จิตวิทยา 'การโกหก' เมื่อวิธีตรงไปตรงมา ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ การกล่าวเท็จเพื่อหลีกหนีความจริงของชีวิต จึงกลายเป็นทางออกที่คิดว่าดีที่สุด แม้ระลึกได้ว่าปลายทางอาจจบไม่สวย...

หลายครั้งในชีวิตที่เรามักโดนคนรอบตัว 'พูดโกหก' จนทำให้รู้สึกแย่ และต้องมานั่งครุ่นคิดว่า เหตุใดอีกฝ่ายจึงต้องทำเช่นนั้น แต่ในทางกลับกัน ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ เชื่อว่า คุณเองก็ต้องเคยโกหก อย่างน้อยก็ 1 ครั้ง ตลอดช่วงชีวิตที่ผ่านมา 

เดี๋ยวก่อน! สกู๊ปนี้เราไม่ได้จะมานั่งชี้นิ้วตัดสิน ว่าการโกหกดีหรือไม่ แต่จะพาไปทำความรู้จักเรื่องนี้ในมุมมองของจิตวิทยา เผื่อจะได้ทบทวนการกระทำ หรือทำความเข้าใจ ของตนเองและคนรอบข้างว่ามีจุดประสงค์เช่นไร ผ่านการสนทนากับ 'ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์' จิตแพทย์เด็ก-วัยรุ่น และโฆษกกรมสุขภาพจิต 

ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์
ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์

...

จิตวิทยา 'โกหก' วิธีหลีกหนีปัญหา ที่ยากและซับซ้อนกว่าพูดความจริง :

นพ.วรตม์ กล่าวว่า เมื่อวิธีที่ 'ตรงไปตรงมา' ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ คนเราจึงเลือก 'การโกหก' เป็นทางออกแก้ปัญหา ซึ่งการโกหกถือเป็นรูปแบบหนึ่งในการสื่อสาร แม้รู้ว่าปลายทางความจริงจะถูกเปิดเผย หรือไม่สามารถโกหกต่อไปเรื่อยๆ ได้ หากคนเราสามารถแก้ปัญหาได้ด้วยการ 'พูดความจริง' เราก็เลือกที่จะพูดจริงอยู่แล้ว เพราะ การโกหกเป็นเรื่องที่ยากและซับซ้อน

"นอกจากการโกหกจะเป็นการพยายามหลีกหนีความจริงของชีวิต หรือเพื่อแก้ปัญหา บางคนยังเลือก 'โกหก' เพื่อหาผลประโยชน์ เช่น ผลประโยชน์ทางชื่อเสียง เงินทอง หรืออื่นๆ ซึ่งผลประโยชน์ของการโกหกอาจจะเป็นผลประโยชน์ที่อยู่ในระดับจิตใต้สำนึก (Subconscious) หรือในระดับจิตสำนึก (Conscious)"

ยกตัวอย่างการโกหกในระดับ 'จิตใต้สำนึก' เช่น ทุกครั้งที่เด็กคนหนึ่งเลือกที่จะบอก 'ความจริง' กับผู้ปกครอง ก็จะโดนดุด่าอยู่ร่ำไป ทำให้จิตใต้สำนึกคิดว่า "ถ้าบอกความจริงแล้ว อาจจะถูกดุอีก" จึงทำให้เด็กเลือกโกหก และไม่กล้าบอกความจริง หรือ พนักงานอยากลาหยุดพัก แต่กลัวหัวหน้าจะถามซอกแซก จึงโกหกว่า 'ป่วย' หรือที่เราชอบเรียกกันว่า 'ป่วยการเมือง'  

ส่วนการโกหกในระดับ 'จิตสำนึก' ก็จะมีอยู่หลายแบบ ยกตัวอย่าง เช่น 'มิจฉาชีพ' บุคคลเหล่านี้จะโกหกเพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์และเงินทอง หรือบุคคลหนึ่งโกหกว่าตนเองมียศฐาบรรดาศักดิ์ เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิ์และประโยชน์บางอย่าง ที่บุคคลทั่วไปอาจจะไม่ได้ 

"การโกหกเป็นเรื่องที่ซับซ้อน และมีขั้นที่แตกต่างกันออกไป เราต้องมาดูกันอย่างละเอียดอีกที ไม่สามารถตัดสินได้ด้วยการดูเพียงครั้งเดียว" คุณหมอกล่าว

โกหกครั้งเดียว ต้องโกหกไปตลอด จริงหรือ? :

