เปิดแนวคิด อดีตเสี่ยอสังหาฯ 100 ล้าน เจอวิกฤติเศรษฐกิจ ปี 40 จนปิดกิจการ ติดลบ ก่อนผันตัวเป็นเกษตรกร พลิกฟื้นกลับมารวยได้ พัฒนาทำเกษตรอินทรีย์... 

ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ ปี 2540 ถือเป็นช่วงที่ทำให้ชีวิตหลายคนเปลี่ยนไป เพราะต้องตกระกำลำบาก จากคนรวย เคยมีเงินนับพันล้าน กลับต้องมาติดลบ เป็นหนี้หัวโต เป็นคนจนชั่วข้ามคืน หรือ บางคน แม้แต่ชีวิต ก็ไม่เหลือ ซึ่งก็มีให้เห็นในเวลานั้น... 

เฉกเช่นเดียวกับ นายชยพล กลมกล่อม เจ้าของ “สวนผักปากช่อง” ซึ่งเดิมทีเป็น อดีตนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ มูลค่านับร้อยล้าน วันหนึ่งในปี 2540 เขาก็ติดลบ เป็นหนี้ ต้องเริ่มต้นสร้างตัวใหม่ และเขาเลือก การทำเกษตร...

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้พูดคุยกับอดีตนักธุรกิจร้อยล้าน เขาเผยว่า การที่เขาเลือกทำการเกษตร เพราะเห็น “โอกาส” ในการสร้างตัว เพราะ “เกษตร” คือแหล่งอาหาร ไม่ว่าอย่างไร คนก็ต้อง “กิน” 

จากเศรษฐีร้อยล้าน หายพริบตาชั่วข้ามคืน 

...

นายชยพล เล่าว่า เดิมทีทำอาชีพเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ เคยมีเงินหมุนเวียน นับ 100 ล้านบาท กระทั่งมาเจอวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 จำเป็นต้องปิดกิจการ แต่เราได้โอนบ้านให้กับลูกค้าได้ครบทุกหลัง แม้จะต้องขายสินทรัพย์ที่ตัวเองเพื่อสร้างบ้านให้กับลูกค้าก็ตาม 

“เรียกว่าเงิน ทรัพย์สินที่มี เฉียด 100 ล้าน ได้หมดไปกับครั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น รถเบนซ์ ทองคำแท่ง ขายจนหมด จนติดลบ เพราะเรากู้เงินธนาคารมาลงทุน”

นายชยพล บอกว่า เวลานั้นก็เครียด และแย่ จึงหันมาค้าขายแบบเล็กๆ น้อยๆ ไปขายประกันบ้าง เพื่อให้ชีวิตอยู่รอด กระทั่ง คิดว่า เราเองต้องหันมาทำเกษตร เพราะยังไง คนก็ต้องกิน วันนี้กิน พรุ่งนี้ก็ต้องกินอีก นี่เป็นที่มาของการหันเหชีวิต จากคนกรุงเทพฯ มาปักหลักที่ปากช่อง จ.นครราชสีมา

เริ่มต้น ปลูกข้าวโพดหวาน จาก 5 ไร่ ขยายถึง 400 ไร่ 

อดีตนักธุรกิจร้อยล้าน เผยว่า สาเหตุที่เลือกปากช่อง เพราะไม่ไกลจากกรุงเทพฯ มาก และที่สำคัญ เรายังสามารถส่งผักและผลผลิตให้กับตลาดไท หรือ สี่มุมเมืองได้ง่าย  โดยการเริ่มต้นของเราก็หาข้อมูลเกี่ยวกับปลูกพืช หลักการเกษตรทฤษฎีใหม่  ออกแบบพื้นที่ เน้นต้องมีแหล่งน้ำ และเริ่มต้นด้วยการปลูก “ข้าวโพดหวาน” ก่อน เพราะเล็งเห็นว่ามีตลาดรองรับ โดยเราไป “เช่าที่ดิน” มาลงทุน เริ่มต้นที่ 5 ไร่ 

