอง

ผลงานของป้าป้อม หลังจากผ่านไปครึ่งปี
ผลงานของป้าป้อม หลังจากผ่านไปครึ่งปี

การมีงานทำเหมือนได้รับคุณค่าในตัวเองคืนมา : 

ป้าป้อม บอกว่า สำหรับตัวเราแล้วการ 'มีงานทำ' ทำให้เรารู้สึกว่าตัวเอง 'มีคุณค่า' ลูกเราภาคภูมิใจในผลงานของเรา นำชิ้นงานที่เราทำไปให้คนอื่นดู อีกอย่างหนึ่งคือเมื่อก่อนเราจะต้องรบกวนเงินจากลูกหรือพี่น้อง มาใช้ดูแลน้องชาย แต่เมื่อมีรายได้จากตรงนี้เราสามารถดูแลน้องชายได้โดยไม่ต้องรอใคร

"เรานำเงินมาดูแลน้อง เอาเงินเคยได้ครั้งแรกซื้อเสื้อให้น้อง 2 ตัว เป็นรูปแมวการ์ตูน" เธอกล่าวออกมาด้วยน้ำเสียงที่ภูมิใจ

เธอบอกกับเราว่า 'การตาบอด' สอนให้ชีวิตรู้ว่า "แต่ละคนคิดยังไงกับเรา"

ป้าป้อม เปรียบเปรย 'ชีวิต' ของตัวเองเหมือน 'ก้อนหิน' ที่คนมองว่า 'ไร้ค่า' เดินเตะไปเตะมาแบบไม่สนใจไยดี กระทั่งได้เจอกับ ผึ้ง วันดี ที่หยิบหินก้อนนี้ขึ้นมาดู หลังจากผึ้งได้พิจารณาแล้วว่าแม้หินจะไม่สวย มีจุดบิดเบี้ยวบ้าง แต่ถ้านำไปขัดปรับแต่งอย่างถูกวิธี ย่อมดีขึ้นได้อย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม ป้าป้อม ยอมรับกับทีมข่าวฯ ว่า การมองเห็นคุณค่าในตัวเองไม่ได้กลับมาเต็มร้อย เพราะคนพิการส่วนมากก็ยังยอมรับในตัวเองไม่ได้ แต่ถ้ายอมรับไม่ได้เลย เราจะไม่ยอมพัฒนาตัวเอง ดังนั้นเรายอมรับตัวเองได้บ้างแล้วก็ยังเป็นเรื่องที่ดี 

อย่าไปคิด 'พิพากษา' ทำร้ายตัวเอง : 

อย่างที่ทีมข่าวฯ ได้บอกไปว่า 'ป้าป้อมเคยคิดอยากจบชีวิต' ทำให้เราสอบถามด้วยความห่วงใยว่า ตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง?

เธอพูดสิ่งที่ตกตะกอนหลังจากก้าวพ้น 'อัตวินิบาตกรรม' ให้เราฟังว่า…

คนเราชอบที่จะ 'พิพากษา' ตัวเอง ซึ่งความคิดนี้จะเกิดขึ้นเพียง 2 อย่างเท่านั้น

อย่างแรก 'พิพากษา หาข้อแก้ตัว' นี่เป็น 'การประหารตัวเองด้วยความคิด' คนเรามักจะบอกว่าตัวเองทำไม่ได้ หาข้อยกเว้นให้ชีวิตเสมอ ทั้งที่ยังไม่ได้ลองทำ เช่น "ฉันตาบอด ฉันทำอะไรไม่ได้หรอก"

การคิดอย่างนั้นอาจจะไม่ใช่แนวทางที่ดีสักเท่าไร เพราะมันจะทำให้เราไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง เมื่อนานวันเข้าอาจจะนำไปสู่การพิพากษาอย่างที่สองที่เรียกว่า…

'พิพากษา จบชีวิต' เมื่อมนุษย์มองไม่เห็นคุณค่าของตัวเองก็จะใช้ชีวิตไปวันๆ ขั้นหนักสุดคือ 'การประหารตัวเองด้วยการกระทำ' หรือเรียกง่ายๆ ว่า 'ฆ่าตัวตาย'