อาจจะเป็นประโยคที่หลายคนได้ยินมานานมากแล้ว ซึ่งสำหรับเรื่องนี้ทางโฆษกกรมสุขภาพจิต บอกว่า เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทางจิตวิทยาเช่นเดียวกัน เนื่องจาก 'การโกหก' ทำให้ไม่ต้องเผชิญหน้ากับปัญหา และรู้สึกว่าปัญหานั้น 'แก้ง่าย' เป็นช่องทางที่พาออกจากปัญหาได้เร็ว หรือแม้กระทั่งมีประโยชน์แอบแฝง ซึ่งเมื่อได้ประโยชน์แล้ว ผู้โกหกก็เรียนรู้ที่อยากจะทำซ้ำๆ อยู่ร่ำไป

"ยกตัวอย่าง เด็กที่อยากจะขอเงินผู้ปกครองไปเติมเกม แต่รู้ตัวอยู่แล้วว่า 'ขอไปก็คงไม่ได้' จึงเลือกโกหกว่าขอเงินใช้จ่ายเรื่องอื่น และเมื่อได้เงิน เขาก็จะรู้สึกว่า นี่เป็นวิธีที่ง่าย ทำให้อยากจะโกหกไปเรื่อยๆ การโกหกจึงมักจะเกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก"

...

พฤติกรรมของคนโกหก :

ทีมข่าวฯ ถามไปยังจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นว่า พฤติกรรมของคนโกหกนั้นเป็นอย่างไร?

คำถามของคำตอบนี้ คือ 'ขึ้นอยู่กับตัวบุคคล' เนื่องจากแต่ละคนย่อมมีวิธีการโกหก และแสดงออกแตกต่างกัน เรื่องราวการโกหกก็จะมี 'ขนาด' ที่แตกต่างกัน บางคนอาจจะโกหกเรื่องเล็กๆ เช่น บอกว่ายังไม่ได้กินข้าว ทั้งที่กินมาแล้ว ก็ไม่ได้มีการแสดงออกที่ชัดเจนมาก

แต่ถ้าเป็นการโกหกเรื่องใหญ่ เช่น โกหกว่าทำอาชีพหมอ แต่ไม่ได้ทำจริงๆ คนเหล่านี้ก็จะมีความตื่นเต้น กังวล สีหน้าเคร่งเครียด ท่าทีอึดอัด การพูดไม่ราบรื่น แม้ว่าบางประโยคจะสามารพูดได้เลยแบบไม่ตะกุกตะกัก หรือบางทีก็มีการพูดมากเกินไป 

"ในส่วนของผู้กระทำความผิด หรือผู้ร้าย แต่ละคนมีความสามารถในการโกหกที่แตกต่างเช่นกัน ผมเคยคุยกับผู้บังคับใช้กฎหมาย พบว่า ในการก่อเหตุหลายครั้ง ผู้ก่อเหตุก็มักจะไม่พูดความจริงอยู่แล้ว เพื่อหลีกเลี่ยงความผิด ซึ่งทางตำรวจต้องสันนิษฐานเรื่องนี้ไว้เสมอ ว่าคนที่กระทำผิดจะโกหก หรือแม้ว่าศาลจะตัดสินแล้ว ผู้ทำผิดก็ไม่ยอมรับอยู่ดี และเลือกที่จะโกหกต่อไปเรื่อยๆ"

...

โกหกทั่วไป หรือ ป่วยโกหก ต้องใช้ข้อมูลมหาศาลในการวิเคราะห์ :

แล้วการโกหกเป็นประจำจะทำให้เกิดโรคทางจิตเวชหรือไม่ ด้าน นพ.วรตม์ กล่าวว่า จริงๆ ก็มีอยู่บ้าง แต่เรามักจะมองไปไม่ถึงการเป็น 'โรค' จะเป็นแค่ส่วนประกอบที่ทำให้โกหก เช่น บางคนอาจจะมีการรับรู้ที่ผิดเพี้ยน หรือบิดเบือน ซึ่งเขาไม่ได้ตั้งใจที่จะโกหก แต่สิ่งที่เขาพูดมันเพี้ยนจากความเป็นจริง ก็เลยถูกมองว่าเป็นคนโกหก อันนี้ก็เป็นไปได้ 

...