ตอนแรกที่ทำ เรายังไม่มีความรู้ด้านเกษตรเลย ด้วยเหตุนี้ “องค์ความรู้” จึงเป็นสิ่งสำคัญ เราจึงเริ่มต้นจากหาความรู้จากเกษตรกรที่เคยทำมาก่อน และแหล่งความรู้ต่างๆ ซึ่งนอกจากขาย “ข้าวโพดหวาน” แล้ว เราก็นำมาเป็น “ข้าวโพดหมัก” เพื่อทำเป็นอาหารให้กับสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะวัวนม ก็สร้างรายได้ระดับหนึ่ง เก็บเงินได้ระดับหนึ่งก็เริ่มเก็บเงินซื้อที่ดิน

นายชยพล กล่าวว่า เมื่อทำได้ประมาณ 3 ปี รู้สึกว่า “กำไร” ต่อไร่ ต่อรอบ มันเหลือน้อยมาก เราจึงเปลี่ยนแผน เริ่มหันมาปลูกผัก เช่าที่ดินเพิ่ม จาก 5 ไร่ กลายเป็น 85 ไร่ เพื่อปลูกผักสลัด และผักอื่นๆ กิจการก็เริ่มเติบโต ซึ่งภายหลังก็ขยายอีก จาก 85 ไร่ เพื่อปลูกผักกุยช่ายขาว, กุยช่ายเขียว 

“สาเหตุที่เลือกเช่า เพราะเราไม่มีตังค์ (หัวเราะ) และที่สำคัญคือ การปลูกกุยช่าย มันส่งผลต่อดิน จึงต้องมีการเปลี่ยนพื้นที่ เราจึงวางแผนหมุนเวียนพื้นที่ปลูก”

อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้น ก็มีเกษตรกรที่รู้จักกัน ขายอุปกรณ์ปลูกพืช และเซ้งกลุ่มลูกค้าให้ เราจึงจำเป็นต้องขยายกิจการ กู้เงินอีกครั้งนับล้านบาท เพื่อมาเช่าที่ดินมากกว่า 400 ไร่ ในการปลูกกุยช่าย เป็นหลัก โดยมีผักอื่นๆ ผสมนิดหน่อย 

...

ปลูกกุยช่าย อัดยาฆ่าแมลง สารเคมี ประสบความสำเร็จ

นายชยพล เผยว่า การปลูกพืชของตนเองนั้น ยังพึ่งพาเคมีอยู่ เนื่องจากปลูกเยอะ ซึ่งก็ถือว่าประสบความสำเร็จ รายได้หลักมาจากกุยช่าย เราได้วางแผนไว้ว่า เราต้องขายได้ทุกวัน จึงมีการหมุนเวียนสลับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกไปเรื่อย 

“เราใช้ปุ๋ยเคมี ตอนนั้นไม่มีปัญหาอะไรเลย เพราะสารอาหารของดิน เรารู้อยู่แล้วว่าต้องการอะไร เราก็เอามาเติม แต่...ปัญหาที่ตามมาคือ “โรคแมลง” เราก็อัดสารกำจัดแมลงและโรคต่างๆ เข้าไป โดยทุก 3 วันเราต้องฉีดพ่น 1 ครั้งเพื่อเป็นการป้องกัน”

นอกจากปัญหาโรคพืช และศัตรูพืชแล้ว ปัญหาหลักที่นายชยพล พบ คือ ปัญหา “แรงงาน” โดยค้นพบว่า เป็นอาชีพที่คนไทยไม่ชอบทำ คนไทยจำนวนมากไม่ชอบ การใช้แรงงานกลางแจ้ง เช่น การปลูก หรือ เก็บผลผลิตผัก หาแรงงานมาทำยากมาก ฉะนั้น จึงจำเป็นต้องอาศัยแรงงานต่างด้าว ผลที่ตามมา คือ เรื่องยุ่งยาก ทำบัตรต่างด้าว ดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะไม่ดูแล จะเกิดขบวนการโยกย้ายคนงาน เพราะคนงานเหล่านี้มีค่าหัว 

“ผมแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปเรื่อยๆ ปรับเปลี่ยนเรื่องการจัดการ ตั้งหัวหน้างานมาดูแล ค่อยๆ แก้ปัญหา ไปทีละจุด จัดระเบียบออเดอร์ผัก ใครเป็นคนดูแล กระทั่ง ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ค่อยๆ หมดไป ธุรกิจของเราก็เดินไปได้ด้วยดี...  

...