"ป้าเคยผ่านช่วงชีวิตที่พิพากษาตัวเองมาแล้ว ดีที่ว่าวันนี้ยังมีชีวิตอยู่ ไม่อยากให้ทุกคนรู้สึกแย่กับตัวเอง เราต่างมีคุณค่าเสมอ เราคือเรา เรามีคนเดียวบนโลก เราไม่เหมือนใคร จงภูมิใจในตัวเอง และพร้อมที่จะเรียนรู้อยู่เสมอ"

ผลงานของป้าป้อม หลังจากผ่านไปครึ่งปี
ผลงานของป้าป้อม หลังจากผ่านไปครึ่งปี

ขอบคุณคำว่า 'สงสาร' แต่อย่าลืมคำว่า 'โอกาส' : 

รู้สึกอย่างไรเมื่อมีคนมองด้วยความสงสาร?

"จริงๆ ก็ต้องขอบคุณทุกคนนะ เพราะคำว่า 'สงสาร' จะเกิดขึ้นได้ ย่อมต้องมาจากจิตใจที่ดีงาม แต่อย่างไรก็ตามคนพิการก็อยากได้ 'โอกาส' เช่น ถ้าใครจะซื้อของที่พวกเราทำ ไม่อยากให้ซื้อเพียงเพราะรู้สึกสงสาร แต่อยากให้ได้นำสิ่งของที่พวกเราตั้งใจประดิษฐ์ไปใช้งานได้ในชีวิตจริง"

"สงสาร เวทนา เราไม่อยากได้ขนาดนั้น เพราะการสงสารอย่างเดียว ไม่ทำให้คนพิการพัฒนาชีวิตได้ ให้โอกาสพวกเรา ติชมกันได้ เพราะถ้าไม่ติเลย เราจะไม่รู้ตัวเลยว่าเขาทำอะไรผิด"

ฝากกำลังใจทิ้งท้ายถึงทุกคน : 

ป้าป้อม บอกว่า ตราบใดที่เราคิดทุกอย่างไปในแง่บวก ชีวิตเราจะโอเค ใครจะบ่น หรือด่า พยายามคิดในแง่บวกว่าเพื่อให้เขารู้สึกสบายใจ ส่วนเราได้ทำบุญ และอย่าไปคิดมาก "เอาลมหายใจไปเปลี่ยนเป็นเงินดีกว่า"

สำหรับคนพิการทุกคน "เราขอให้กำลังใจคนพิการ และขอให้กำลังใจผู้ดูแลคนพิการทุกคนอย่าท้อแท้ เพราะมันยังไม่ถึงวันสุดท้ายของชีวิต ตอนนี้ยังมีแรงเหลือ และมีชีวิตที่จะเก็บเกี่ยวประสบการณ์บนโลก แม้ประสบการณ์จะดีบ้าง ร้ายบ้าง ต่างล้วนเป็นสิ่งที่ดีเสมอ ไตร่ตรองชีวิตให้ดีๆ พวกเราทุกคนมีคุณค่า"

สุดท้ายนี้อยากบอกผู้อ่านทุกคนว่า…

"เวลาของชีวิตคนเรามีน้อย ทำวันนี้ให้ดีที่สุด เรากลับไปในอดีตได้ แต่อย่าเอาอดีตมาเป็นอารมณ์ท้อแท้ของชีวิต ทำวันนี้ให้ดีที่สุด เพื่อพรุ่งนี้เราจะได้มีอนาคตที่ดี และพรุ่งนี้จะกลายเป็นอดีตที่ดีสำหรับเรา หากมัวแต่นั่งท้อจนวันนี้ไม่เลือกทำอะไรสักอย่าง พรุ่งนี้ก็จะไม่มีสิ่งดีๆ เข้ามาในชีวิตเรา และเมื่อผ่านไป มันก็จะกลายเป็นอดีตที่เรามองกลับมาแล้วรู้สึกไม่ดี".

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

ภาพ : วันดี สันติวุฒิเมธี

อ่านบทความที่น่าสนใจ :