บางคนโกหกบ่อย รู้สึกตื่นเต้นที่ได้โกหก ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม ก็อาจจะมีโรคเสพติดการโกหก แต่ว่าไม่ได้เป็นโรคที่พบได้บ่อย แล้วการโกหกเพียงครั้งหรือสองครั้ง จะไม่สามารถใช้สำหรับการวินิจฉัยโรคได้ ต้องใช้การวินิจฉัยของจิตแพทย์อย่างละเอียด

"เวลามีการโกหกเกิดขึ้น เราจะไม่คิดถึงโรคทางจิตเวชก่อน แต่จะคิดถึงการโกหกทั่วไป เพราะเป็นเรื่องที่พบได้บ่อย ในส่วนของวิธีแยกว่า โกหกทั่วไป หรือป่วยโกหก จำเป็นต้องใช้ข้อมูลแวดล้อมมหาศาล และต้องใช้การประเมินโดยจิตแพทย์อย่างละเอียด"

การโกหกตัวเอง เรื่องของจิตใจที่ต้องประคับประคองความรู้สึก :

โฆษกกรมสุขภาพจิตแนะว่า บางครั้งการโกหกตัวเองสำหรับบางคน (หรืออาจจะตัวเราด้วย) ก็ไม่ใช่เรื่องที่แย่เสมอไป 'การโกหกตัวเอง' (Pathological Liar) ถือเป็นกลไกทางจิตวิทยารูปแบบหนึ่ง มักจะเกิดกับคนที่ไม่สามารถยอมรับความเป็นจริงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งนั่นอาจเป็นความจริงที่โหดร้ายเกินไป หรือส่งผลกระทบด้านลบกับตัวเอง จึงต้องเลือกโกหกเพื่อให้สภาวะจิตใจมั่นคงอยู่ได้ เพราะว่าความจริงอาจจะทำให้ไม่สามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ 

"บางคนสูญเสียคนในครอบครัว หรือเลิกกับคนรัก ก็พยายามโกหกตัวเองว่า คนนั้นยังไม่จากไป บอกตัวเองอยู่เสมอว่าเขายังอยู่ แม้ว่าลึกๆ ในใจจะรู้ว่าความจริงเป็นเช่นไร เพื่อประคับประคองให้จิตใจและชีวิตสามารถดำเนินต่อไปได้"

ข้อดีและผลเสียสำหรับ 'การโกหก' :

เหรียญมี 2 ด้านเสมอ ใช่ว่าการโกหกจะแย่ไปเสียทุกเรื่อง คุณหมอวรตม์ ชี้ให้เห็นถึงข้อดีที่พอมีอยู่บ้างสำหรับเรื่องนี้...

กล่าวคือ 'การโกหก' เป็นผลดีต่อจิตใจของตัวเอง ทำให้รู้สึกว่าสามารถออกจากปัญหานั้นได้ชั่วคราว แม้จะรู้ว่าในระยะยาวก็ต้องกลับมาเผชิญหน้ากับปัญหาอีก หรือการโกหกบางครั้ง อาจจะมีผลดีกับอีกฝ่ายที่เราสนทนาด้วย เช่น ลูกไปเรียนต่างจังหวัดแล้วป่วย ไม่อยากให้พ่อแม่ไม่สบายใจ จึงโกหกว่าสบายดี เพื่อลดความกังวล แม้เรื่องที่พูดจะไม่อยู่บนพื้นฐานความจริง "ผลดีก็อาจจะมีแค่นี้"

ส่วนข้อเสียนั้น คนที่โกหกบ่อยๆ อาจจะรู้สึกว่า 'เป็นทางออกที่ดี' ทำให้เลือกที่จะโกหกบ่อยขึ้น และเรื่องใหญ่ขึ้น ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายที่รุนแรงได้ นอกจากนั้นมีแนวโน้มที่จะถูกมองในแง่ลบ ถูกตีตราว่า 'ขี้โกหก' เป็นคนเลวและไม่ดี หนักขึ้นก็ไปในเชิงกฎหมาย กฎระเบียบ ที่การโกหกอาจจะส่งผลให้รับผลร้าย หรือรับโทษมากขึ้น และหากโกหกมากๆ จิตใจก็ย่อมไม่ชอบอยู่กับความจริง ส่งผลให้เกิดปัญหาตามมาภายหลัง

ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ ฝากทิ้งท้ายเป็นข้อคิดเตือนใจไปถึงทุกคนว่า "การโกหกเกิดขึ้นได้ มนุษย์ทุกคนเคยพูดโกหก แต่อย่าให้กลายเป็นธรรมชาติของตัวเรา ไม่เช่นนั้นเราจะเคยชินกับเรื่องนี้ ในอนาคตอาจจะไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้อง ทำให้เจอปัญหาที่รุนแรงและเรื้อรัง ดังนั้น ต้องเลือกที่จะสู้กับความเป็นจริงเท่าที่ทำได้ ทำการประเมินตัวเองให้บ่อยครั้ง ว่ากลายเป็นคนที่ชอบโกหกเพื่อพยายามหลีกเลี่ยงปัญหาหรือเปล่า"

อ่านบทความที่น่าสนใจ :