ภัยแล้ง ขาดแรงงาน เริ่มป่วย จุดเริ่มเกษตรอินทรีย์  

นายชยพล เล่าต่อว่า พอถึงปี 2557 เริ่มเจอปัญหา “ภัยแล้ง” ซึ่งส่งผลต่อการปลูกพืช ซึ่งเรื่องนี้ยังไม่เท่าไหร่ กระทั่งมีการเปลี่ยนรัฐบาล มีการเข้ามาจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าว ส่งผลให้แรงงานเหล่านี้เลือกที่จะกลับประเทศ ทำให้ขาดแคลนแรงงาน ด้วยเหตุนี้ จึงต้องลดพื้นที่ในการเพาะปลูก หันมาทำในพื้นที่ตัวเอง ที่เก็บเงินซื้อได้ 50 ไร่...

จุดเปลี่ยนจริงๆ คือ เราค้นพบว่า สิ่งที่เราทำ คือ การใช้ยาฆ่าแมลง มันเริ่มส่งผลกับสุขภาพของเรา เราไปตรวจเลือด และพบว่า มีสารเคมีจำนวนมาก ปนเปื้อนในเลือดของเรา 

“ผมทำเกษตร ที่เป็นประเภทที่ต้องลงไปเหยียบดิน ทำเอง ถึงแม้เราจะไม่ได้ทำเอง แต่เราก็ต้องตรวจแปลงทุกวัน ฉะนั้น สิ่งตกค้างจากยาฆ่าแมลง มันก็เข้าไปในเลือด ด้วยเหตุนี้ จึงหันมาทำเกษตรอินทรีย์” 

เกษตรอินทรีย์ คือ ความปลอดภัย ของผู้ปลูก ผู้บริโภค 

นายชยพล ยอมรับว่า สิ่งที่เจอกับตัวเองมันทำให้เรารู้ซึ้งถึงความปลอดภัยในการปลูกพืช รวมถึงผู้บริโภค นี่คือ หัวใจหลัก...

ทั้งนี้ การปลูกผักแบบเกษตรอินทรีย์นั้น แตกต่างจากเคมี...เราต้องยอมรับว่า ปลูกด้วยเคมี ผักอาจดูสวยกว่า โตเร็วกว่า (มีสารเร่ง) ขณะที่ปลูกพืชแบบอินทรีย์ เราต้องทำปุ๋ย ผ่านกระบวนการหมัก เปลี่ยนโมเลกุลต่างๆ เพื่อให้พืชได้ดูดซับอย่างเต็มที่ สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องใช้เวลา ฉะนั้น สิ่งที่เราทำ คือ การหมักทำปุ๋ยด้วยตัวเอง มีบ้างเราก็ซื้อจากเกษตรกรคนอื่น 

“ส่วนตัวเห็นว่า การปลูกแบบเคมี กับ อินทรีย์ มีต้นทุนไม่แตกต่างกัน บางครั้งการหมักเองมันกินระยะเวลา เมื่อคำนวณแล้ว เราซื้อปุ๋ยอินทรีย์จากคนที่ขาย อาจจะมีต้นทุนที่ดีกว่าการทำเอง ฉะนั้น สิ่งที่ผมทำ จึงเลือกใช้ 2 แบบ คือ การทำเอง และซื้อปุ๋ยอินทรีย์มาใช้”

...

ผลพลอยได้ เกษตรอินทรีย์ คือ “การท่องเที่ยว” 

เกษตรกรดีเด่น ระดับจังหวัด สาขาทำสวน เผยว่า เวลานี้ รายได้หลักมาจาก 2 ทาง คือ ทางแรก จากการปลูกพืช ทำเกษตรในการขายผลผลิต โดยเฉพาะกลุ่มผักอินทรีย์ ผักสลัด และ อีกทางคือ การเปิดเที่ยวชม จากการปรับเปลี่ยนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว สถานที่ดูงาน เกษตรอินทรีย์ สิ่งที่เราทำ คือ การสร้างงานให้กับคนในพื้นที่ 

“รายได้จากผัก คือ ผักสลัด เพราะเป็นพืชที่ปลูกง่าย อาทิ กรีดโอ๊ค เรดโอ๊ค เบบี้คอส ซึ่งผักเหล่านี้ ไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีเลย เราสามารถใช้ปุ๋ยหมักที่ผลิตขึ้นได้ โดยใช้ผลผลิตจากน้ำส้มควันไม้ ก็สามารถจัดการโรคแมลงได้อยู่” 

นายชยพล อธิบายความแตกต่างระหว่างการปลูกพืชแบบอินทรีย์ และเคมี ว่า ผลที่ได้จะแตกต่างกัน การปลูกพืชแบบอินทรีย์ จะโตช้ากว่าเคมี แต่รสชาติจะมีความแตกต่างกัน เพราะการเจริญเติบโตช้ากว่า รสชาติจึงเป็นธรรมชาติมากกว่า ความกรอบ ความหวาน และสด ของผัก จะแตกต่างกัน

ทั้งนี้ ในกระบวนการปลูก หากผัก มีความเครียด ก็จะส่งผลต่อรสชาติ เช่น ช่วงบ่ายอากาศร้อนจัด  ผักจะเกิดความเครียด... ถามว่ารู้ได้อย่างไรว่าเครียด หากเป็นเรายืนอยู่ในแปลงผัก แล้วรู้สึกร้อน จนเกิดความเครียด ผักก็จะรู้สึกเช่นเดียวกับเรา  ซึ่งสภาพอากาศมีส่วนสำคัญ จะร้อน หรือ หนาวเกินไปก็ไม่ดี 

ดังนั้น หากผักเจออากาศร้อนเกินไป เราก็จะฉีดสเปรย์น้ำ เพื่อลดอุณหภูมิความร้อนจากแสงแดดลง ผักก็จะไม่เปลี่ยนเซลล์ กลายเป็นยาง ซึ่งน้ำยางๆ นี่แหละ คือ ทำให้ผักขม นี่คือการสังเกตจากการปลูก 

คำแนะนำ มือใหม่ เริ่มต้นปลูกพืช 

สำหรับมือใหม่ เกษตรกรดีเด่น ระดับจังหวัดให้คำแนะนำว่า ก่อนอื่นต้องถามใจตัวเองก่อนว่าตากแดด ได้หรือไม่ รักที่จะทำการเกษตรจริงๆ หรือไม่  

“หากรักที่จะทำเกษตร คุณต้องเดินลงแปลงที่ปลูกได้ทุกวัน หากปลูกแบบนักลงทุน....(หัวเราะ) ให้ลูกน้องทำอย่างเดียว ก็เตรียมตัวเจ๊ง ส่วนการวางแผนการจัดการ ตลาด เป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะ พืชอายุสั้น และต้องนำไปขายตลาดเอง หรือ ส่งร้านอาหารใกล้บ้าน คุณต้องวางแผนก่อน ว่าขายใคร คู่แข่งเยอะไหม ตลาดต้องการแค่ไหน และ “ราคา” คือ ปัจจัยสำคัญ ให้คุ้มกับการผลิต เหล่านี้คือ ต้นทุนทั้งหมด” 

นายชยพล ยืนยันว่า การเป็นเกษตรกรนั้น รวยได้ แต่เราคงไม่รวยเท่าญี่ปุ่น เพราะประเทศเขาให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ขณะที่ประเทศไทย ให้การส่งเสริมโดย ก.เกษตรฯ ก็มาบอกว่า อ้าว...เกษตรกร ปีนี้ควรปลูก... (หัวเราะ) ซึ่งส่งเสริมปลูกข้าว ข้าวก็ราคาไม่แพงสักที ก.พาณิชย์ ไม่ช่วยทำตลาด หรืออย่างไร 

เกษตรกรเมืองไทย รวยได้ ต้องเพิ่งตนเอง อันนี้จากประสบการณ์ตัวเอง ที่ทำมา สมัยเช่าที่ดิน 400 กว่าไร่ ก็เคยมีรายได้เดือนหนึ่ง 3 ล้าน ส่วนเทรนด์สุขภาพ เกษตรอินทรีย์ ก็รวยได้ เพราะคนหันมาใส่ใจสุขภาพ คนตระหนักมากขึ้น แต่ปัญหาส่วนหนึ่ง คือ โรคและแมลงก็พัฒนาตัวเองมากขึ้น จากการที่เราใช้สารเคมี ทำให้มันมีภูมิต้านทาน ส่งผลต่อการได้ผลผลิตต่ำ แต่ก็จะขายได้ราคาที่สูงขึ้น

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านบทความที่น่าสนใจ